Skip to main content
sharethis

'มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์' และ 'Protection international' (PI) เข้าพบ รมว.พม. แสดงความกังวลต่อร่างปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฉบับใหม่ เผยตัวแทนพนักงานบริการไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมร่าง และยังมีการระบุให้มีการจดทะเบียนพนักงานบริการที่เหมือนเป็นการตีตราและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะที่ รมว.พม. รับปากฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายพร้อมเสนอเตรียมจัดเวทีถกทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมาที่ห้องประชุมชั้น 9 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นของมนุษย์ (พม.) ตัวแทนจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ได้เดินทางเข้าพบนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อทวงถามถึงแนวทางในการปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ที่เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2562 ที่ผ่านมาได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและถูกส่งผ่านมาให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกฎหมายฉบับนี้ปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะนำเสนอตามขั้นตอนของการประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

น.ส.ไหม จันทร์ตา ตัวแทนพนักงานบริการ กล่าวกับนายจุติในการเข้าพบครั้งนี้ว่า ที่เรามาในวันนี้ก็เพื่อทวงถามถึงแนวทางในการปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ที่เรามีความเป็นกังวลเพราะทันทีที่พวกเราเห็นร่างกฎหมายบางส่วนและพบว่าในร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่จัดทำโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และถูกส่งต่อมาให้กระทรวง พม.ปรับปรุงแก้ไขนั้นมีการระบุให้มีการจดทะเบียนพนักงานบริการ ซึ่งเรามองว่าหากกฎหมายฉบับใหม่มีการระบุแบบนี้ชัดเจนจะส่งผลต่อพนักงานบริการและเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพนักงานบริการจำนวนมาก ซึ่งการระบุให้มีการจดทะเบียนพนักงานบริการมันเป็นการตีตราและจะทำให้พนักงานบริการมีประวัติติดตัวและจะยากต่อการไปประกอบอาชีพอื่น

“ผู้หญิงที่มาทำงานพนักงานบริการไม่ใช่ว่าเขาจะทำงานในอาชีพนี้ตลอด เมื่อถึงจุดหนึ่งเขาก็อยากไปทำอาชีพอื่นได้ ที่เราเข้ามาพบกับท่านรัฐมนตรีวันนี้ก็เพื่อให้ท่านได้รับทราบถึงความกังวลของพวกเราพนักงานบริการและเพราะเราก็ไม่รู้ว่ากฎหมายจะถูกส่งเข้าสภาเมื่อไหร่ และคณะกรรมการที่ร่วมกันพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เขาจะอ่านรายละเอียดหรือไม่ เพราะเราไม่ได้มีส่วนร่วมหรือส่งเสียงบอกถึงความต้องการของเราในกฎหมายฉบับนี้เลย” ตัวแทนของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าว 

นางทันตา เลาวิลาวัณยกุล ตัวแทนของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ยังได้ระบุเพิ่มเติมถึงปัญหาจากกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ฉบับเดิม ในมาตรา 6 ที่เหมารวมความผิดทั้งพนักงานบริการและผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการนั้นให้มีความผิดเดียวกัน และยังมีกฎหมายในประเทศไทยอีกหลายฉบับที่ได้พูดถึงความผิดเกี่ยวกับการค้าประเวณีที่ย้อนแย้งกัน ตนจึงเสนอให้มีการยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และให้ใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วแทนได้ เช่นการค้ามนุษย์ กฎหมายคุ้มครองเด็ก รวมถึงเสนอบังคับให้ใช้กฎหมายแรงงานเข้ามาดูแลพนักงานบริการด้วย
 
ขณะที่นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวกับตัวแทนของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ว่า วันนี้ถือว่าตนได้รับฟังข้อกังวลของทางมูลนิธิ และยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายที่กระทรวง พม.ได้ร่างขึ้น เพียงแต่เป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่นำเสนอมาให้เราพิจารณา ซึ่งเราจะเห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ได้ ซึ่งขั้นตอนที่เกิดขึ้นนี้ก็ไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้ายต้องผ่านเวทีพูดคุยตามขั้นตอนและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ซึ่งแนวทางที่ตนจะดำเนินการให้กับความกังวลของเครือข่ายได้คือในฐานะกระทรวง พม.ที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงจะจัดเวทีให้ทุกฝ่ายได้มาพูดคุยกันไม่ว่าจะเป็น อัยการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ภาคประชาสังคม กระทรวง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อมาหาทางออกร่วมกันว่าแนวปฏิบัติที่ควรดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไร ซึ่งตนก็จะรับฟังเรื่องนี้ด้วยใจที่เปิดกว้าง และเมื่อรับฟังทุกฝ่ายจนได้ร่างกฎหมายแล้วก็ให้สภาและประชาชนเป็นคนตัดสินใจว่าเขาจะเห็นด้วยกับกฎหมายหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร 

ด้านนางทันตา เลาวิลาวัณยกุล ตัวแทนของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวขอบคุณถึงแนวทางการรับฟังปัญหาของรัฐมนตรีพร้อมเสนอแนะข้อเรียกร้องเพิ่มเติมว่า ในการพูดคุยกันอยากให้มีการหยิบยกข้อเสนอแนะของคณะกรรมการซีดอ (CEDAW) ที่มีข้อเสนอให้รัฐบาลไทยทบทวนกฎหมายค้าประเวณี ยุติการล่อซื้อ และบุกทลาย รวมถึง ให้บังคับใช้กฎหมายแรงงานเข้ามาคุ้มครองพนักงานบริการ และอยากให้นำข้อมูล งานวิจัย ที่มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ได้จัดทำและเคยยื่นต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะกรรมาธิการเด็กและสตรีฯ โดยเราได้มีแนวปฏิบัติที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพนักงานบริการ โดยเรามีข้อเสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงมหาดไทยควรกำชับเจ้าหน้าที่ห้ามมิให้มีการร่วมประเวณีในขณะทำการล่อซื้อ และห้ามมิให้มีสื่อมวลชนเข้าไปในสถานที่ตรวจค้นและจับกุมการค้าประเวณีโดยเด็ดขาด และให้คณะรัฐมนตรีออกคำสั่งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแก้ไขปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติในการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร โดยยกเลิกการลงตราประทับข้อหาความผิดในหนังสือเดินทางของคนต่างด้าว และพิจารณาหาวิธีการอื่นที่เหมาะสมแทนวิธีการดังกล่าว

ขณะที่ น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การเข้าหารือในวันนี้กล่าวภายหลังจากการหารือเสร็จสิ้นว่า ประเด็นของร่างกฎหมายฉบับนี้ นั้นเป็นการทำวิจัยกันโดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตนก็ได้รับเชิญให้เข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะภาคประชาสังคม แล้วในการมีส่วนร่วมนั้นตนก็สัมผัสได้ว่างานวิจัยที่จะนำมาซึ่งการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ นั้นมันคือการวิจัยของนักวิชาการที่เป็นนักเทคนิคแต่ไม่ใช่คนทำงานที่จะเห็นประเด็นปัญหาการค้าประเวณีในประเทศไทยอย่างคนที่สนใจลุ่มลึก แต่เป็นนักวิชาการที่เป็นนักเทคนิคแล้วเอางานวิจัยมาเป็นเครื่องมือในการสำรวจว่าคนในประเทศไทยมองเรื่องการค้าประเวณีว่าจะต้องใช้เครื่องมือแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งถ้าเกิดเป็นนักเทคนิคแบบนี้ไม่ต้องทำวิจัยก็ได้เพราะเราย่อมรู้อยู่แล้วว่าคนในประเทศไทยคิดอย่างไรต่อเรื่องนี้ คิดว่าเรื่องนี้ควรจะลงโทษหรือไม่ ควรจะใช้กฎหมายมากน้อยแค่ไหนอย่างไร เพราะทัศนคติของคนโดยส่วนมากคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม เป็นเรื่องที่ต้องใช้กฎหมายลงโทษ แต่สิ่งที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกรมที่เกี่ยวข้องควรจะต้องทำ คือคุณต้องรู้ว่าปัจจุบันนี้มาตรฐานสากลในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  หรือในการพัฒนากฎหมายมันมีหลักการหรือทิศทางไปอย่างไรและให้ปรับปรุงร่างกฎหมายโดยยึดหลักของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากลเป็นหลัก 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net