อนุ กก.หลักประกันสุขภาพ เขต 7 เผยพบหลาย รพ.สรุปเวชระเบียนพลาด จนมีปัญหาเบิกจ่ายชดเชย

ประธานอนุ กก.หลักประกันสุขภาพ  เขต 7 เผยพบหลายหน่วยบริการสรุปเวชระเบียน-ลงรหัสโรคผิดพลาด ส่งผลให้ได้รับเงินชดเชยค่าบริการจาก สปสช.ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยจนกระทบสภาพคล่อง แนะให้พัฒนาแพทย์จบใหม่และสอบความรู้การสรุปเวชระเบียนแพทย์จบใหม่ก่อนการบรรจุออกไปใช้ทุน อบรมพัฒนาทักษะผู้ให้รหัสโรคและหัตการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการตรวจสอบเวชระเบียนและข้อมูลทั้งระบบอย่างน้อยปีละครั้ง

28 ม.ค.2563 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า ศ.พิเศษ นพ.สมพร โพธินาม ประธานคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต 7 ขอนแก่น เปิดเผยว่า จากการตรวจเยี่ยมหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่เขต 7 พบว่ามีหลายโรงพยาบาลที่มีความผิดพลาดในการส่งเบิกชดเชยค่าบริการจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้ได้รับเงินชดเชยไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยและส่งผลต่อสภาพคล่องของโรงพยาบาล

นพ.สมพร ยกตัวอย่างรูปแบบความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่การวินิจฉัยโดยไม่มีหลักฐานระบุในเวชระเบียน เช่น วินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบแต่ไม่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือความผิดพลาดในการวินิจฉัยโรคร่วม อาทิ คนไข้เป็นโรคไตวาย ก็บันทึกรายการส่งเบิกแต่โรคไตวายแต่ไม่บอกว่าเป็นเบาหวานด้วย ส่วนที่เป็นเบาหวานจึงไม่ได้ส่งเบิก หรือกรณีเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ผ่าตัดไส้ติ่งแล้วมีการอักเสบในช่องท้องหลังผ่าตัดต้องให้ยาราคาแพง แต่เวลาบันทึกข้อมูลบอกว่าผ่าตัดอย่างเดียว ก็ได้แต่เงินชดเชยผ่าตัด

นพ.สมพร กล่าวอีกว่า การบันทึกและสรุปเวชระเบียนเป็นบทบาทและหน้าที่ของแพทย์ แต่พบว่าในหน่วยบริการส่วนใหญ่ แพทย์ใช้ทุนเป็นผู้ดำเนินการโดยยังขาดความรู้และทักษะ อีกทั้งมีภาระหน้าที่ในการบริบาลผู้ป่วยจำนวนมาก ไม่มีเวลาศึกษาทำความเข้าใจเวชระเบียนให้ถูกต้อง

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ให้รหัสโรคและหัตถการในหน่วยบริการมีความรู้และทักษะน้อย บางแห่งไม่มีการฝึกอบรมพัฒนาความรู้ให้ต่อเนื่อง และบางหน่วยบริการมีผู้ให้รหัสโรคเพียง 1 คนและมีบทบาทหน้าที่หลายอย่างและขาดการประสานงานที่ดีกับแพทย์ผู้วินิจฉัยโรค จึงทำให้การให้รหัสไม่ถูกต้อง ส่งผลให้การส่งเบิกชดเชยไม่ถูกต้องด้วย

ในส่วนของการบันทึกข้อมูลสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคล (ข้อมูล 43 แฟ้ม) พบว่าหน่วยบริการส่วนมากมีการบันทึกข้อมูลการให้บริการฝากครรภ์คุณภาพและการตรวจมะเร็งปากมดลูกน้อย จากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องเชื่อว่าน้อยกว่าความเป็นจริงและคุณภาพของข้อมูลขาดความสมบูรณ์ ส่งผลให้หน่วยบริการได้รับเงินชดเชยน้อยลง

"สิ่งเหล่านี้พลาดไปเยอะเลย บางโรงพยาบาลเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลอื่นที่จำนวนผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอกใกล้เคียงกันพบว่ามีรายได้ต่างกัน เมื่อมีความผิดพลาดในการส่งเบิกเงินชดเชยก็ทำให้ได้เงินน้อย สิ่งที่ตามมาคือขาดสภาพคล่อง พอขาดสภาพคล่องก็ไม่มียา ไม่มียาก็ต้องส่งต่อ บางโรงพยาบาลเป็นหนี้นับสิบล้าน หรือบางโรงพยาบาลระดับ A (ตติยภูมิระดับสูง) แต่เบิกเงินยังไม่ได้นับร้อยล้านบาท จะเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญมาก" นพ.สมพร กล่าว

นพ.สมพร กล่าวว่า ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในส่วนของการสรุปเวชระเบียนผู้ป่วยนั้น เสนอว่าแพทย์จบใหม่ควรได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้และทักษะ โดยมีการประเมินหรือสอบความรู้ในเรื่องการสรุปเวชระเบียนก่อนการบรรจุออกไปใช้ทุนในหน่วยบริการ รวมทั้งผู้ให้รหัสโรคและหัตถการควรมีอย่างน้อย 2 คนและควรมีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะความรู้อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ควรมีระบบการติดตามและกำกับทุกระดับเพื่อให้ข้อมูลการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคลส่งได้ทันเวลาและมีความสมบูรณ์ถูกต้อง รวมทั้งหน่วยบริการควรมีการตรวจสอบเวชระเบียนและข้อมูลทั้งระบบภายในและมีการตรวจสอบจากกรรมการภายนอกอย่างน้อยปีละครั้ง และสุดท้ายคือควรพิจารณาให้มีจำนวนแพทย์เพิ่มขึ้นในหน่วยบริการเพื่อให้สอดคล้องกับภาระงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท