Skip to main content
sharethis

เมื่อไม่นานนี้มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเรื่องไวรัสที่กำลังระบาดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ในทำนองที่ว่าต้นตอการแพร่ระบาดนั้น "มาจากแหล่งทดลองอาวุธชีวภาพ" ซึ่งมีการตีแผ่โดยสื่อของออสเตรเลียว่าเป็นข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ รวมถึงมีนักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแสดงความคิดเห็นเป็นไปได้ยากที่จะมาจากการทดลองอาวุธชีวภาพ


ที่มาภาพประกอบ: Wikipedia

ข่าวลือในเรื่องดังกล่าวนี้เริ่มต้นมาจากรายงานข่าวของวอชิงตันโพสต์ ที่นำเสนอข้อความจากอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองการทหารของอิสราเอล ดานี โชแฮม วอชิงตันโพสต์ระบุว่าโชแฮมที่เป็น "ผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามชีวภาพของอิสราเอล" ได้กล่าวไว้ว่า "มีแล็บบางส่วนในสถาบันวิจัยด้านไวรัสวิทยาอู่ฮั่น ที่เป็นไปได้ว่าจะมีการวิจัยและพัฒนาอาวุธชีวภาพของจีน อย่างน้อยก็ในเชิงคู่ขนานกับแหล่งอื่น โดยที่ไม่ได้ถือเป็นแหล่งวิจัยหลักของอาวุธชีวภาพสำหรับจีน"

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า ตลาดอาหารทะเลอู่ฮั่นที่เคยถูกสันนิษฐานว่าเป็นต้นเหตุของการระบาดนั้นอยู่ห่างจากสถาบันวิจัยไวรัสวิทยาเพียง 30 กม.

โดยที่สื่อสัญชาติ News.com.au ตั้งข้อสังเกตว่าจนถึงตอนนี้มีผู้เชี่ยวชาญอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ตั้งข้อสังเกตนี้ คือโชแฮม นอกจากนี้ฝ่ายประชาชนชาวจีนเองก็มีข่าวลือในเชิงทฤษฎีสมคบคิดแพร่กระจายในหมู่ประชาชนเช่นกัน คือมีคนลือว่าไวรัสนี้เป็นผลมาจากสงครามเชื้อโรคที่มีผู้ก่อคือสหรัฐฯ มีการตั้งข้อสังเกตว่าข่าวลือนี้ไม่ถูกเซนเซอร์จากรัฐบาลจีนที่มีการคุมเข้มด้านข้อมูลข่าวสารหนักมาก

อย่างไรก็ตามศาตราจารย์ด้านความมั่นคงจากเอ็มไอที วิพิน นารีง กล่าวว่ายังไม่มีหลักฐานใดๆ บ่งชี้ว่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาดในครั้งนี้เป็นอาวุธชีวภาพ ใครก็ตามที่อ้างว่าเรื่องนี้เป็นอาวุธชีวภาพถือเป็นการจงใจเผยแพร่ข้อมูลเท็จและไร้ความรับผิดชอบอย่างมาก

ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ รายงานประจำปี 2562 ของกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ จะระบุว่า "มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า" จีนทำการละเมิดอนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพ (BWC) ด้วยการทำการวิจัยอาวุธชีวภาพ ซึ่งน่ากังวลว่าอาจจะถูกนำมาใช้ในแบบดาบสองคมได้

อย่างไรก็ตามนารางผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงมองว่ากรณีไวรัสจากอู่ฮั่นไม่น่าจะเป็นอาวุธชีวภาพที่รั่วไหลออกมาได้ เพราะในทางทฤษฎีแล้วอาวุธชีวภาพที่ใช้การได้ควรจะต้องมีความความรุนแรงของโรคสูงแต่มีความสามารถในการติดต่อต่ำ ซึ่งตรงกันข้ามกับโคโรนาไวรัสจากอู่ฮั่น

นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมจากออสเตรเลีย มัลคอล์ม ดาวิส ระบุว่าผ่านทวิตเตอร์ว่า ตัวเขาเองไม่เชื่อว่าจะมีหลักฐานใดๆ สนับสนุนว่าไวรัสจากอู่ฮั่นรั่วไหลมาจากสถานวิจัยไวรัสวิทยา แต่การที่สถานวิจัยนี้ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับแหล่งแพร่กระจายของไวรัสก็ถือว่าน่าสนใจ แต่ดาวิสเชื่อว่าไวรัสตัวนี้น่าจะแพร่กระจายจากสัตว์มาสู่คนในตลาดที่อู่ฮั่นมากกว่า

ความกังวลเรื่องอาวุธชีวภาพมีมาหลายปีแล้วตั้งแต่มีการรับรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่สามารถตัดต่อพันธุกรรมได้ ทำให้มีนักวิเคราะห์ในสหรัฐฯ เคยแสดงความกังวลว่าอาจจะมีการสามารถตัดต่อพันธุกรรมของเชื้อโรคที่เคยถูกทำให้อันตรายน้อยลงกลายเป็นเชื้อโรคติดต่อที่อันตรายได้ หรือตัดต่อพันธุกรรมเชื้อโรคที่เคยถูกทำลายไปแล้วให้กลับมาใหม่ และอาจจะใช้ทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาก็มีงานเขียนและงานวิจัยบางชิ้นจากจีนที่ระบุถึงอาวุธชีวภาพในแง่ที่ว่าอาจจะถูกนำมาใช้ในเชิงยุทธศาสตร์การสงคราม

เรื่องการตัดต่อพันธุกรรมยังไม่เพียงแค่ชวนให้กังวลในเรื่องอาวุธชีวภาพเท่านั้น ประเทศจีน รัสเซีย หรือแม้แต่นักวิจัยสหรัฐฯ บางส่วนที่เข้าไปทำการวิจัยในจีนเพื่อเลี่ยงปัญหาทางกฎหมาย ก็พยายามวิจัยทางการตัดต่อพันธุกรรมในเชิงที่หมิ่นเหม่ทางจริยธรรมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อพันธุกรรมเด็กทารกจากนักวิจัยจีน หรือการตัดต่อเชื่อมตัวอ่อนมนุษย์กับลิงจากนักวิจัยชาวสหรัฐฯ ที่เข้าไปทำในจีน ทั้งนี้รัสเซียและญี่ปุ่นก็ยกเลิกการสั่งห้ามการทำการตัดต่อพันธุกรรมเชื่อมข้ามสายพันธุ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์เช่นกัน

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ในสายต่อสื่อออสเตรเลียมองว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับไวรัสจากอู่ฮั่น เพราะคนที่อ้างเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้เป็นครั้งแรกในชาติตะวันตกล้วนแต่เป็นคนที่เคยเผยแพร่ข่าวลืมไม่น่าเชื่อถือมาก่อน เช่นเคยอ้างว่ามีระเบิดนิวเคลียร์ใต้น้ำเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 2562 แต่ข้อมูลออกมาตรงกันข้ามคือเซนเซอร์ไม่สามารถตรวจจับแรงสั่นสะเทือนใดๆ ได้ และไม่มีข้อมูลบันทึกเรื่องการที่กัมมันตรังสีเพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด เรื่องราวเหล่านี้มีต้นตอมาจากสื่อขวาจัดของสหรัฐฯ ที่มักจะปั้นแต่งข่าวลวงและทฤษฎีสมคบคิดขึ้นมาเอง

นอกจากเรื่องราวเหล่านี้แล้ว ยังมีเรื่องราวอื่นๆ ที่ถูกเผยแพร่ในทำนองทฤษฎีสมคบคิดที่ปั้นแต่งขึ้นมาเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อ้างว่ามีโคโรนาไวรัสแพร่ระบาดไปทั่วในแคนาดา หรือเรื่องที่ว่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ (2019-nCoV) ถูกจดทะเบียนสิทธิบัตรไว้ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องไม่จริง


เรียบเรียงจาก
Mystery lab next to coronavirus epicentre, News.com.au., 28-01-2020
https://www.news.com.au/lifestyle/health/health-problems/mystery-lab-next-to-coronavirus-epicentre/news-story/3e5a32fe77263fe8ca81b091cc8d9c42

Virus-hit Wuhan has two laboratories linked to Chinese bio-warfare program, Washington Post, 24-01-2020
https://www.washingtontimes.com/news/2020/jan/24/virus-hit-wuhan-has-two-laboratories-linked-chines/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net