ปธน. ศรีลังกายอมรับ คนที่หาย 20,000 คนช่วงสงครามกลางเมืองเสียชีวิตหมดแล้ว

โกตาบายา ราชปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกาคนใหม่ อดีต รมต.กลาโหม ยอมรับ ชาวทมิฬ 20,000 รายที่สาบสูญในช่วงสงครามกลางเมืองเสียชีวิตแล้ว เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลศรีลังกายอมรับเรื่องนี้ถึงแม้ว่าความขัดแย้งจะจบลงตั้งแต่ปี 2552  ราชปักษามีแผนการจะร่างกฎหมายให้ผู้ที่ก่อเหตุเหล่านี้ได้รับนิรโทษกรรมด้วย

ภาพการกู้ระเบิดในค่ายจาฟนา ประเทศศรีลังกา (ที่มา: วิกิพีเดีย)

24 ม.ค. 2563 โกตาบายา ราชปักษา เป็นประธานาธิบดีของศรีลังกาผู้ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งเข้ามาในเดือน พ.ย. 2562 เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมมาก่อนในช่วงที่มีเหตุการณ์การสู้รบระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มติดอาวุธพยัคฆ์ทมิฬอีแลม โดยถึงแม้ว่าการสู้รบจะสิ้นสุดลงไปเป็นเวลา 11 ปีแล้ว แต่รัฐบาลเพิ่งจะยอมรับเป็นครั้งแรกว่ามีชาวทมิฬ 20,000 รายที่หายสาบสูญในช่วงสงครามเย็นนั้นได้เสียชีวิตแล้ว

ราชปักษากล่าวถึงในเรื่องนี้ในการพบปะหารือกับผู้แทนของสหประชาชาติที่กรุงโคลอมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา เขาบอกอีกว่าจะมีการออกใบมรณบัตรอย่างเป็นทางการให้กับบุคคลที่สาบสูญเหล่านี้ ราชปักษากล่าวอีกว่าการเปิดเผยในเรื่องนี้จะช่วยสร้างความกระจ่างให้กับครอบครัวของสูญเสียและเขาหวังว่านักการเมืองเชื้อสายชาวทมิฬจะไม่ "ฉวยใช้โอกาสนี้ในการสร้างความวุ่นวาย"

อย่างไรก็ตาม สื่อในศรีลังกาก็รายงานว่าราชปักษาเปิดเผยเรื่องนี้ในช่วงที่กำลังจะเสนอให้มีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสำหรับผู้ก่อเหตุเหล่านี้

สงครามกลางเมืองในศรีลังกาเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2526 และดำเนินมาเป็นเวลา 26 ปี สงครามในครั้งนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 100,000 ราย ความขัดแย้งในครั้งนี้ยังนับเป็นความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติกับศาสนาด้วย จากการที่ฝ่ายรัฐบาลคือชาวพุทธเชื้อสายสิงหล สู้รบกับชนกลุ่มน้อยศาสนาฮินดูชาวทมิฬที่ต้องการเอกราช

ถึงแม้ว่าจะมีการก่อเหตุโหดร้ายจากทั้งสองฝ่าย แต่สำนักข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติก็เคยรายงานว่ากองทัพของรัฐบาลก่อเหตุสังหารอย่างผิดกฎหมาย บังคับให้สูญหาย และก่อความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพต่อชาวทมิฬ โดยถือว่าเหตุการณ์เหล่านี้เป็นหนึ่งในการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

สหประชาชาติเปิดเผยว่า มีหลักฐานเป็นภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือแสดงให้เห็นทหารของฝ่ายรัฐบาลสังหารพลเรือนที่ถูกจับมัดและปิดตา มีการยิงปืนใหญ่ใส่ "พื้นที่ห้ามยิง" ซ้ำๆ จนมีคนเสียชีวิตราว 70,000 ราย ส่วนมากเป็นพลเรือนชาวทมิฬ

หลังจากที่ความขัดแย้งสิ้นสุดลง ฮิวแมนไรท์วอทช์เคยบันทึกเรื่องการหายสาบสูญของนักกิจกรรมและนักข่าวชาวทมิฬ

นักกิจกรรมชาวทมิฬไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนิรโทษกรรมของราชปักษา โดยบอกว่าคนที่ก่อเหตุต้องรับผิดชอบกับความผิดของตัวเอง ขณะที่ราชปักษาบอกว่าการเอาผิดกับบุคคลเหล่านี้จะขัดขวางกระบวนการสันติภาพหลังสงครามกลางเมือง

เรียบเรียงจาก

Sri Lanka finally admits 20,000 missing Tamils are dead, The Telegraph, Jan. 21, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท