Skip to main content
sharethis

ผู้นำชุมชนเชื้อสายกะเหรี่ยงเรียกร้องให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในผืนป่าแก่งกระจานและปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค.2553 ก่อนขึ้นทะเบียนมรดกโลก

ภาพอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดย ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร สนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าผลักดัน เผาบ้าน เผายุ้งฉาง ชาวกะเหรี่ยงบริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน เมื่อปี 2554 ต่อมาคณะกรรมการสิทธิฯ ออกรายงานชี้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิฯ และเมื่อปี 61 ศาลปกครองสูงสุด ได้อ่านคำพิพากษาชี้ว่าการปฏิบัติการของ จนท.อุทยานฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีให้ชดใช้ค่าเสียหายรายละเฉลี่ยประมาณ 50,000 บาท

24 ม.ค.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมว่า เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก โดยคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดส่งเอกสารเพิ่มเติม (Additional Information) ต่อศูนย์มรดกโลก ภายในวันที่ 31 ม.ค.นี้ เพื่อเร่งดำเนินการเสนอขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกอีกครั้ง

โดยเอกสารฉบับนี้มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า รัฐบาลได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมเชื้อสายกะเหรี่ยงในพื้นที่แก่งกระจานและได้รับการสนับสนุนจากชุมชนต่างๆให้ขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก นอกจากนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ออกหนังสือถึงผู้อำนวยการศูนย์มรดกโลกเพื่อเชิญผู้แทนจากสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (International Union for Conservation of Nature หรือ IUCN) ในฐานะองค์กรที่ปรึกษาทางธรรมชาติของคณะกรรมการมรดกโลกให้เข้าตรวจเยี่ยมพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน

ขณะเดียวกันในวันที่ 24 ธ.ค. 2562 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับหนังสือร้องเรียนจากผู้นำชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมเชื้อสายกะเหรี่ยงจาก 10 ชุมชน ได้แก่ บ้านบางกลอย บ้านโป่งกะทิง บ้านตากแดด บ้านหินสี บ้านลิ้นช้าง บ้านท่าเสลา บ้านห้วยเกษม บ้านพุน้ำร้อน บ้านสาริกา และบ้านห้วยกระซู่ ลงนามโดยผู้นำชุมชนจำนวน 59 รายชื่อ โดยชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลากว่า 100 ปีก่อนการประกาศให้ผืนป่านี้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติในปัจจุบัน โดยภายหลังประกาศของกรมอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านได้ถูกจับกุมดำเนินคดี บิลลี่-ผู้นำถูกคุกคาม ถูกฆาตกรรมและถูกบังคับให้สูญหาย และชาวบ้านถูกบังคับโยกย้ายบ้านเรือนและให้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ดั้งเดิม รวมทั้งสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและสิทธิชุมชนได้ถูกละเมิดอย่างรุนแรง

ผู้นำชุมชนเชื้อสายกะเหรี่ยงทั้ง 59 คนได้แสดงความเห็นและลงรายชื่อในหนังสือร้องเรียนเปิดผนึกฉบับที่แนบมานี้ โดยเห็นว่ารัฐบาลไทยยังไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชุมชนและชาวกะเหรี่ยงตามมติของที่ประชุมกรรมการมรดกโลกตามที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2563 ได้กล่าวอ้าง จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการโดยขอให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามมติของคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในชุมชนเชื้อสายกะเหรี่ยงดั้งเดิม และเคารพอย่างแท้จริงต่อสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ดังกล่าว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่า การเร่งรัดกระบวนการในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกดังกล่าวถือว่าไม่ตรงกับเจตนารมณ์มติของคณะกรรมการมรดกโลกจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. – 10 ก.ค. 2562  โดยในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการมรดกโลกไม่รับรองการขึ้นทะเบียนกลุ่มผืนป่าแก่งกระจานของไทยเป็นมรดกโลกเพราะมีข้อท้วงติงรัฐไทย 3 ข้อ ดังนี้ ข้อ 1) รัฐดำเนินการเรื่องการปักปันเขตแดนระหว่างไทยและเมียนมา ข้อ 2) ให้ทำข้อศึกษาเปรียบเทียบเรื่องขอบเขตพื้นที่ที่ลดลงว่ายังอยู่ภายใต้ข้อกำหนดตามระเบียบข้อที่ 10 เรื่องความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่หรือไม่ ข้อ 3) ให้ทำข้อห่วงกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนชุมชนรวมทั้งชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ การออกมติดังกล่าวมาจากความตั้งใจของคณะกรรมการที่จะให้เวลากับรัฐบาลไทยกลับไปทำงานอย่างจริงจังกับชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองท้องถิ่นในผืนป่าแก่งกระจานเป็นเวลาสามปี แต่นอกจากรัฐบาลไทยไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชนเผาพื้นเมืองของชาวกะเหรี่ยงตามที่คณะกรรมการมรดกโลกแนะนำแล้ว กลับรวบรัดเสนอให้คณะกรรมการมรดกโลกขึ้นทะเบียนมรดกโลกอีกครั้งหนึ่ง

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้พิจารณาจดหมายของผู้นำชุมชนเชื้อสายกะเหรี่ยง ประกอบกับบริบทของการออกมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 21 ม.ค. 2563 และมีความกังวลว่า รัฐบาลไทยยังมิได้ดำเนินการตามคุ้มครองและฟื้นฟูสิทธิของชาวบ้านในพื้นที่ผืนป่าแก่งกระจานแลเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน มีส่วนร่วมในการพูดคุย ปรึกษาหารือและตัดสินใจเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ดังที่คณะกรรมการมรดกโลกได้ท้วงติงไว้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตามที่ผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงเสนอไว้ในหนังสือร้องเรียนฉบับนี้ ดังต่อไปนี้:

1) รัฐต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชนดั้งเดิมและสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองของชาวกะเหรี่ยงอย่างจริงจัง

2) รัฐต้องให้ชาวบ้านกะเหรี่ยงสามารถอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมและสามารถดำรงชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของตนได้

3) รัฐต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

4) รัฐต้องให้ชาวบ้านจัดการพื้นที่ของตนเอง ตามสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

5)  รัฐต้องออกบัตรประชำตัวประชาชน และออกเอกสารสิทธิให้แก่ชาวบ้าน

6) รัฐต้องให้ชาวกะเหรี่ยงดำเนินชีวิตตามวิถีชีวิตดั้งเดิม เช่น การทำไรหมุนเวียน เป็นต้น

7) รัฐต้องยุติการจับกุม บังคับ ข่มขู่ เผาบ้าน ชาวบ้านในผืนป่าแก่งกระจาน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอให้องค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามคำร้องของผู้นำชุมชนตามที่ได้ระบุไว้ข้างต้น ตามหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนชาวบ้านกะเหรี่ยงในผื่นป่าแก่งกระจานต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net