Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทนำ

ปัจจุบัน เรื่องสิทธิมนุษยชนกับสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด มิได้แยกขาดออกจากกันอีกต่อไป ปัญหาฝุ่น pm2.5[1] ที่กำลังคุกคามสุขภาพของคนไทยจำนวนมากขณะนี้นั้น หลายฝ่ายมองว่าเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า นอกจากจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม (ในระดับระหว่างประเทศด้วยไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศ) ยังมีมิติของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศปนอยู่ด้วย กล่าวคือ ปัญหาฝุ่น pm 2.5 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในหลายๆ ด้านเช่น สิทธิในชีวิต สิทธิที่จะมีสุขภาพที่ดี นอกจากนี้แล้ว การแก้ไขปัญหาฝุ่น pm2.5 ยังสามารถดำเนินการตามกรอบพันธกรณีระหว่างประเทศของสิทธิมนุษยชนได้ด้วย

อนึ่ง ในเวทีระหว่างประเทศ มีกระแสเรียกร้องให้ “สิทธิที่จะหายใจอากาศบริสุทธิ์” เป็นสิทธิมนุษยชนอีกด้วย ที่ผ่านมา ประชาคมระหว่างประเทศจะให้ความสำคัญกับอาหารและน้ำดื่มที่บริสุทธิ์ มากกว่าความสำคัญของอากาศ อย่างไรก็ตาม อากาศที่บริสุทธ์ไม่ใช่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีวันหมดไปอย่างที่หลายคนคิด Panel ขององค์การการค้าโลก (WTO) เคยวินิจฉัยในคดี Gasoline ว่า อากาศเป็นทรัพยากรที่อาจหมดไปได้ (exhaustible natural)[2] ยิ่งกว่านั้น ในปฏิญญาสต๊อกโฮมส์ (Stockholm Declaration 1972) ยังได้ยืนยันว่า ทรัพยากรธรรมชาติบนโลกใบนี้ เช่นอากาศจะต้องได้รับการปกป้องเพื่อประโยชน์แก่คนรุ่นปัจจุบันและอนาคต[3]

ในระยะหลังๆ ที่ผ่านมาทั่วภูมิภาคของโลกกำลังเผชิญภยันตรายของมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่น pm2.5 ที่สร้างผลกระทบในเมืองใหญ่ๆ หลายเมืองทั่วโลกไม่เว้นแม้กระทั่งเมืองใหญ่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อย่างกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ[4] ทำให้สหประชาชาติและนานาประเทศหันมาให้ความสนใจกับปัญหามลพิษทางอากาศมากขึ้น

ข้อเขียนนี้มุ่งหมายที่จะอธิบายปัญหาฝุ่น pm2.5 ในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ

1. พันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ: คุ้มครอง เคารพและทำให้เติมเต็ม

ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกำหนดพันธกรณีแก่รัฐอยู่ 3 ด้าน คือ พันธกรณีในการคุ้มครอง (protect) เคารพ (respect) และ ทำให้เติมเต็ม (fulfill) ในแง่ของการคุ้มครอง รัฐจะต้องจัดกามาตรการทั้งทางนิติบัญญัติ (การออกกฎหมาย) และการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศอย่างเคร่งครัด ในแง่ของการเคารพ รัฐต้องใช้ความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิในชีวิตและสิทธิเกี่ยวกับสุขอนามัย เช่น โครงการสัมปทานต่างๆ ของรัฐจะต้องมีมาตรการบรรเทาผลกระทบที่จะมีต่อสุขภาพของประชาชน ส่วนการทำให้เติมเต็มนั้น รัฐจะต้องดำเนินการมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถมีสิทธิในชีวิตและสุขภาพรวมถึงสิทธิที่จะหายใจอากาศบริสุทธิ์ได้อย่างแท้จริง มาตรการเช่นว่านี้ได้แก่ มาตรการตรวจจับมลพิษ การจัดทำแผนคุณภาพอากาศ เป็นต้น

2. ผลกระทบของฝุ่น pm2.5 ต่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ปัจจุบันมีนักวิชาการหันมาให้ความสนใจประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ มากขึ้น สหประชาชาติเองก็ให้ความสนใจในประเด็นนี้ โดยในระยะแรกได้มุ่งไปที่ปัญหาคุณภาพของอากาศที่เกิดจากฝุ่น pm2.5 โดยมีกระแสเสนอว่า สิทธิในการหายใจอากาศที่บริสุทธิ์ (right to breathe clean air) เป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง ยิ่งกว่านั้น ปัญหาฝุ่น pm 2.5 ที่กำลังคุกตามคนไทยจำนวนมากนั้นได้ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนอย่างที่เราคาดไม่ถึง ดังนี้

2.1 สิทธิในชีวิต (right to life)

ในบรรดาสิทธิมนุษยชนที่เรามีสิทธิในชีวิตสำคัญที่สุด[5] หากเราไม่มีชีวิตเสียแล้ว สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในการเดินทางติดต่อสื่อสาร สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในการชุมนุม ฯลฯล้วนไม่มีความหมาย เนื่องจากบรรดาสิทธิที่กล่าวมาข้างต้นล้วนอยู่บนพื้นฐานของสิทธิในชีวิตทั้งสิ้น หากไม่มีชีวิต มนุษย์ก็คงไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ สำหรับตราสารระหว่างประเทศที่รับรองสิทธิในชีวิตของมนุษย์ทุกคนได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights)[6]และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง[7]

 ในทางการแพทย์ อันตรายของฝุ่นpm 2.5 ในระยะยาวย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ ในรายงานของผู้แทนสหประชาชาติระบุว่า มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรต่อประชากรทั่วโลกปีละประมาณ 7 ล้านคน/ปี และเด็กที่เสียชีวิตประมาณปีละ 6 แสนคน/ปี[8] ฉะนั้น เห็นได้ชัดว่า อันตรายของฝุ่น pm2.5 นั้นคุกคามสิทธิในชีวิตของคนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรที่อยู่ในกลุ่มเปาะบางอย่างเด็กและผู้สูงวัย

2.2 สิทธิในสุขภาพที่ดี (right to health)

มีตราสารระหว่างประเทศหลายฉบับรับรองสิทธิในสุขภาพที่ดี เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[9]กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Convent on Economic, Social and Cultural Rights – ICESCR ประเทศไทยเป็นภาคี)[10] และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child ประเทศไทยเป็นภาคี) ตามอนุสัญญาสิทธิเด็กได้กำหนดพันธกรณีแก่รัฐภาคีว่าการดูแลสุขภาพของเด็กนอกจากจะต้องจัดหารอาหารที่ถูกหลักโภชนาการและน้ำดื่มที่สะอาดแล้วยังต้องพิจารณา “อันตรายและความเสี่ยงของสิ่งแวดล้อม” (the dangers and risks of environmental pollution) ด้วย[11] ซึ่งปัญหาฝุ่น pm2.5 จัดอยู่ในความหมายของคำว่า “อันตรายและความเสี่ยงของสิ่งแวดล้อม” สำหรับมาตรการการปิดโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบนั้นเป็นมาตรการหนึ่งที่ลดความเสี่ยงที่เด็กจะสูดเอาฝุ่น pm2.5 เข้าไปในร่างกายแต่มาตรการนี้ก็เป็นมาตรการปลายทางเฉพาะหน้าเท่านั้น รัฐบาลต้องมีมาตรการทั้งเชิงป้องกันและบรรเทาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนกว่านี้

3.หลักการชี้แนะการทำธุรกิจของภาคเอกชนให้เคารพสิทธิมนุษชนของสหประชาชาติ (UNGP) :แนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น pm2.5:

สหประชาชาติได้ออกหลักการชี้แนะขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน  (The UN Guiding Principles on Business and Human Rights-UNGP) เมื่อค.ศ. 2011 โดยตระหนักว่าการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนอาจส่งผลกระทบทางลบต่อสิทธิมนุษยชนในมิติต่างๆ ได้ สาระสำคัญของหลักการนี้คือ รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครอง (protect) สิทธิมนุษยชน ภาคธุรกิจเอกชนมีความรับผิดชอบในการเคารพ (respect) สิทธิมนุษยชนและทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องจัดให้มีมาตรการเยียวหาความเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ หลักการ UNGP ได้เปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไปที่เข้าใจว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของรัฐอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้ว การประกอบธุรกิจของภาคเอกชนได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างคอนโด รถไฟฟ้า ในกรุงเทพที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองเป็นจำนวนมาก ตามหลักการของ UNGP กำหนดว่าให้ภาคธุรกิจเอกชนเคารพสิทธิมนุษยชนโดยการหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม[12] ยิ่งกว่า ในหลักการ UNGP นี้ยังเรียกร้องให้ภาคธุรกิจเอกชนทำการประเมินความเสี่ยงแก่ห่วงโซ่การผลิต (supply chain) ในธุรกิจของตนด้วย[13] ฉะนั้น บริษัทที่รับซื้อผลิตภัณฑ์การเกษตรต่างๆ เช่น ข้าวโพด (เพื่อป้อนอุตสาหกรรมสัตว์) อ้อย เห็ดเพาะ จะต้องพิจารณาว่า เกษตรกรที่ตนเป็นคู่ค้านั้นมีส่วนในการเผาป่าหรือเผาซากไร่เพื่อเตรียมการปลูกหรือไม่ บริษัทเหล่านี้ไม่ควรแสวงหาผลประโยชน์บนความทุกข์ยากของประชาชน

เป็นที่น่ายินดีและน่าท้าทายว่าตอนนี้ประเทศไทยประกาศใช้แผนปฎิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนซึ่งครอบคลุม 4 เรื่องหนึ่งในนั้นคือเรื่องสิ่งแวดล้อม ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาฝุ่นpm2.5 ให้สำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม

4.ปัญหาฝุ่น pm2.5 กับเป้าหมายการพัฒนาที่หยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาที่หยั่งยืนเป็นเป้าหมายเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศที่จัดทำขึ้นโดยสหประชาชาติเป็นเป้าหมายที่นานาประเทศต่างมีพันธกิจที่จะต้องขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยมีเป้าหมายทั้งหมด 17 เป้าหมาย โดยเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาฝุ่น pm2.5 คือเป้าหมายที่ 3 ว่าด้วยการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being) โดยตัวชี้วัดข้อ 3.9 กำหนดว่าในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573 อีกประมาณ 10 ปีนับจากนี้) อัตราจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้เจ็บป่วยจากสารเคมีที่เป็นอันตรายและมลพิษทางอากาศ น้ำ ดินและการปนเปื้อนต่างๆ จะต้องลดลงอย่างมาก จากข้อ 3.9 จะเห็นได้ว่า ปัญหาฝุ่น pm2.5 ได้อยู่ในขอบเขตของปัญหามลพิษทางอากาศด้วย หากพิจารณาจากเป้าหมายการพัฒนาที่หยั่งยืนข้อที่ 3 และตัวชี้วัดข้อ 3.9 แล้ว ปัญหาฝุ่น pm2.5 นับเป็นโจทก์ที่ท้าทายมากสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะต้องดำเนินงานให้เป้าหมายข้อนี้สำฤทธิผลอย่างเป็นรูปธรรมและทันกรอบเวลาที่กำหนดไว้

5. ปัญหาการเผาป่าในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน: การใช้สิทธิในทรัพย์สิน ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น (sic utere ut alienum non laedas)

นอกจากฝุ่น pm 2.5 จะเกิดจากการเผาไหม้ของรถยนต์ การก่อสร้างโครงการของรัฐและเอกชนต่างๆ แล้ว สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตรหรือการเผาขยะต่างๆ ในที่โล่งแจ้ง ในรายงานของผู้แทนสหประชาชาติได้ระบุว่าปัญหาการเผาป่าในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดฝุ่น pm2.5 เพียงแต่ว่าในรายงานนี้ไม่ได้ระบุประเทศ อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบว่า การเผาป่าหรือเผานาหรือที่เพาะปลูกก็ดี เป็นสิ่งที่กระทำกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ กัมพูชา และอินโดนีเซีย ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษข้ามพรมแดนอย่างฝุ่นละอองและกลิ่นเหม็น ประเด็นคือ การกระทำแบบนี้ละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศหรือไม่

ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศมีหลักอยู่ว่า รัฐต้องไม่อนุญาตหรือยินยอมให้มีการใช้ดินแดนของตนเองที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐอื่นๆ (sic utere ut alienum non laedas) หลักกฎหมายนี้ได้รับการยืนยันในคดี Trail Smelter Case[14] และ Corfu Channel case[15] หมายความว่า รัฐจะยอมให้มีการประกอบกิจกรรมที่ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหาย (ข้ามพรมแดน) ต่อประเทศอื่นไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นในกรอบของอาเซียนเองมีความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) โดยหนึ่งในมาตรการตามความตกลงนี้รัฐภาคีจะต้องดำเนินมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการเผาป่าหรือการเผาเพื่อเตรียมการเพาะปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณพื้นที่ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิด (fire prone areas) คำถามก็คือ ปัญหาการเผาป่าหรือการเผาเพื่อเตรียมการเพาะปลูกที่เกิดขึ้นบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยนั้นเป็นพื้นที่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เดิมๆ ช่วงเวลาเดิมๆ แต่ทำไมการเผาป่าจึงเกิดขึ้นซ้ำซากได้เป็นเวลาหลายปีติดต่อกันส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อปัญหาสุขภาพและธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย

อย่างไรก็ดี ปัญหาการเผาป่า รัฐบาลไทยก่อนที่จะเรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้านระงับการกระทำนี้ เราจะต้องจัดการปัญหาการเผาป่าหรือเผานาในประเทศเราให้ได้เสียก่อน มิฉะนั้นแล้ว เราเองก็คงไม่สามารถเรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้านระงับการกระทำเช่นว่านี้ได้เพราะเราเองก็ยังปล่อยปละละเลยไม่เอาจริงเอาจังกับการเผาป่าหรือเผาเพื่อเตรียมการเพาะปลูกทำเกษตรกรรม

6.รัฐธรรมนูญกับการคุ้มครองสิทธิที่จะหายใจอากาศบริสุทธิ์

นอกจากกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแล้ว ศาลของบางประเทศเริ่มที่จะคุ้มครอง “สิทธิในชีวิต” ตามรัฐธรรมนูญให้มีขอบเขตกว้างขวางขึ้นคลุมถึงสิทธิที่จะมีสุขภาพที่ดีหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตด้วย เช่น ศาลสูงสุดของอินเดียเคยตีความว่า “สิทธิในชีวิต” ตามมาตรา 21 แห่งรัฐธรรมนูญมีความหมายกว้างครอบคลุมถึงสิทธิที่จะหายใจอากาศบริสุทธิ์หรือสิทธิที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและศาลยังสั่งให้รัฐบาลเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบหากรัฐบาลไม่สามารถให้ประชาชนเข้าถึงอากาศที่ดีได้[16] หรือศาลสูงสุดของปากีสถานก็ตีความคำว่า “สิทธิในชีวิต” ว่าหมายความรวมถึงสิทธิที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีด้วย[17] นอกจากนี้ศาลของประเทศเยอรมันในหลายเมืองก็มีคำตัดสินคุ้มครองสิทธิในอากาศบริสุทธิ์ โดยออกคำสั่งห้ามรถดีเซลวิ่งในบางพื้นที่ เช่น ศาลเมืองเบอร์ลิน[18] ศาลปกครองเมืองดุสเซลดอร์ฟและอีกหลายเมือง[19]

สำหรับรัฐธรรมนูญของประเทศไทยนั้นมีบทบัญญัติหลายมาตราที่สามารถนำมาเป็นหลักอ้างอิงการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีได้ เช่น มาตรา 50 (8)[20] มาตรา 57 (2)[21] มาตรา 58 เกี่ยวกับการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม มาตรา72 (5) เกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกและที่สำคัญที่สุดคือมาตรา 28 วรรคแรกรับรองสิทธิในชีวิต ฉะนั้น หากกล่าวโดยสรุปแล้ว แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะมิได้รับรองสิทธิที่จะหายใจอากาศบริสุทธิ์โดยชัดแจ้ง เป็นที่น่าสังเกตว่าในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐมาตรา 72 นั้นกล่าวแต่เพียงการวางแผนใช้ที่ดิน การจัดให้มีทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพและการอนุรักษ์พลังงานแต่ไม่ได้กล่าวถึงการจัดให้มีอากาศที่ดีแต่ประการใด นอกจากนี้ มาตรา 73 บัญญัติว่าให้รัฐพึงจัดมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตมาก มีความปลอดภัย ใช้ต้นทุนต่ำและแข่งกับตลาดได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่มาตรานี้ไม่ได้กล่าวถึงการทำเกษตรที่หยั่งยืนที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ กล่าวอีกนัยหนึ่ง มาตรานี้กล่าวแต่เพียงการส่งเสริมการเกษตรในเชิงการค้าพาณิชย์อย่างเดียวโดยขาดมิติด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิในสุขภาพที่ดีของประชาชน


บทส่งท้าย

ในรายงานของผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าเป็นองค์กรของรัฐ ภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาฝุ่น pm2.5 อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยในรายงานฉบับนี้ได้เสนอให้รัฐพิจารณามาตรการที่เป็นรูปธรรมหลายอย่าง[22] เช่น การห้ามสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานฟอสซิลและให้ใช้พลังงานหมุนเวียนแทน การประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนในการดำเนินโครงการใหม่ๆ ในส่วนของภาคธุรกิจเอกชน ในรายงานเสนอว่าภาคธุรกิจควรใช้ความพยายามที่ลดการปล่อยมลพิษรวมถึงห่วงโซ่ทางธุรกิจ (supply chain) ด้วย และไม่ควรใช้พลังงานฟอสซิลแต่หันมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น

แต่ไม่ว่าจะมีกฎหมาย นโยบาย แผน ยุทธศาสตร์ แนวปฎิบัติ[23] มากน้อยเพียงไรก็ตาม ไม่สำคัญเท่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงการให้ความร่วมมือจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตระหนักว่าภัยเงียบของฝุ่น pm2.5 กำลังคุกคามคนไทยในเวลานี้

 

 

อ้างอิง

[1] pm ย่อมาจาก particulate matter

[2]WT/DS2/R, Panel’s report, United States - Standards for Reformulated and Conventional Gasoline,1996,pPara. 6.37

[3] ดูหลักการข้อที่ 2 ของ Stockholm Declaration 1972

[4] ประเทศอังกฤษได้เชิญผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ของสหประชาชาติเข้าไปตรวจสอบประเมินการบริหารจัดการวัตถุอันตรายและของเสีย โดยผู้รายงานได้ทำรายงานเสร็จเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ในรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ มลพิษทางอากาศคุกคามในหลายเมืองของอังกฤษ ประมาณการณ์กันว่า มากกว่า 4 หมื่นคนต่อปีได้เสียชีวิตลงก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงลอนดอนมีคนเสียชีวิตมากกว่า 9 พันคนต่อปี ผู้รายงานของสหประชาชาติตำหนิรัฐบาลอังกฤษอย่างรุนแรงโดยกล่าว่า รัฐบาลอังกฤษยังคงเย้ยหยันหน้าที่ของตนเองในการประกันว่าคุณภาพของอากาศและคุ้มครองสิทธิในชีวิตและสุขภาพของประชาชนชาวอังกฤษ โปรดดูรายละเอียดใน A/HRC/36/41/Add.1, Report of the Special Rapporteur on the implications for human rights of the environmentally sound management and disposal of hazardous substances and wastes on his mission to the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland,2017

[5] คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติยืนยันว่า สิทธิในชีวิตเป็น “supreme right” (โปรดดู CCPR General Comment No. 6: Article 6 (Right to Life) 1982,para.1

[6] ข้อ 3 บัญญัติว่า “ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต” (Everyone has the right to life)

[7] ข้อ 6 บัญญัติว่า “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดที่จะมีชีวิต”

[8] โปรดดู Human Rights Council, A/HRC/40/55, Issue of human rights obligations relating to the enjoyment of a safe, clean, healthy and sustainable environment, 2019,para. 26

[9] ข้อ 25 บัญญัติว่า “ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการ ครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดี ของตนและของครอบครัว”

[10] ข้อ 12 บัญญัติว่า “รัฐภาคีแห่งกติกาน้ีรับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้”

[11] ข้อ 24 (2) (c)

[12] ดูข้อ 10 ของ UNGP

[13] ข้อ 13 และ ข้อ 16 ของ UNGP

[14] คดีนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างดี เป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับฝุ่นละอองหรือเขม่าควันที่เกิดขึ้นในประเทศแคนาดาแล้วลอยข้ามพรมแดนไปยังสหรัฐอเมริกาประเทศเพื่อนบ้าน อนุญาโตตุลาการกล่าวตอนหนึ่งว่า “….under the principles of international law, as well as of the law of the United States, no State has the right to use or permit the use of its territory in such a manner as to cause injury by fumes in or to the territory of another or the properties or persons therein…” โปรดดู Trail Smelter case Arbitration (US.CA) 1954,p.1965

[15] Corfu Channel case, Judgment of April , 1949

[17] Muhammad Wajid Munir, Putting Public Trust Doctrine to Work: A Study of Judicial Intervention in Environmental Justice, LUMS Law Journal 2017, p.2

[19] Environmental Action Germany Legal Actions for Clean Air,2018,p.5

 

[20] รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่ร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

[21] รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า รัฐต้องอนุรักษ์ คุ้มครอง …สิ่งแวดล้อม

[22] ดูรายละเอียดใน A/HRC/40/55,Issue of human rights obligations resulting to the enjoyment of a safe, clean, healthy and sustainable environment,2019,pp.19-20

[23] องค์การอนามัยโลกได้ออกแนวปฏิบัติ (Guidelines) เกี่ยวกับคุณภาพอากาศทั้ง indoor และ outdoor

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net