คนงานแอมะซอนเมินคำขู่ ผละงานประท้วงบริษัทไม่แก้ไขปัญหาวิกฤติภูมิอากาศ

คนทำงานแอมะซอน บริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายร้อยคนออกมาประท้วงโดยไม่สนใจคำขู่ของบริษัท เพื่อแสดงการต่อต้านบริษัทในเรื่องที่ไม่มีการปรับปรุงที่ดีพอในการแก้ไขวิกฤตภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังเป็นการประท้วงต่อต้านเพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่านโยบายการปิดกั้นไม่ให้ลูกจ้างได้พูดนั้นใช้ไม่ได้ผล

ป้ายข้อความของพนักงานแอมะซอนที่เคยออกมาประท้วงเมื่อเดือน ก.ย. 2562 (ที่มา:Twitter/ Amazon Employees For Climate Justice)

29 ม.ค. 2563 ในขณะที่ซีอีโอของแอมะซอน เจฟฟ์ เบซอส จัดงานปาร์ตี้ที่แมนชั่นสุดหรูของตัวเองต้อนรับเซเลบชนชั้นนำอย่างอีวานกา ทรัมป์และบิลล์ เกตส์ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คนทำงานบริษัทของเขาก็ทำการประท้วงโดยไม่สนใจคำขู่จากนโยบายของบริษัท

คนทำงานแอมะซอนมากกว่า 350 คน ประท้วงผ่านการจัดตั้งจากกลุ่มพนักงานแอมะซอนเพื่อความเป็นธรรมด้านประเด็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Amazon Employees for Climate Justice) โดยมีการใช้แฮชแท็ก #AMZNSpeakOut ในการนำเสนอแถลงการณ์ผ่านทางเว็บบล็อกออนไลน์ ประณามบริษัทที่ไม่มีมาตรการปรับปรุงแก้ไขด้านวิกฤตภูมิอากาศดีพอ ถือเป็นการที่คนงานแอมะซอนร่วมกันฝ่าฝืนนโยบายเชิงบีบบังคับของบริษัทที่ห้ามไม่ให้คนงานพูดถึงเรื่องวิกฤตภูมิอากาศและขู่จะไล่พวกเขาออก

ความขัดแย้งของพนักงานแอมะซอนกับบริษัทในเรื่องการประท้วงเกี่ยวกับโลกร้อนดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปี 2562 โดยที่แอมะซอนบังคับใช้นโยบายปิดกั้นไม่ให้พนักงานพูดถึงเรื่องของบริษัทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากฝ่ายบริหารก่อน หลังมีลูกจ้างประกาศจะเข้าร่วมการนัดหยุดงานประท้วงวิกฤตภูมิอากาศในเดือน ก.ย. 2562

วิกเตอเรีย เหลียง วิศวกรพัฒนาซอฟต์แวร์ของแอมะซอนที่เข้าร่วมการประท้วงกล่าวว่า "วิกฤตเรื่องสภาพภูมิอากาศถือเป็นเรื่องเร่งด่วน พวกเขาไม่อาจถูกปิดกั้นจากนโยบายเหล่านี้ในประเด็นที่มีน้ำหนักทางจริยธรรม"

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพนักงานแอมะซอนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์บริษัทมากขึ้นเรื่อยๆ จากการทำสัญญากับบริษัทน้ำมันและก๊าซ ในปี 2562 เคยมีพนักงานลงนามมากกว่า 8,700 รายชื่อในจดหมายเปิดผนึกต่อซีอีโอ เรียกร้องให้มีปฏิบัติการต่อวิกฤตภูมิอากาศมากขึ้น

การประท้วงในครั้งนี้มีรูปแบบของการหยุดทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกจ้างในหลายบรรษัทไอทีใช้ในการประท้วงนโยบายบรรษัทในช่วงระยะหลังๆ นี้ เช่นกรณีของกูเกิลมีการประท้วงเรื่องขอให้ปรับปรุงนโยบายว่าด้วยการล่วงละเมิดทางเพศในปี 2561 และในปี 2562 ก็มีกรณีคนทำงานแบบชั่วคราว (gig worker) ให้กับ Instacart และ Uber จัดตั้งการประท้วงหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีขึ้น ในปีเดียวกันยังเคยมีการประท้วงจากลูกจ้างผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์ออนไลน์ Wayfair ที่เดินออกจากที่ทำงานประท้วงที่บริษัททำสัญญากับสถานกักกันผู้อพยพ

โฆษกของแอมะซอนกล่าวว่าบริษัทรับรู้เรื่องที่ลูกจ้างประท้วง และบอกว่าบริษัทเคยจัดให้มีนโยบายเกี่ยวกับการสื่อสารกับคนภายนอกซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของพนักงานคนใดคนหนึ่ง โดยมีการจัดช่องทางภายในบริษัทให้ลูกจ้างขออนุญาตพูดกับสื่อได้ ซึ่งการขออนุญาตนั้นจะต้องมี "ความชอบธรรมทางธุรกิจ" ซึ่งสื่อเดอะวอชิงตันโพสท์ระบุในเดือน ก.ย. ว่า ลักษณะการต้องขออนุญาตก่อนที่จะได้พูดออกสาธารณะนั้นมีมานานแล้วในแอมะซอน แต่ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด

โฆษกตัวแทนบรรษัทไอทียักษ์ใหญ่กล่าวว่า "ในขณะที่ลูกจ้างทุกคนได้รับอนุญาตให้ปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับหลายๆ ทีมในแอมะซอน ที่กำลังทำงานด้านความยั่งยืนและประเด็นอื่นๆ พวกเราก็ยังได้บังคับใช้นโยบายการสื่อสารกับภายนอกของพวกเรา และจะไม่อนุญาตให้ลูกจ้างดูหมิ่นหรือนำเสนอเรื่องราวให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณะเกี่ยวกับบริษัทหรือการทำงานหนักของเพื่อนร่วมงานของพวกเราที่กำลังพัฒนาวิธีการแก้ไขปัญหาที่ยากลำบากเหล่านี้"

กลุ่มคนที่ประท้วงในครั้งล่าสุดนี้ระบุว่า พวกเขาทำไปเพื่อจงใจแสดงการแข็งข้อจากภายในต่อนโยบายเรื่องการสื่อสารนี้ เพื่อแสดงให้เห็นในทางผลลัพธ์ว่ามันบังคับใช้ไม่สำเร็จ

ไม่เพียงแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม ในบล็อกที่คนงานผู้ประท้วงโพสต์ยังระบุถึงประเด็นข้อโต้แย้งอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับแอมะซอนในช่วงไม่กี่ปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นแรงงาน ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวและอิทธิพลทางการเมือง เป็นต้น

โนแลน วูดเดิล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายทำสัญญาของแอมะซอนกล่าวว่า เขาภูมิใจที่ได้ทำงานในแอมะซอน แต่นโยบายปิดปากลูกจ้างที่ท้าทายเพื่อให้บริษัททำงานดีขึ้นนั้น ถือว่าขัดกับหลักการความเป็นผู้นำของพวกเขาเอง

"เมื่อมีประเด็นที่สำคัญเช่นนี้ พวกเราควรจะให้มีการพูดคุยกันได้ การปิดกั้นลูกจ้างไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง" โนแลนกล่าว

เรียบเรียงจาก

Hundreds of workers defy Amazon rules to protest company's climate failures, The Guardian, Jan. 28, 2020

Defying Company Policy, Over 300 Amazon Employees Speak Out, WIRED, Jan. 27, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท