Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ระบุคลื่นการประท้วงทั่วเอเชียที่มีเยาวชนเป็นแกนนำ ถือเป็นความพยายามในการต่อต้านการปราบปรามที่เพิ่มขึ้นและการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบทั่วภูมิภาค

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2563 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้แถลงเปิดตัวรายงาน ‘สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2562’ นำเสนอบทวิเคราะห์เจาะลึกถึงพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนใน 25 ประเทศและดินแดน กล่าวถึงบทบาทของนักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่ต่อสู้กับความพยายามในการปราบปรามต่อผู้ที่เห็นต่าง การต่อสู้กับปฏิบัติการผ่านโซเชียลมีเดียที่รุนแรง และการเซ็นเซอร์ทางการเมืองอย่างกว้างขวาง

นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ปี 2562 นับเป็นปีแห่งการปราบปรามในภูมิภาคเอเชีย แต่ก็เป็นปีแห่งการโต้กลับเช่นกัน ในขณะที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาค พยายามถอนรากถอนโคนเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แต่ประชาชนได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ขัดขืน และคนหนุ่มสาวเป็นผู้อยู่แนวหน้าของการต่อสู้ครั้งนี้

“จากกลุ่มนักศึกษาในฮ่องกง ซึ่งเป็นแกนนำการประท้วงครั้งใหญ่ เพื่อต่อต้านการรุกรานของจีน จนถึงนักศึกษาในอินเดียที่ประท้วงต่อต้านนโยบายที่เป็นปรปักษ์ต่อมุสลิม จากผู้ลงคะแนนเสียงที่เป็นคนรุ่นใหม่ของไทยที่หลั่งไหลไปเลือกพรรคฝ่ายค้านใหม่อย่างท่วมท้น จนถึงผู้ชุมนุมสนับสนุนความเท่าเทียมด้านความหลากหลายทางเพศในไต้หวันการประท้วงที่แพร่ขยายเป็นวงกว้าง โดยมีเยาวชนเป็นแกนนำทั้งในโลกออนไลน์และโลกแห่งความเป็นจริงกำลังท้าทายกับระบอบอำนาจแบบเก่า”

แรงต้านของประชาชนในฮ่องกงเปล่งเสียงสะท้อนก้องโลก

จีนและอินเดีย สองมหาอำนาจใหญ่สุดของเอเชีย ถือเป็นผู้นำแนวทางการปราบปรามไปทั่วภูมิภาค โดยปฏิเสธสิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง ทั้งการที่รัฐบาลจีนสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกง ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลท้องถิ่นส่งผู้ต้องสงสัยไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ จุดประกายให้เกิดการประท้วงเป็นวงกว้างในดินแดนแห่งนี้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน 

นับแต่เดือนมิถุนายน ชาวฮ่องกงออกมาประท้วงบนท้องถนนอย่างต่อเนื่อง เรียกร้องให้มีการรับผิดต่อปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติมิชอบ ทั้งการใช้แก๊สน้ำตาอย่างโหดร้าย การจับกุมโดยพลการ การทำร้ายร่างกาย และการปฏิบัติมิชอบระหว่างการควบคุมตัว การต่อสู้กับระบอบอำนาจแบบเก่าเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วภูมิภาค

ในอินเดีย ประชาชนหลายล้านคนเปล่งเสียงต่อต้านกฎหมายใหม่ ซึ่งเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม มีการชุมนุมประท้วงอย่างสงบเป็นวงกว้าง ในอินโดนีเซีย ประชาชนลุกฮือต่อต้านการบัญญัติกฎหมายหลายฉบับของสภา ซึ่งคุกคามเสรีภาพของประชาชน ในอัฟกานิสถาน ผู้ชุมนุมเสี่ยงภัยออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้ยุติความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานในประเทศ ในปากีสถาน ขบวนการพาชทูน ทาฮัฟฟุซ  เป็นกลุ่มปฏิบัติการโดยไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อขัดขืนการกดขี่ของรัฐ พวกเขารณรงค์ต่อต้านการบังคับบุคคลให้สูญหาย และการวิสามัญฆาตกรรม

เสียงที่เห็นต่างนำไปสู่การปราบปราม

การชุมนุมประท้วงและแสดงความเห็นต่างอย่างสงบ มักนำไปสู่การลงโทษที่รุนแรงจากรัฐ 

ผู้ชุมนุมถูกจับกุมและคุมขังในเวียดนาม ลาว กัมพูชา และไทยเนื่องจากรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการกดขี่ มีการใช้มาตรการรุนแรงเพื่อปราบปรามฝ่ายตรงข้ามและควบคุมสื่อมวลชน

ในอินโดนีเซีย คนจำนวนมากถูกสังหารระหว่างที่ตำรวจเข้าไปการปราบปรามการประท้วงและมีใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ในแต่ที่แทบไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่จะนำตัวผู้ทำการสังหารมาลงโทษ ไม่มีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจ และไม่มีแม้แต่การระบุตัวผู้ต้องสงสัย

ในปากีสถานและบังคลาเทศ นักกิจกรรมและผู้สื่อข่าวตกเป็นเป้าหมายของกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐอย่างกว้างขวาง เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และลงโทษการแสดงความคิดเห็นต่างบนโลกออนไลน์ 

และในฮ่องกง ตำรวจใช้ยุทธการตามอำเภอใจและอย่างไม่เลือกเป้าหมาย เพื่อปราบปรามการประท้วงอย่างสงบ รวมทั้งมีการทรมานระหว่างการควบคุมตัว ในขณะที่ยังไม่มีการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องให้สอบสวนอย่างจริงจังต่อการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่

ด้านบีราจ ปัตเนก ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียใต้ กล่าวเสริมว่า ทางการพยายามปราบปรามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าในรูปแบบใด และปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออก พวกเขาดำเนินการด้วยรุนแรงตามที่กำหนดไว้ โดยผู้ที่กล้าออกมาพูดวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านรัฐบาลที่กดขี่เหล่านี้ มักได้รับผลกระทบที่รุนแรง 

“พวกเขาบอกกับประชาชนในภูมิภาคเอเชียว่า การที่ต้องการเห็นสังคมที่เท่าเทียมกันมากกว่านี้เป็นเรื่องเพ้อฝัน พวกเขาบอกว่าเราไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ ปัญหาโลกร้อนก็ไม่สามารถแก้ไขได้ และเราไม่อาจหลีกเลี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขาบอกเราว่าจะไม่อดทนอดกลั้นกับความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะมาท้าทายแนวคิดเหล่านี้”

ชนกลุ่มน้อยต้องมาผจญกับกลุ่มชาตินิยมแบบสุดโต่ง

ในอินเดียและจีน แค่มีความเสี่ยงว่าจะมีการขัดขืนในพื้นที่ภายใต้การปกครองของตนเอง ก็อาจทำให้รัฐนั้นๆ ใช้กำลังปราบปรามอย่างกว้างขวาง เพราะชนกลุ่มน้อยมักถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อ“ความมั่นคงของชาติ” 

ในมณฑลซินเจียงของจีนชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมที่มีจำนวนมากถึงล้านคนถูกควบคุมตัวในค่ายกักกัน“เพื่อลดความคิดแบบหัวรุนแรง” 

ในแคชเมียร์ รัฐเดียวของอินเดียที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม มีการออกกฎหมายยกเลิกสถานะดินแดนปกครองตนเอง ทางการประกาศเคอร์ฟิว ตัดช่องทางการสื่อสารทั้งหมด ทั้งยังควบคุมตัวผู้นำทางการเมืองด้วย

ในศรีลังกาซึ่งเกิดความรุนแรงเพื่อต่อต้านชาวมุสลิม ภายหลังเหตุระเบิดวันอีสเตอร์ซันเดย์ การที่ประชาชนเลือกนายโกตาเบยา ราชปักษาเป็นประธานาธิบดี ทำให้ความหวังในการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนริบหรี่ลง ส่วนเผด็จการที่มีแนวทางอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองอย่างประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตแห่งฟิลิปปินส์ยังคงทำ “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ที่นองเลือดต่อไป 

รัฐบาลประเทศต่างๆ พยายามหาเหตุผลสนับสนุนการปราบปรามโดยสร้างภาพชั่วร้ายให้กับผู้วิพากษ์วิจารณ์พวกเขา กล่าวหาว่าเป็นลูกสมุนของ“ประเทศมหาอำนาจต่างชาติ”และเพื่อเร่งการปราบปรามโดยใช้ปฏิบัติการที่ซับซ้อนผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งASEAN และSAARC ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญระดับภูมิภาคทั้งสองแห่ง ไม่ดำเนินการใดเลยในการลงโทษประเทศสมาชิก แม้จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงก็ตาม

เหลือแต่เพียงศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งกองทัพเมียนมากระทำต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่เมื่อปี 2560 ศาลดังกล่าวยังพยายามศึกษาข้อมูลกรณีตำรวจสังหารประชาชนหลายพันคนในฟิลิปปินส์และรับพิจารณาคำอุทธรณ์ต่อคำวินิจฉัยที่ไม่ส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบสวนเหตุอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในอัฟกานิสถาน

ในเวลาเดียวกันออสเตรเลียมีนโยบายส่งผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยไปควบคุมตัวในเกาะอันห่างไกลจากชายฝั่ง ซึ่งเป็นการกระทำที่โหดร้าย ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยจำนวนมากต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายทั้งทางกายและทางใจ ระหว่างถูกกักตัวในเกาะนาอูรูและแมนัส รวมทั้งปาปัวนิวกินีในมหาสมุทรแปซิฟิก

ความก้าวหน้าท่ามกลางความท้าทาย

คนที่ออกมาพูดต่อต้านความทารุณโหดร้ายมักถูกลงโทษ แต่การยืนหยัดต่อสู้ของพวกเขาทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง มีตัวอย่างมากมายของความพยายามซึ่งนำไปสู่ความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย

ในไต้หวัน มีการออกกฎหมายรับรองการแต่งงานของเพศเดียวกัน ภายหลังการรณรงค์อย่างต่อเนื่องของนักกิจกรรม ในศรีลังกา นักกฎหมายและนักกิจกรรมรณรงค์คัดค้านการที่รัฐบาลจะรื้อฟื้นนำการประหารชีวิตกลับมาใช้ใหม่จนประสบความสำเร็จ 

บรูไนถูกบีบให้ต้องระงับการบังคับใช้กฎหมายที่กำหนดให้การเฆี่ยนตีเป็นบทลงโทษกรณีการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส และการมีเพศสัมพันธ์ของชายกับชาย ในขณะที่ อดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซักแห่งมาเลเซีย ต้องขึ้นศาลในคดีทุจริตเป็นครั้งแรก 

รัฐบาลปากีสถานสัญญาจะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และมลพิษทางอากาศ ส่วนที่มัลดีฟส์มีการแต่งตั้งผู้หญิงสองคนเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาเป็นครั้งแรก 

และในฮ่องกงพลังของการประท้วงบีบให้รัฐบาลต้องถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ยังคงไม่มีความรับผิดของผู้ที่ปฏิบัติมิชอบต่อผู้ชุมนุมในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไป

ในปี 2562 แม้ผู้ชุมนุมทั่วภูมิภาคเอเชียต้องเสียเลือดไปบ้าง แต่ก็ยังไม่ท้อถอย พวกเขาอาจถูกปิดปาก แต่ไม่ยอมเงียบเฉย พวกเขาทั้งหมดได้ส่งเสียง เพื่อแสดงอารยะขัดขืนต่อรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ยังคงละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อหาทางกระชับอำนาจของตนเอง”นิโคลัสกล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net