คุยกับนักปรัชญา ปม ‘ศูนย์เฟคนิวส์’ เตือนอย่าปล่อยให้รัฐผูกขาดความจริง

ศูนย์เฟคนิวส์เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2562 โดยการริเริ่มของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้ทำหน้าที่บอกเราว่าอะไรคือข่าวจริง อะไรคือข่าวปลอม ในมุมมองของนักญาณวิทยาเชิงสังคม ‘ฝูงชน’ ที่มีความรู้ ความเชื่อ และอคติต่างหากที่ควรร่วมกันตรวจสอบ เพราะการปล่อยให้รัฐผูกขาดความจริงเป็นสิ่งอันตราย

  • ญาณวิทยาเชิงสังคมให้ความสำคัญกับแหล่งความรู้ที่มาจากภายนอกหรือสังคมรอบตัว และมองหาแนวทางว่าเราจะมีเหตุผลอันควรให้เชื่อได้อย่างไร
  • เพราะทุกคนมีข้อจำกัดทางญาณวิทยาจึงไม่ควรมีใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ผูกขาดว่าอะไรคือข่าวจริงหรือข่าวปลอม
  • แทนที่จะให้รัฐผูกขาดความจริง เราควรให้ฝูงชนที่มีความรู้ ความเชื่อ และอคติอันหลากหลายร่วมกันตรวจสอบ เพราะญาณวิทยาเชิงสังคมเชื่อในพลังของฝูงชนหรือ wisdom of crowd
  • ญาณวิทยาเชิงสังคมให้คุณค่ากับเสรีภาพในการแสดงออกของผู้คนอย่างหลากหลาย ไม่แบ่งแยกจากระดับการศึกษาหรือชนชั้น และสนับสนุนให้เปิดกว้างต่อความคิดเห็นอันหลากหลาย โดยไม่ตัดสินไปก่อน

ปลายปีที่แล้ว พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ก่อตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ศูนย์เฟคนิวส์ โดยมุ่งตรวจสอบข่าวปลอมที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง เช่น โรคระบาด เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคมและทำลายภาพลักษณ์ประเทศ ส่งผลต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี และความมั่นคง

เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ศูนย์เฟคนิวส์จะเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ต้องการต่อต้านข่าวปลอมหรือต่อต้านข่าวที่ไม่เป็นคุณต่อรัฐบาล มันจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเล่นงานฝั่งตรงข้ามหรือไม่ จะกระทบเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนหรือไม่

คำถามที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เรา ในที่นี้หมายถึงประชาชน ควรมอบอำนาจให้รัฐเป็นผู้ตัดสินหรือนิยามว่าข่าวใดเป็นข่าวปลอมแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่

ศิรประภา ชวะนะญาณ ภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในมุมมองของญาณวิทยาเชิงสังคม นี่เป็นสิ่งอันตราย ไม่ต่างอะไรจากการผูกขาดความรู้ ความรู้ที่รัฐเท่านี้ที่มีสิทธิบอกว่าเป็นจริง ศิรประภา ชวะนะญาณ จากภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนทนากับ ‘ประชาไท’ ถึงประเด็นนี้และบอกเหตุผลว่าทำไมฝูงชนจึงควรเป็นผู้ตรวจสอบข่าวปลอมที่ดีกว่า

จากญาณวิทยาถึงญาณวิทยาเชิงสังคม

ก่อนอื่นเรามาทำความใจเบื้องต้นสักนิดว่า ญาณวิทยา หรือ epistemology คืออะไร ศิรประภาอธิบายว่า รากศัพท์ของคำนี้มาจาก episteme แปลว่าความรู้ ญาณวิทยาเป็นสาขาหนึ่งของปรัชญาที่สนใจว่าความรู้คืออะไร ต่างจากความเชื่ออย่างไร แหล่งที่มาของความรู้เป็นอย่างไร เวลาพูดว่ารู้ มีองค์ประกอบอะไรบ้างจึงทำให้เราพูดได้ว่าฉันรู้ และเวลาพูดว่าฉันรู้ ผู้พูดมีเหตุผลอันควรให้เชื่อ (justification) อย่างไร

แต่กาลเวลาผ่านไป ญาณวิทยาก็มีการพัฒนาแนวคิดของตนแตกแขนงเป็นสิ่งที่เรียกว่า ญาณวิทยาเชิงสังคม

“ตัวเองสนใจญาณวิทยาสังคมซึ่งจะแตกต่างจากญาณวิทยาแบบดั้งเดิม คือจะสนใจแหล่งที่มาจากคนอื่นหรือคนในสังคม ถ้าเราไปเทียบกับญาณวิทยาแบบดั้งเดิม เวลาพูดว่าเรารู้อะไร ต้องมาจากตัวเอง การคิดด้วยตัวเอง หรือต้องมาจากการมีประสบการณ์ด้วยตัวเอง แต่ญาณวิทยาเชิงสังคมจะสนใจแหล่งที่มาจากคนอื่น”

คำว่าแหล่งที่มาจากคนอื่นกินความถึงผู้เชี่ยวชาญ หนังสือ งานวิจัย ข่าวลือ ทฤษฎีสมคบคิด หรือแม้แต่ผู้คนหลากหลายในสังคม แหล่งที่มาต่างๆ เหล่านี้มีเหตุผลอันควรให้เชื่อหรือไม่ อย่างไร สิ่งนี้เองที่ทำให้ญาณวิทยาเชิงสังคมลงมาเกี่ยวข้องกับข่าว เพราะข่าวเป็นสิ่งที่คนอื่นบอกกับเรา

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม : Anti-Fake News Center

อย่าปล่อยให้รัฐผูกขาดความจริง

“สมมติว่าถ้านิยามของเฟคนิวส์คือข่าวที่เป็นเท็จ แน่นอนว่าข่าวที่เป็นเท็จ ถ้าพูดถึงคุณค่าในทางญาณวิทยาที่ให้คุณค่ากับความรู้ ข่าวที่เป็นเท็จโดยตัวมันเองก็ไม่น่าจะมีคุณค่า ถ้าเทียบกับข่าวที่เป็นจริง อันนี้หมายถึงโดยแนวคิด

“แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าสิ่งที่เรียกว่าข่าวมีหลายแบบ เช่น ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวที่ยังไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ ข่าวที่ตีความได้หลากหลายว่าจริงหรือไม่ พอเป็นแบบนี้มันเลยทำให้การแยกว่าอะไรคือข่าวที่เรียกว่าเฟคนิวส์ มันยาก คือโดยแนวคิด มันไม่ดี แต่การจะไปตัดสินว่าอะไรคือสิ่งนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงเฟคนิวส์โดยนิยามก็คิดว่ามันมีปัญหา แต่ปัญหาคือเราไม่รู้ว่าอะไรคือเฟคนิวส์”

ศิรประภายกตัวอย่างว่า ช่วงปีใหม่เพจ Anti-Fake News Center ระบุถึงข่าว ‘สัญญาณเตือนเศรษฐกิจวิกฤตกระทบทุกชนชั้น’ ว่าเป็นข่าวปลอม อย่าแชร์ โดยเนื้อความอ้างถึงจีดีพีที่เติบโตขึ้น แน่นอน การบอกว่ากระทบทุกชนชั้น ไม่จริง เพราะมีชนชั้นที่ไม่กระทบ แต่ถ้าอ่านอย่างที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปอ่าน การพูดว่าเศรษฐกิจดีคืออะไร การอ้างอิงจากจีดีพีก็น่าตั้งคำถามว่าสามารถเป็นตัวบอกได้จริงหรือ ถ้าจีดีพีสูงจริง แต่เงินกระจุกตัวอยู่แค่คนกลุ่มหนึ่ง ส่วนคนทั่วไปไม่มีเงิน มีหนี้เพิ่มขึ้น แบบนี้เรียกว่าเศรษฐกิจดีหรือเปล่า เมื่อรัฐบอกว่าข่าวนี้เป็นข่าวปลอมโดยใช้จีดีพีมาอ้างอิง มันคล้ายไปปิดกั้นคำอธิบายเศรษฐกิจที่ดีแบบอื่นๆ และถ้าคนเชื่อรัฐว่าข่าวเศรษฐกิจไม่ดีเป็นเฟคนิวส์ ย่อมเท่ากับลวงอีกชั้นหนึ่งให้ผู้อ่านรับนิยามของรัฐและไม่อธิบายว่าจีดีพีที่ว่านี้ได้มาอย่างไร

“มันจึงกลับมาสู่ประเด็นที่ว่ามันแยกยากว่าอะไรคือข่าวจริง อะไรคือข่าวปลอม เพราะข้อความที่วันนี้เราแชร์กันหลายๆ อย่างก็พูดยากว่ามันจริงหรือเปล่า การให้อำนาจรัฐคนเดียวบอกว่าอะไรคือข่าวจริงหรือข่าวปลอม มันมองได้ 2 แง่กว้างๆ แง่หนึ่งคือรัฐใช้มันเป็นเครื่องมือ อันนี้คงต้องใช้เพราะที่ดูมันไม่มีข่าวของฝ่ายตรงข้ามเลย ถ้าใช้เป็นเครื่องมือของตัวเองก็ยิ่งเป็นอะไรที่อันตราย ทำให้ยิ่งไม่ควรยอมรับ

“แต่ถ้าจะมองว่ารัฐเจตนาดีหมายถึงฉันจะไม่โกหก ฉันตั้งศูนย์นี้ฉันจะเลือกข่าวเป็นประโยชน์ต่อชาติ แต่คนที่ตั้งใจจะไม่โกหกก็เสนอข่าวเท็จได้อยู่ดี ด้วยความที่ตัวเองมีข้อจำกัดเชิงญาณวิทยาคือตัวเองก็เชื่อว่ามันจริง แล้วก็พยายามทำให้ทุกคนเชื่อตาม มันเกิดของแบบนี้ขึ้นตลอดว่าฉันคิดว่าฉันพูดจริง แต่ฉันไม่รู้ว่าฉันก็มีข้อจำกัดทางความรู้ ดังนั้น ต่อให้เจตนาดีว่าจะไม่โกหกคุณก็พูดเท็จได้ ถ้าเป็นเช่นนี้มันก็ยิ่งไม่ควรให้มีการผูกขาดว่าคนๆ นี้จะเป็นคนที่พูดความจริง”

เหตุผลอันควรให้เชื่อ

ขณะที่ญาณวิทยาดั้งเดิมมักจะต้องการหาความรู้ที่ผิดไม่ได้ เป็นความจริงสูงสุด แน่นอน ตายตัว แต่ญาณวิทยาเชิงสังคมจะเข้าไปเกี่ยวพันกับสิ่งที่ผู้อื่นบอกและมองว่าผิดได้ ไม่ตัดทิ้ง นักญาณวิทยาเชิงสังคมจะคิดว่าข่าวลือมีประโยชน์อย่างไร ทฤษฎีสมคบคิดมีประโยชน์อย่างไร ทำไมของพวกนี้จึงควรปล่อยให้เป็นอิสระ

“อย่างที่บอกว่ามีข่าวหลายแบบและเราแยกยากว่าอะไรเป็นอะไร อย่างข่าวลือก็มีการเขียนบทความถกเถียงกันว่าข่าวลือมันทำให้คนตั้งคำถามกับข่าวทางการ หรือเรื่องอะไรที่พูดเป็นทางการไม่ได้ ไม่มีวันจะพูดเป็นทางการได้ มันก็มีช่องทางพูด”

อย่างไรก็ตาม ญาณวิทยาเชิงสังคมไม่ได้ปฏิเสธแหล่งความรู้ที่มาจากตัวเอง เพียงแต่ไม่ได้ทิ้งหลักฐานเชิงสังคม

“ทุกวันนี้เราดำรงชีวิตอยู่ เรารับอะไรจากคนอื่นตลอด เราจะต้องมีหลักการอย่างไรเมื่อเจออย่างนี้ จะทิ้งมันไปหมดเลยจริงเหรอ สมมติอยากรู้เรื่องนี้แล้วไปค้นวิกิพีเดีย แต่วิกิพีเดียไม่รู้ว่าใครเขียน เราจะทิ้งเลยเหรอ ญาณวิทยาสังคมจะคิดว่าเมื่อเจอของในวิกิพีเดีย อะไรคือเหตุผลที่เราควรยอมรับหรือไม่ควรยอมรับ มันคล้ายๆ กับการมาดูหลักฐานเชิงสังคมประเภทต่างๆ ไม่ทิ้งของพวกนี้ไปเลยทันที

“ทีนี้ ถ้าถามว่ามันเป็นจริงเสมอไหม ความเชื่ออะไรที่มีเหตุอันควรให้เชื่อแล้ว มันไม่จำเป็นต้องจริงเพราะเหตุอันควรให้เชื่อกับความจริงเป็นคนละส่วนกัน อย่างไรก็ตาม ต่อให้มันเป็นคนละส่วนกัน เขาก็มองว่าอะไรที่มีเหตุอันควรให้เชื่อดีกว่าไม่มีเหตุอันควรให้ชื่อ เพราะอย่างน้อยคุณก็มีหลักฐาน มีคำอธิบายว่าทำไมคุณจึงเชื่อมัน ดีกว่าเชื่อเฉยๆ ในโลกที่บอกว่าอะไรจริงยาก การมีเหตุผลอันควรให้เชื่อจะดีกว่าไหมและเหตุผลอันควรให้เชื่อแบบไหนถึงดี”

ตรวจสอบก่อนเชื่อ

อาจถามได้ว่าทุกคนล้วนมีเหตุผลอันควรให้เชื่อของตนแตกต่างกันไป ศิรประภา อธิบายว่าถ้าข่าวนั้นเป็นเท็จจริงๆ ก็อาจจะพูดได้ว่าเหตุผลอันควรเชื่อของบุคคลนั้นมีปัญหา เกณฑ์มีปัญหา ซึ่งมันจะนำไปสู่การพูดคุยว่าแบบไหนถึงจะเรียกว่ามีเหตุผลอันควรให้เชื่อ

ญาณวิทยาเชิงสังคมจึงไม่ได้มุ่งบอกว่าอะไรความรู้ที่ควรเชื่อ กลับกัน มันให้วิธีคิดว่าเราควรมีเหตุผลอันควรให้เชื่อเรื่องราวต่างๆ อย่างไร

“จุดร่วมของนักญาณวิทยาเชิงสังคมคือคนที่เอาหลักฐานเชิงสังคม สิ่งที่เราได้จากสังคมมาตรวจสอบว่าจะให้เกณฑ์กับมันยังไง ทีนี้ ตัวเกณฑ์ก็แตกต่างกันไป แต่ก่อนที่เคยบอกว่าต้องเห็นถึงจะมีเหตุอันควรให้เชื่อ ต้องสอดคล้องกับความเชื่อตัวเองถึงจะมีเหตุอันควรให้เชื่อ ถ้าเรามาเจอหลักฐานเชิงสังคม ทฤษฎีแบบเดิมๆ อาจจะไม่พอ ไม่ใช่ปล่อยให้หลักฐานเข้ามาหาเราแบบ passive แต่เราต้องตรวจสอบความจริง พยายามหาความจริงด้วย คุณถึงจะพูดได้ว่าคุณมีเหตุผลอันควรให้เชื่อ

“ยกตัวอย่างวิกิพีเดีย ถ้าจะใช้มีนักญาณวิทยาเชิงสังคมที่เสนอว่า คุณต้องมีความเข้าใจว่าสารานุกรมนี้เป็นอย่างไร วิกิพีเดียเป็นสารานุกรมที่มีหน้าทอล์ค Discussion หลังคำว่าคำนี้เคยเปลี่ยนแปลงอะไรมาบ้าง ใครเป็นคนเปลี่ยน ให้ดูอ้างอิง คือไม่ใช่แค่อ่านด้านหน้าแล้วจบ แต่คุณต้องดูของข้างหลังว่าเขาถกเถียงกันอย่างไร ต้องดูการอ้างอิง ถ้าคุณทำของพวกนี้ถึงจะถือได้ว่าคุณมีเหตุผลอันควรให้เชื่อในเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องนั้น เกี่ยวกับความเชื่อที่ได้จากการอ่านคำนั้น ไม่ได้หมายความว่ามันมีเหตุอันควรให้เชื่อแบบเต็มที่ แต่ถ้าจะอ่านของจากใครก็ไม่รู้ ต้องทำอะไรบ้างถึงจะพูดได้ว่าในเบื้องต้นคุณมีเหตุอันควรให้เชื่อแล้ว

“ญาณวิทยาเชิงสังคมพยายามจะให้ทักษะเรา Google มีระบบการทำงานแบบนี้ มันกรองของบางอย่างออกไป ถ้าคุณไม่รู้ คุณก็จะถูกครอบให้เห็นเฉพาะสิ่งที่คุณอยากเห็น ญาณวิทยาเชิงสังคมคือการพยายามให้เกณฑ์เพื่อดีลกับปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น”

Wisdom of Crowd ปัญญาของฝูงชน

ปัญหามีอยู่ว่าหลายครั้งเฟคนิวส์ไม่ใช่สิ่งที่สามารถตรวจสอบหรือหาแหล่งอ้างอิงได้ง่าย ถึงกระนั้น ศิรประภาก็ให้ความเห็นว่า การตรวจสอบยากไม่ได้นำไปสู่เหตุผลว่ารัฐควรเป็นผู้ตรวจ การตรวจสอบยากอาจนำไปสู่ข้อสรุปอื่นๆ ที่ดีกว่ารัฐเป็นผู้ตรวจ นั่นก็คือให้ทุกคนเป็นผู้ตรวจ

“จะดีกว่าหรือไม่ถ้าการตรวจสอบเฟคนิวส์ทำได้ยาก แล้วทุกคนช่วยกันตรวจคือทุกๆ คนทำตัวเป็น Active User เจอข่าวปุ๊บ เช็คว่ามันจริงไหม ถ้าทุกคนช่วยกันเช็คมันเป็นพลังที่เรียกว่า Wisdom of Crowd ญาณวิทยาเชิงสังคมก็ถกเถียงกันเรื่องผู้เชี่ยวชาญกับฝูงชน เพราะปกติเวลาเราจะเชื่ออะไรสักอย่าง เรามักจะเชื่อตามผู้เชี่ยวชาญ แต่ในญาณวิทยาเชิงสังคมจะมีการถกกันถึงพลังของฝูงชนว่าการที่คนจำนวนมากๆ มาอยู่รวมกันมันสามารถที่จะสร้างความรู้ได้ ตรวจสอบความจริง หลีกเลี่ยงความเท็จได้ด้วยการแชร์ข้อมูล ต่อให้ทุกคนไม่รู้ว่าใคร แต่ด้วยเทคโนโลยีมันทำให้เถียงกันได้ว่าอันนี้พูดเท็จ แล้วจะดีกว่าไหมที่จะให้รัฐผูกขาด”

โดยปกติแล้วเรามักจะมองคำพูดของบุคคลนิรนามหรือคนที่ไม่รู้ว่าเป็นใครในเชิงไม่น่าเชื่อ ซึ่งศูนย์เฟคนิวส์จะทำให้ข่าวที่ไม่รู้ว่ามาจากใครหายไป แต่นักญาณวิทยาเชิงสังคมพยายามจะพูดถึงพลังของการพูดของคนที่ไม่รู้ว่าใคร

“จริงๆ แล้วการที่ไม่รู้ว่าใครพูดอาจจะมีข้อดีอื่นๆ ด้วยซ้ำ เช่น ถ้าเราอ่านความเห็นเขาโดยต่างฝ่ายต่างก็ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายเป็นใคร มันเปิดการถกเถียงได้แบบไม่ต้องกลัวกัน มันเพิ่มคำวิจารณ์ อีกอย่างคือการคุยแบบที่รู้ว่าเป็นใคร บางทีมีอคติด้วยว่าคนนี้ไม่รู้จริงหรอก แล้วบางทีเป็นอคติที่มาจากโครงสร้างสังคมทำให้เราตัดสินใจก่อนว่าคนนี้พูด ฉันไม่เชื่อ แต่การที่ไม่บอกว่าเป็นใครมันทำให้เราสามารถจะตัดอคติออกไปได้ อย่าไปคิดว่าการไม่บอกว่าเป็นใครจะมีผลเสียอย่างเดียว มันอาจจะมีผลดีก็ได้ จะดีกว่าไหมถ้าปล่อยให้ฝูงชนช่วยตรวจสอบด้วย”

แต่ฝูงชนล้วนมีอคติ?

“แต่ถ้าลองคิดดูว่าไม่ให้ฝูงชนเข้ามาตรวจสอบ ให้รัฐเป็นคนบอก อันนี้เราจะไม่รู้ทางเลือกอื่นเลย ทั้งที่รัฐก็มีอคติ มันไม่ดีกว่าเหรอที่เราจะฟังจากหลายๆ คนและสงสัยงงงวยกับตัวเองว่าอันไหนจริง ดีกว่าฉันเชื่อคนนี้บอก คือต่อให้แต่ละคนมีอคติ แต่การที่เราฟังจากหลายๆ คนที่มีอคติต่างกัน มันทำให้เราไม่คิดว่าอะไรจริงไปเลย การคิดว่าอะไรจริงไปเลยจะมีปัญหากว่าไหมถ้ามันไม่จริง”

นักญาณวิทยาเชิงสังคมจึงพิจารณาว่าฝูงชนมีข้อดีอย่างไร ข้อดีนี้จะทำให้เรามีเหตุผลอันควรให้เชื่อได้อย่างไร ซึ่งต้องดูด้วยว่าเป็นฝูงชนแบบไหนถึงน่าเชื่อ ฝูงชนนั้นใหญ่พอหรือไม่ ฝูงชนนั้นมีศูนย์กลางที่สั่งใครได้หรือไม่ ฝูงชนนั้นมีความแตกต่างทางความคิดเห็นมากพอหรือไหม ถ้าฝูงชนมีคุณสมบัติต่างๆ ดังนี้ สิ่งที่กลั่นกรองออกมาได้จะน่าเชื่อ จะมีแนวโน้มว่าจะจริง เหมือนเป็นการให้เกณฑ์เพื่อเผชิญกับของที่เราเจอในชีวิตทุกวันนี้

เสรีภาพในการแสดงออก

เราชวนถกต่อว่า บางเรื่องที่เฉพาะเจาะจงมากๆ เช่น เรื่องทางวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ ฝูงชนจะเข้ามาร่วมตรวจสอบได้อย่างไร ศิรประภา กล่าวว่า

“ถ้าพูดถึงคนในระบอบประชาธิปไตย เขาควรได้รับข้อมูลจำนวนมากและหลากหลายตามที่เขาสนใจ ถ้าเขาสนใจอยากรู้เรื่องอะไร ในฐานะคนทำวิจัยควรจะทำให้มันเข้าใจง่ายเพราะบางเรื่องฝูงชนถกเถียงไม่ได้ ซึ่งก็จริงว่าเขาไม่ควรถกเถียงในเรื่องที่เขาไม่รู้ แต่ประเด็นก็คือส่วนหนึ่งมาจากการที่มันเข้าใจไม่ได้สำหรับเขา มันจึงเป็นหน้าที่ของคนที่ทำงานพวกนี้ด้วยไหมที่ควรทำให้เขารู้”

กล่าวได้ว่าญาณวิทยาเชิงสังคมให้คุณค่ากับเสรีภาพในการแสดงออกของผู้คนอย่างหลากหลาย โดยไม่แบ่งแยกจากระดับการศึกษาหรือชนชั้น เพียงแต่ให้แนวทางว่าฝูงชนที่จะช่วยกันกลั่นกรองหรือตรวจสอบความรู้ควรมีลักษณะเช่นไร และแต่ละคนควรมีวิธีคิดอย่างไรจึงจะพูดได้ว่าตนเองมีเหตุผลอันควรให้เชื่อในความรู้นั้น

ณ ตอนนี้ ศูนย์ข่าวปลอมเกิดขึ้นแล้ว ในฐานะฝูงชนยังพอทำอะไรได้บ้าง ศิรประภา ตอบว่า

“อย่าหยุดตรวจสอบ”

เธอขยายความเพิ่มเติมว่า

“การแก้ปัญหาเฟคนิวส์ไม่ควรแก้จากข้างบนลงมา แต่ควรไปแก้ที่ทุกคน เช่น การเข้าไปสู่ระบบการศึกษา ทำอย่างไรให้คนมีเกณฑ์ในการตัดสินว่าอะไรควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อแบบที่เป็นนักตรวจสอบ

“และต่อให้เรารู้สึกว่าความคิดนั้นไม่มีเหตุผลเลย แต่ก็ไม่ควรตัดออกไปหรือไม่ฟังเลย การที่เราทำแบบนี้ นักญาณวิทยาเห็นว่าเป็นภัยต่อการมีความรู้ การที่เรามีอคติทำให้เราปฏิบัติต่อบางคนอย่างไม่เป็นธรรมเพราะเรามองว่าคนคนนี้ไม่มีวันรู้หรอก เราควรฟังเขาไหมว่าอะไรทำให้เขาคิดอย่างนั้น”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท