Skip to main content
sharethis

เสวนา "โลกของ Data มีน้ำยาจริงไหม" ระบุ การเก็บข้อมูลดาต้าเปลี่ยนความคิดคนได้สิ้นเชิงและหากขับเคลื่อนต่อก็ปฏิรูปนโยบายรัฐได้  ยกตัวอย่าง  ‘YAK DATA’ การทำงานกับเดต้าที่ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ชี้ข้อจำกัดไทย ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์-ยากต่อการไปใช้ต่อ-ไม่ฟรี-มีเงื่อนไข แนะอย่ารอรัฐ ต้องสู้ด้วยตัวเอง


จากซ้ายไปขวา ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์, ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ, ภาณุเดช วศินวรรธนะ, สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, สิโรรส รุ่งดอนทราย, ผู้ดำเนินรายการ 

 

24 ม.ค. 2563 เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา The Momentum, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์, ป่าสาละ, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, Punch Up และ ดีแทค จัดงานเสวนา "โลกของ Data มีน้ำยาจริงไหม" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการอบรม Data Journalism Workshop โดยมีวิทยากรได้แก่ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Siametrics Consulting, ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ บุญมีแล็บ, ภาณุเดช วศินวรรธนะ Opendream, สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ สิโรรส รุ่งดอนทราย นักวิเคราะห์ข้อมูล

 

เดต้าเปลี่ยนมุมมองต่อจักรวาล ปฏิรูปนโยบายรัฐ

สมเกียรติ กล่าวว่า เดต้าไม่ได้เปลี่ยนแค่โลก แต่เปลี่ยนจักรวาล ย้อนกลับไปสมัยของปโทเลมี เขาใช้คณิตศาสตร์ในการพิสูจน์และอธิบายว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่เมื่อโคเปอร์นิคัสเก็บสถิติการโคจรของดวงดาวต่างๆ และพบว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล นี่ถือเป็นตัวอย่างของการใช้เดต้าเปลี่ยนมุมมองของเราต่อจักรวาลไปอย่างสิ้นเชิง

อีกตัวอย่างที่สมเกียรติยกคือ โรสไดอะแกรม (Rose Diagram) ของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ซึ่งเป็นนางพยาบาลในยุควิกตอเรียนที่ทำการรักษาทหารอังกฤษและเก็บข้อมูลว่าทหารนั้นตายที่ไหนบ้าง ซึ่ง โรสไดอะแกรม ตัวนี้บอกว่าทหารอังกฤษไม่ได้ตายในสนามรบเพราะถูกยิงถูกฟัน แต่ตายในโรงพยาบาลเพราะติดเชื้อ เนื่องจากไม่มียาปฏิชีวนะในยุคนั้น และเธอได้เอาไดอะแกรมนี้ไปทำแคมเปญต่อว่าจะต้องมีการรักษาความสะอาดในสถานพยาบาลอย่างเข้มงวด ต้องมีท่อระบาย จนกระทั่งปฏิรูปการรักษาพยาบาลในอังกฤษได้สำเร็จ

สมเกียรติชี้ว่า สิ่งที่ทำให้โรสไดอะแกรมประสบความสำเร็จคือ การเก็บเดต้าจากสนามจริงที่ไม่เคยมีใครเก็บมาก่อนและนำมาพรีเซ้นท์เดต้าได้ดี ดึงดูดความสนใจ นอกจากนี้ยังต้องมีแคมเปญออกมาให้สังคมตระหนักและต้องมีการล็อบบี้ให้ออกกฎหมายได้

 

เดต้าไม้เด็ดมัดใจคนอ่าน

ฐิติพงษ์ กล่าวว่า ไทยยังเล่าเรื่องผ่านเดต้าได้ไม่เข้มข้นเท่าไหร่ บทบาทของตนในงานหลายชิ้นที่ผ่านมาคืออยู่ในส่วนที่ทำให้ข้อมูลยากๆ ให้แมสกว่าเดิม อย่างนักข่าวอาจจะเป็นต้นกำเนิดของข้อมูล รู้ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร แต่ดีไซเนอร์จะเข้าไปสำรวจสมองของคนอ่านอีกทีว่าตอนนี้เขากำลังคิดอะไรอยู่ จะ กระตุ้น (trigger) คนด้วยอะไรเป็นอย่างแรก จะโน้มน้าวใจคนอย่างไร ซึ่งตรงนี้เดต้าจะเป็นไม้เด็ด 

“ยกตัวอย่างอีกเช่น คนจะสงสัยว่า ที่เล่ามาอย่างนี้มันจริงเหรอ เราก็ตบด้วย data เข้าไป จนเขาน่วม ร้อยเรียงข้อมูลเข้าไปแล้วดูว่าคนอ่านเขาน่วมกับเราหรือยัง หลังจากนั้นถึงจะค่อยยิง call to action เข้าไป ซึ่งมันเป็นจิตวิทยาที่จะทำให้คนเข้าถึงข้อมูลที่เราจะสื่อสารหรือเรียกร้อง มันคือการออกแบบข้อมูลและการส่งมอบข้อมูลร่วมกับคนทั้งทีมไปพร้อมกัน”

 

‘YAK DATA’ ตัวอย่างการทำงานกับเดต้าที่ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

ภาณุเดช เล่าว่า บริษัทที่ตนทำงานนั้นเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาทางสังคม โดยมีข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เต็มไปหมด แต่การนำข้อมูลไปใช้จริงทำไมถึงยังไม่สามารถไปถึงผู้ใช้งานทั่วไปได้ ตนพยายามให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและส่งต่อ ยกตัวอย่างงานที่ตนทำคือ ‘YAK DATA’ เป็นแผนที่สำหรับคนที่จะกลับบ้านช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาว่าทางกลับบ้านจะเจอ ‘ยักษ์’ กี่ตัว ซึ่งยักษ์หมายถึงจุดที่มักจะเกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ จากการนำข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ มาวิเคราะห์และประมวลผล 

 

สู่สังคม Open Data ข้อจำกัดที่ไทยยังไปไม่ถึง

สมเกียรติ กล่าวถึงสถานการณ์ของ ‘Open Data’  ในประเทศไทยว่า องค์ประกอบที่จะทำให้เกิดข้อมูลเปิดในไทยนั้นมีด้วยกันอยู่สี่ปัจจัย คือ

1.) ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลในรายละเอียด  – ไม่ใช่เน้นแค่เพียงจำนวนของข้อมูล เช่น หากเป็นข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ ก็จำเป็นจะต้องเก็บข้อมูลให้ละเอียดถึงสถานที่เกิดเหตุ เวลาเกิดเหตุ ปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุ ฯลฯ ข้อมูลเหล่านั้นจึงจะสมบูรณ์พอให้วิเคราะห์ต่อได้

2.) ต้องฟรี – ซึ่งไทยนั้นยังมีข้อมูลฟรีน้อย สมเกียรติเล่าว่า ในการทำงานวิจัยหลายชิ้นของ TDRI บางครั้งกว่าจะได้ข้อมูลมาก็ต้องเสียเงินจ่ายไปหลายแสนบาท ทั้งที่จริงๆ แล้วข้อมูลเหล่านี้ รัฐควรจะต้องเปิดให้คนเข้าถึงได้

3.) ต้องเป็นข้อมูลที่นำไปประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ต่อได้ หรือ Machine Readable – ปัญหาคือ ข้อมูลของราชการไทยส่วนใหญ่มักถูกบันทึกไว้ในหน้ากระดาษ หรือบางทีก็อยู่ในรูปของไฟล์ pdf ซึ่งคอมพิวเตอร์ประมวลผลลำบาก น่าจะเปิดเป็น Excel หรือ xml หรืออื่นๆมากกว่า

4.) ต้องไม่มีเงื่อนไขในการใช้ข้อมูล 

ซึ่งทั้งหมดนี้สมเกียรติกล่าวว่าเป็นโจทย์ที่ต้องเคลื่อนในระดับนโยบายต่อไป

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้ง Siametrics Consulting ชี้ว่า ดาต้ามักไม่ค่อยสมบูรณ์ ทำให้การวิเคราะห์ประมวลผลอาจทำได้ยาก นอกจากนี้สำหรับเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนตนยังมีโครงการเขียนโปรแกรมให้มีการทำนายล่วงหน้าว่าจะเกิดอุบัติเหตุตรงจุดไหน เพื่อที่จะหยุดอุบัติเหตุก่อนที่จะเกิดได้ ซึ่งบางครั้งไม่เฉพาะจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย แต่เป็นจุดที่แรนด้อมจนบางทีมนุษย์ไม่เข้าใจ ซึ่งนั้นนำไปสู่การ diagnosis หรือการทำความเข้าใจว่าทำไมรถถึงชนกัน 

“ดังนั้นเดต้ามีน้ำยาแน่นอน แต่คนทำมีน้ำยารึเปล่า คนที่รับช่วงหรือผู้นำทั้งหลายต้องเอาไปใช้ประโยชน์ด้วย ไม่งั้นมันก็จะไม่มีน้ำยา” ณภัทรกล่าว

 

อย่ารอรัฐ ต้องสู้ด้วยตัวเอง

สิโรรส กล่าวว่า หน่วยงานต่างๆอาจมีปัญหาเรื่องการเก็บข้อมูล แต่ข้อมูลที่เราสามารถหาได้ก่อนอย่างแรกคือในเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ รวมทั้งคำค้นหาในกูเกิ้ล เราก็จะรู้ว่าตอนนี้มีปัญหาอะไรในสังคม เกิดอะไรขึ้นในสังคม ซึ่งตนก็จะเก็บและกรอกใน Excel ไว้ แม้มันอาจไม่ได้เป็นฟอร์แมทที่ดึงออกมาง่ายแต่ก็ทำได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร

ณภัทร เน้นว่าต้องอย่าท้อถอย ต้องสู้ ตนไปดูข้อมูลของประเทศอื่นอย่างสหรัฐฯ แต่ละรัฐมีข้อมูลโอเพ่นเดต้ามากกว่าประเทศเราทั้งประเทศ นั่นเพราะสหรัฐฯต่อสู้เรื่องนี้มานานแล้ว ดังนั้นเราก็ต้องสู้ 

สมเกียรติระบุว่า เดต้าจำเป็น แต่โดยตัวมันเองไม่เพียงพอ ต้องเล่าเรื่อง และมีคนเอาไปทำต่อ แต่ในไทยมีปัญหาตรงที่เรื่องหนึ่งเรื่องมีหน่วยงานรับผิดชอบเต็มไปหมด แต่ไม่ค่อยทำงานด้วยกัน แม้เดต้าจะช่วยชี้เป้าปัญหา แต่ความสามารถในการทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานยังเป็นปัญหา

“ไทยอย่าไปรอภาครัฐ กระตุ้นภาครัฐไปด้วยและเอาตัวรอดไปด้วย เช่น PM2.5 กระตุ้นภาครัฐให้แก้ แต่ก็ต้องซื้อหน้ากากใส่ไปด้วย ไม่งั้นรอภาครัฐแก้เสร็จนี่ตาย ผมทำปฏิรูปการศึกษา ผมก็เอาลูกไปเข้าโรงเรียนอินเตอร์ก่อน” สมเกียรติกล่าว

ฐิติพงษ์กล่าวว่า เราจะต้องไม่ยอมจำนนต่อข้อจำกัดนี้ ถ้าเรารู้ว่าอะไรดีกว่าก็ควรลอง แม้รัฐบาลจะยังไม่ได้นำไปใช้ หากลองแล้วได้ผลรัฐก็อาจจะสนใจและนำไปใช้บ้าง อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราอาจไม่ได้แอพพลิเคชั่นที่มาจาก กกต. แต่มันก็มีการเก็บข้อมูลอื่นๆที่มาจากที่ต่างๆ ที่อาจจะอยู่ในสแตนดาร์ดมากกว่า ก็เป็นการกดดันว่าครั้งหน้า กกต. เองก็ต้องมาถึงสแตนดาร์ดแบบนี้เหมือนกัน 

 

สื่อและสังคมต้องปรับตัวให้ทัน 

ณภัทรระบุว่า ในอนาคตใครมีเดต้าที่ไม่มีคนอื่นมีก็จะได้เปรียบมหาศาล ขณะที่ภาครัฐจะอ่อนลงเรื่อยๆ เพราะยังค่อนข้างอ่อนในการมองเห็นเรื่องการใช้เดต้าให้เกิดประโยชน์ 

ต่อเรื่องสื่อกับการใช้เดต้าเป็นเรื่องมือ หรือ Data Journalism สมเกียรติระบุว่า Data Journalism อาจจะอยู่ต่อไป แต่ บริษัทสื่ออาจจะไม่อยู่ เพราะถ้าเราดูนิเวศสื่อ จะเห็นสื่อเจ๊งกันอุตลุด ถ้าใช้ Data Journalism จะทำให้สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์มีความน่าสนใจมากขึ้น ตัวอย่างเช่น สื่ออย่าง The Economist เปิดคอลัมน์ใหม่ชื่อ Graphic Detail เป็นการนำเสนอภาพโดยการใช้เดต้า ซึ่งเขามีวิธีจับประเด็นที่ดีและน่าสนใจ 

สมเกียรติกล่าวต่อว่า แต่โจทย์ของสื่อในไทยนั้นยาก เงินหายจากวงการสื่อ จากเดิมที่เคยได้กำไรปีละหมื่นกว่าล้าน ตอนนี้รวมกันทั้งวงการสื่อติดลบกันหมด และตนก็ยังไม่เห็นว่ามันจะฟื้นกลับขึ้นมายังไง ต่อให้เอา Data Journalism ไปใส่ในโมเดลธุรกิจแบบเดิมตนว่าก็ตายอยู่ดี แต่ทั้งนี้จะเกิดนักข่าวแบบใหม่ที่ใช้เดต้าในการเล่าเรื่อง 

“ใครเป็นคนมีเดต้าในมือ คือภาคเอกชน ธุรกิจขนาดใหญ่ ต่อไปผมคิดว่าบริษัทต่างๆ จะสื่อสารกับลูกค้ามากยิ่งขึ้น และเขาต้องการวิธีการเล่าเรื่องที่มันแปลกใหม่มากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนบางส่วนเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ บางส่วนก็เป็นอเจนด้าของเขา  ถ้าสังคมมีการศึกษาเรื่องพวกนี้มากขึ้น หน่วยงานของรัฐเองก็จะหันมาทำตาม” สมเกียรติระบุ 

สมเกียรติสรุปว่า ดังนั้นภูมิทัศน์ของสื่อจะเปลี่ยนไปเยอะ สื่อที่มีตลาดระดับโลก Financial, Time, The Economist ซึ่งมั่นคงอยู่แล้วก็จะยิ่งใช้ Data journalism ทำเดต้าออกมาได้น่าสนใจ แต่สำหรับวงการสื่อไทย ต้องหา niche ให้เจอ แล้วใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งก็จะเกิดตลาดใหม่ๆ จากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ถ้าภาครัฐปรับตัวได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net