Skip to main content
sharethis

ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล  อัดคลิปแนะฝึกจิตพิจารณาดู “ฝุ่นในใจ” เพื่อการเจริญสติรับมือกับปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างรู้เท่าทัน

24 ม.ค.2563 งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าฝุ่น PM2.5 ส่งผลต่อการเพิ่มอัตราการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรจากโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบ ถึงร้อยละ 58 นอกจากนี้ส่งผลต่อการเพิ่มของการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ร้อยละ 18 และการเกิดโรคมะเร็งปอด ร้อยละ 6

ในขณะที่หลายฝ่ายกำลังเป็นห่วงเรื่องสุขภาพกายที่จะได้รับอันตรายจากฝุ่น PM2.5 กันจนลืมที่จะดูแลสุขภาพใจ รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำให้พิจารณาดู “ฝุ่นในใจ” เพื่อการเจริญสติรับมือกับปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างรู้เท่าทัน

รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ชัชวาลย์ กล่าวว่า เรื่อง PM2.5 ที่กำลังพูดถึงกันอย่างมากในขณะนี้นั้น มีข้อมูลเยอะแยะมากมาย จนทำให้เกิดความสับสน ลังเล สงสัย จนกลายเป็น "ฝุ่นละอองในใจ" ทำให้ใจเราว้าวุ่น เหมือนเรากำลังพ่นฝุ่นในบ้านเราแล้วก็สูดฝุ่นเข้าไปเสียเอง ซึ่งเป็นเพราะเราไม่ได้ดูแลจิตใจของเรา จนทำให้ฝุ่นละอองในใจกลับมาทำร้ายเราเอง

คลิป "ฝุ่นในใจ" ของ ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล  เมื่อปี 2562

ผอ.ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา แนะนำว่า วิธีการที่เราจะดูแลไม่ให้เกิดฝุ่นในใจตัวเองคือ ให้เราเฝ้าสังเกตใจเรา ในเวลาที่ใจเราโล่งสบาย จะเหมือนกับอากาศที่สดชื่น ไม่มีฝุ่นละออง หรืออะไรที่ติดขัด แต่ถ้าเราเผลอไปมีความคิดที่ทำให้เกิดความกังวล ใจก็จะเหมือนมีอะไรถ่วงอยู่ให้รู้สึกหนักๆ หรืออึดอัดไม่สบาย เมื่อเป็นอย่างนี้ให้เราพยายามอยู่กับลมหายใจ แล้วก็นิ่งไว้สักพัก เพื่อที่จะทำให้เราได้รู้สึกตัว และมีเวลาที่จะทำให้ฝุ่นละอองในใจเราสงบลง แล้วถ้าเรามีเวลามากพอ เราก็จะสามารถค่อยๆ ปัดฝุ่นออกจนหมดไปจากใจได้ในที่สุด

ขั้นต่อไปคือการฝึกฝนเรียนรู้ให้เท่าทัน เพื่อว่าต่อไปเมื่อมีฝุ่นละอองเกิดขึ้นมาในใจอีก เราก็จะไม่สูดเข้าไป หรือไม่รับเข้าไป เปรียบเสมือนเรามีหน้ากาก แต่หน้ากากในที่นี้ไม่ใช่ N95 หรืออะไร แต่เป็น "หน้ากากแห่งสติ สมาธิ และปัญญา" ที่จะคอยกรองฝุ่นในใจที่เป็นความคิด กิเลส ตัณหา ซึ่งเป็น “มลพิษทางใจ”

การที่เราได้ฝึกฝนที่จะมี "เครื่องกรองฝุ่นในใจ" ที่ไม่มีใครหาซื้อได้ แล้วก็ไม่มีใครมากรองแทนเราได้ด้วยนั้น ต้องอาศัยการสร้าง การฝึกฝน และการเรียนรู้เพื่อให้เครื่องกรองนี้ทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งจริงๆ เครื่องกรองนี้ทุกคนมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าอาจไม่ค่อยได้หยิบออกมาใช้ ก็เลยใช้กันไม่ค่อยทัน เราก็เลยต้องสูดมลพิษทางความคิด ทางอารมณ์เข้าไป แต่ถ้าเราฝึกฝนอยู่เสมอ เครื่องกรองนี้จะลุกขึ้นมาทำงานเป็นสติ เป็นสมาธิ ทำให้เรามั่นคงอยู่กับอารมณ์ แล้วก็ดูแลจิตใจให้ผ่องใส ทำให้จิตใจเราเบิกบานแจ่มใส 

รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ชัชวาลย์ กล่าวแนะนำทิ้งท้ายด้วยว่า "ภูมิต้านทานทางใจ" ที่มั่นคง จะเป็น "ภูมิต้านทานทางกาย" ที่จะช่วยให้ร่างกายเราสามารถกำจัดฝุ่นละอองจริงๆ ที่เป็นพิษต่อร่างกายต่อไปได้

หมายเหตุ : ข่าวนี้ประชาไทได้รับแจ้งทาง E Mail เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา จาก ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net