Skip to main content
sharethis

เผยธุรกิจจัดหาแรงงานต่างด้าวบูม 200 บริษัทลุยแย่งเค้ก ตั้งบริษัทลูกฟันกำไรส่วนต่าง 3 เท่าตัว

สื่อประชาชาติธุรกิจอ้างแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวเปิดเผยว่าประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์เคยส่งผลให้ไทยเคยถูกจัดอันดับอยู่ใน Tier 3 เสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรทางการค้าจากสหรัฐอเมริกามาครั้งหนึ่ง และทำให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ผ่านมาตรการการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนั้นยังนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น จนกระทั่งในปี 2559 ไทยจึงเลื่อนอันดับมาอยู่ที่เทียร์ 2 (Tier 2 Watch List) หรือบัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ธุรกิจจัดหาแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการ

ตามข้อมูลของกรมการจัดหางานพบว่า ปัจจุบันมีบริษัทจัดหาแรงงานต่างด้าวเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก แต่มีที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจเพียง 218 ราย (ข้อมูลล่าสุด 29 พ.ย. 2562) ซึ่งบริษัทเหล่านั้นจัดหาแรงงานจาก 4 ประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา, สปป.ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม ดังนั้นเมื่อประเมินค่าใช้จ่ายในการเรียกเก็บจากแรงงานต่างด้าว คือ ค่าจัดทำพาสปอต, ค่าวีซ่า, ค่ายื่นใบอนุญาตทำงาน (work permit), ค่าตรวจสุขภาพ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ มีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 50,000-70,000 บาทต่อหัว ขณะที่ภาครัฐระบุว่า ค่าใช้จ่ายจะไม่เกิน 20,000 บาทต่อหัว คำถามที่ตามมา คือ ส่วนต่างที่เกิดขึ้นราว 3 เท่าตัว หรือประมาณ 30,000-50,000 บาท คือ ค่าบริการที่บริษัทจัดหาเรียกเก็บจากแรงงานต่างด้าวหรือไม่

“ถ้าบอกว่าเรากำลังหนีเรื่องเทียร์ ภาครัฐก็ต้องออกมาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมถึงเมื่อเรากังวลเรื่องการลงทุนจากต่างชาติมากมาย ด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน แต่เรากลับไม่ดำเนินการแก้ไขเลย และประเด็นนี้ถือว่าเป็นการจ้างงานแบบไม่เป็นธรรมหรือไม่ อีกทั้งเมื่อแรงงานเกิดปัญหา ผู้ประกอบการจึงต้องเข้ามาจัดการ และรับภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หากไม่มีฐานแรงงานที่ดี นักลงทุนที่ไหนเขาจะเข้ามาลงทุน”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในทางกลับกันยังพบบริษัทรับจัดหาแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ดำเนินการจัดตั้ง “บริษัทลูก” ขึ้นมาใหม่ เพื่อทำหน้าที่จัดหาแรงงานต่างด้าว “แทนบริษัทแม่” ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีการวิเคราะห์ของผู้ประกอบการว่า หากดำเนินการจัดหาแรงงานโดยบริษัทแม่ จะต้องรายงานข้อมูลในการจัดหาแรงงานต่อกรมการจัดหางาน แต่หากให้บริษัทลูกดำเนินการแทน กฎหมายครอบคลุมไม่ถึงก็ไม่จำเป็นต้องรายงาน ฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่ “ค่าส่วนต่าง” ที่เกิดขึ้น จึงถือเป็นรายได้ที่ไม่ต้องรายงานต่อหน่วยงานกำกับดูแล

ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นต่างด้าว แต่ไม่ใช่แรงงานทั่วไป เข้ามาทำงานในไทยผ่านการจัดหาจากบริษัทจัดหานั้น สามารถเรียกเก็บค่าดำเนินการต่าง ๆ ได้ไม่เกิน 30% จากผลตอบแทนในเดือนแรกที่เข้ามาทำงาน ในขณะที่แรงงานทั่วไปไม่มีการกำหนดค่าดำเนินการจัดหา ตรงนี้จึงกลายเป็นช่องทางให้กับบริษัทจัดหางานเข้ามาทำธุรกิจนี้มากขึ้น

“อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เอเย่นต์ A มอบหมายให้นาย B ที่ได้รับการยืนยันว่า สามารถใช้ licens ของเอเย่นต์ A ในการจัดหาแรงงานต่างด้าวได้ โดยไม่ต้องแจ้งข้อมูลกลับมาที่หน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลหรือไม่ ทั้งนี้ รูปแบบดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเฉพาะฝั่งไทยเท่านั้น ฝั่งเพื่อนบ้านก็มีการทำในลักษณะเดียวกัน ฉะนั้นเท่ากับว่าแรงงานต่างด้าวกว่าจะได้เข้ามาทำงานในไทยอาจต้องจ่ายซ้ำจ่ายซ้อน รวมแล้วมีความเป็นไปได้ที่อาจต้องจ่ายสูงถึง 50,000 บาทต่อหัว”

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามขั้นตอนการจัดหาแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน บริษัทผู้ได้รับอนุญาตให้จัดหาแรงงานต่างด้าวมีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ไม่เกิน 10,000-15,000 บาทเท่านั้น ประกอบด้วย ค่าหนังสือเดินทาง, ใบขออนุญาตทำงาน และค่าตรวจสุขภาพ รวมถึงค่าประกันสุขภาพเท่านั้น ส่วนกรณีที่มีการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเข้าไปดำเนินการในการจัดหาแรงต่างด้าวถือว่าผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตเท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้จัดหาแรงงานได้

ผู้สื่อข่าวสำรวจแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมก่อสร้างพบว่า บางรายมีการจัดตั้งบริษัทจัดหาแรงงานต่างด้าวเป็นของตัวเอง ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลถึงค่าใช้จ่ายที่แบ่งออกเป็น ค่าทำเล่มพาสปอร์ตในกรณีที่เป็นแรงงานต่างด้าวแบบ MOU แบ่งเป็น สัญชาติกัมพูชา ค่าใช้จ่าย 21,000 บาท เมียนมา 20,000 บาท ลาว 18,000 บาท ค่าต่อวีซ่าครบกำหนด 2 ปี 15,000 บาท

นอกจากนี้ยังมีค่าสัญญา หรือ work permit อยู่ที่ 1,900 บาท และค่าจัดทำเล่ม work permit 100 บาทต่อคนต่อปี ค่าต่ออายุทำงาน-พร้อมรายงานตัวทุก 90 วัน 100 บาทต่อคนต่อปี อีกทั้งในกรณีการต่อวีซ่า หากเกินจากกรอบเวลาที่กำหนด ต้องถูกปรับ 2,000 บาท เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงแรงงานได้เพิ่มเงื่อนไขสำหรับแรงงานต่างด้าวจะต้องทำเอกสารเพิ่มถิ่นพำนักในช่วงที่ทำงานในไทย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 25/1/2563 

กสร. ทบทวนปรับอัตราน้ำหนักยกของหนักที่เหมาะสมของเด็ก สอดคล้องมาตรฐานสากล

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กรมได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายอย่างต่อเนื่องมาตลอด โดยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดการใช้แรงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย จึงมีการดำเนินการภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติ เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การใช้เด็กทำงานยกของหนักด้วยแรงกาย เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดเข้าข่ายเป็นการให้เด็กทำงานอันตราย ซึ่งถือเป็นการทำงานในรูปแบบที่เลวร้ายรูปแบบหนึ่งตามอนุสัญญาฉบับที่ 182 ดังกล่าว

ทั้งนี้ประเทศไทยได้ออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราน้ำหนัก ที่นายจ้างให้ลูกจ้างเด็กทำงานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือของหนักสำหรับเด็กอายุ 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี เพศหญิง ไม่เกิน 20 กิโลกรัม เพศชาย ไม่เกิน 25 กิโลกรัม ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศขอให้ ประเทศไทยพิจารณาทบทวนปรับอัตราน้ำหนักยกของเด็ก ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม เพื่อทบทวนมาตรฐานและปรับปรุงข้อกฎหมายเกี่ยวกับน้ำหนักยกของเด็กทำงานให้เหมาะสม สอดคล้องกับมาตรฐานสากล กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงได้เชิญนายจ้าง ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม และ NGOs ร่วม 200 คน มาแสดงความคิดเห็นในประเด็นอัตราน้ำหนักที่ไม่เป็นอันตรายสำหรับสภาพการทำงานของเด็กในประเทศไทย อันจะเป็นแนวทางในการปรับปรุง แก้ไขอัตราน้ำหนักยกของเด็กทำงาน เพื่อนำไปสู่การขจัดปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายในประเทศไทยได้อย่างสัมฤทธิ์ผลต่อไป

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 24/1/2563 

สธ.เพิ่มสวัสดิการห้องพิเศษฟรี พร้อมฌาปนกิจสังเคราะห์ ให้ 'อสม.' 1.04 ล้านคน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาระบบสวัสดิการให้แก่ อสม.ทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจ ควบคู่ไปกับการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับ อสม.และครอบครัว กระทรวงสาธารณสุขได้แก้ไขระเบียบและปรับปรุงระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรักษาพยาบาล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างมาตรฐานระบบสวัสดิการให้เท่าเทียมกันอย่างทั่วถึง จากเดิม อสม.ที่ปฏิบัติหน้าที่เกิน 10 ปีขึ้นไปและ อสม.ดีเด่น ระดับจังหวัดขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 6 แสนคน ได้รับสิทธิค่าห้องพิเศษและค่าอาหารพิเศษฟรี ส่วน อสม.ที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ถึง 10 ปี (ซึ่งมีประมาณ 4 แสนคน) รวมถึงบุคคลในครอบครัว จะได้สิทธิค่าห้องพิเศษและค่าอาหารพิเศษ 50 % จึงได้ปรับปรุงระเบียบดังกล่าวโดยให้ อสม.ทุกคน ได้รับสิทธิค่าห้องพิเศษและค่าอาหารพิเศษฟรี ส่วนบุคคลในครอบครัว อสม. ยังคงให้เรียกเก็บ 50% ของอัตราที่กำหนด โดยผู้ที่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลจากส่วนราชการ ให้เรียกเก็บตามสิทธิก่อน ส่วนที่เกินให้ เรียกเก็บ 50 % เมื่อเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลภาครัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นอกจากสวัสดิการในเรื่องของการรักษาพยาบาลแล้ว กระทรวงสาธารณสุขยังได้มีการจัดตั้งสมาคมฌาปนกิจสังเคราะห์อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านแห่งประเทศไทย (ฌกส.อสม.) ดำเนินการค่าจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัว อสม. ซึ่งในขณะนี้มี อสม.ให้ความสนใจร่วมเป็นสมาชิก ฌกส.อสม. แล้วกว่า 315,000 ราย โดย อสม.ที่สมัครสมาชิกฯ ภายในวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 100 บาท และไม่ต้องตรวจสุขภาพ จึงขอเชิญชวนพี่น้อง อสม.ที่ยังไม่ได้สมัครสมาชิกมาร่วมเป็นสมาชิก ฌกส.อสม.ซึ่งเป็นสวัสดิการดี ๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือพี่น้อง อสม.ในการสร้างหลักประกันและเป็นการวางอนาคตให้กับคนข้างหลัง ทั้งนี้ อสม.สามารถสมัครสมาชิกได้ที่สถานบริการสาธารณสุขที่ส่งผลการปฏิบัติงาน (อสม. 1) หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สมาคม ฌกส. อสม. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18625 หรือที่เว็บไซต์  http://www.xn----twf6a0fxbbu.com/

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า อสม.ถือเป็นทรัพยากรกำลังคนที่สำคัญในการดูแลด้านสุขภาพแก่ประชาชนในชุมชนอย่างใกล้ชิด และมีความเสียสละอย่างมาก การเพิ่มระบบสวัสดิการดังกล่าว เพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้พี่น้อง อสม. และให้เกิดความเหมาะสมกับบทบาทของ อสม. ที่เพิ่มขึ้นในการพัฒนาและยกระดับ อสม. ให้เป็นหมอประจำบ้าน

ที่มา: Hfocus, 23/1/2563 

รมว.แรงงาน สั่งดูแลแรงงานไทยในอิสราเอลป่วยหลอดเลือดสมองตีบ รับส่งกลับภูมิลำเนา

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2563 หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห่วงใยกรณีแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศอิสราเอลป่วยด้วยโรคหลอดเลือดในสมองตีบ จึงได้มอบหมายให้ นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน อำนวยความสะดวกรับ – ส่งแรงงานไทยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในภูมิลำเนา และตรวจสอบสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ

สำหรับนายไพรบูรณ์ บุญภา อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 98 หมู่ที่ 4 ต.นาทม อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลโดยกรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ สัญญาจ้าง 2 ปี ในตำแหน่งคนงานเกษตร ประเภทอุตสาหกรรมบริการทางการเกษตร เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 นายจ้างชื่อ Yakov Meil ณ โมชาฟ Yated และได้หลบหนีนายจ้างเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ปัจจุบันไม่มีที่ทำงานและที่พักเป็นหลักแหล่ง ขณะนี้มีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่มีนายจ้างรายได้รับเป็นนายจ้าง จึงไม่สามารถติดตามสิทธิประโยชน์ใด ๆ ได้ โดยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 นายไพรบูรณ์ฯ ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดในสมองตีบหรืออุดตัน และมีเชื้อวัณโรคในระยะร้ายแรง และยังคงต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล Asaf Harofe จากนั้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563 นายไพรบูรณ์ฯ มีอาการดีขึ้นและพร้อมเดินทางกลับประเทศไทย โดยนางกาญจนา บุญภา ได้ลงนามหนังสือรับสภาพหนี้ ณ กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

โดยนายไพรบูรณ์ฯ มีกำหนดเดินทางถึงประเทศไทยในวันนี้ (23 ม.ค. 2563) ตามเวลาท้องถิ่นของอิสราเอล พร้อมมีคณะแพทย์ดูแล ด้วยสายการบินอัล อิสราเอล แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ LY 0083 เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติเทลอาวีฟ ยาโฟในวันที่ 22 ม.ค.63 เวลา 20.05 น. ตามเวลาท้องถิ่นของอิสราเอล และเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิในวันนี้ (23 ม.ค.63) เวลา 12.05 น. ทั้งนี้ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ได้ดำเนินการดูแลและตรวจสอบสิทธิประโยชน์ รวมถึงส่งตัวนายไพรบูรณ์ฯ ณ ท่าอากาศยานเทลอาวีฟ ยาโฟ ในวันเดินทาง

ม.ร.ว.จัตุมงคลฯ กล่าวต่อว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยรายนี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศประสานกรมการจัดหางาน อำนวยความสะดวกรับ - ส่งแรงงาน กระทรวงสาธารณสุขช่วยเหลือประสานโรงพยาบาลตามภูมิลำเนา และ สปสช. ช่วยเหลือเรื่องสิทธิรักษาพยาบาล ส่วนกรณีหลบหนีนายจ้างจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศและกรณีเจ็บป่วยจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกองทุนฯ เนื่องจากต้องเป็นกรณีประสบอันตรายจนถึงพิการหรือทุพพลภาพจึงจะได้รับการสงเคราะห์

รมว.แรงงาน ยังได้เน้นย้ำให้แรงงานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศให้เดินทางด้วยวิธีที่ถูกกฎหมาย 5 วิธี ได้แก่ บริษัทจัดหางานจัดส่งไป กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่งไปทำงาน ผู้ที่จะไปทำงานติดต่อหางานเอง ซึ่งต้องแจ้งการเดินก่อนการเดินทางไม่น้อยกว่า 15 วัน นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงาน และนายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงาน นอกจากนี้ จะต้องสมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ และไม่หลบหนีนายจ้าง ก็จะได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายทุกประการ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 23/1/2563 

‘ฐากร’ เผยอาจมีทีวีดิจิทัล 2-3 ช่อง เลย์ออฟพนักงานอีก หลังประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 3-4 ช่อง ยื่นหนังสือมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมใน 2 เรื่อง เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการยังคงประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และธุรกิจกำลังจะเดินต่อไปไม่ไหวแล้ว

สำหรับข้อเสนอของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ขอให้ กสทช. ช่วยเหลือค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม เพื่อใช้เผยแพร่ภาพเป็นการทั่วไป (Must Carry) เพิ่มเติม จากเดิมที่กสทช.ได้ช่วยเหลือค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดินไปแล้ว ซึ่งขณะนี้ กสทช.อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะช่วยเหลือได้หรือไม่ และหากช่วยเหลือแล้วจะกลายเป็นว่า กสทช.เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมากเกินไปหรือไม่

“เขามองว่า กสทช.น่าจะช่วยจ่ายเงินค่า Must Carry ให้กับทีวีดิจิทัลด้วย แต่ตรงนี้เราก็มองว่า ถ้าเราจะไปจ่ายให้อีก จะเป็นการช่วยผู้ประกอบการทีวีมากเกินไปหรือไม่ เพราะปีหนึ่งค่า Must Carry ของทุกช่องรวมกันจะอยู่ที่ 600 กว่าล้านบาท หากเราออกเงินให้ จะกลายเป็นว่ากสทช.เอื้อประโยชน์มากไปหรือเปล่า ซึ่งตัดสินใจยาก แต่เขาก็ทำหนังสือเข้ามา และอยากให้เราช่วยตรงนี้ด้วย แต่การช่วยเหลือตรงนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณา” นายฐากรกล่าว

และ2.ขอให้ กสทช.ปรับเปลี่ยนวิธีจัดเก็บค่าธรรมเนียมส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งปัจจุบันกสทช.จัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา 2% จากรายได้ แต่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลขอให้เปลี่ยนเป็นจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา 2% จากกำไรได้หรือไม่ คือ ให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมเฉพาะผู้ประกอบการฯ ที่มีกำไรเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการที่ขาดทุนไม่ต้องเก็บ ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังอยู่ระหว่างพิจารณาเช่นกัน

“เขาทำหนังสือเข้ามาถึงผม 2 เรื่อง ทำเข้ามา 3-4 ช่องแล้ว เขาบอกว่า ถ้าจะให้เขาอยู่รอดต้องทำแบบนี้ และตอนนี้เขาบอกว่าไปไม่ไหวแล้ว” นายฐากรกล่าว

นายฐากร ยังกล่าวถึงกรณีที่บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO เจ้าของช่องทีวีดิจิทัล MONO29 เลิกจ้างพนักงานกว่า 200 คนในช่วงที่ผ่านมา ว่า ได้สอบถามไปทางช่องโมโนแล้ว และได้คำตอบว่าสาเหตุที่ต้องเลิกจ้างพนักงาน เพราะรายได้ลดลงต่อเนื่อง และหากยังต้องรับภาระต้นทุนพนักงานที่มีมากกว่า 1,000 คน เขาบอกว่าธุรกิจจะไปต่อไม่ได้ และเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ จึงได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการเอาท์ซอร์ซให้คนกลุ่มอื่นมาทำงานแทน

“อย่างช่องโมโน ผมโทรไปคุยกับเขา เขาบอกว่า ที่ปรับลดคน ไม่ใช่ว่าช่องของเขาขาดทุนเยอะขนาดนั้น แต่ถ้าเขายังมีพนักงาน 1,000 กว่าคน และรายได้เขาน้อยลงเรื่อยๆ เขาก็อยู่ไม่ได้ เขาจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีเอาท์ซอร์ซแทนให้คนกลุ่มอื่นเข้ามาทำแทน เพื่อทำให้ธุรกิจที่ทำเดินต่อไปได้ ถ้าเขาจ้างพนักงานอยู่อย่างนี้ เขาบอกว่าอยู่ไม่ได้ ต้นทุนมันรับไม่ได้” นายฐากรกล่าว พร้อมระบุว่า ในเร็วๆนี้น่าจะเกิดสถานการณ์ทีวีดิจิทัล 2-3 ช่อง เลิกจ้างพนักงานอีก

“น่าจะยังมีสถานการณ์เลย์ออฟพนักงานทีวีดิจิทัลแบบนี้อีก และน่าจะมีอีกอย่างน้อย 2-3 ช่อง ที่จะเกิดขึ้นอย่างนี้อีกในเร็วๆ เพราะตอนนี้มีช่องที่ประสานมายังกสทช.เพื่อขอคืนใบอนุญาตมี 2-3 ช่องแล้ว เมื่ออยากคืนใบอนุญาตให้เรา แสดงว่าเขาอยู่ไม่ไหวแล้ว และถ้าหากเขายังไม่คืนใบอนุญาต ก็น่าจะเกิดสถานการณ์เลย์ออฟพนักงาน” นายฐากรระบุ

ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล และขอให้กสทช.ชดเชยเช่นเดียวกับการคืนใบอนุญาตตามม.44 ครั้งที่แล้ว นั้น นายฐากร ย้ำว่า การคืนช่องสามารถทำได้ แต่จะไม่ได้เงินชดเชย เพราะตอนนี้หมดเวลาแล้ว

“จริงๆแล้วในมาตรา 44 ยังให้เลขาธิการกสทช.ใช้อำนาจได้อยู่ แต่ผมไม่กล้าตัดสินใจว่าทำได้ เพราะถ้าคืนช่องได้ และไปคืนเงินให้เขาอีก ก็เหมือนกับว่าเสียค่าโง่หรือเปล่า เป็นการเอื้อประโยชน์หรือเปล่า และแม้ว่าหลายคนบอกว่า ทำได้ แต่ฟังกองเชียร์แล้ว มันอาจจะพาผมติดคุก และต้องไป ป.ป.ช.ไม่จบ ไม่สิ้น เพราะเขาจะมองว่าจ่ายเงินคืนให้เขาไป 500 ล้าน ผมไปรับคอมมิชชั่นหรือเปล่า ทั้งๆที่คืนแล้วไม่ต้องจ่ายเงิน เขาก็จะทำกันอยู่แล้ว” นายฐากรกล่าว

นายฐากร ยอมรับว่า สถานการณ์ทีวีดิจิทัลขณะนี้ถือว่ายังน่าเป็นห่วง เพราะรายได้โฆษณาที่เดิมอยู่ที่ 70% ของงบโฆษณาทั้งระบบ 1 แสนล้านบาท ปีที่แล้วลดลงมาเหลือ 60% และปีนี้สัดส่วนรายได้น่าจะต่ำกว่า 50% เพราะรายได้ค่าโฆษณาย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์มฟอร์มอื่นอย่าง OTT (Over-The-Top) เช่น Facebook, YouTube และ Netflix เป็นต้น อีกทั้งเงินค่าโฆษณาและบริการต่างๆ ก็โอนไปยังต่างประเทศทั้งหมด

“ผมเสนอว่า ควรเข้าให้ไปตรวจสอบที่ Gateway ว่า หาก OTT รายใด มีการนำเข้าข้อมูลมาเยอะ เราจะถือว่าเป็นการประกอบธุรกิจ และเมื่อมีการใช้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย คุณต้องจ่ายเงินค่าใช้โครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศ เราไม่ได้บอกว่าจะไปเก็บภาษีเขานะ แต่ที่ผ่านมาก็มีการไปสื่อสารผิดๆว่า กสทช.จะเก็บภาษีค่าใช้ Facebook จากประชาชน กสทช. ก็โดนด่า ซึ่งความจริงไม่ใช่ เราแค่ต้องการให้เขาจ่ายค่าใช้โครงข่ายให้กับเราเท่านั้น” นายฐากรระบุ

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 22/1/2563 

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลุยจังหวัดนราธิวาส ฝึกเสริมทักษะให้แก่ผู้สูงอายุ เพิ่มช่องทางในการประกอบอาชีพ

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส พร้อมมอบนโยบายด้านการพัฒนาทักษะให้แก่กำลังแรงงาน โดยเน้นย้ำให้ฝึกทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี และส่งเสริมให้กำลังแรงงานทุกช่วงวัย และการลงพื้นที่ในครั้งนี้มีโอกาสเยี่ยมชมการฝึกของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส (สพร. 25 นราธิวาส) ซึ่งได้รับเป้าหมายดำเนินการฝึกทักษะให้แก่แรงงานในพื้นที่จำนวนทั้งสิ้น 1,240 คน สำหรับการฝึกผู้สูงอายุ ได้รับเป้าหมายดำเนินการจำนวน 80 คน ปัจจุบันดำเนินการแล้วจำนวน 40 คน โดยเยี่ยมชมการฝึกอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุ สาขาแปรรูปสมุนไพร ดำเนินการฝึกระหว่างวันที่ 19-21 ม.ค. 2563 ณ ชมรมผู้สูงอายุวัดลำภู ต.ลำภู อ.เมือง จ.นราธิวาส มีผู้สูงอายุเข้าฝึกอบรมจำนวน 20 คน มีวิทยากรซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลตากใบมาให้ความรู้ในครั้งนี้ ได้ให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุด้วย

ด้านนายชัยชนะ เดชแพ ผู้อำนวยการ สพร. 25 นราธิวาส กล่าวว่า การฝึกกลุ่มนี้เป็นรุ่นที่ 2 ผู้สูงอายุได้ฝึกทำผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากสมุนไพร สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงผลิตเพื่อจำหน่ายได้ด้วย อาทิ การทำลูกประคบ นอกจากนี้ยังฝึกทำยาหม่อง พิมเสนน้ำ ยาดมสมุนไพรและน้ำมันสมุนไพร ส่วนรุ่นที่ 1 ดำเนินการฝึกระหว่างวันที่ 19-23 ม.ค. 2563 ณ อาคารอเนกประสงค์บ้านโคกพะยอม ม.2 ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส สาขาการสานเสื่อปาหนัน จำนวน 20 คน

การฝึกอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุในพื้นที่แต่ละจังหวัด จะช่วยเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุที่ยังสามารถทำงานได้ ในบางจังหวัดมีการฝึกเกี่ยวกับการขายสินค้าผ่านออนไลน์ให้แก่ผู้สูงอายุด้วย สำหรับจังหวัดที่เป็นเกษตรกรรม ได้นำเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบการเปิด-ปิดน้ำอัตโนมัติเพื่อใช้ในกระบวนการเพาะปลูก ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานในภาคการเกษตรได้โดยไม่ต้องใช้แรงมากอีกด้วย

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 22/1/2563 

สื่อเผยกรมวิชาการเกษตรระส่ำ เลิกจ้างลูกจ้างทั่วประเทศ หลังถูกตัดงบปี 63 กว่า 40%

สำนักข่าวไทย ได้รายงานข่าวเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2563 ว่าตามที่ปรากฏคลิปในโซเชียลมีเดียที่ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 (อุบลราชธานี) กล่าวกับลูกจ้างของศูนย์วิจัยที่จ้างเหมาในตำแหน่งต่าง ๆ ต่อสัญญาทุก 3 เดือนว่า มีความจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างส่วนหนึ่งและบางส่วนต้องปรับลดเงินเดือน 50% เนื่องจากไม่มีเงินจ้าง โดยผู้อำนวยการกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและแสดงความเห็นใจลูกจ้างของศูนย์ รวมทั้งระบุว่าจะพยายามรวบรวมเงินเพื่อให้สามารถว่าจ้างได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2563 แต่ขอไม่กล่าวถึงสาเหตุของการขาดเงินจ้างงานนั้น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยได้ตรวจสอบไปยังสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั้ง 8 เขต รวมถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระดับจังหวัดหลายจังหวัด พบว่ามีการเลิกจ้างลูกจ้างทั่วประเทศ

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าสาเหตุที่ต้องเลิกจ้างหรือลดเงินเดือนลูกจ้างสังกัดกรมวิชาการเกษตร เพราะปีงบประมาณ 2563 กรมวิชาการเกษตรถูกปรับลดงบประมาณกว่า 600 ล้านบาท คิดเป็น 40% ของที่ขอไป ซึ่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรมีหนังสือเวียนแจ้งให้ทุกหน่วยงานจัดลำดับความสำคัญของงานและปรับลดปริมาณงานตามวงเงินที่ได้รับ

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระดับจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคกลาง กล่าวว่าที่ศูนย์มีลูกจ้างชั่วคราว 15 คน เมื่อทราบข่าวจากกรมฯ ว่าจะถูกตัดงบประมาณจึงแจ้งลูกจ้างทั้งหมดให้ทราบตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. 2562 แต่เห็นใจลูกจ้างที่ทำงานด้วยกันมานานแล้วจึงไม่เลิกจ้าง แต่ขอลดเงินเดือน 50% หากลูกจ้างสมัครใจทำงานต่อจะจ้างไว้ทั้งหมด แต่หากเงินเดือนที่ได้รับน้อยไปเปิดโอกาสให้หางานอื่นได้ แต่ลูกจ้างของศูนย์ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอายุค่อนข้างมาก หางานใหม่ลำบาก ทุกคนจึงยอมทำต่อ โดยหวังว่าเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2563 ในวันที่ 30 ก.ย. 2563 แล้วเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ กรมวิชาการเกษตรจะได้รับจัดสรรงบประมาณใกล้เคียงกับที่ผ่าน ๆ มาและมีเงินจ้างงานต่อไป

ทั้งนี้ งบสำหรับจ้างลูกจ้างของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั้ง 8 เขต รวมถึงศูนย์ระดับจังหวัดจะต้องนำงบประมาณดำเนินการที่กรมจัดสรรให้มาจ้างลูกจ้างตามปริมาณงานของแต่ละแห่ง ดังนั้น สำนักวิจัยฯ ซึ่งมีลูกจ้างจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเลิกจ้างบางตำแหน่งงานและปรับลดเงินเดือน 50% บางตำแหน่งงาน แม้ในรายที่ไม่ถูกเลิกจ้าง แต่การปรับลดเงินเดือน 50% สร้างความเดือดร้อนอย่างมาก เพราะเงินเดือนลูกจ้างอยู่ในอัตราประมาณ 6,000-10,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการครองชีพ

ส่วนของข้าราชการของสำนักและศูนย์วิจัยฯ ต้องเสียสละไม่รับเบี้ยเลี้ยง กรณีที่ต้องเดินทางไปปฏิบัติราชการภาคสนามซึ่งได้วันละ 240 บาท แต่ที่กังวล คือ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถในการเดินทาง ซึ่งงบประมาณที่ได้จัดสรรมานั้น หลายส่วนใกล้หมดแล้ว อาจไม่เพียงพอใช้จนถึงปีงบประมาณใหม่

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยได้โทรศัพท์ติดต่อสอบถามไปยัง น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเลขานุการเป็นผู้รับสาย โดยแจ้งว่าอธิบดีกรมวิชาการเกษตรติดประชุมและไม่สะดวกให้สัมภาษณ์

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 22/1/2563 

ยอดผีน้อยรายงานตัวกลับโดยสมัครใจโดยรวมตั้งแต่เปิดระบบมาพุ่ง 8,093 ราย คิดโดยเฉลี่ยต่อวันมีผู้รายงานตัวกลับราวๆ 385 ราย

จากการรายงานของกรุงโซล, คย็องกีโด, อินชอน พบว่าจำนวนผีน้อยที่สมัครใจเดินทางกลับบ้านนั้นเพิ่มขึ้น จากข้อมูลที่ได้รับจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอินชอนเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2563 จำนวนของผีน้อยที่รายงานตัวกลับบ้านโดยสมัครใจผ่านทาง ตม.อินชอนนั้นเพิ่มขึ้น 66.28 % จาก 433 รายในเดือน พ.ย. 2562 เป็น 720 ในเดือนธ.ค. 2562 จำนวนผู้รายงานตัวกลับเพิ่มขึ้นเป็น 369 ราย จากวันที่ 1 – 14 ม.ค. 2563

ตั้งแต่ระบบออกเดินทางโดยสมัครใจสำหรับผีน้อย มีผีน้อยต่างชาติโดยเฉลี่ย 40 คนได้เดินทางไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในอินชอน, บูชอน, คิมโป, อันซาน, และชีฮึง เพื่อรายงานตัวออกเดินทางกลับโดยสมัครใจอนอกจากนี้จำนวนชาวต่างชาติที่รายงานตัวกลับในแทกู, คย็องซํงบุคโด เองก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีการอธิบายวว่า "มีชาวต่างชาติโดยเฉลี่ย 40 คนมายังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในแทกูต่อวัน"

ระบบนี้ได้ยกเว้นการจ่ายค่าปรับและการห้ามไม่ให้ผีน้อยได้กลับเข้ามาในประเทศ หากพวกเขารายงานตัวกลับโดยสมัครใจ แถมยังให้โอกาสพวกเขาในการได้รับวีซ่าระยะสั้น (C-3) หลังจากผ่านไประยะเวลาหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ระบบที่แข็งแกร่งของกระทรวงยุติธรรมนี้ให้ผลลัพธ์ที่สูง แต่กลับมีการโต้เถียงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังคงอยู่ นั่นก็คือการปราบปรามที่รุนแรงซึ่งคาดว่าจะเริ่มหลังจากระบบสมัครใจเดินทางกลับประเทศจบลง

ที่มา: thaikuk.com, 22/1/2563

จับชายอ้างเป็นตำรวจข่มขู่รีดเงินแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน

กล้องวงจรปิดริมถนนแห่งหนึ่ง บันทึกภาพขณะรถกระบะคันหนึ่ง ขับมาจอดริมถนน จากนั้นมีชายเสื้อสีขาว ซึ่งนั่งข้างคนขับ เดินลงจากรถไปที่ร้านริมถนน จากนั้นรถกระบะได้ขับพ้นรัศมีกล้องไปหาที่จอด

จากนั้นไม่นาน ชายเสื้อสีขาวเดินมากับชายคนหนึ่ง ลักษณะสวมหมวก และสะพายกระเป๋า เพื่อเดินไปขึ้นรถกระบะที่จอดรออยู่ ก่อนขับออกไป

นี่เป็นหลักฐานที่ตำรวจ สภ.พนมไพร สามารถตามจับตัว นายศักดิ์ชัย ทวีพันธ์ อายุ 34 ปี และนายอัครินทร์ ชื่นอารมณ์ อายุ 35 ปี ผู้ต้องหาที่อ้างเป็นตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เข้าไปข่มขู่และเรียกเก็บเงินกับนายโจ วันเจริญ แรงงานชาวเมียนมา จำนวน 11,700 บาท แล้วหลบหนีไป

โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา หลังตำรวจรับแจ้งความได้สืบสวนกระทั่งตามจับตัวผู้ต้องหาได้พร้อมรถกระบะที่ใช้ก่อเหตุ

ทั้งคู่ให้การรับสารภาพว่า เป็นเพื่อนกันและได้ชักชวนกันไปก่อเหตุ โดยจะเลือกเหยื่อที่เป็นแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน วันเกิดเหตุนายอัครินทร์ เป็นคนขับรถ ส่วนนายศักดิ์ชัย เป็นผู้ลงไปเจรจาเรียกเก็บเงินเหยื่อ เมื่อได้เงินแล้วก็พากันหลบหนี และยังอ้างอีกว่าเพิ่งทำครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่ตำรวจไม่ปักใจเชื่อ เนื่องจากนายศักดิ์ชัย เคยทำงานร่วมกับตำรวจในกรุงเทพมหานคร จึงรู้วิธีทำงานของตำรวจ และนำไปใช้แอบอ้าง เพื่อข่มขู่เรียกเก็บเงิน

เบื้องต้นหลังสอบปากคำ ตำรวจได้แจ้งข้อหาร่วมกันกรรโชกทรัพย์ โดยอ้างตัวเป็นเจ้าพนักงาน และหน่วงเหนี่ยวกักขัง ก่อนส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: ch7.com, 22/1/2563 

กสร. เผยสถานการณ์แรงงานสัมพันธ์ปี 2562 ไม่รุนแรง 'ข้อเรียกร้อง-ข้อพิพาทแรงงาน' ลดลง 'ปิดงาน-หยุดงาน' เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่าในทุกปีนายจ้าง ลูกจ้างจะมีการแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง 446 แห่ง ข้อพิพาทแรงงาน จำนวน 69 แห่ง ซึ่งลดลงจากปี 2561 ที่มีข้อเรียกร้อง จำนวน 471 แห่ง ข้อพิพาทแรงงาน จำนวน 82 แห่ง เมื่อคิดอัตราการเกิดข้อพิพาทแรงงานต่อข้อเรียกร้องของปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 15.47 พบว่ามีอัตราลดลงเมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 17.41 แสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจาตกลงกันเองในระบบทวิภาคีได้มากขึ้น

ทั้งนี้ในปี 2562 พบว่า มีสถานประกอบกิจการที่นายจ้างปิดงาน จำนวน 3 แห่ง และมีทั้งนายจ้างปิดงานและลูกจ้างนัดหยุดงาน จำนวน 2 แห่ง ในขณะที่ปี 2561 มีเพียงนายจ้างปิดงาน จำนวน 1 แห่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย สาเหตุเนื่องจากสถานประกอบกิจการได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและประสบปัญหาด้านการเงิน ไม่สามารถจัดสิทธิประโยชน์ที่เป็นตัวเงินตามข้อเสนอของลูกจ้างได้ ในขณะที่ลูกจ้างมีความต้องการสิทธิประโยชน์มากกว่าหรือต้องไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา เพื่อนำมาใช้จ่ายในการดำรงชีพ จึงทำให้การเจรจาตกลงกันได้ยากขึ้น แต่ก็สามารถยุติได้โดยไม่ยืดเยื้อรุนแรงแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามในปี 2563 มีปัจจัยหลายประการที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานประกอบกิจการ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การแข่งขันทางการค้า เงินบาทที่แข็งค่า และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้สถานประกอบกิจการต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจและโครงสร้างการจ้างงาน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อลูกจ้างโดย กสร. ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 22/1/2563 

'โมโน กรุ๊ป' ชี้แจงการเลิกจ้างพนักงาน

21 ม.ค. 2563 ประชาสัมพันธ์ โมโน กรุ๊ป ได้เผยแพร่เอกสารถึงสื่อมวลชน เรื่อง 'ขอเรียนชี้แจง กรณีการเลิกจ้างพนักงานเครือ โมโน กรุ๊ป' ดังนี้

เรียนชี้แจง กรณีการเลิกจ้างพนักงานเครือ โมโน กรุ๊ป ในเดือน ม.ค. 2563 เพื่อป้องกันการสื่อสารที่สับสนเกี่ยวกับเหตุผลที่แท้จริงในเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทฯ ขอแจ้งทุกท่านดังนี้ บริษัทฯ ได้ตัดสินใจที่จะ (1) มุ่งเน้นธุรกิจที่ทำกำไร ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ MONO29 บริการวีดีโอออนดีมานต์ MONOMAX และการจัดงานอีเวนต์ต่าง ๆ เช่น งานคอนเสิร์ต มหกรรมเคาน์ดาวน์ปีใหม่ที่พัทยา โร้ดโชว์ตามสถานศึกษา กิจกรรมแข่งขันบาสเกตบอล และกิจกรรมการตลาดออนไลน์ (2) ปรับกระบวนการทำงานของธุรกิจออนไลน์ ให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น (3) หยุดธุรกิจที่ไม่ทำกำไร หรือ ธุรกิจที่สภาพการแข่งขันเปลี่ยนไป ได้แก่ สิ่งพิมพ์ ธุรกิจจองห้องพักออนไลน์ และ mobile value added services (MVAS)

บริษัทฯ จึงปรับโครงสร้างธุรกิจ และปรับกระบวนการทำงานใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นเหตุให้เกิดการปรับลดจำนวนพนักงานในครั้งนี้ โดยการปรับลดพนักงาน ได้ผ่านกระบวนการทางทรัพยากรบุคคลและกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังควบคุมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น การใช้งบการตลาดที่แม่นยำรัดกุมยิ่งขึ้น เป็นต้น โดยรวมแล้วส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการ (operation expense) ลงประมาณ 20 – 30%

เมื่อประกอบกับแผนการปรับราคาขายโฆษณาทีวีให้สูงขึ้นสอดคล้องกับเรทติ้งช่อง MONO29 ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิม prime time package ราคา 150,000 บาท เป็นราคา 300,000 บาทในปี 2563 จะส่งผลให้บริษัทฯ มีโอกาส ที่จะเริ่มกลับมามีกำไรอีกครั้ง

ที่มา: สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย, 21/1/2563

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบโมโนเลิกจ้างพนักงาน 86 คน จ่ายชดเชยตามกฎหมายทั้งหมดแล้ว รวม 15 ล้าน

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงกรณีข่าว สถานีโทรทัศน์ MONO 29 ได้มีการเลิกจ้างลูกจ้างว่า กสร.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทราบว่า บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือโมโนฯ มีการเลิกจ้างลูกจ้างจริงตามที่ปรากฏในข่าวจริง ปัจจุบันมีการเลิกจ้างลูกจ้างไปแล้ว 86 คน ทั้งนี้ทางบริษัทฯ ได้มีการจ่ายเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยให้กับลูกจ้างตามกฎหมาย รวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นให้กับลูกจ้างดังกล่าวแล้ว รวมเป็นเงิน 15 ล้านบาท

อธิบดีกสร. กล่าวเพิ่มเติม วันนี้ (20 ม.ค. 2563) พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนนทบุรี ได้ลงพื้นที่เข้าไปชี้แจงสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายให้แก่นายจ้างลูกจ้างได้ทราบเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ กสร.ได้สั่งการให้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประสานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานร่วมดูแลสิทธิและให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เช่น ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน การประสานหาตำแหน่งงานรองรับ เป็นต้น

ที่มา: PPTV, 20/1/2563 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net