การได้มาซึ่ง รธน. 40 ผ่านเป้าหมายและกรอบการทำงานของ คพป.-คปก. ถึง กมธ.ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สถานการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปัจจุบันภายหลังการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาแล้วนั้น และช่วงสัปดาห์ก่อนนี้เองก็ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการอีก 2 ชุด คือ คณะอนุกรรมาธิการวิเคราะห์ศึกษาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น และคณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไป ซึ่งกรอบการทำงานก็คงเป็นไปตามชื่อของคณะอนุฯ คือ ชุดแรกมุ่งพิจารณาไปที่บทบัญญัติของกฎหมายต่าง ๆ และชุดที่สองมุ่งไปที่การประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

เมื่อเป็นเช่นนี้คำถามก็คือ กรอบการทำงานที่ว่ามานี้จะสามารถนำไปสู่เป้าหมายของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งปรากฏตามญัตติและการอภิปรายที่ถูกเสนอขึ้นทั้งโดยฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านหรือไม่ หรือจะเป็นแต่เพียงกรอบการทำงานที่ยังต้องคลำหาเป้าหมายกันต่อไปอีกสักพัก

อย่างไรก็ดี ขอชวนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างสำคัญ และยังเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งแล้ว จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องกล่าวถึงการทำงานของคณะกรรมการสองชุด คือ คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ที่ตั้งขึ้นสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย และคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) ซึ่งตั้งขึ้นสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา  

บริบททางสังคมการเมืองภายหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 และกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง ส่งผลให้ในกลางปี 2537 ได้มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ซึ่งมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน มีกรอบการทำงาน ดังนี้ (1) ศึกษา พิจารณา ค้นคว้า ตรวจสอบ รวบรวมความเห็นและเรียบเรียงบทบัญญัติขึ้นเป็นร่างรัฐธรรมนูญ (2) ศึกษา พิจารณา ค้นคว้า ตรวจสอบ รวบรวมความเห็นและเรียบเรียงบทบัญญัติขึ้นเป็นร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมือง และร่างกฎหมายอื่นอันจำเป็นต่อการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ (3) ศึกษา พิจารณา ค้นคว้า ตรวจสอบ รวบรวมความคิดเห็น และยกร่างข้อเสนอแนะเพื่อการจัดทำแผนหรือโครงการพัฒนา หรือปฏิรูปการเมืองการปกครองของประเทศไทยในระยะเฉพาะหน้าและระยะยาวโดยสอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ซึ่งที่สุดแล้ว คพป. ได้มีข้อเสนอออกมาสองเรื่อง คือ (1) “ควรมีองค์ที่ทำหน้าที่พัฒนาการเมืองอย่างต่อเนื่อง” กล่าวคือ เพื่อให้การพัฒนาการเมืองดำเนินไปอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และวัฒนธรรม จึงควรมีองค์กรหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่จัดทำแผนพัฒนาการเมือง (เช่นเดียวกับแผนพัฒนาด้านอื่น ๆ) โดยให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในองค์กรนี้ (2) “ควรมีการปฏิรูปการเมือง” กล่าวคือ เพื่อป้องกันเผด็จการรัฐสภา และความไร้เสถียรภาพและประสิทธิภาพทางการเมือง รวมทั้งสร้างระบอบการเมืองที่ใสสะอาด และมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของประชาชน จึงควรมีการปฏิรูปการเมืองโดยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2538) มาตรา 211 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของ คพป. ได้ถูกสานต่อโดยคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) ซึ่งถูกตั้งขึ้นในปี 2538 โดยมีอำนาจหน้าที่จัดทำแผนพัฒนาการเมืองให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เสนอแนวทางและวิธีการปฏิรูปการเมืองและดำเนินการแก้ไขประเด็นการปฏิรูปการเมืองเร่งด่วน รวมทั้งพิจารณาแนวทางการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับปี 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มาตรา 211 และพิจารณาปรังปรุงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเมือง โดยคณะกรรมการชุดนี้มีนายชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธาน

โดยรูปแบบการทำงานของ คปก. นั้น ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาทำงาน 4 คณะ ได้แก่ (1) คณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาการเมือง (2) คณะอนุกรรมการพิจารณาวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับปี 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มาตรา 211 (3) คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเมือง และ (4) คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปการเมืองก็คือ การแก้ไขปัญหารากฐานของระบบการเมืองไทย เพื่อให้กระบวนการทางการเมืองมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และสามารถสนองตอบต่อปัญหาในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ และได้รับการคุ้มครองตามหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ทั้งนี้ เพื่อให้ครอบคลุมเป้าหมายดังกล่าว คปก. จึงกำหนดกรอบการปฏิรูปการเมืองไว้ 4 ด้าน ดังนี้ (1) การกลั่นกรองการเข้าสู่อำนาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา รัฐมนตรี และฝ่ายตุลาการ โดยมีเป้าหมายให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมและเป็นประชาธิปไตย (2) การตรวจสอบการใช้อำนาจ โดยมีเป้าหมายให้มีการใช้อำนาจเป็นไปตามทำนองคลองธรรม หรือถูกต้องตามกฎหมาย (3) การคุ้มครองและขยายสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมือง ตลอดจนการเสริมสร้างหน้าที่และความรับผิดชอบของประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ (4) การปฏิรูปวัฒนธรรมทางการเมืองที่เอื้ออำนวยต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่วิถีชีวิตที่เป็นประชาธิปไตยในทุกระดับสังคม

ยิ่งไปกว่านั้น คปก. ยังได้กำหนดแนวทางการปฏิรูปการเมืองเร่งด่วนไว้ 6 เรื่อง คือ (1) ปฏิรูปแนวทางพัฒนาการเมือง โดยจัดทำแผนพัฒนาการเมือง และมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเมืองขึ้นมาดำเนินการตามแผนพัฒนาการเมือง (2) ปฏิรูปการจัดทำและแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญอย่างเหมาะสม (3) ปฏิรูประบบราชการและระบบตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบของนักการเมือง ข้าราชการ พนักงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ (4) ปฏิรูประบบพรรคการเมือง โดยให้มีการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ให้เป็นพรรคการเมืองของมวลชนและมีการดำเนินการที่เป็นประชาธิปไตย (5) ปฏิรูประบบเลือกตั้ง และให้มีองค์กรควบคุมการเลือกตั้งในทุกระดับ และ (6) ปฏิรูปการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยให้มีการออกกฎหมายว่าด้วยการประชาพิจารณ์ในนโยบายสาธารณะที่สำคัญ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนสามารถรวมกลุ่มเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของตน ของสังคม และของประเทศ โดยให้หน่วยงานของรัฐยอมรับและพิจารณาความคิดเห็นดังกล่าวด้วย

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สิ่งที่อยากจะชี้ชวนให้พิจารณาก็คือ อะไรคือโจทย์สำคัญของบริบททางสังคมการเมืองที่นำไปสู่กระแสให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ อะไรน่าจะเป็น ‘จุดหมายร่วม’ และ ‘แนวทางที่นำไปสู่จุดหมายนั้น’ เช่น คุณค่าประชาธิปไตย คุณค่าแห่งชาติ ความยุติธรรมทางสังคม เศรษฐกิจและการพัฒนา การเคารพสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีระหว่างประเทศ การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม การรับฟังกันอย่างตั้งใจและจริงใจ ฯลฯ และนอกจากนี้ มีประเด็นอะไรที่ยังค้างคาใจในหมู่ประชาชน เช่น ปัญหาปากท้อง ปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ฯลฯ ซึ่งตัวอย่างที่กล่าวมาเหล่านี้อาจเป็นตัวกำหนดกรอบและทิศทางการทำงานที่ทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นผลลัพธ์ที่น่าจะเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ รวมทั้งต่อคำถามว่านี้อาจหาคำตอบได้บางส่วนจากเป้าหมายและกรอบการทำงานของ คพป. และ คปก. ข้างต้น

 

อ้างอิง

  • ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย ส่งมอบแก่ประธานสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2538
  • รายงานผลการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) เล่ม 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท