Skip to main content
sharethis

28 ม.ค. 2563 วานนี้ ในการประชุมวุฒิสภา ซึ่งมี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณารายงานตรวจสอบประวัติของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยการประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมลับ

ทั้งนี้ก่อนหน้าเข้าสู่การประชุมลับ วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่าตลอดระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่มี พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังไม่มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยสมบูรณ์ ทำให้เกิดปัญหาภายในทั้งการบริหารงานบุคคล และงานงบประมาณ แม้แต่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่รักษาการอยู่ ก็เริ่มทยอยลาออก ส่งผลกระทบต่อการทำงานและการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ประกาศให้ไทยเป็น 1 ใน 38 ประเทศที่น่าละอาย เนื่องจากมีการคุกคาม ทำร้าย ดำเนินคดีนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งนอกจากเหตุการเมืองในประเทศแล้ว อาจเป็นเหตุจากการไม่มีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตัวจริง จึงทำให้ไม่สามารถปลดล็อกจากการจัดอันดับได้ 

วันชัยกล่าวต่อว่า การให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องระดับชาติ ตามกฎหมายแล้วกสม. ต้องมีองค์ประกอบ เป็นผู้เชี่ยวชาญ 5 ด้าน โดยขณะนี้มีด้านบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ขาดผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่อง นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกฎหมาย และด้านวัฒนธรรมประเพณี ดังนั้นวันนี้ถ้าเลือกครบ 4 ด้าน ก็สามารถทำหน้าที่ได้ แต่ถ้าไม่ครบก็ยังทำหน้าที่ไม่ได้

ด้านพลเอกอู๊ด เบื้องบน ประธานกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้แจงว่า หากตั้งเป้าจะให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อ ตามที่วันชัยกล่าวมา ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการมาตรวจสอบประวัติก็ได้ พร้อมย้ำว่าการพิจารณาบุคคล จะดูแต่เปลือกไม่ได้ เพราะเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยพิจารณาจากรายงานที่คณะกรรมาธิการตรวจสอบมา และขึ้นอยู่กับสมาชิกจะวินิจฉัยว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

สำหรับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ประกอบด้วย วลม้าย มานะการ เลขาธิการสมาคมลุ่มน้ำสายบุรี, ปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท, ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี หัวหน้าสาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชัย สิทธิรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และสื่อมวลชนอิสระ

โดยวุฒิสภามีมติเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพียง 2 คนจาก 5 คนคือปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ได้ 161 คะแนน และผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี หัวหน้าสาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ ได้ 171 คะแนน ส่วนที่เหลือคะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จึงถือว่าไม่ได้รับเลือก

ตัดออก 5 รายชื่อว่าที กสม. สาย NGOs-นักวิชาการ ส่วน 2 อดีตขรก. ลอยลำ

4 แคนดิเดต กสม. สอบตก ร้องศาล รธน. ไต่สวนกระบวนการคัดสรร-มติ สนช.

สำหรับการให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2561 โดยในเวลานั้นสภานิติบัญญัติ เป็นผู้ลงมติให้ความเห็นชอบ มีบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมด 7 คนประกอบด้วย สมศรี  หาญอนันตทสุข  รองประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อนหญิง , ไพโรจน์  พลเพชร ประธานมูลนิธิธรรมสิ่งแวดล้อม , ผู้ช่วยศาสตราจารย์จตุรงค์  บุณยรัตนสุนทร อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ , บุญแทน  ตันสุเทพวีรวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม , ปิติกาญจน์  สิทธิเดช อดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม , พรประไพ  กาญจนรินทร์ อดีตอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ สุรพงษ์  กองจันทึก กรรมการด้านนโยบายการส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนา ชุมชนหรือท้องถิ่น การเรียนรู้และการศึกษา การคุ้มครองและการพัฒนาเด็กและเยาวชนหรือครอบครัว การส่งเสริมสิทธิของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

ผลการออกเสียงลงคะแนนปรากฏว่าปิติกาญจน์  สิทธิเดช และพรประไพ  กาญจนรินทร์ ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสมาชิก สนช. ขณะที่ผู้เข้ารับการสรรหา 5 คน นั้นได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก สนช.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงถือว่าไม่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง กสม. ทั้งนี้ สนช. จะดำเนินการสรรหา กสม. ที่เหลือ 5 คน ต่อไป โดยผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก สนช. ในการสรรหาครั้งนี้จะไม่สามารถเข้ารับการสรรหารอบใหม่ได้

สำหรับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดปัจจุบัน(ชุดที่ 3) เริ่มปฎิบัติหน้าที่มาตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย. 2558 ถึงปัจจุบัน โดยเข้ารับตำแหน่งจากการลงมติเห็นชอบโดย สนช. มีจำนวนทั้งหมด 7 คน ปัจจุบันได้ลาออกไปแล้ว 4 คน และได้มีการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนทั้ง 4 คนที่ลาออก

เรียบเรียงส่วนหนึ่งจาก: สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net