วิษณุระบุชะตา พ.ร.บ.งบฯ อาจตกไปทั้งฉบับ ตกเฉพาะมติ หรือเพียงหักคะแนนออก

วิษณุ เครืองาม เผยกรณี ส.ส. เสียบบัตรแทนกันมีบทลงโทษ และเป็นความผิดร้ายแรง ส่วนชะตาของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 อาจเป็นไปได้ 3 ทางคือ ตกไปทั้งฉบับ ตกไปเฉพาะมติที่มีการลงคะแนนแทนกัน หรือเพียงแค่หักคะแนนออก ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

23 ม.ค. 2563 สำนักข่าวไทย รายงานว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและประธานคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรค ระบุถึงการเสียบบัตรแทนกันในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เมื่อกระบวนการไม่ชอบ กฎหมายก็จะไม่ชอบ ตามด้วยไม่ต้องไปตีความว่าเนื้อหาไม่ชอบนั้น ว่า เป็นเรื่องที่ถูกตามที่กล่าวมา แต่ตนอยากชี้แจงถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าตนได้ให้ข่าวว่าการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่เป็นไร ขอยืนยันว่าไม่เคยพูดแบบนี้ แต่ตนบอกว่าให้แยกเป็น 2 เรื่อง คือ การเสียบบัตร และผลกระทบต่อร่าง พ.ร.บ.งบฯ

“ขอย้ำว่าเรื่องการเสียบบัตร ถือเป็นความเสียหายร้ายแรง มีความผิดและมีบทลงโทษด้วย แต่ที่ผมบอกว่าไม่ถึงวิบัติหรือความเสียหายนั้น คือเรื่องของร่าง พ.ร.บ.งบฯ ในเรื่องการเสียบบัตรถือว่าเป็นกระบวนการไม่ถูกต้อง และต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าชอบหรือไม่ด้วยกฎหมาย และจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป” วิษณุ กล่าว

วิษณุ กล่าวถึงกรณีที่ยกตัวอย่างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในปี 2556 และ 2557 ว่า ข้อเท็จจริงวันนั้นอย่างหนึ่ง แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงครั้งนี้เป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ และยืนยันว่าไม่เคยพูดว่าข้อเท็จจริงในครั้งนี้เป็นคนละกรณีกัน และอาจจะออกมาได้ทางใดทางหนึ่ง หรือ 2-3 ทาง ตนไม่ขอชี้นำ

วิษณุ กล่าวอีกว่า เมื่อกระบวนการไม่ชอบ จะทำให้มตินั้นไม่ชอบ แต่บังเอิญกรณีปี 2556 คือการร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนในปี 2557 คือร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เป็นกระบวนการที่หากมติไม่ชอบ ก็ไม่มีมติ แต่กรณีกฎหมายงบประมาณ แปลกกว่ากฎหมายอื่นที่มีเงื่อนเวลา จึงมีบทบัญญัติมาตรา 143 เป็นกรณีพิเศษต่างหาก จึงไม่รู้ว่าจะนำมาตรา 143 มาใช้ได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งตนเห็นว่าดีแล้วที่ ส.ส.ใช้มาตรานี้เพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านประธานสภาฯ

“ความแตกต่างอยู่ตรงที่ว่าหากกฏหมายอื่น ถ้ามติไม่ชอบ ร่างกฏหมายนั้นก็ไม่ชอบ แต่บังเอิญในกรณีของกฏหมายงบประมาณนั้น มาตรา 143 บอกว่าหากสภาฯ พิจารณาไม่เสร็จภายใน 105 วัน ถ้าไม่เสร็จถือว่าเห็นชอบตามร่างนั้น วุฒิสภาพิจารณาไม่เสร็จภายใน 20 วัน ให้ถือว่าเห็นชอบตามร่างที่สภาฯ เสนอมา ลักษณะเงื่อนเวลาแบบนี้ไม่มีอยู่ในกฏหมายอื่น แม้แต่การพิจารณารัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีเงื่อนเวลานี้ แต่กฏหมายงบประมาณเป็นเรื่องใหญ่ที่เขาเกรงว่าช้าและไม่ทัน จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อประเทศ ประเด็นนี้จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ประการใด เราก็ไม่เคยลอง จึงเป็นการดีที่ ส.ส. ที่ยื่นร้องได้รวมประเด็นคำร้องนี้ไปด้วย” วิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า เป็นไปได้ว่ากฏหมายนี้จะไม่ตกไปทั้งฉบับใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า เป็นไปได้หมด ตั้งแต่ 1.ตกไปทั้งฉบับ 2.เสียไปเฉพาะมตินั้น 3.เสียไปเฉพาะหักคะแนนที่จับได้ไล่ทันว่าเสียบบัตรแทนกันออก ก็แล้วแต่ ไม่ทราบ หรืออาจมีทางเป็นไปได้มากกว่านั้น

เมื่อถามว่า ดังนั้นแสดงว่าร่าง พ.ร.บ.งบฯ ไม่มีทางที่จะไม่ผ่านใช่หรือไม่  วิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ได้พูด แต่บอกว่าจะไม่ทำให้เกิดความวิกฤติ เพราะมีทางแก้ ต้องรอความชัดเจนจากกรณีที่สภาฯ สอบสวนออกมาว่าเสียบบัตรแทนกันหรือไม่ ใครเป็นคนแทน แล้วคนที่เสียบบัตรแทนยินยอมรู้เห็นหรือไม่ ซึ่งสอบได้แค่ไหนก็แค่นั้น

“ข้อเท็จจริงเหล่านี้จะทุ่นเวลาศาลรัฐธรรมนูญได้มาก แต่ผลกระทบที่จะมีแน่ ๆ คือ จะทำให้เรื่องยืดเยื้อและช้าลง ที่เคยคาดว่างบฯ จะออกได้ช่วงต้นและกลางเดือนกุมภาพันธ์ คงไม่เป็นเช่นนั้น แต่ความล่าช้า ไม่ทำให้เสียหายรุนแรง” วิษณุกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท