Skip to main content
sharethis

3 เดือนเศษแล้วที่โครงการ 'รับยาใกล้บ้าน เภสัชกรใกล้ใจ' ดันโดย ก.สาธารณสุขและ สปสช. เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ ลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดระยะเวลาการรอคอยของผู้ป่วย โรงพยาบาลอุดรธานีหนึ่งในหน่วยบริการระดับทุติยภูมิที่ประสบภาวะความแออัดและเข้าร่วมขับเคลื่อนโครงการนี้เช่นกัน

27 ม.ค.2563 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า ภก.ดำรงเกียรติ ตั้งเจริญ รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร และหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลอุดรธานี กล่าวว่า โรงพยาบาลได้เริ่มดำเนินการโครงการรับยาใกล้บ้านตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดยโฟกัสที่คนไข้ 3 กลุ่มโรคคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และ หอบหืด เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุกปีและต้องมารับบริการอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาล

นอกจากนี้ การนัดผู้ป่วยห่าง 3-6 เดือน อาจเกิดปัญหาด้านยาระหว่างนัดจนต้องกลับมานอนโรงพยาบาล และการจ่ายยาครั้งละมาก ๆ ทำให้อาจทำให้มียาเหลือ ดังนั้นหากผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ควบคุมอาการได้สามารถไปรับบริการเติมยาต่อเนื่องที่ร้านยาซึ่งมีเภสัชกรกระจายอยู่ในชุมชนอย่างกว้างขวาง น่าจะช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาล และช่วยจัดการแก้ไขปัญหาทางยาได้ดียิ่งขึ้น

"คนไข้ที่เป็นโรคเหล่านี้มีผู้ป่วยเบาหวาน 1.65 หมื่นราย ความดันโลหิตสูง 3 หมื่นราย และหอบหืดอีก 1,700 ราย ตอนแรกสุดเราตั้งใจจะใช้โมเดลที่ 2 คือสำรองยาไว้ที่ร้านยา แต่เนื่องจากเราเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิ การดูแลโรคมีความซับซ้อน พอมารีวิวรายการยาที่จำเป็นต้องมีในร้านยาเพื่อดูแล 3 กลุ่มโรคนี้พบว่ามีร้อยกว่ารายการ ดังนั้นจึงกลับมาตั้งหลักที่โมเดลที่ 1 คือโรงพยาบาลจัดยาส่งไปให้ที่ร้านยาแล้วให้ผู้ป่วยมารับ" ภก.ดำรงเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ดี ทางโรงพยาบาลได้ปรับรายละเอียดการดำเนินการเล็กน้อย โดยรูปแบบการทำงานจะไม่วิธีให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์แล้วออกไปรับยาที่ร้านยา เพราะรู้สึกว่าคนไข้เสียเวลา 2 ครั้งคือต้องมาที่โรงพยาบาลด้วยและต้องไปร้านยาด้วย จึงปรับรูปแบบเป็นการ refill ยา หรือเติมยาที่ร้าน จากเดิมที่คนไข้ต้องมาโรงพยาบาลทุก 2 เดือน ก็จะกลายเป็นว่าคนไข้ที่อาการคงที่แล้วสามารถไปรับยาที่ร้านยาได้เลย ซึ่งจะช่วยยืดระยะเวลาที่กลับมาพบแพทย์เป็น 6 เดือนถึง 1 ปี แล้วแต่กรณี ส่วนที่เหลือก็แบ่งซอยให้ไปรับที่ร้านยาเป็นช่วง ๆ ประมาณ 2 เดือน/ครั้ง

"ในครั้งแรก คนไข้จะพบแพทย์และรับยาที่โรงพยาบาลก่อนเพราะอีกนิดเดียวก็จะจบกระบวนการแล้ว จากนั้นโรงพยาบาลจะส่งข้อมูลไปที่ร้านยา เมื่อครบกำหนดเวลาเราก็จัดยาส่งไปที่ร้านยาล่วงหน้า คนไข้ก็มารับยาที่ร้านยาได้เลยโดยร้านยายังช่วยให้คำแนะนำการใช้ยา ตรวจสอบสุขภาพผู้ป่วยเบื้องต้น หากมีปัญหาก็จะปรึกษามาที่โรงพยาบาล" ภก.ดำรงเกียรติ กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีร้านยาเข้าร่วม 5 ร้าน และศูนย์สุขภาพชุมชนอีก 3 แห่ง กระจายอยู่ในทุกโซนของเขตเทศบาลเมืองอุดรธานี มีจำนวนผู้ป่วยที่มารับยาที่ร้านยาประมาณ 50 ราย ถือเป็นตัวเลขที่ไม่มาก สาเหตุเพราะก่อนหน้านี้ได้กระจายคนไข้ที่อาการคงที่ไปให้ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดูแลอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจพบว่าจำนวนผู้ขอเข้าร่วมโครงการมี 150-160 ราย แต่มีกลุ่มที่อาการคงที่พอจะเข้าเกณฑ์รับยาใกล้บ้านได้เพียง 30% เท่านั้น

"จากการติดตามข้อมูลคนไข้พบว่ามากกว่า 90% มีความพึงพอใจมากเพราะไม่ต้องเสียเวลามาโรงพยาบาล จากทุก 2 เดือนก็ยืดเป็น 6 เดือนหรือ 1 ปี ขณะเดียวกัน ร้านยาก็มีเวลาคุณภาพกับคนไข้มากขึ้น เรามีตัวอย่างกรณีคนไข้หอบหืดไปที่ร้านยา เภสัชกรพบว่ามียาเหลือเยอะ พอสอบถามก็ทำให้ทราบว่าคนไข้ใช้ยาไม่ถูกต้อง ใช้น้อยกว่าที่ควร นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้จากโครงการนี้" ภก.ดำรงเกียรติ กล่าว

ภก.ดำรงเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ผลของการช่วยลดความแออัดอาจจะยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนนัก อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง แต่ประโยชน์ที่เกิดกับคนไข้นั้นชัดเจนว่ามีค่อนข้างมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net