Skip to main content
sharethis

เปิดมุมการเมืองระหว่างประเทศของนักวิจัยสังคมศาสตร์​ที่ศึกษาเกี่ยวกับ '​ซอมบี้' ผ่านบททดลองวิเคราะห์ปรากฏการณ์ 'ไวรัสโคโรนา' ที่ถอดออกมา 4 คำพยากรณ์ ตั้งแต่ ขยายอำนาจผ่านโรคระบาด มาตรการเด็ดขาด​ แต่ชนชั้นนำรอดก่อน จนถึงการปิดข่าว​เอาใจนายจนยืดเยื้อ และ 'ข่าวปลอม' ที่น่ากลัวไม่ต่างจากโรคระบาด

ใส่หน้ากากตอนนี้รับโชค​ 2 ต่อ​ เพราะนอกจากจะใช้กันฝุ่น​ PM​2.5 ใน​ กทม.​ และเมืองใหญ่อื่น​ ๆ​ ในไทยแล้ว​ ยังเอาไว้ใช้กันเชื้อไวรัสโคโรนาด้วย​ สำหรับไวรัสโคโรนาหรือไวรัสอู่ฮั่น​ สื่อ​ต่าง​ ๆ​ ได้นำเสนอเกี่ยวกับ​ที่มา​ที่ไป สถานการณ์​ล่าสุด และวิธี​ป้องกันตัวจากเชื้อไวรัสอันน่าสะพรึงนี้แล้ว​ อย่าง​ไร​ก็​ตาม​ มุมที่ยังไม่แน่ใจ​ว่ามีการเสนอหรือไม่​คือ​เรื่องความเชื่อมโยงระหว่าง​ไวรัสโคโรนากับซอมบี้

ฟัง​แบบนี้แล้ว​ หลายคนอาจรู้สึกหวาดผวาหรือไม่ก็คิดว่าเรื่องนี้เป็นเฟคนิวส์​ แต่จริง​ ๆ​ แล้วผู้เขียนไม่ได้ต้องการสื่อไปไกลถึงขนาดว่าไวรัสโคโรนาคือเชื้อที่เปลี่ยน​คนเป็นซอมบี้​ เพียง​แค่อยากบอกว่าเมื่อไม่นานมานี้​ มีนักวิจัยสังคมศาสตร์​ที่ศึกษาเกี่ยวกับ​ซอมบี้อยู่​ และความรู้จากงานวิจัยดังกล่าวอาจช่วยให้เราเข้าใจมาตรการรับมือไวรัสโคโรนาของ​รัฐบาล​จีนในภาพรวมได้มากขึ้นว่ามีนัยยะทางการเมืองและข้อดีข้อเสียอย่างไร

ซอมบี้กลับมาอีกครั้งในช่วงโคโรนาระบาด

การเมืองโลกและรัฐบาลจีนจะเป็น​อย่างไร​ ถ้าซอมบี้เกิดผุดขึ้นมาจากหลุมศพและตามไล่กัดคนที่สัญจรไปมา​ เป็น​คำถามที่​ Daniel Drezner นักวิชาการสัญชาติอเมริกัน พยายามตอบในหนังสือ​ชื่อว่า Theories of International Politics and Zombies ฉบับตีพิมพ์​ครั้งที่​ 2​ หรือที่เขาเรียกว่า​เป็น​ "ฉบับคืนชีพ" (เล่มนี้มีฉบับแปลไทยแล้ว​ ซึ่ง​ผู้เขียนเองเป็นผู้แปล​ จัดพิมพ์​โดยสำนักพิมพ์​คบไฟ)

ปกหนังสือฉบับแปลไทย

เหตุที่เขาสนใจมาศึกษาหัวข้อวิจัยเพี้ยน​ ๆ​ เช่นนี้​ เป็นเพราะเขาเชื่อว่ารัฐบาลต่าง​ ๆ​ ในโลกกำลังหวาดกลัวภัยซอมบี้อยู่จริง​ ๆ​ ตัวอย่างเช่น​ การประกาศแผนซ้อมรบเพื่อรับมือกับซอมบี้ของกองทัพ​สหรัฐอเมริกา​ที่เรียกว่า​ CONPLAN88 การใช้ซอมบี้เป็นเครื่องมือการประชาสัมพันธ์​เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องการป้องกันโรคระบาดโดยกรมควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา​ และการออกกฎหมายต่อต้านซอมบี้​ของรัฐบาล​เอธิโอเปีย​

ไม่ว่า​รัฐบาล​ต่าง​ ๆ​ ในโลกจะกลัวซอมบี้จริง​ ๆ​ หรือไม่​ แต่​ Daniel Drezner เชื่อเหมือนกับนักวิชาการหลาย​ ๆ​ คนว่าการเรียนการสอนเรื่องภัยคุมคามรูปแบบใหม่​ เช่น​ ภัยพิบัติ​ธรรมชาติ​ ​ผู้ก่อการร้าย​ และในกรณีนี้คือโรคระบาด จะได้อรรถรสและเป็นรูปธรรมขึ้น​หลายเท่า ถ้าเอามานำเสน​อผ่านสื่อวัฒนธรรม​ป๊อบต่าง​ ๆ​ และขณะเดียวกันการเข้าใจวัฒนธรรมป๊อบและบริบทของมันก็เป็นการเข้าใจความรู้สึกของคนในสังคมไปในตัวว่าขณะนั้นกำลังเผชิญกับอะไร ด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมป๊อบกับสังคมในโลกความจริงจึงเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก  

ที่จริงแล้ว​ คำถามว่าการเมืองโลกและรัฐบาลจีนจะเป็นอย่างไรถ้าเกิดเชื้อซอมบี้ระบาด​ขึ้น แทบไม่ได้ต่างอะไรเลยกับการถามว่าการเมืองโลกและรัฐบาล​จีนจะเป็น​อย่างไรถ้าไวรัสโคโรนาระบาด​ เพราะทั้งสองอย่างเป็นเรื่อง​โรคระบาดเหมือนกัน​ อาจจะต่างกันแค่ระดับความอันตรายของเชื้อโรคเท่านั้น​ อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ เราจึงเริ่มเห็น “ซอมบี้” กลับมาอีกครั้งในการนำเสนอต่าง ๆ ถ้าดูจากการนำเสนอของสื่อก็จะเห็นได้ว่าแทบทุกสำนักพรรณนาในลักษณะ​เดียวกัน​หมดว่า​เมืองอู่ฮั่นตอนนี้ไม่ต่างจาก​ 'เมืองซอมบี้'​ หรือ​ 'ซอมบี้แลนด์'​ นอกจากนี้ ยังมีการโพสต์มีมโดยเชื่อมโยงไวรัสโคโรนาเข้ากับซอมบี้ด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือซอมบี้จะกลับมาทุกครั้งที่สังคมมีความหวาดกลัว เราเคยเห็นปรากฏการณ์ที่ซอมบี้ได้รับความนิยมอย่างถล่มทลายแล้วเช่นกันในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008

มีมทฤษฎีสมคบคิด โคโรน่ามาจากเมืองแร็คคูนซิตี้ในเกม Resident Evil

ที่มา: สมาชิกในกลุ่มเฟสบุ๊คResident Evil Thailand

แน่นอนว่าซอมบี้เป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง​ แม้นักวิจัยหลายคนจะกังวลว่าซอมบี้อาจเกิดขึ้นจริงได้ในทางวิทยาศาสตร์​ ต่างจากสปีชีส์อื่น ๆ ในวัฒนธรรมป๊อบที่มักอาศัยเวทมนตร์หรือสิ่งเหนือธรรมชาติเพื่อให้เกิดขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นไปได้จริงที่ว่านี้ ซอมบี้จึงมีประโยชน์​มากเมื่อนำมาใส่ในภาพจำลองสถานการณ์​เพื่อดูว่าการใช้นโยบายต่าง​ ๆ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร​ ขณะเดียวกัน การศึกษาเพื่อคาดการณ์​เกี่ยวกับ​ซอมบี้​ ก็สามารถทำได้ด้วยการอาศัยข้อมูลของเรื่องใกล้เคียง​ ซึ่งก็ได้แก่​ข้อมูลมาตรการ​ของรัฐบาลต่าง​ ๆ​ ในการรับมือกับภัยธรรมชาติ​และโรคระบาดที่เกิดขึ้นในโลกจริง

สำหรับประเด็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศและซอมบี้​ นักวิชาการที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ​การเมืองโลกมีความเห็น​เกี่ยวกับ​เรื่องนี้ต่างกันไป​ตามแต่สังกัดความเชื่อของตัวเอง​ และความหลากหลายนี้เอง​ที่ช่วยให้เราเห็นภาพรวมของมาตรการรับมือกับโรคระบาดของจีน​ที่มีความซับซ้อน​ และแนวโน้มสถานการณ์​ที่จะเกิดขึ้นในสังคมเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา​ ซึ่งหลายคนกำลังวิตกกังวล​กันอยู่​ในขณะนี้ แม้ Daniel Drezner จะเสนอคำพยากรณ์เอาไว้หลายอย่างถ้าเกิดเหตุซอมบี้บุก แต่ในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอนำคำพยากรณ์ 3-4 ข้อที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนามาเล่าสู่กันฟัง

ที่มาภาพประกอบ: Wikipedia

คำพยากรณ์ 1: ขยายอำนาจผ่านโรคระบาด

ในแวดวงคนที่ศึกษาเกี่ยวกับ​การเมืองโลก​ จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าสันติภาพและความร่วมมือระหว่าง​ประเทศ​เป็น​สิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก​ เพราะไม่มีใครควบคุมโลกทั้งใบได้ (นักวิชาการเรียกว่าสภาพอนาธิปไตยหรือ anarchy) ทุกประเทศต่างต้องเอาตัวรอด​ด้วยการใช้วิธีการทุกหนทาง​ แม้จะเป็นวิธีการที่โหดร้าย​ทารุณในสายตาคนทั่วไปก็ตาม​ คนกลุ่มนี้เชื่อว่าประเทศที่แข็งแกร่งจะอยู่รอด​ และประเทศที่อ่อนแอจะล่มสลาย​ คนกลุ่มนี้เชื่อว่านี่คือสภาพความเป็นจริง​ที่หลีกเลี่ยง​ไม่ได้และเรียกทฤษฎี​นี้ของตัวเองว่า "สัจจนิยม" หรือ​ "สภาพจริงนิยม ​(Realism)​"

ถ้าเกิดซอมบี้ขึ้นจริง นักวิชาการกลุ่มนี้เชื่อว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเดิมจะไม่ได้หายไปไหน มีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นเพราะแต่ละประเทศ​พยายาม​ใช้ประโยชน์​จากสถานการณ์​เพื่อรักษาอำนาจหรือไม่ก็ขยายอำนาจของตัวเอง​ เช่น ​ประกาศสงครามขยายอำนาจโดยใช้ซอมบี้เป็น​ข้ออ้าง​ ในเชิงยุทธศาสตร์ ประเทศที่มีลักษณะภูมิศาสตร์เป็นภูเขาสูง มีความหนาแน่นของประชากรน้อย และมีความสามารถในการป้องกันโรคระบาดได้ดี มีแนวโน้มที่จะรับมือกับซอมบี้ได้ดีกว่า ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักอาจเบี่ยงความสนใจเพื่อให้ประชาชนหันไปสนใจเรื่องอื่น​ แทนที่จะหันมาโจมตีความไร้น้ำยาในการจัดการปัญหาซอมบี้ของรัฐบาล​ ส่วนความร่วมมือที่ระหว่าง​ประเทศ​ในการปราบซอมบี้​ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประเทศตนเองไม่ต้องจ่ายอะไรในความร่วมมือ​ หรือไม่ก็จนตรอกแล้วจริง​ ๆ​ เท่านั้น

หากลองตั้งคำถามดูว่าการประเมินสภาพการณ์​เกี่ยวกับ​ซอมบี้​ของนักวิชาการกลุ่มนี้เหมือนหรือต่างจากสถานการณ์​ของไวรัสโคโรนาในปัจจุบั​น​ของรัฐบาล​จีนแค่ไหน​ เราจะเห็​นว่าเอาเข้าจริงแล้วมีส่วนที่เหมือนกันอยู่ กล่าวคือ การต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันระหว่างรัฐบาลและกลุ่มต่าง ๆ ยังคงดำเนินไป แม้สภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์จะเปลี่ยนแปลงไปเพราะโรคระบาด

อันที่จริงแล้ว ไวรัสโคโรนาอาจเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายอำนาจของจีนแต่แรกเลยด้วยซ้ำ เพราะแดนี่ โชแฮม เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายวิเคราะห์อาวุธชีวภาพของรัฐบาลอิสราเอล ตั้งข้อสังเกตให้วอชิงตันไทม์ฟังว่าไวรัสโคโรนาอาจจะไม่ได้มีต้นตอมาจากพื้นที่แออัด พฤติกรรมการกินหรือการลักลอบค้าสัตว์เถื่อน แต่อาจจะหลุดออกมาจากศูนย์วิจัยในสถาบันไวรัสวิทยาซึ่งตั้งอยู่ในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องทดลองแห่งเดียวในจีนที่สามารถทำงานกับไวรัสที่มีฤทธิ์ถึงตายได้ แม้ว่าทางการจีนจะปฏิเสธว่าสถาบันดังกล่าวไม่ได้วิจัยเกี่ยวกับอาวุธชีวภาพ แต่แดนี่ตั้งข้อสังเกตว่าสถาบันไวรัสวิทยาดังกล่าวกำลังพัฒนาอาวุธชีวภาพให้กับรัฐบาลจีนอยู่อย่างลับ ๆ

แน่นอนว่ารัฐบาลจีนคงไม่ได้เผยแพร่ไวรัสตัวนี้ออกมาอย่างตั้งใจ ไม่ว่าจะออกมาจากห้องทดลองหรือตลาดมืดก็ตาม แต่ผลที่ตามมาเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ กล่าวคือ โรคระบาดส่งผลให้สภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปและทุกประเทศต้องปรับตัวเพื่อรักษาหรือขยายอำนาจต่อไป ตัวอย่างเช่น ในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาของสำนักข่าวแห่งหนึ่งของจีน (ซึ่งเราคงทราบกันดีว่าสื่อของจีนอยู่ใต้อิทธิพลของรัฐบาลมากเพียงใด) มีการแสดงแผนที่ระดับความเสี่ยงตามพื้นที่ต่างๆ ​ของประเทศจีน​ โดยในแผนที่ดังกล่าว จีนก็ยังไม่วายอ้างสิทธิเหนืออาณาเขตของไต้หวัน​ และพื้นที่ในเขตเส้น​ 13​ ประซึ่ง​ครอบคลุมเกาะแก่งต่าง ๆ ในข้อพิพาททะเลจีนใต้ ! ในแง่นี้​ จะเห็นได้ว่าเกมแย่งชิงอำนาจในการเมืองโลกยังคงเหมือนเดิม เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบไปตามสถานการณ์เท่านั้น

แผนที่การระบาดในสื่อจีน ที่มา news.sina.cn
หมายเหตุ: ปัจจุบันสำนักข่าวดังกล่าวมีการเปลี่ยนรูปแผนที่โดยตัดรอยประ 13 จุดออกแล้ว

คำพยากรณ์ 2: มาตรการเด็ดขาด​ แต่ชนชั้นนำรอดก่อน

นักวิชาการรัฐศาสตร์​อีกกลุ่ม​หนึ่ง​ที่​ให้ความสำคัญไปที่การศึกษาการเมืองภายในประเทศมากกว่าให้ความเห็นจากอีกมุมหนึ่ง โดยเชื่อว่าการเมืองที่มีลักษณะรวมศูนย์ของจีน ที่อำนาจการตัดสินใจผูกขาดอยู่ที่ผู้นำเพียงไม่กี่คนในพรรคคอมมิวนิสต์และลูกหลานของสมาชิกพรรคที่มีอิทธิพลทางธุรกิจ โดยไม่ต้องฟังความเห็นของประชาชน จะส่งผลต่อมาตรการรับมือกับซอมบี้ของจีนอย่างมาก กล่าวคือ ถ้าซอมบี้เกิดขึ้นในจีน รัฐบาลน่าจะใช้มาตรการที่เด็ดขาดในการแก้ปัญหาโดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน เช่น การปิดล้อมพื้นที่เสี่ยงและปราบปรามซอมบี้ (โดยอาจรวมถึงคนด้วย) อย่างไม่แยกแยะ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นถ้าซอมบี้บุกก็​คือรัฐบาลจีนจะให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลสำคัญ​ไม่กี่คนของรัฐบาลจีนก่อน ด้วยการแจกสิ่งของที่จำเป็น (เช่น หน้ากาก เสบียงอาหาร รถกันกระสุน ฯลฯ) หรือหาทางหนีทีไล่ให้แก่บุคคลดังกล่าวในยามวิกฤติ แต่รัฐบาลจีนมีแนวโน้มที่จะไม่ค่อยลงทุนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและจำเป็นต่อการควบคุมหรือป้องกันสาธารณภัยของประชาชน เพราะการลงทุนเช่นนี้ใช้ต้นทุนสูงกว่า ด้วยเหตุนี้​ ประชาชนจึงมีแนวโน้มล้มตายเพราะสาธารณภัยในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าด้วยเช่นกัน

หากเอาการประเมินของ Drezner เกี่ยวกับซอมบี้มาใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นจากไวรัสโคโรนาในปัจจุบันจะพบว่ามีความสอดคล้องกันอยู่บ้าง ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิงสั่งใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับเหตุโจรกรรมและผู้ก่อกวนการทำงานของแพทย์ โดยคาดโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต นอกจากนี้ ยังมีการสั่งเรียกประชุม ออกคำสั่งห้ามเดินทาง รวมไปถึงมาตรการอื่น ๆ ในแง่นี้ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยระบุว่าจีนสามารถแก้ปัญหาได้เด็ดขาดมากกว่าเพราะไม่ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนนั้น นับว่ามีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย ประเด็น​เรื่อง​การไม่ค่อยลงทุนกับมาตรการ​ยับยั้งและควบคุม​โรคระบาดเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน​ก็นับว่ามีส่วนจริงเช่นกัน​ แม้จะมีการสั่งตั้งโรงพยาบาล​ในอู่ฮั่น​ทันที แต่หากดูกันจริงๆแล้วนี่ก็แสดงว่าจีนไม่ได้มีความพร้อมในการรับมือเลย​ ถึงเพิ่งได้มาสร้างเอาตอนนี้​ สิ่งที่ Drezner น่าจะพูดถูกอีกอย่างก็คือการที่ชนชั้นนำรอดก่อน เพราะปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนใดในพรรคคอมมิวนิสต์เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนา  

คำพยากรณ์ 3: ปิดข่าว​ เอาใจนาย จนยืดเยื้อ

อีกประเด็นหนึ่งที่ก่อให้เกิดความวิตกอย่างมากในหมู่ประชาชนเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาคือปัญหาเรื่องการปิดข่าวและเฟคนิวส์ ในช่วงที่ผ่านมา ชาวเน็ตในโลกสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่คลิปวิดิโอที่ผ่านการแชร์กันมา บ้างระบุว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงกว่าที่ทางการระบุ บ้างระบุว่ารัฐบาลจีนไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ สิ่งที่แชร์กันมาอาจจะเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอมก็ได้ แต่หากมองจากมุมของงานวิจัย เราควรแยกเรื่องการปิดข่าวและเฟคนิวส์ออกจากกันก่อน  

จากการรวบรวมงานวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับจีนของ Drezner พบว่าการปิดข่าวเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในประเทศจีน เหตุผลแรกคือการเอาใจนาย กล่าวคือ เนื่องจากการเลื่อนตำแหน่งขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เจ้าหน้าที่ระดับรองลงมาซึ่งประจำอยู่ในพื้นที่จึงมีแนวโน้มให้ข้อมูลสวยหรูเกินจริงกับนายเหนือหัว เหตุผลที่สองคือเนื่องจากรัฐบาลจีนไม่ชอบให้ประชาชนในสังคมใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ผู้นำจีนเองจึงมีแนวโน้มที่จะปิดข่าวเพื่อลดความตื่นตระหนักของประชาชน

ในสภาพแวดล้อมทีมีการปิดข่าวเช่นนี้ ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบ เพราะผู้นำเองก็ไม่ได้ข้อมูลที่แม่นยำจากลูกน้องเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย ส่งผลให้นโยบายที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพราะไม่ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมีประสิทธิภาพน้อยลง ส่วนประชาชนเองก็ไม่ได้รับทราบถึงปัญหาและแนวทางการป้องกัน นี่เป็นสิ่งที่ Drezner คาดว่าจะเกิดขึ้นถ้าซอมบี้ผุดขึ้นมาจากหลุมฮวงซุ้ย ขอย้ำว่าไม่ใช่การวิเคราะห์เกี่ยวกับไวรัสโคโรนา!

แต่ข้อเสนอเหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ แต่มาจากกรณีที่เคยเกิดขึ้นแล้วตอนที่จีนรับมือกับโรคซาร์สในช่วงปี 2003 ในขณะนั้น รัฐบาลจีนไม่มีหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยด้านโรคระบาด และปิดข่าวไม่แจ้งต่อองค์การอนามัยโลก และไม่แจ้งให้ประชาชนทราบจนเหตุบานปลาย เหตุครั้งนั้น มีรายงานว่าหมอได้รับคำสั่งไม่ให้แจ้งข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกที่เข้ามาตรวจสอบ แพทย์คนหนึ่งที่พยายามเปิดเผยดังกล่าวถูกจับกุมไปอยู่ในค่ายทหารและเพิ่งถูกปล่อยตัวในปี 2014 ที่ผ่านมา จากการปิดข่าวในครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิต 773 คนใน 30 ประเทศ

แม้รัฐบาลจีนจะออกมาขอโทษและเรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้วบางส่วน แต่ปัญหาการปิดข่าวก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้างในกรณีของไวรัสโคโรนา ตัวอย่างเช่น ในช่วงแรกเจ้าหน้าที่ของจีนออกมาประกาศว่ายังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จนกระทั่งสถานการณ์เริ่มบานปลายจึงออกมายอมรับว่าไวรัสโคโรนาเป็นเชื้อที่เผยแพร่จากคนสู่คน ขณะเดียวกัน ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ “เว่ยโป๋” ก็ออกมากล่าวว่ายังไม่ได้รับแนวทางการป้องกันตัวจากรัฐบาลจีนแต่อย่างใด ทั้งที่เจ้าหน้าที่​องค์การ​อนามัยโลกออกมาให้ความเห็น​แล้วว่าการปิดสนามบินไม่ช่วยต่อการควบคุมโรคเท่ากับการให้แนวทางป้องกันตัวต่อประชาชน​ นี่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐเผด็จการอำนาจรวมศูนย์ของจีนยังจะต้องเผชิญกับความท้าทายเกี่ยวกับการปิดข่าวต่อไป แม้ว่าสังคมในภาพรวมจะได้รับผลกระทบก็ตาม

คำพยากรณ์ 4: ข่าวปลอมน่ากลัวไม่ต่างจากโรคระบาด

ในแวดวงคนที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการเมืองโลก มีนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งที่ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับความสำคัญของ “ความคิด” ในฐานะสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อตัวตนและความเชื่อของรัฐหรือผู้วางแผนและตัดสินใจนโยบาย โดยเขาเรียกทฤษฎีที่ตนเองสร้างขึ้นว่า “ทฤษฎีสรรสร้างนิยม (constructivism)” ในทฤษฎีที่ว่านี้ เขาเชื่อว่าซอมบี้ไม่ได้น่ากลัวที่ตัวเชื้อโรคหรือลักษณะทางชีวภาพด้วยตัวมันเอง แต่น่ากลัวที่แนวคิดและแบบแผนทางสังคมในกลุ่มซอมบี้มากกว่า กล่าวคือ ซอมบี้ไม่ใช่โรคติดต่อที่ติดกันผ่านเชื้อไวรัส แต่ติดกันผ่านความคิด

ตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนโฆษณาชวนเชื่อกรอกหัวเราไปเรื่อย ๆ ว่าเราเป็นซอมบี้ที่มีพฤติกรรมเดินเซ กินอาหารออร์แกนิคอย่างเนื้อคนเป็นอาหารและไม่อาบน้ำแปรงฟัน เราก็มีแนวโน้มที่จะเป็นแบบนั้นไปด้วย และยิ่งมีคนเลียนแบบพฤติกรรมซอมบี้มากขึ้นเท่าไหร่ คนก็จะยิ่งทำตามเพื่อนและกลายเป็นซอมบี้มากขึ้นเท่านั้น ขณะเดียวกัน การนำเสนอเกี่ยวกับวันสิ้นโลกบ่อย ๆ ก็อาจส่งผลต่อความเชื่อของคนในสังคมจนพวกเขายอมจำนนและไม่ลุกขึ้นสู้กับซอมบี้ จนโลกถูกครอบงำด้วยซอมบี้ไปในที่สุด แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราต่อสู้กับแนวคิดซอมบี้และปรับพฤติกรรมของซอมบี้ให้อยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ เชื้อซอมบี้ก็อาจไม่ใช่ปัญหาด้วยตัวมันเอง

การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความให้เรานิ่งเฉยต่อไวรัสโคโรนา หรือบอกว่าแค่เราคิดว่าเราจะไม่ติดเชื้อ เราก็จะไม่ติดเชื้อ โลกไม่ได้ง่ายแบบนั้น ผู้เขียนเพียงแต่ต้องการบอกว่าข่าวปลอมอันตรายไม่ต่างจากโรคระบาด เพราะถ้าดูไปที่ภาษาแล้ว คำว่า viral ที่ใช้กับคลิปวิดิโอ โพสต์เฟสบุ๊ค หรือทวีตที่ได้รับความนิยมนั้น มีรากศัพท์ไม่ต่างจากคำว่า virus กล่าวคือมีความหมายในแง่ของการแพร่กระจายเหมือนกัน ข่าวปลอมเหล่านี้มักมาพร้อมกับข้อมูลที่สร้างความตื่นตระหนก ส่งผลให้เรายอมจำนนต่อสถานการณ์ หรือทำอะไรหลายอย่างที่ผิดพลาด ในแง่นี้แล้วการสร้างภูมิคุ้มกันข่าวปลอมก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้การป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาเลย ยิ่งในสถานการณ์ที่รัฐบาลจีนมีแนวโน้มปิดข่าวและคนคิดกันไปเองต่าง ๆ นานา การสร้างภูมิคุ้มกันยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นอีก

หนึ่งในภูมิคุ้มกันที่สำคัญก็คือความคิดที่ว่าตอนนี้ยังไม่ใช่วันสิ้นโลกขณะนี้องค์การอนามัยโลกและทีมแพทย์กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อจัดการกับปัญหา จีนเรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นบ้างแล้ว รัฐบาลกำลังปรับตัวเพื่อพัฒนามาตรการรับมือให้ดีขึ้น อินเตอร์เน็ตช่วยให้ประชาชนติดตามข่าวสารสถานการณ์และเรียนรู้แนวทางการรับมือได้ดีขึ้น แม้แต่ในโลกที่เต็มไปด้วยซอมบี้ Drezner ก็ยังเชื่อว่ามนุษย์สามารถต่อสู้และเอาชนะซอมบี้ได้ สวนทางกับภาพยนตร์ซอมบี้ส่วนใหญ่ที่จบลงด้วยการสูญพันธุ์ของมนุษยชาติ

แต่นอกจากความรู้เท่าทันสื่อแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการคิดเชิงวิพากษ์ เพราะนอกจากการหาวิธีปรับตัวเพื่อให้สามารถเอาตัวรอดได้แล้ว การลุกขึ้นมาตั้งคำถามใหญ่ ๆ เช่นว่าปัจจุบันภาพรวมของการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ของรัฐบาลต่าง ๆ มีความพร้อมแค่ไหน รูปแบบการจัดการรับมือกับโรคระบาดที่ดีควรเป็นอย่างไร ประชาชนจะสามารถมีส่วนกำหนดทิศทางของรัฐบาลเพื่อให้ไปถึงจุดมุ่งหมายดังกล่าวได้อย่างไร การขยับขยายความเป็นไปได้ของการถกเถียงเหล่านี้ก็นับเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net