Skip to main content
sharethis

รางวัล "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ปี 2562 ของแอมเนสตี้ประเทศไทย สื่อใหม่-เก่าหลายสำนักตบเท้ารับรางวัลในหลากประเด็น ทั้งสิทธิที่ดิน, ผู้ลี้ภัย, แรงงานข้ามชาติ, เหมืองแร่, นักโทษประหาร, ผู้ป่วยจิตเวช, คดีฟ้องปิดปาก, คนไร้บ้าน, ซีอุย, บิลลี่ ฯลฯ อาจารย์นิเทศศาสตร์ ชี้ 'ฟ้องคดีปิดปาก' ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เหตุเป็นการใช้ภาษีประชาชนและเวลาของเจ้าหน้าที่รัฐ

22 ม.ค. 63 วันนี้ เวลา 13.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแอมเนสตี้ประเทศไทยจัดงานประกาศผลและมอบรางวัล "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประจำปี 2562 (Media Awards 2019) ณ โรงแรมอวานี ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ โดยมีผลงานเข้าชิงทั้งหมด 15 ผลงาน จาก 4 ประเภทรางวัลโดยมีสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและตัวแทนกรรมการตัดสินเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล

สมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนากล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ 8 ที่มีการประกวดรางวัลมีเดีย อวอร์ด เพราะเห็นว่าสื่อนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องสิทธิมนุษยชน นอกจากเป็นสื่อแล้ว สื่อสามารถเป็นนักปกป้องสิทธิได้ด้วย แม้ตนจะไม่ได้ทำงานด้านสื่อโดยตรง แต่เป็นนักกิจกรรมและทำงานด้านประชาธิปไตยมามากกว่า 40 ปี การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อสถานการณ์การเมือง และมีผลต่อสื่อมากในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อสี สื่อแบ่งเป็นค่าย และปัญหาการเสียบทบาทหน้าที่อันสำคัญของสื่อคือการปกป้องประชาธิปไตย นำเสนอเสียงของประชาชน และนำเสนอข่าวโดยปราศจากอคติ

ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนฯ ชี้ปัญหาสื่อภายใต้ 5 ปี ของยุคเผด็จการ คสช.ว่า ถูกจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข่าว หลายสื่อเปลี่ยนไปนำเสนอข่าวสาระบันเทิงและมีลักษณะสุ่มเสี่ยง โน้มเอียงเลือกข้าง ตนเป็นคนหนึ่งที่ร่วมพิจารณารางวัลในปีนี้ และตั้งข้อสังเกตว่า ในปีนี้ มีการส่งผลงานที่มีคุณภาพจำนวนมาก อาจเป็นเพราะมีการเลือกตั้ง ถึงแม้จะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งหมด แต่บรรยากาศของเสรีภาพเริ่มกลับมา ที่ผ่านมีสื่อน้ำดีต้องเผชิญกับปัญหามากมาย สื่อต้องเผชิญกับการถูกดำเนินคดี รังแกทั้งจากภาคธุรกิจและผู้คุมอำนาจรัฐ และปล่อยให้คนทำงานสื่อต้องเผชิญชะตากรรมโดยลำพัง

สมชาย ตั้งคำถามถึงการจำแนกสื่อในยุคดิจิตอลด้วยว่า ข้อท้าทายไม่ได้มีเพียงการวิพากษ์โจมตี แต่บางคนถูกโจมตีอย่างไม่สร้างสรรค์จากสังคม มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมากขึ้น ภายใต้สื่อออนไลน์ที่ต้องการความรวดเร็วความเสี่ยงที่จะโดนคุกคามมีมากขึ้น ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ต้องปิดตัวเองและมีไม่น้อยเปลี่ยนการนำเสนอของตนไปสู่สื่อออนไลน์ ขณะที่คนทำงานสื่อไม่น้อยต้องจากไปจากวงการเพราะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสื่อดิจิตอลได้

"สิ่งที่ทำให้คณะกรรมการพิจารณาในวันนี้ดีใจ คือท่ามกลางปัญหาเหล่านั้นยังมีคนทำงานสื่อที่ยังยืนหยัด โดยยึดหลักวิชาชีพ ให้ความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดยไม่หวั่นเกรงเรื่องการดำเนินคดี ตกงาน หรือการโจมตีแบบไม่สร้างสรรค์ ยืนยันว่าหลักเสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของประชาชน" สมชาย กล่าว

นอกจากนี้ภายในงานยังมีปาฐกถาในหัวข้อ “การนำเสนอข่าวไม่ใช่อาชญากรรม: Journalism is not a crime” โดย พรรษาสิริ กุหลาบ รองคณบดีและประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสุชาณี คลัวเทรอ อดีตผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีที่ถูกฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาท

พรรษาสิริ เล่าถึงประสบการการเดินทางเมื่อเช้าของวันนี้ ที่เธอติดอยู่บนถนนที่ถูกปิดเพราะเพิ่งลาดยางเสร็จโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ในจังหวะนั้นตนโกรธมาก พร้อมตั้งคำถามว่าเหตุใดไม่มีการแจ้งข่าวถนนปิดและจะต้องเลี่ยงอย่างไร จึงวางแผนจะโพสต์ลงโชเชียลมีเดียซึ่งไม่มีการเคลื่อนไหวมานานกว่า 7 ปี แต่อยู่ดีๆ ตนก็กังวลว่า จะโดนสังคมก่นด่าว่า ทำไมไม่รู้จักเตรียมตัวหรือย้ายบ้านเข้ามาอยู่ในเมือง

จากเหตุการณ์นี้ พรรษาสิริ ย้อนกลับมาพูดถึงความหวาดกลัวต่อการพูดปัญหา เพราะไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า คนที่ออกมาบอกปัญหาหรือเป็นกระบอกเสียงก็ล้วนแล้วแต่ถูกดำเนินคดี แสดงให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวของกระบวนการที่ทำให้เสียงที่เปล่งเสียงออกมากลับไม่ได้ยินหรือไม่ก็ถูกทำให้ผิด

"การฟ้องคดีปิดปากเป็นอาวุธที่ทำให้คนๆ นั้นต้องเงียบเสียงลง การฟ้องคดีปิดปากไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเพราะนี่เป็นการใช้ภาษีประชาชนและเวลาของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากลดความหน้าเชื่อถือของสื่อและลดบทบาทขององค์กร เมื่อสื่อล้มหายตายจาก สังคมก็ไม่มีข้อมูลอื่นนอกจากสิ่งที่รัฐเตรียมไว้ ผู้ฟ้องมักไม่ยอมรับว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นสิ่งที่ผิดเพราะคิดว่าตัวเองทำตามกฎหมาย ในหลายกรณีรัฐก็เอื้อให้การฟ้องปิดปากนั้นได้ผล" นักวิชาการนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

พรรษาสิริ ยังตั้งคำถามด้วยถึงเหตุการณ์ฟ้องปิดปากว่า เหตุใดสังคมไทยถึงนิ่งเฉย รวมทั้งแสดงอาการสะใจ ปัจจัยหนึ่งก็คือ การผุกร่อนของความจริง ความขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมืองลงลึก ต่างฝ่ายต่างเห็นแต่ฝั่งของตน จนมองข้ามประเด็นสาธารณะ ฉะนั้นเมื่อมองผู้เห็นต่างเป็นศัตรู การพิสูจน์ข้อมูลอีกฝ่ายจึงเป็นไปได้ยากมาก

"เราจะก้าวออกไปจากกับดักนี้อย่างไร การยึดมั่นในหลักนิติรัฐเป็นเรื่องสำคัญ นักกฎหมายทั่วโลกเสนอว่า การแก้กฎหมายหมิ่นประมาทเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ไขเรื่องนี้ และเสนอให้มีการสร้างมาตรฐานธุรกิจตามหลักสิทธิมนุษยชน น่าจะทำให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้บ้าง" พรรษาสิริ กล่าว

นักวิชาการนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า การฟ้องคดีปิดปากเหมือนการกลั่นแกล้ง การสนับสนุนการฟ้องปิดปากคือสนับสนุนให้ผู้ถูกฟ้องโดนรังแก องค์กรสื่อและนักวารสารศาสตร์จะต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณะ เป็นปากเป็นเสียงแทนคนที่ถูกจำกัดเสรีภาพ องค์กรเอกชนและภาครัฐจะต้องเห็นว่า วารสารศาสตร์ไม่ใช่อาชญากรรม แต่นักวารสารเป็นคนโอบอุ้มเพื่อนมนุษย์ที่ถูกเบียดจนตกขอบให้ได้มีพื้นที่

สุชาณี กล่าวว่า จากความโดดเดี่ยวที่ได้รับมาตลอดทั้งปี มองเห็นทุกคนที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ คิดว่าถึงเวลาแล้วที่สื่อมวลชนทุกท่านจะต้องลุกขึ้นมาตั้งองค์กรสื่อที่พร้อมจะสู้เพื่อเราถ้าการทำงานมันทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ต้องปกป้องเรา และครอบครัว อย่างน้อยก็ปกป้องจากความโดดเดี่ยวเหมือนกับที่ดิฉันเผชิญมาตลอดปี อยากให้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นชนวน ให้องค์กรสื่อลุกขึ้นมาปกป้องกันและกัน

สำหรับ สุชาณี คลัวเทรอ อดีตผู้สื่อข่าว Voice TV นั้น เธอถูกบริษัทธรรมเกษตร ฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาท และศาลชั้นต้นจังหวัดลพบุรีตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา สืบเนื่องจากการรีทวีตข้อความเกี่ยวกับคำพิพากษาคดีแรงงานฟาร์มไก่ 14 รายเมื่อเดือน ก.ย.2560

รายละเอียดผลงานที่ได้รับรางวัลครั้งนี้มีดังนี้ 

ข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อสิ่งพิมพ์

• ผลงานเรื่อง “Friendly Design เมืองไม่พิกล คนไม่พิการ” นิตยสารสารคดี ได้รับรางวัลชมเชย

ข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์

• ผลงานเรื่อง “นิตยา ม่วงกลาง: ฉากและชีวิตของผู้ยากไร้ในอุทยานไทรทอง” เว็บไซต์อีสานเด้อได้รับรางวัลชมเชย
• ผลงานเรื่อง “ประเทศไร้ใบหน้า ผู้คนไร้แผ่นดิน ตามหาความเป็นมนุษย์ในคำว่า ‘ชาติ’ " เว็บไซต์ 101.world ได้รับรางวัลดีเด่น
• ผลงานเรื่อง “สิ่งที่เราเห็นแล้วรีบเดินผ่าน... ‘ผู้ป่วยจิตเวชข้างถนน อยู่อย่างไร’ ใครดูแล” เว็บไซต์ประชาไท ได้รับรางวัลชมเชย
• ผลงานเรื่อง “แรงงานไทยที่ถูกลืมในอิสราเอล” เว็บไซต์บีบีซีไทย ได้รับรางวัลดีเด่น
• ผลงานชุด “จากตำรวจในสงครามยาเสพติดสู่ชีวิตนักโทษประหาร” เว็บไซต์ Pepperoni News ได้รับรางวัลชมเชย
• ผลงานชุด “ค้านเหมืองแร่โพแทชเมืองสกลฯ ชัยชนะที่รอวันสิ้นสุด” เว็บไซต์อีสานเรคคอร์ด ได้รับรางวัลชมเชย

ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 20 นาที)

• ผลงานเรื่อง “SLAPPs ฟ้องปิดปาก ปิดเสียง” สถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ ได้รับรางวัลดีเด่น
• ผลงานเรื่อง “สืบสิทธิ์ สุสานมอแกน” สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้รับรางวัลชมเชย
• ผลงานเรื่อง “พลิกแฟ้มคดี ‘ซีอุย’ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นมนุษย์กินคน” สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ได้รับรางวัลชมเชย
• ผลงานเรื่อง “คนข้างถนน” สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ได้รับรางวัลชมเชย

สารคดีหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทรายการโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 60 นาที)

• ผลงานเรื่อง “ติดคุกเพราะบุกรุกป่า” รายการบิ๊กสตอรี่ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้รับรางวัลชมเชย
• ผลงานเรื่อง “ดีเอ็นเอ-ซิมการ์ด ปฏิบัติการสองแพร่ง” รายการเปิดปม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้รับรางวัลดีเด่น
• ผลงานเรื่อง “การกลับมาของบิลลี่” รายการสารตั้งต้น สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ได้รับรางวัลดีเด่น
• ผลงานเรื่อง “ผู้ลี้ภัยในเงา” สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้รับรางวัลชมเชย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net