Skip to main content
sharethis

อดีตสมาชิกสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย พาสำรวจที่เกิดเหตุลอบสังหารผู้นำชาวนาดอยสะเก็ด "สวัสดิ์ ตาถาวรรณ" ถูกลอบยิงหลังร่วมงานศพ "พ่อหลวงอินถา" เมื่อปี 2518 โดยเป็น 1 ใน 46 เหตุลอบสังหารและเหตุรุนแรงกระทำต่อผู้นำชาวนาทั่วประเทศระหว่างปี 2517-2522 โดยมีชาวนาเสียชีวิตและหายสาบสูญรวม 36 ราย

หลังจากที่มีการนำเสนอบทสัมภาษณ์เรือนคำ ศรีบุญเรือง ภรรยาของอินถา ศรีบุญเรือง หรือ "พ่อหลวงอินถา" ในโอกาสครบรอบ 44 ปีเหตุการณ์ลอบสังหารอินถา ผู้เป็นรองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย และประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ผู้สื่อข่าวได้รับข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าหลังเหตุการณ์ลอบสังหารพ่อหลวงอินถาไม่กี่วัน ก็มีผู้นำชาวนาที่เดินทางมาร่วมงานศพของอินถา ถูกลอบสังหารระหว่างทางกลับบ้านอีกราย นั่นคือกรณีลอบสังหาร "สวัสดิ์ ตาถาวรรณ" ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ระดับอำเภอดอยสะเก็ด จากบ้านแม่ฮ้อยเงินใต้ หมู่ที่ 2 ต.แม่ฮ้อยเงิน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โดยเขาถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2518 หรือ 3 วันหลังเหตุลอบสังหารพ่อหลวงอินถา

เหตุลอบสังหารหลังกลับจากงานศพพ่อหลวงอินถา

หนังสือพิมพ์ถิ่นไทยฉบับวันที่ 5 สิงหาคม 2518 รายงานข่าวลอบสังหารสวัสดิ์ ตาถาวรรณ

หนังสือพิมพ์ถิ่นไทยฉบับวันที่ 5 สิงหาคม 2518 รายงานข่าวลอบสังหารสวัสดิ์ ตาถาวรรณ นอกจากนี้ข่าวใหญ่ของฉบับยังเป็นเรื่องกวาดจับผู้นำชาวนาและนักศึกษารวม 9 ราย ที่ จ.ลำพูน

หนังสือพิมพ์อธิปัตย์ฉบับวันที่ 5-7 สิงหาคม 2518 รายงานข่าวลอบสังหารสวัสดิ์ ตาถาวรรณ

หนังสือพิมพ์ในเวลานั้นรายงานว่า วันเกิดเหตุ "สวัสดิ์ ตาถาวรรณ" กำลังกลับจากงานฌาปนกิจพ่อหลวงอินถา ที่ ต.ป่าบง อ.สารภี โดยระหว่างที่เดินทางอยู่บนถนนระหว่างบ้านแม่จ้อง ต.ตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ด กับบ้านสันทราย ต.แม่ฮ้อยเงิน อ.ดอยสะเก็ด เพื่อจะกลับเข้าหมู่บ้านแม่ฮ้อยเงินใต้ หมู่ที่ 2 ต.แม่ฮ้อยเงิน อ.ดอยสะเก็ด ก็มีคนร้ายดักอยู่และยิงด้วยอาวุธปืนลูกซองเบอร์ 12 หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันที่ 5 สิงหาคม 2518 ระบุว่า กระสุนถูกกลางหลังด้านซ้าย  1นัด และที่แก้มซ้าย 1 นัด นอนเสียชีวิตกลางถนน เมื่อค้นตัวก็พบเอกสารเกี่ยวข้องกับการประท้วงเหตุลอบสังหารพ่อหลวงอินถา รวมทั้งหนังสือปรัชญาชาวบ้านที่มีรูปเคียวเกี่ยวกัน รวมทั้งใบปลิวและหนังสือ โดยหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาเรียกว่า "หนังสือประเภทปลุกระดม"

ส่วนเวลาเกิดเหตุ หนังสือพิมพ์ลงแตกต่างกัน โดยหนังสือพิมพ์ถิ่นไทย เป็นฉบับเดียวที่ระบุเวลาเกิดเหตุว่า "เวลาบ่าย" ส่วนหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นระบุเป็นช่วงหนึ่งทุ่ม

โดยหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอีกฉบับระบุเวลา 19.15 น. เกิดเสียงปืนดังขึ้นในหมู่บ้าน "ระหว่างบ้านแม่จ้อง กับบ้านสันทราย" และ "นายนิคม" พ่อค้าข้าวขับรถผ่านจึงรีบไปแจ้งตำรวจ สภ.ดอยสะเก็ด โดยมี พ.ต.ท.นิพนธ์ เครือนพรัตน์ และ ส.ต.ท.สุนิน กองแก้ว และแพทย์ประจำตำบล มาชันสูตรพลิกศพ

ขณะที่หนังสือพิมพ์อธิปัตย์ฉบับวันที่ 5-7 สิงหาคม 2518 ซึ่งตีพิมพ์โดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ระบุเวลาเกิดเหตุ 19.00 น. เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐระบุเวลาที่ "นิคม ยอดทองเลิศ" พ่อค้าข้าวซึ่งขับรถสี่ล้อผ่านที่เกิดเหตุและพบศพได้แจ้งตำรวจเวลา 19.00 น.

น้องสาวของสวัสดิ์ ตาถาวรรณ ยุพา ตาถาวรรณ อายุ 69 ปี (ซ้าย)
และ ก๋องคำ ตาถาวรรณ อายุ 64 ปี (ขวา)

ที่บ้านแม่ฮ้อยเงินใต้ ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสสอบถามญาติของสวัสดิ์ ตาถาวรรณ นั่นคือ ยุพา ตาถาวรรณ อายุ 69 ปี และก๋องคำ ตาถาวรรณ อายุ 64 ปี ทั้งสองคนเป็นน้องสาวของสวัสดิ์ ระบุว่าสวัสดิ์ถูกยิงเสียชีวิตในช่วงเย็นของวันที่ 3 สิงหาคม 2518 หลังปั่นจักรยานกลับมาจากงานศพพ่อหลวงอินถา ในอดีตงานฌาปนกิจทางภาคเหนือจะเลิกงานในช่วงบ่ายหรือใกล้เย็น เมื่อเดินทางกลับมาถึงบ้านก็น่าจะใกล้เวลาเย็น โดยสวัสดิ์เดินทางมาตามถนนของหมู่บ้านจนมาถึงจุดเกิดเหตุที่อยู่ระหว่างบ้านแม่จ้อง ต.ตลาดใหญ่ กับบ้านสันทราย ต.แม่ฮ้อยเงิน ก่อนถูกลอบยิง

ส่วนยุพาเมื่อรู้ข่าวว่าสวัสดิ์ถูกยิงเสียชีวิตก็ยังออกมาดูที่เกิดเหตุ ซึ่งมีชาวบ้านมุงเต็มไปหมด ทั้งนี้หลังสวัสดิ์เสียชีวิต ยุพาและพี่น้องคนอื่นๆ ยังช่วยกันเลี้ยงลูกๆ 2 คนของสวัสดิ์ด้วย

ผู้นำชาวนา "นักปลุกระดม" ในสายตาฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ในรายงานข่าวการเสียชีวิตของสวัสดิ์ ตาถาวรรณ ผู้นำชาวนาของอำเภอดอยสะเก็ด หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ซึ่งในเวลานั้นมีจุดยืนอนุรักษ์นิยมก็ระบุว่าผู้ตายว่าเคยยิงพระภิกษุที่วัดแม่ฮ้อยเงินเสียชีวิต และยุยงให้เจ้าของที่นากับผู้อาศัยทำนารายหนึ่งซึ่งเป็นน้าหลานกัน "ฟ้องร้องกันป่นปี้" มีคดีความอยู่ที่ศาล

ขณะที่หนังสือพิมพ์อธิปัตย์ของศูนย์นิสิตฯ ระบุว่าสวัสดิ์ "เป็นผู้นำชาวนาชาวไร่ที่เข้มแข็งมากคนหนึ่ง ในอำเภอดอยสะเก็ด และเป็นผู้ได้รับความนับถืออย่างมากจากชาวบ้านจนได้รับเลือกเป็นประธานสหพันธ์ฯ ของอำเภอ"

ทั้งนี้ยุพาน้องสาวของสวัสดิ์ปฏิเสธเรื่องประวัติยิงพระภิกษุ ยืนยันว่านอกจากบทบาทของสวัสดิ์ที่เคลื่อนไหวเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่านาฉบับใหม่แล้ว เขายังต่อต้านสัญญาขายฝากที่ดินที่ไม่เป็นธรรม เพราะชาวนามักสูญเสียกรรมสิทธิ์ที่ดิน เนื่องจากสัญญาขายฝากตามกฎหมายในอดีตไม่ได้กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำของการไถ่ถอนที่ดิน ทำให้ผู้รับขายฝากจึงกำหนดเวลาไถ่ถอนที่ดินเป็นระยะสั้นเช่น 3-4 เดือน (กฎหมายขายฝากปี 2562 กำหนดระยะเวลาไถ่ถอนเริ่มต้น 1 ปีขึ้นไป) จนทำให้ชาวนาไม่สามารถนำเงินไปไถ่ถอนที่ดินได้ตามเวลาที่กำหนด

นอกจากนี้มีกรณีที่ชาวนาหลายรายไม่รู้เรื่องข้อความในสัญญา เพราะอ่านเขียนไม่ได้ ได้แต่ลงลายนิ้วมือในสัญญาที่ไม่รู้เนื้อหา ทำให้สวัสดิ์ต้องไปเจรจาในกรณีที่มีชาวบ้านถูกโกงสัญญาด้วย

44 ปีลอบสังหาร "อินถา ศรีบุญเรือง" ผู้นำชาวนาภาคเหนือ-ต่อสู้เพื่อสิทธิชาวนาไทย, 31 ก.ค. 62

เยือนที่เกิดเหตุวางระเบิด 'โรงเรียนช่างกลพระรามหก' เมื่อ 43 ปีที่แล้ว, 3 มี.ค. 62

เยือนที่เกิดเหตุลอบสังหาร 'บุญสนอง บุญโยทยาน' เมื่อ 43 ปีที่แล้ว, 28 ก.พ. 2562

ที่เกิดเหตุและความทรงจำของชุมชน

อดีตผู้ปฏิบัติงานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ตัน ตาดทอง "หมอปาน" (ซ้าย) และ สมศักดิ์ โยอินชัย (ขวา) พาสำรวจจุดเกิดเหตุลอบสังหารสวัสดิ์ ตาถาวรรณ ริมทางหลวงชนบทสาย ชม.4062 (แม่ก๊ะ-แม่ฮ่องไคร้) พื้นที่ติดต่อระหว่างบ้านแม่จ้อง ต.ตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ด กับบ้านสันทราย ต.แม่ฮ้อยเงิน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

จุดเกิดเหตุลอบสังหารสวัสดิ์ ตาถาวรรณ ตั้งอยู่ริมทางหลวงชนบทสาย ชม.4062 (แม่ก๊ะ-แม่ฮ่องไคร้) พื้นที่ติดต่อระหว่างบ้านแม่จ้อง ต.ตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ด กับบ้านสันทราย ต.แม่ฮ้อยเงิน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันมีแผงขายแดงโมและร่มไม้ใหญ่ริมถนนเป็นจุดสังเกต

สมศักดิ์ โยอินชัย อายุ 59 ปี แกนนำแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.) ผู้เคยเป็นสมาชิกระดับเยาวชนในสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ และตัน ตาดทอง หรือ "หมอปาน" อายุ 66 ปี อดีตผู้ปฏิบัติงานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ผู้มีบทบาทติดต่อประสานงานญาติและเพื่อนมิตรของอดีตสมาชิกสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ผู้นำชาวนาทั้ง 2 ท่านได้พาผู้สื่อข่าวสำรวจสถานที่เกิดเหตุบริเวณริมถนนเข้าหมู่บ้าน ซึ่งเป็นทางหลวงชนบทสาย ชม.4062 (แม่ก๊ะ-แม่ฮ่องไคร้) พื้นที่ติดต่อระหว่างบ้านแม่จ้อง ต.ตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ด กับบ้านสันทราย ต.แม่ฮ้อยเงิน อ.ดอยสะเก็ด

ตัน หรือ "หมอปาน" ซึ่งมีบทบาทเป็นหมอสนามในช่วงสู้รบของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าชาวบ้านละแวกนี้ยังคงจำจุดเกิดเหตุได้ เพราะเป็นเหตุสะเทือนขวัญและเป็นถนนหลักที่ผู้คนในหมู่บ้านใช้สัญจรเข้าเมือง โดยในอดีตจุดนี้เป็นชายทุ่งระหว่างบ้านแม่จ้องกับบ้านสันทราย

จากการสำรวจของผู้สื่อข่าวร่วมกับผู้นำชาวนา ยังพบว่าจุดที่เกิดเหตุปัจจุบันบ้านเรือนเริ่มขยายตัวมากขึ้น มีแนวพุ่มไม้และต้นไม้เป็นจุดสังเกต ใกล้กันมีแผงขายแตงโม และใกล้กันยังเห็นทุ่งนาทั้ง 2 ฝั่งถนน ก่อนจะถึงหัวโค้งเข้าหมู่บ้านสันทราย และวัดศรีทรายมูล ต.แม่ฮ้อยเงิน อ.ดอยสะเก็ด

โดยพิกัดของสถานที่เกิดเหตุคือ 18°48'37.4"N 99°08'16.2"E (ชมแผนที่)

หมอปานและสมศักดิ์หวังว่าเรื่องราวการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ จะได้รับการบันทึกในอนาคต รวมทั้งยังคงอยู่ในความทรงจำและรับรู้ของคนในชุมชน

กวาดล้างและลอบสังหารชาวนา ชนวน 6 ตุลา 19

ผู้นำชาวนา 8 รายและนักศึกษา 1 ราย เดินทางมาพบกับผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภายหลังได้รับการปล่อยตัวจากการถูกกวาดล้างจับกุมในเดือนสิงหาคม 2518 (ที่มา: บันทึก 6 ตุลา)

อนึ่งในช่วงที่เกิดเหตุลอบสังหารพ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง และสวัสดิ์ ตาถรวรรณ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังถือโอกาสกวาดล้างจับกุมผู้นำชาวนาและนักศึกษาครั้งใหญ่ที่ จ.ลำพูน เมื่อคืนวันที่ 2 ติดต่อกับวันที่ 3 สิงหาคม 2518 ได้แก่

1. บุญมา อารีย์ (ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ จังหวัดลำพูน)
2. อินคำ สินทรธง (รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ จังหวัดลำพูน)
3. อินถา ศรีวงศ์วรรณ (เหรัญญิสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ จังหวัดลำพูน)
4. เบี้ยว ดามัน
5. ขาน ดามัน
6. หล้า มีชัย
7. แสงชู คำเส้า
8. อุ่นเรือน ไชยศักดิ์
9. ชาตรี หุตานุวัตร (นักเคลื่อนไหวโครงการชาวนา และนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชั้นปีที่ 4)

โดยงานศึกษาของไทเรล ฮาเบอร์คอร์นพบว่า ทั้งหมดถูกจับกุมคุมขังอยู่ที่สถานีตำรวจ สภ.เมือง จ.ลำพูน และยังพบว่าในจำนวนนี้มีชาวนาที่ถูกตำรวจหลอกจับอ้างว่าจะนำตัวไปอยู่ในความคุ้มครองของตำรวจเพราะขณะนี้ผู้นำชาวนาถูกฆ่าบ่อย แต่เมื่อผู้นำชาวนาตามไปที่สถานีตำรวจก็กลายเป็นว่าถูกจับและถูกตั้งข้อหา

ทั้งนี้มีการประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้นำชาวนาและนักศึกษา ทั้งที่ จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน และทั่วประเทศ จนกระทั่งอัยการจังหวัดลำพูนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาและปล่อยตัวในเวลา 17.44 น. วันที่ 14 สิงหาคม 2518 รวมเวลาคุมขัง 11 วัน

โดยหลังการปล่อยตัวสถานการณ์บานปลายเป็นเหตุประท้วงของฝ่ายขวาที่หน้าศาลากลางจังหวัดลำพูน และต่อมาในวันที่ 17 สิงหาคม 2518 ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหลายท้องที่เข้ามาสมทบ และกลายเป็นการประท้วงใหญ่ของตำรวจนับหมื่นนายในวันที่ 18 สิงหาคม 2518 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเคารพกฎหมาย โดยมีการชุมนุมเช่นนี้ของตำรวจและประชาชนฝ่ายขวาที่สนามหลวงด้วย โดยเหตุการณ์ชุมนุมดุเดือดนี้จบลงด้วยการที่มีตำรวจ 100 นายบุกบ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่ซอยสวนพลู พร้อมทำลายทรัพย์สินในบ้าน


รูปสวัสดิ์ ตาถาวรรณ และนวล ดาวตาก ผู้นำชาวนาดอยสะเก็ดที่ถูกลอบสังหาร จัดแสดงในนิทรรศการ "โครงการบันทึกประวัติศาสตร์สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย" ในโอกาสครบรอบ 45 ปีสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

รูปคำ ติ๊บจันทร์ ผู้นำชาวนาดอยสะเก็ดที่ถูกลอบสังหาร วางเคียงคู่กับอินถา ศรีบุญเรือง จัดแสดงในนิทรรศการ "โครงการบันทึกประวัติศาสตร์สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย" ในโอกาสครบรอบ 45 ปีสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ทั้งกรณีลอบสังหารอินถา ศรีบุญเรือง และสวัสดิ์ ตาถาวรรณ นับเป็นเหตุความรุนแรงต่อเนื่องที่เกิดขึ้นกับผู้นำชาวนาในช่วงก่อนเกิดเหตุ 6 ตุลาคม 2519 และเฉพาะในเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม 2518 ในห้วงที่มีการลอบสังหารพ่อหลวงอินถา มีผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ถูกลอบสังหาร 21 ราย

เฉพาะในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ หลังการลอบสังหารสวัสดิ์ ในเวลาต่อมายังเกิดเหตุลอบสังหาร "นวล ดาวตาด" ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2519 นอกจากนี้ ศรีธน ยอดกันทา หรือ "พ่อหลวงศรีทน" ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ภาคเหนือ ที่รับตำแหน่งต่อจาก "พ่อหลวงอินถา" ยังถูกลอบวางระเบิดได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2519 จนสุดท้ายพ่อหลวงศรีทนประกาศขายบ้านและที่ดินเดิมทั้งหมดที่บ้านแม่จ้อง ต.ตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ด เพื่อพาครอบครัวเข้าร่วมการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

นอกจากนี้จากการรวบรวมของ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ริเริ่ม "โครงการบันทึกประวัติศาสตร์สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย" ยังพบว่ามีผู้นำชาวนา อ.ดอยสะเก็ดชื่อ คำ ติ๊บจันทร์ เป็นกรรมการระดับตำบล ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ภูมิลำเนาอยู่ใน ต.ตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิตอีก 1 รายในช่วงก่อน 6 ตุลาคม 2519 ด้วย

อนึ่งในภาคผนวกของหนังสือ "การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน : ชาวนา นักศึกษา กฎหมาย และความรุนแรงในภาคเหนือของไทย" ของไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ซึ่งอ้างถึงงานของกนกศักดิ์ แก้วเทพ (2530) และนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ (2542) ระบุว่าระหว่างเดือนมีนาคม 2517 ถึงกรกฎาคม 2522 เกิดเหตุลอบสังหารและเหตุความรุนแรงต่อผู้นำชาวนาทั่วประเทศอย่างน้อย 46 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตและหายสาบสูญ 36 ราย โดยสามารถอ่านรายชื่อได้ที่ล้อมกรอบท้ายนี้

ผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย
ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงระหว่างปี 2517-2522

1. นายสนิท ศรีเดช ผู้แทนชาวนา จ.พิษณุโลก ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2517
2. นายเมตตา (ล้วน) เหล่าอุดม ผู้แทนชาวนา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2517
3. นายบุญทิ้ง ศรีรัตน์ ผู้แทนชาวนา จ.พิษณุโลก ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนตุลาคม 2517
4. นายบุญมา สมประสิทธิ์ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ จ.อ่างทอง ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2518
5. นายเฮี้ยง ลิ้นมาก ผู้แทนชาวนาจังหวัดสุรินทร์ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2518
6. นายอาจ ธงโท สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ ต.ต้นธง จ.ลำพูน ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2518
7. นายประเสริฐ โฉมอมฤต ประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2518
8. นายโหง่น ลาววงษ์ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ถูกรัดคอและทุบตีจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2518
9. นายเจริญ ดังนอก สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บในเดือนเมษายน 2518
10. นายถวิล ไม่ทราบนามสกุล ผู้นำชาวนา อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนเมษายน 2518
11. นายมงคล สุขหนุน ผู้นำชาวนา จ.นครสวรรค์ ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนพฤษภาคม 2518
12. นายบุญสม จันแดง สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ ส่วนกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2518
13. นายผัด เมืองมาหล้า ประธานสหพันธ์ฯ ระดับอำเภอ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2518
14. นายถวิล มุ่งธัญญา ผู้แทนชาวนา จ.นครราชสีมา ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2518
15. นายพุฒ ปงลังกา ผู้นำชาวนา จ.เชียงราย ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2518
16. นายแก้ว ปงซาคำ ผู้นำชาวนา จ.เชียงราย ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2518
17. นายจา จักรวาล รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2518
18. นายบุญช่วย ดิเรกชัย ประธานสหพันธ์ฯ ระดับอำเภอ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2518
19. นายประสาท สิริม่วง ผู้แทนชาวนา จังหวัดสุรินทร์ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2518
20. นายบุญทา โยทา สมาชิกคณะกรรมกาสหพันธ์ฯ อ.เมือง จ.ลำพูน ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2518
21. นายเกลี้ยง ใหม่เอี่ยม รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับอำเภอ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2518
22. นายอินถา ศรีบุญเรือง รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับชาติ และประธานสหพันธ์ฯ ภาคเหนือ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อ 31 กรกฎาคม 2518
23. นายสวัสดิ์ ตาถาวรรณ รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2518
24. นายมี สวนพลู สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518
25. นายตา แก้วประเสริฐ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518
26. นายตา อินต๊ะคำ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518
27. นายนวล สิทธิศรี สมาชิกสหพันธ์ฯ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ถูกยิงเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 (หมายเหตุ - ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ฉบับวันที่ 13 สิงหาคม 2518 ระบุว่าเป็นการถูกยิงครั้งที่ 2 โดยนายนวลเมื่อเดินทางกลับมาจากการชี้ตัวผู้ต้องหา ก็ถูกยิงที่หน้าบ้านและเพื่อนบ้านได้นำส่งโรงพยาบาล "อาการเป็นตายเท่ากัน" แต่ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเสียชีวิตหรือไม่)
28. นายพุฒ ทรายคำ ผู้นำชาวนา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518
29. นายช้วน เนียมวีระ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2518
30. นายแสวง จันทาพูน รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2518
31. นายนวล กาวิโล ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกระเบิดและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2518
32. นายมี กาวิโล ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ได้รับบาดเจ็บจากระเบิดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2518
33. นายบุญรัตน์ ใจเย็น ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2518
34. นายจันเติม แก้วดวงดี ประธานสหพันธ์ฯ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2518
35. นายลา สุภาจันทร์ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่  12 ธันวาคม 2518
36. นายปั๋น สูญใส๋ รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2519
37. นายคำ ต๊ะมูล ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2519
38. นายวงศ์ มูลอ้าย ผู้แทนชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519 มีรายงานจากศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือว่าเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2519
39. นายพุฒ บัววงศ์ ผู้แทนชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519 และมีรายงานจากศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือว่าเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2519
40. นายทรง กาวิโล ผู้แทนชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519 และมีรายงานจากศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือว่าเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2519
41. นายดวงคำ พรหมแดง ผู้แทนชาวนา อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2519
42. นายนวล ดาวตาด ประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2519
43. นายศรีธน ยอดกันทา ประธานสหพันธ์ฯ ภาคเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ได้รับบาดเจ็บจากระเบิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2519
44. นายชิต คงเพชร ผู้นำชาวนา อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2519
45. นายทรอด ธานี ประธานสหพันธ์ฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรองประธานสหพันธ์ฯ ระดับชาติ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2521
46. นายจำรัส ม่วงยาม ประธานสหพันธ์ฯ ภาคตะวันออก และประธานสหพันธ์ฯ ระดับชาติ อ.บ้านด่าน จ.ระยอง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2522

ที่มา: ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น, การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน : ชาวนา นักศึกษา กฎหมาย และความรุนแรงในภาคเหนือของไทย. -- นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2560 (ภาคผนวก หน้า 263-267) [อ้างจาก นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์, บ.ก., เส้นทางชาวนาไทย (กรุงเทพฯ : มูลนิธิเด็ก, 2542 หน้า 155-160) และ กนกศักดิ์ แก้วเทพ, บทวิเคราะห์สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย : เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยชาวนายุคใหม่ (กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530 หน้า 161-166)

 

แหล่งอ้างอิงและข้อมูลประกอบ

1.  ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น, การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน : ชาวนา นักศึกษา กฎหมาย และความรุนแรงในภาคเหนือของไทย. -- นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2560
2. หนังสือพิมพ์ถิ่นไทย, 5 สิงหาคม 2518 หน้า 1, 12
3. หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์, 5 สิงหาคม 2518 หน้า 1, 12
4. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, 5 สิงหาคม 2518 หน้า 1, 16
5. หนังสือพิมพ์อธิปัตย์, 5-7 สิงหาคม 2518 หน้า 1, 12

ขอขอบคุณไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ที่เอื้อเฟื้อแฟ้มหนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์และหนังสือพิมพ์รายวันช่วงปี 2518-2519 มา ณ ที่นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net