Skip to main content
sharethis

22 ม.ค. 2563 อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงกรณีการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2563 ว่า ประชาชนกำลังจับตาดูท่าทีต่อเรื่องนี้ของรัฐบาลว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ความรับผิดชอบทางการเมืองสูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องไม่รู้แพ้รู้ชนะอะไร แต่เป็นการกระทำความผิดอย่างชัดเจน ประชาชนไม่สบายใจที่มีความพยายามออกมาช่วยกัน โดยพยายามจำกัดกรอบให้เป็นความผิดส่วนบุคคล หรือพยายามสื่อสารว่ามีคนทำความผิดแค่คนเดียว กรณีการเสียบบัตรแทนกันไม่น่าจะจบเพียงแค่การตั้งกรรมการสอบของประธานสภา เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว รัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไรต่อผลกระทบที่อาจส่งผลจนทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2563 ล่าช้าออกไป

"รัฐบาลประยุทธ์ล้มเหลวหลายเรื่อง แม้แต่เรื่องที่ไม่ควรจะเป็นปัญหาใหญ่ อย่างเรื่องงบประมาณ ยังเกิดปัญหา ประชาชนรอดูความรับผิดชอบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะลาออกหรือไม่" อนุสรณ์ กล่าว

ทั้งนี้สำหรับกรณีการเสียบบัตรประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนกันนั้น เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณณรายจ่ายประจำปี 2563 โดยนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส. พัทลุง เป็นผู้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง และนที รัชกิจประการ ส.ส. บัญรายชื่อพรรคภูมิใจไทย มีรายชื่อในการลงมติ ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม

ขณะเดียวมีการเผยแพร่คลิปจาก  ช่อง 7 HD โดยอ้างว่า เป็นเหตุการณ์การลงมติในร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2563 ซึ่งปรากฏคลิปภาพ ส.ส.ภูมิใจไทยคนหนึ่งถือบัตรลงคะแนนในมือมากกว่าหนึ่งใบ ก่อนที่จะเสียบบัตรลงคะแนนเข้าไปในเครื่องลงคะแนน มากกว่าหนึ่งครั้ง

โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการลงมติเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 ขณะที่อีกภาพเป็นคลิปเหตุการณ์วันที่ 10 มกราคม 2563 ของ น.ส.ภริม พูลเจริญ สส. สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ และ คลิป ผู้ชาย นายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย มีการวางบัตรลงคะแนนบนโต๊ะ 2 ใบ ก่อนจะหยิบบัตรลงคะแนนบนโต๊ะทั้ง 2 ใบ เสียบเข้าไปในเครื่องลงคะแนนมากกว่า 1ครั้ง

คลิปการเสียบบัตรมากว่าหนึ่ง 1 ครั้ง และมากกว่า 1 ใบ ช่วงนาทีที่ 45

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า กรณีการเสียบบัตรประจำตัว ส.ส. เพื่อลงมติแทนกันนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้ในอดีต 2 กรณีคือ กรณีของการเสียบบัตรประจำตัว ส.ส. แสดงตนและลงคะแนนแทน ส.ส. คนอื่น ระหว่างการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2556 เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 122 และ 126 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 2 เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... ตราขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อีกกรณีหนึ่งคือ การวินิจฉัยให้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาและคุณสมบัติของสว.เป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 และล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าหนึ่งในประเด็นปัญหาที่ทำให้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น เป็นจากการที่ นริศร ทองธิราช อดีต ส.ส. สกลนคร พรรคเพื่อไทย เสียบบัตรประจำตัว ส.ส. แสดงตนและลงคะแนนแทน ส.ส. คนอื่น ระหว่างการลงมติ โดยศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า เป็นการกระทำที่มีผลให้การลงคะแนนผิดไปจากความเป็นจริงกรณีย่อมไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

อย่างก็ตามล่าสุด วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่อง และรอให้มีการตรวจสอบที่ชัดเจนก่อน ทั้งนี้ยอมรับว่าก่อนประชุม ครม. ได้คุยกับนายกฯ เป็นการส่วนตัวถึงเรื่องนี้ เป็นการพูดกันแบบไม่ได้เป็นทางการเพราะต่างคนต่างไม่รู้ข้อเท็จจริง ตอนนี้รอให้ข้อเท็จจริงชัดเจนก่อน

ต่อข้อถามว่ามีความเป็นห่วงกันว่าจะทำให้ร่างพรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 มีความล่าช้าออกไปด้วยนั้น วิษณุกล่าวยอมรับว่ากระทบต่อร่าง พรบ.งบประมาณที่ทำให้ล่าช้า แต่ไม่คิดว่าผลจะกระทบจนทำให้เกิดความเสียหายอะไร แค่ล่าช้าเท่านั้น

“หากมีการร้องต่อศาลเราก็ต้องรอ ซึ่งความช้านั้นมันมีแน่ และเราได้คิดเอาไว้แล้วว่าถ้าช้าเราจะทำอย่างไร แต่ยังบอกไม่ได้ รอให้มีความชัดเจนก่อน”วิษณุกล่าว

เมื่อถามว่านายกฯ เป็นห่วงเรื่องนี้หรือไม่นั้น วิษณุกล่าวว่าไม่ห่วงอะไร ตนอธิบายให้นายกฯ ฟังแล้ว เมื่อถามว่าถึงอย่างไรก็ต้องทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ใช่หรือไม่นั้น รองนายกฯ กล่าวว่าก็ควรต้องเป็นอย่างนั้น แต่อยู่ที่ว่าใครจะเป็นคนทำ เพราะคนทำมีเยอะ ส.ส. ก็ทำได้ สว. หรือรัฐบาลก็ทำได้ แต่ถ้า ส.ส.ทำน่าจะเหมาะกว่า ซึ่งอันดับแรกก่อนจะยื่นศาลต้องมีการตรวจสอบก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น ตรงนี้ถือว่าสำคัญ เพราะการตรวจสอบก่อน มันจะทำให้เกิดความชัดเจนว่าจะต้องแก้ด้วยวิธีไหน อย่าลืมว่าถ้าไม่มีการตรวจสอบและเกิดมีการส่งไปที่ศาล ทางศาลก็ต้องไปนั่งรื้อตรวจสอบอยู่ดี ดังนั้นสู้ให้สภาตรวจสอบมาก่อนไม่ดีหรือ จะได้ทุ่นเวลาในศาลด้วย

วิษณุกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเคยมีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ใน 2 เรื่อง เรื่องแรกเมื่อปี 2556 อีกเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2557 โดยเรื่องแรกมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่15-16-17-18/2556 เรื่อง คราวที่มีการขอแก้ไขและธรรมนูญ ซึ่งในครั้งนั้นมีการกล่าวหาหลายเรื่อง รวมถึงที่มีการลงมติและมีการเสียบบัตรแทนกัน และมีการวิจารณ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในครั้งนั้นว่าขัดรัฐธรรมนูญทุกเรื่อง ส่วนเรื่องของการเสียบบัตรแทนกันในครั้งนั้น นริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย นำบัตรลงคะแนนของ ส.ส. คนอื่นประมาณ 4-5 คน ไปเดินเสียบลงคะแนน จึงถูก รังสิมา รอดรัศมี ส.ส. สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ถ่ายคลิปวิดีโอไว้ แล้วถูกนำไปเปิดแฉในชั้นศาล ทำให้สารเชื่อได้ว่ามีการเสียบบัตรแทนกันจริง ศาลจึงใช้หลัก 3 ข้อมาวินิจฉัย

วิษณุ กล่าวว่า คือ 1. ส.ส. หนึ่งคนมีสิทธิ์ลงคะแนนหนึ่งเสียง แต่เมื่อนำบัตรของคนอื่นไปเสียบแทนก็แสดงว่าบุคคลนั้นใช้สิทธิ์เกินหนึ่งเสียง ซึ่งถือเป็นความผิด 2. ส.ส. ได้มีการปฏิญาณตนแล้วว่า จะต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่เมื่อปฏิบัติงานออกมาแบบนี้ ก็ถือว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต 3. สมาชิกสภา จะต้องมีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ในอาณัติของใคร ดังนั้นการที่ ส.ส. นำบัตรไปให้ใครเสียบลงคะแนนแทน แล้วบุคคลนั้นนำไปเสียบแทนก็ถือเป็นการครอบงำบุคคลอื่น ศาลจึงใช้หลักการทั้งสามข้อนี้วินิจฉัยว่า เฉพาะ เรื่องการลงมติ จึงถือว่าไม่ชอบจึงถือว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และลำพังเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้กฎหมายฉบับนั้นตกไป แต่ที่ร่างกฎหมายนั้นตกไป เพราะมีปัจจัยอื่น 4-5 สาเหตุมาประกอบกัน

ส่วนกรณีปี 2557 ผู้กระทำเป็นคนเดียวกันคือนริศร ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการกระทำในเวลาที่ต่อเนื่องกัน โดยเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-4/2557 กรณีพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ.2 ล้านล้านบาท ซึ่งถูกร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยสองประเด็นหลัก คือ 1.การกล่าวหาว่ามีการเก็บบัตรแทนกัน ในการลงมติ โดยนริศร นำบัตรลงคะแนน ของ ส.ส.4-5 ใบ ไปเดินเสียบลงคะแนนแล้วถูกถ่ายคลิปวิดีโอไว้ 2. การที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจกระทรวงการคลังไปกู้เงิน เป็นการทำที่ไม่ผ่านวิธีการงบประมาณ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า เรื่องอย่างนี้ต้องใช้กฎหมายงบประมาณเท่านั้น ซึ่งในเรื่องของการเสียบบัตรแทนกันนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้หลักการสามข้อข้างต้น มาพิจารณา แล้ววินิจฉัยว่าการลงมติในวันนั้นมิชอบ

"ทั้งนี้เราก็ต้องเข้าใจว่ากรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ มีทั้งส่วนที่เหมือนและต่าง กับในอดีต ซึ่งผมไม่ขอตอบและไม่ชี้นำว่า ผลจะเป็นประการใด หรือจะเกิดอะไรขึ้น โดยตอนนี้ต้องรอให้สภาผู้แทนราษฎรสรุปผลสอบข้อเท็จจริงออกมาให้ได้เสียก่อน ว่าเป็นการเสียบบัตรแทนกัน หรือเสียบคาไว้ หรือเป็นความบกพร่องของระบบเครื่องลงคะแนน ผมเองก็ยังไม่ทราบว่าผลจะออกมาอย่างไร และเมื่อได้ความกระจ่างแจ้งออกมาอย่างไรแล้วก็จะทำได้ความเหมือน หรือแตกต่างจากในอดีต" วิษณุกล่าว 

เขากล่าวต่อว่า เมื่อปี 2556 และ 2557 เป็นการเสียบบัตรแทนกันหลายใบ ซึ่งขณะนั้นศาลเชื่อว่าอาจจะมีมากกว่า 4-5 ใบ แต่ก็รณีล่าสุดนี้มีความชัดเจน ว่ามีเพียงหนึ่งใบ เว้นแต่ จากนี้ไปจะปรากฏความชัดเจนออกมาว่ามีใบที่ 2 หรือ 3 ตามมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ตนอยากให้สื่อมวลชนได้เห็นความแตกต่าง อย่างไรก็ตามหากใครยังรู้สึกมีความคลางแคลงใจก็สามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยผู้มีสิทธิ์ยื่นร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ก็จะมีทั้ง นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ก่อนที่จะนำร่างฯงบประมาณขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะ เมื่อทางสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ จบแล้วจะต้องทิ้งเวลาไว้ 3 วันเพื่อส่งมา ดำเนินการตามขั้นตอนก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยช่วงเวลาดังกล่าวเป็นโอกาสที่หากยังมีใครติดใจสงสัย ก็สามารถยื่นคำร้องต่อประธานสภาเพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยได้ เพราะฉะนั้นร่าง พ.ร.บ.งบฯ จะโมฆะหรือไม่ อย่าเพิ่งไปใช้คำนั้น การลงมติแบบนั้นจะทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ถูกต้องไปด้วยหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นข้อที่ควรจะเข้าใจต่อไปคือ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับกฎหมายสองฉบับในอดีต หากการลงมติที่ไม่ถูกต้องนั้นเกิดขึ้นในวาระสาม ก็จะทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ถูกต้องทั้งฉบับ ก็ต้องจบไปทั้งฉบับ แต่กรณีพ.ร.บ.งบฯ 63 นี้มีเงื่อนไขที่ต่างจากกฎหมายฉบับอื่น เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 143 กำหนดว่าสภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน แม้จะครบกำหนดเวลาถ้ายังไม่เสร็จก็ต้องถือว่าเสร็จ หรือเห็นชอบตามที่รัฐบาลเสนอ ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องไปตีความให้ รัฐบาลว่าตอนนี้เกินเวลา 105 วันมาแล้วถ้ามตินั้นไม่ถูก จะทำให้ร่างกฎหมายนั้นต้องเสียไปทั้งฉบับหรือเสียไปเฉพาะการลงมติวาระสอง และวาระสาม ที่มิชอบนั้น หากถือว่ามตินั้นมิชอบ ก็เท่ากับว่าสภา ไม่ได้พิจารณากฎหมายให้แล้วเสร็จ ภายใน 105 วัน

“ผมไม่ตอบ ไม่ชี้นำ ไม่วินิจฉัย และไม่รู้ สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นประเด็นที่จะต้องนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ผลการวินิจฉัยในอดีตไม่ได้เป็นบรรทัดฐาน 100% ต่อคดีในปัจจุบันทุกกรณี เว้นแต่ ศาลจะมองว่าเป็นรูปแบบเดียวกัน เพราะบางเรื่องกฎหมายก็ต่างกัน” วิษณุกล่าว

เรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์ , ข่าวสดออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net