Skip to main content
sharethis

ชวน ใหม่-อโนชา สุวิชากรพงศ์ ผู้กำกับหนังรางวัล ‘ดาวคะนอง’ เล่าถึงหนังเรื่องใหม่ ‘กระบี่ 2562’ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น กระบวนการทำงาน การระดมทุน ถ่ายทำ จนถึงตัดต่อ ไหลยาวไปสู่การคุกคามทางเพศในวงการภาพยนตร์ไทย รวมถึงประสบการณ์การเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด

 

 

ใหม่-อโนชา สุวิชากรพงศ์ คือผู้กำกับหนังอิสระ หนังเรื่อง ‘ดาวคะนอง’ ของเธอคว้าสามรางวัลสุพรรณหงส์ปี 2559 ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และลำดับภาพยอดเยี่ยม หนังหลายเรื่องของเธอเดินทางไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ชื่อดังต่างๆ ทั่วโลก  

‘ดาวคะนอง’ หนังตัวแทนประเทศไทยชิงออสการ์ปีล่าสุดถูกห้ามฉาย

นอกจากการเป็นนักทำหนังแล้ว ขณะนี้อโนชายังเป็นอาจารย์สอน Narrative Fiction ในตำแหน่ง อาจารย์รับเชิญ (Visiting Lecturer) อยู่ที่ภาควิชา Art Film and Visual Studies ของมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ดมาเกือบครบสองปีแล้ว  

“Visiting Lecturer ตามตำแหน่งอยู่ได้ปีหนึ่ง แต่บางทีก็ต่อไปสองปีสามปี มากสุดสามปี เขาชวนเราอยู่ต่อ แต่เราไม่อยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเพราะอยากกลับไปทำหนังของตัวเองต่อ” อโนชาเล่าอย่างกระตือรือร้น

แม้จะเป็นอาจารย์เต็มตัว แต่ระหว่างนั้นเธอทำโปรเจคหนังร่วมกับ เบน ริเวอร์ส นักทำหนังทดลองชาวอังกฤษ ซึ่งล่าสุดหนังก็ได้ฉายรอบปฐมทัศน์ไปเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา

‘กระบี่ 2562’ คือหนังใหม่เรื่องนั้น ความน่าสนใจของหนังคือการร่วมทำงานระหว่างนักทำหนังคนไทยและนักทำหนังต่างประเทศที่ไม่เคยอยู่เมืองไทยมาก่อน สายตาระหว่างคนทำหนังสองคนในการถ่ายทอดเรื่องราวพาเราไปสำรวจ ‘กระบี่’ ในมิติที่หลากหลาย จากสายตานักท่องเที่ยว สู่สายตาของคนท้องถิ่น คนที่มีความทรงจำเกี่ยวกับพื้นที่ จนถึงตำนานปรัมปราที่เล่าสืบทอดกันมา ได้นักแสดงอย่าง เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริอารักษ์ และ นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา มาร่วมงาน และที่แตกต่างคือการใช้ฟิล์มขนาด 16 มม. ถ่ายทำตลอดทั้งเรื่อง

เราชวนอโนชาคุยถึงกระบวนการทำงานตั้งแต่แรกเริ่ม การระดมทุน ถ่ายทำ จนถึงตัดต่อ ไหลยาวไปสู่การคุกคามทางเพศในวงการภาพยนตร์ไทย รวมถึงประสบการณ์การเป็นอาจารย์ที่ฮาเวิร์ด

 

จุดเริ่มต้นของ ‘กระบี่ 2562’ มายังไง?

ตอนนั้นเบนเป็นหนึ่งในศิลปินที่คิวเรเตอร์ของไทยแลนด์เบียนนาเล่เชิญให้มาทำงาน โดยคอนเซปต์เขาคือให้ศิลปินต่างประเทศมาทำงานในพื้นที่ ให้ศิลปินลงพื้นที่ก่อน แล้วเบนไม่เคยมาเมืองไทยเลย เขาเขียนอีเมล์มาชวนเราทำด้วยกัน ซึ่งเราเป็นเพื่อนกันมานานเป็น 10 ปี เราชอบงานเขา เขาชอบงานเรา และด้วยมุมมองก็มีความคล้ายกัน ถึงเขาจะเป็นหนังกึ่งสารคดีมากกว่า แต่ก็มีบางอย่างที่สนใจเหมือนกัน ตอนนั้นก็คิดว่าทำแค่ชิ้นหนังสั้นให้ไทยแลนด์เบียนนาเล่

พอได้ลงพื้นที่ เราก็เห็นว่ามี material (ส่วนประกอบ) น่าสนใจ คิดว่าน่าทำเป็นหนังยาว แต่ด้วยงบและระยะเวลาที่มีจำกัด เกินขอบเขตที่เบียนนาเล่กำหนด เราเลยคิดมาทำต่อกันเอง

เป็นหนังไม่มีบท มีแต่ treatment (โครงเรื่องขยาย) อิงมาจากคนในพื้นที่ที่ไปเจอมา มีการสัมภาษณ์คนจริงๆ แต่บางคนเราก็จับมาปรับนิดนึง บางอันก็แต่งขึ้น พาร์ทที่แต่งขึ้นก็ชัดเจนเพราะถูกนำแสดงโดยดารา ช่วงระยะเวลาที่ทำ ถึงแม้เราจะมีเวลามากขึ้น แต่ก็ยังติดปัญหาที่เราไม่ได้อยู่เมืองไทย กลับไทยเฉพาะปิดเทอม คือช่วงซัมเมอร์ กับคริสมาสต์ถึงปีใหม่ ก็ถ่ายทำกันช่วงนั้น แล้วบินมาตัดกันที่อเมริกา

 

หาทุนยังไง?

ด้วยเวลาจำกัดเราเลยลองระดมทุนผ่าน indiegogo (เว็บไซต์ระดมทุนของนักทำหนังทั่วโลก) โดยที่เราและเบนก็ไม่เคยทำมาก่อน แต่มันเวิร์คเลย เราไปทำการบ้านมาเยอะเหมือนกันก่อนที่จะทำแคมเปญนี้ เราก็ไปคุยกับอาจารย์ที่สอนอยู่ฮาเวิร์ดเหมือนกัน เขาเคยทำแคมเปญมาเยอะแล้วประสบความสำเร็จ

มีเคล็ดลับที่เขาแนะนำ เช่น เราควรติดต่อคนที่น่าจะมาร่วมลงทุนได้ไว้ก่อนเลย คุยกันนอกรอบให้เสร็จ แล้วพอเราจะ launch (เปิดตัว) เราก็คุยกับเขาว่าให้เขามาร่วมใน indiegogo อาทิตย์แรก มันก็จะดูมีกระแส ดูมีคนลงเงินเยอะ

ข้อดีคือพอเป็นกระแสก็มีบริษัทติดต่อเข้ามาช่วงทำแคมเปญ คือ บริษัท Rediance จากจีน ซึ่งเป็นบริษัทใหม่ไฟแรง เป็นบริษัทตัวแทนจัดจำหน่าย เขาก็ขอหนังเรื่องนี้ไป ซึ่งก่อนหน้านี้เขาก็ทำหนังพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) เรื่องล่าสุด Memoria

มีอีกเคล็ดลับคือ สมมติตั้งเป้าไว้ที่จำนวนเงินเท่านี้ แล้วเราอยากจะเพิ่มอีกหน่อยก็ทำได้ โดยที่เราต้องมีเหตุผลที่ซับพอร์ทพอ ซึ่งตอนนั้นมีพอดีเพราะโดนภาษีฟิล์ม เนื่องจากเราถ่ายด้วยฟิล์ม 16 มม. ทั้งเรื่อง ก็โดนภาษีเยอะ เราเลยขอขยับเพดานขึ้นอีกนิดนึง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เขาทำกันเยอะเหมือนกันใน  indiegogo

การระดมทุนมันมีข้อดีกว่าการไปขอทุนตามเทศกาลคือมันใช้เวลาสั้นกว่า ไม่ติดข้อจำกัดของแต่ละเทศกาล เพราะเราก็มีข้อจำกัดเรื่องเวลา แต่คิดว่าทำได้หนเดียว เหมือนแต้มบุญหมดแล้ว (หัวเราะ)

 
 

ทำงานกับเบนเป็นยังไงบ้าง?

เบนเป็นคนชิลๆ ไม่ปรี๊ดง่าย มีความอดทนสูง อีคิวดี เข้ากับคนอื่นได้ดี ปรับตัวได้ง่าย 

ตอนถ่าย ตากล้องก็เป็นตากล้องรู้ใจเราอยู่แล้ว เบนเองเขาก็ถ่ายหนังเองมาก่อนอยู่แล้ว เราเลยจะอยู่กับนักแสดงมากกว่า เพราะเราคุยไทยกับนักแสดงได้ง่ายกว่า แต่ไม่ได้แบ่งหน้าที่กันชัดขนาดนั้น มันก็ลื่นๆไป แต่ตอนที่ลื่นน้อยกว่าคือช่วงตัดต่อ เป็นช่วงที่ปะทะกันด้านความคิด ซึ่งดี พอปะทะกันแล้วทำให้รู้สึกว่า ทุกอันเราต้องมีเหตุผลดีพอที่จะซับพอร์ทในสิ่งที่เราเชื่อ เพื่อ convince เขา ซึ่งมันมีส่วนที่ตอนแรกเขาไม่เห็นด้วย แต่พอเราอธิบายแล้วเขาก็โอเค

ตอนตัดคือเหมือนเราเขียนหนังจากฟุตเทจอีกที พอเรามีดราฟท์หนึ่งเราก็รู้ว่าเราต้องเติมอะไร ก็ไปถ่ายเพิ่ม แล้วกลับมาตัดเพิ่ม ซึ่งสไตล์การทำงานของทั้งเราและเบนก็เป็นแบบนี้ หนังเรื่องล่าสุดที่กำลังทำเราก็ทำแบบนี้เหมือนกัน

 

คิดยังไงที่คนพูดว่าคุณทำหนังอินดี้ ทำไมดูไม่ค่อยรู้เรื่อง ทำไมช้าจัง?

เราอยากทำหนังให้คนทั่วๆไปดู ไม่เคยคิดว่าต้องทำหนังให้ใครดูเป็นพิเศษ อยากให้คนดูกว้างมากที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ก็เข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนจะชอบดูหนังที่เล่าแปลกๆ หรือมีจังหวะเฉื่อยๆ แต่อย่างเรื่องนี้เราคิดว่ารวมๆแล้วไม่รู้สึกว่าช้า pacing การตัด ตัดฉึบๆ มาก และเนื้อเรื่องก็เดินไปข้างหน้า อย่าง เจ้านกกระจอก (2552) เราอยากสวนกระแส slow cinema เพราะเราไม่ชอบหนังที่มันช็อตยาวๆ เทคยาวๆ แต่คนก็จะชอบคิดว่ามันช้า (หัวเราะ)


การเป็นผู้หญิงในวงการหนังไทยทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวไหม?

ช่วงแรกรู้สึกโดดเดี่ยวนิดนึง ตั้งแต่สมัยนู้น เจ้านกกระจอก หรือช่วงทำดาวคะนองก็มีบ้าง เพราะจริงๆ ดาวคะนองทำมาหลายปี แต่ช่วงหลังก็มีผู้หญิงเยอะขึ้นในวงการ มีพวงสร้อย (พวงสร้อย อักษรสว่าง ผู้กำกับ ‘นครสวรรค์’) แคลร์ (จิรัศยา วงษ์สุทิน ผู้กำกับและหัวหน้าทีมเขียนบทซีรี่ส์ 'One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ') หนังสั้นเขาก็ดีมาก มีคนพูดถึงเรื่องนี้เยอะขึ้น ทำให้เรารู้สึกสบายใจ

อย่างตอน Hollywood Reporter มาไทย เขาจัด directors roundtable ให้ผู้กำกับ 6 คนมาคุยกัน เป็นผู้ชายหมดเลย ซึ่งเราข้องใจมาก ตอนนั้นมีพี่นุช (พิมผกา โตวีระ ผู้กำกับ มหาสมุทรและสุสาน) ที่แอคทีฟ แต่ทำไมถึงไม่ได้เชิญ ผู้กำกับ 6 คนนั้น บางคนก็ไม่ได้มีหนังฉายปีนั้นด้วย ก็ยังอยู่ในนั้นได้

เราก็โพสต์ในเฟสบุ๊ค บ่นๆ แล้วยังไงไม่รู้อาจมีคนโพสต์ต่อ เขาเลยจัดอีกรอบนึงในหัวข้อหนังอินดี้ ชวนเราไปด้วย แล้วก็มีพี่กอล์ฟ (ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.อนาคตใหม่และผู้กำกับหนัง) ซึ่งเราก็ข้องใจอีกว่า ทำไมพอเป็นหนังอินดี้แล้วถึงมีเรา มีพี่กอล์ฟ แต่ทำไมผู้หญิงหรือ LGBT ถึงไม่ได้อยู่ตั้งแต่รอบแรก 

ตอนนั้นเรารู้สึกว่าพอเราโวยวายมันก็จะมีคนแบบ อะไรของแกเนี่ย แต่ช่วงนี้เราเลิกบ่นไปแล้วเพราะมันอยู่ตัวประมาณหนึ่ง แต่ก็ยังเห็นผู้กำกับผู้หญิงบ่นๆ อยู่เหมือนกัน อย่างตอนนี้เรามีกระแส #metoo แม้มันจะไม่ได้เข้ามาในไทยอย่างจริงจัง แต่ต่อไปมันอาจจะมีก็ได้ เพราะจริงๆ การคุกคามลวนลามทางเพศในแวดวงก็ยังมีอยู่

 
 

แล้วคุณเคยเจอกับตัวเองไหม?

เคยเจอทางวาจา ช่วงแรกที่เราเป็นผู้กำกับอาจจะมีรู้สึกบ้างที่เราพูดแล้วคนไม่ค่อยฟังเราเท่าไหร่ แต่อันนี้ตอบไม่ได้ว่าเป็นเพราะตอนนั้นเรายังใหม่ หรือเพราะเราเป็นผู้หญิง หรือมันรวมๆ กัน พูดยากไม่สามารถฟันธงได้

 

คิดว่าเรื่องการคุกคามทางเพศในวงการหนังไทยควรถูกหยิบยกมาพูดมากกว่านี้ไหม?

ควร เพราะมันเกิดขึ้นอยู่ การที่กระแส #metoo มันไม่เกิดขึ้นก็แปลว่าการกดทับมันยังมีอยู่  อย่างตอนมีกระแส #metoo ในต่างประเทศแล้วไทยออกข่าว ก็จะมีคนที่ออกมาแอนตี้ว่า สุดโต่งเกินไป ซึ่งเขาก็คิดได้ ไม่ผิด

เราเพิ่งคุยกับโปรดิวเซอร์เกาหลีที่เป็นผู้หญิง เขาบอกที่นั่นกระแส #metoo รุนแรงมาก ทำให้ตอนนี้ไม่ว่าใครก็ตาม ถ้าจะออกความเห็นต้องระวังตัว ระวังคำพูด ไม่ใช่แค่การกระทำ แต่รวมถึงสิ่งที่เขาพูดด้วย ต้องตระหนักว่าตัวเองพูดอะไรอยู่ แล้วตัวโปรดิวเซอร์เองก็บอกว่าบางทีก็รู้สึกมันมากเกินไป แต่เขาก็เข้าใจ ถึงมันจะมากเกินไปแต่มันอาจต้องไปให้สุด แล้วมันถึงกลับมาที่จุดสมดุลขึ้น 

ในวงการหนัง การออกกองมันคือการคลุกคลีกันเยอะกว่าเราทำงานออฟฟิศ แต่ไม่ได้หมายความว่าการทำงานออฟฟิศไม่มี ทุกอาชีพมีแหละ แต่อันนี้ยิ่งไปออกกองในพื้นที่ห่างไกล และโดยธรรมชาติกองถ่ายผู้ชายเยอะกว่าอยู่แล้ว มันก็มีอะไรแบบนี้เกิดขึ้น

ที่ผ่านมาเราก็มีน้องฝึกงานที่ออฟฟิศเล่าให้ฟังว่าโดนลวนลาม อาจไม่ถึงขั้นรุนแรง แต่เขาก็รู้สึกแย่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงเท่าไหร่ ผู้หญิงในวงการนี้ก็อาจไม่ค่อยเยอะ แต่ต่อจากนี้จะมีเยอะขึ้น เวลาออกกองจะได้มีความสมดุลทางเพศ และสำหรับเราการมีผู้หญิงมันก็สบายตัวสบายใจกว่า ซึ่งก็แล้วแต่คน มีเพื่อนผู้กำกับผู้หญิงที่เป็นคนต่างชาติบอกว่าเขาไม่ได้รู้สึกอะไรกับกองถ่ายที่มีแต่ผู้ชาย แต่สำหรับเราอาจจะคุ้นเคยกับผู้หญิง เพราะพี่น้องเราเป็นผู้หญิงหมดเลย

 

ไปสอนที่ฮาเวิร์ดมาเป็นไงบ้าง?

เราเป็นอาจารย์คนเดียวที่สอนวิชา Narrative Fiction ซึ่งไม่พอ เพราะเด็กอยากเรียนเยอะ เขาจำกัดแค่คลาสละ 10 คน แต่คนอยากเรียน 60 คน เราต้องสัมภาษณ์เพื่อเลือกเด็กเข้ามาเรียน 

เด็กกระตือรือร้นกว่าเมืองไทยเยอะ แต่ก็ไม่ทุกคน คนที่เอาจริงเอาจังเยอะ ไปถึงคลาสก่อนเวลาเรียน เราไปตรงเวลา เขานั่งรอกันครึ่งห้องแล้ว ถ้าเมืองไทยไปตรงเวลาคือต้องรอเด็กเข้าคลาสตลอด และที่อเมริกามีการถกเถียงกันตลอด เถียงเราก็มี เถียงกันเองก็เยอะ แต่ไม่ได้เป็นเรื่องอีโก้ ก็รับฟังความเห็น แล้วเขาก็ไปปรับบทกัน

เพื่อนร่วมงานดี ไม่ได้รู้สึกแปลกแยก แต่ก็มีคนหนึ่งที่พูดแล้วเรารู้สึกไม่โอเค เราก็เขียนอีเมล์ไปหาเขาว่าเธอพูดแบบนี้ฉันรู้สึกไม่ comfortable ปรากฎเขาก็รู้สึกแพนิคเลย มาขอโทษขอโพย ซื้อขนมมาให้ เพราะกฎหมายที่อเมริกาแรงมากเรื่องนี้ ถ้าเรารายงานเขาก็มีสิทธิถูกให้ออก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net