กมธ.กฎหมายฯ เชิญ ตร. - อธิการฯ แจงแทรกแซงวิ่งไล่ลุง ย้ำ ต้องไม่เลือกปฏิบัติ

กมธ. การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เชิญตัวแทนจัด 'วิ่งไล่ลุง' กทม. และที่ ม.วลัยลักษณ์ เข้าให้ข้อมูลการถูกคุกคามและห้ามจัด ทางอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ อดีตแนวร่วม กปปส. ระบุ ไม่ทราบเรื่องหนังสือห้ามจากทางมหาวิทยาลัย แต่สั่งเป็นการภายในแล้วว่าไม่ให้ขัดขวาง รองอธิการบดีระบุ สั่งการไม่ให้เปิดเผยข้อมูล นศ. ในกรุ๊ปไลน์อีกแล้ว

เมื่อวันที่ 22 มกราคม ณ ห้องประชุมหมายเลข 307 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏร นำโดยปิยบุตร แสงกนกกุล ในฐานะประธาน กมธ. และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ พรรณิการ์ วานิช รองประธาน กมธ. และโฆษกพรรคอนาคตใหม่ เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาศึกษาและสอบหาข้อเท็จจริง กรณีการใช้อำนาจแทรกแซงการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงของนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) จ.นครศรีธรรมราช โดยมี พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโน ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศ.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มวล. รศ.ศราวุธ ปาลิโภชน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มาชี้แจงในฐานะผู้ถูกร้อง และธนวัฒน์ วงศ์ไชย ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุง และตัวแทนนักศึกษา มวล. ในฐานะผู้ร้อง

ธนวัฒน์ กล่าวว่า จากการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในวันที่ 12 มกรมคม ที่ผ่านมา ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและอีกกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามหน้าสื่ออย่างชัดเจนว่าในหลายพื้นที่มีการข่มขู่ กดดันและคุกคาม แม้แต่พื้นที่มหาวิทยาลัยที่ควรจะเป็นพื้นที่เสรีในการเปิดให้นักศึกษาได้แสดงออกซึ่งความคิด ความเห็นในสิทธิเสรีภาพของตนเอง ในฐานะเป็นผู้จัดงาน (วิ่งไล่ลุงที่สวนรถไฟ กทม.) ก็โดนติดตาม ข่มขู่ โดนคุกคามเช่นเดียวกัน คุณย่าของตนซึ่งไม่รู้เรื่องอะไรด้วยก็โดนเจ้าหน้าที่ไปถ่ายรูปที่บ้าน ผ่านการใช้กลไลอำนาจรัฐอย่างผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

"ผมอยากถามไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่า การจัดกิจกรรมของประชาชนนั้นเป็นไปโดยเสรีจริงๆ หรือไม่ กระบวนการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการจัดงานที่ไม่สามารถจัดงานแถลงข่าวได้ และเราไม่สามารถใส่เสื้อวิ่งไล่ลุงเข้ามาในสภาแห่งนี้ได้ มันสะท้อนว่าประเทศนี้มีประชาธิปไตยจริงๆหรือไม่ เรามีสิทธิและเสรีภาพจริงๆหรือไม่ การคุกคามเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นในประเทศนี้จริงๆหรือไม่ นี่คือสาเหตุที่ตนมาร้องเรียนในวันนี้"

ด้านตัวแทนนักศึกษากล่าวว่า ก่อนที่จะถึงวันจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ทาง มวล. ได้มีประกาศฉบับหนึ่งออกมาว่า จะไม่ให้มีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงภายในมหาวิทยาลัย แต่ประกาศฉบับนั้นมิได้มีการเซ็นรับรองจากใครทั้งสิ้น ซึ่งตนเห็นว่าการกระทำแบบนี้ เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของนักศึกษา ตนจึงได้โพสต์รูปตนเองในเฟสบุ๊คส่วนตัวพร้อมข้อความว่า 'เราจะวิ่งในวันที่ 12 ตามกำหนดเดิม' จากนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ของศูนย์อาสาป้องกันปราบปรามยาเสพติด มวล. ได้บันทึกภาพ (แคปภาพ) ในเฟสบุ๊คส่วนตัวของตน พร้อมกับแท๊กชื่อสุริยัน จากนั้นสุริยันได้เข้ามาตอบ พร้อมส่งทะเบียนนักศึกษาของตนที่ขึ้นข้อมูลทุกอย่างทั้งชื่อ นามสกุล รหัสประจำตัวนักศึกษา รหัสบัตรประชาชน รวมไปถึงที่อยู่ทั้งที่บ้านและหอพัก นอกจากนี้ในระหว่างกิจกรรมวิ่งไล่ลุง เจ้าพนักงานตำรวจที่มาสอบถามที่มีทั้งในและนอกเครื่องแบบนั้น ไม่มีการแสดงตนแต่อย่างใดว่าเป็นตำรวจสังกัดหน่วยใด

"ผมอยากถามไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่มหา'ลัยว่า จะการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผมได้อย่างไรบ้าง ตอนนี้ข้อมูลส่วนตัวของผมได้หลุดออกมาแล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลในส่วนที่สำคัญต่อความปลอดภัยของชีวิต ผมอยากให้มีการตั้งกรรมสอบกับพี่ที่ชื่อสุริยัน เราจะได้มีมาตรฐานเดียวกันและต่อจากนี้ ผมอยากให้นักศึกษาสามารถติดตามการเข้าทะเบียนประวัติของเจ้าหน้าที่กิจการนิสิตนักศึกษา เพราะถ้าหากเราสามารถติดตามได้ เราจะได้รู้ว่าใครไปค้นทะเบียนประวัติของเราบ้าง และจะได้รู้สึกถึงความปลอดภัยมากขึ้น"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทาง มวล. โดยสมบัติ ธํารงธัญวงศ์ อธิการบดี นำเอกสารเข้าชี้แจงประกอบด้วย แถลงการณ์ ศูนย์อำนวยการณ์ป้องกันและปราบปรายาเสพติด มวล.บันทึกข้อความ มวล. ถึงนายกองค์การบริหาร องค์การนักศึกษาเรื่อง การดำเนินการของมหาวิทยาลัยต่อกรณีสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม 'วิ่งไล่ลุง มวล.' บันทึกข้อความ มวล. ถึงประธานสภานักศึกษา เรื่อง การดำเนินการของมหาวิทยาลัยต่อกรณีสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม 'วิ่งไล่ลุง มวล.' หนังสือจาก มวล. ถึงนายกสมาคมศิษย์เก่า มวล. เรื่อง การดำเนินการของมหาวิทยาลัยต่อกรณีสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม 'วิ่งไล่ลุง มวล.'

ด้านสมบัติ อธิการบดี ชี้แจงว่า หัวหน้าหน่วยฉุกเฉินมหาวิทยาลัยมีอำนาจรักษาดูแลความสงบเรียบร้อยภายใน ได้สั่งห้ามกิจกรรมวิ่งไล่ลุงและได้รายงานมา แต่ตนเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ จึงให้จัดกิจกรรมวิ่งได้ ซึ่งในวันที่ 12 มหาวิทยาลัยาจัดรถพยาบาลดูแลตลอดการวิ่ง แลได้สั่งการแก้ไขเรื่องที่เกิดขึ้นทันที มหาวิทยาลัยยืนยันไม่ได้ขัดขวาง และในส่วนของศูนย์อาสาป้องกันปราบปรามยาเสพติด เมื่อตนได้ทราบเรื่องก็ให้แก้ไขทันที และให้รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา สั่งการทันทีมิให้การดำเนินกิจการของฝ่ายนักศึกษาด้วยกันถูกละเมิดสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย

ด้านรองอธิการบดี มวล. ชี้แจงว่า ศูนย์อาสาป้องกันปราบปรามยาเสพติดนั้นเป็นกลุ่มไลน์ที่มีเจ้าหน้าที่ศิษย์เก่า และนักศึกษาปัจจุบัน ส่วนการให้ข้อมูลนักศึกษาตามที่ปรากฎนั้น ตนได้ลงโทษโดยการตักเตือนเจ้าหน้าที่ไปแล้ว และได้สั่งการไม่ให้เปิดเผยข้อมูลนักศึกษาต่อสาธารณะอีกต่อไป

ปิยบุตร ประธานกรรมาธิการ สอบถามไปยังตัวแทน สตช. ว่าในสายตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มองว่ากิจกรรมวิ่งไล่ลุงเป็นการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ เพราะเห็นว่ามีการร้องทุกข์กล่าวโทษในหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพฯและในต่างจังหวัด ตามพรบ.ชุมนุมสาธารณะ ในข้อหาที่ว่า เป็นการชุมนุมโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อน แบบนี้ตำรวจมองว่ากิจกรรมการวิ่งเป็นการชุมนุมใช่หรือไม่ ซึ่งในวันเดียวกันนั้นมีการจัดกิจกรรมเดินเชียร์ลุงในเวลาใกล้เคียงกัน จากการที่กิจกรรมวิ่งไล่ลุงถูกแจ้งความในข้อหาชุมนุม หากเป็นเช่นนั้น กรณีเดียวกันคือเดินเชียร์ลุง จะถูกมองว่าเป็นการชุมนุมด้วยหรือไม่

พรรณิการ์ ถามไปยังตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า ผู้จัดกิจกรรมเดินเชียร์ลุง มีการแจ้งขอการจัดกิจกรรมต่อส่วนราชการใด ทางสวนลุมพินีหรือทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ยังตั้งคำถามไปยังอธิการบดีฯ มวล. ว่าแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยตามที่นักศึกษากล่าวมานั้น เป็นแถลงการณ์ปลอมหรือไม่ ประกอบกับทางอธิการบดี มีหนังสือแจ้งเป็นทางการหรือไม่ว่า มหาวิทยาลัยจะไม่ดำเนินการขัดขวางเสรีภาพ ซึ่งขณะนี้ทางด้านสาธารณะและสังคม ยังเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยยังไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง รวมถึงกรณีพาตัวนักศึกษาไปสอบสวน มหาวิทยาลัยทราบถึงกรณีนี้หรือไม่ และตนขอให้อธิการบดี ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ เพื่อบันทึกไว้ในที่ประชุมกรรมาธิการว่า มหาวิทยาลัยสามารถใช้เพื่อเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตยได้

อธิการบดี มวล. ชี้แจงกรณีแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยว่า ตนไม่ทราบเพราะไม่ได้เข้าระบบสารบรรณลงเลข แต่ได้กำชับส่วนงานสื่อสารของมหาวิทยาลัยแล้ว การประกาศว่าให้จัดกิจกรรมได้นั้นตนมิได้ประกาศ แต่ได้สั่งการให้ไม่ขัดขวางไปเป็นการภายใน แต่ก็อาจเกิดข้อผิดพลาดและไม่ทั่วถึงได้เนื่องจากบุคลากรเยอะ

ด้านอังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชนได้ถามถึงแนวปฏิบัติและมาตรการเยียวยาต่อไป จากการที่เจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัยนำข้อมูลส่วนบุคคลของนักศึกษามาเปิดเผย และปัญหาการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อการคุกคามทางเพศผ่านการพิมพ์ข้อความทางโซเชียลมีเดีย และลดทอนความน่าเชื่อถือของนักกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นผู้หญิง ซึ่งมีผู้ไปแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) แต่ไม่ปรากฎความคืบหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วาระการพิจารณาศึกษาและสอบหาข้อเท็จจริง กรณีการใช้อำนาจในการแทรกแซง การจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงนั้นยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่สามารถตอบคำถามในชั้นกรรมาธิการได้ จึงจะต้องเชิญผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มาชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท