Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชน 12 องค์กร พร้อมรายชื่อบุคคลกว่า 100 รายชื่อ เสนอกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลเสียหาย ฉบับภาคประชาชน

30 ม.ค. 2563 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายปิยบุตร แสงกนกกุล ประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจากตัวแทนองค์กรภาคประชาชน 12 องค์กร พร้อมรายชื่อบุคคลกว่า 100 รายชื่อ เสนอขอให้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลเสียหาย ฉบับภาคประชาชน

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ประเทศไทยควรมีกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายกรณี เป็นเรื่องที่สร้างปัญหาให้บ้านเมือง ทั่วโลกก็มองเห็นปัญหาเหล่านี้ จนเกิดอนุสัญญาระหว่างประเทศขึ้นมา 2 ฉบับ ขณะที่ประเทศไทยก็พยายามออกกฎหมายภายในประเทศ แต่ร่างที่รัฐบาลกำลังจะทำอยู่ก็ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ อีกทั้งยังมีความล่าช้า กลุ่มภาคประชาชนจึงกังวลถึงปัญหา แล้วนำเสนอร่างกฎหมายฉบับที่ภาคประชาชนเสนอ โดยอ้างอิงจากหลักการระหว่างประเทศและปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาต่อ

ด้านนายปิยบุตรกล่าวขอบคุณภาคประชาชนทั้ง 12 องค์กร และยืนยันที่จะทำงานกับภาคประชาชนทั้งในและต่างประเทศ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการเห็นด้วยกับหลักการที่ประชาชนเสนอเข้ามา และจะผลักดันให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากหลายพรรคลงชื่อร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำให้สังคมเห็นว่าท้ายที่สุด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจให้ความสำคัญกับเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย และย้ำว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่เพียงมาตรการให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นหลักการสำคัญเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ป้องกันไม่ให้เกิดการทรมานหรือการใช้อำนาจรัฐบังคับให้บุคคลสูญหาย

นอกจากนี้ เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ยังได้ยื่นหนังสือต่อนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการประทุษร้ายประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบกรณีอัยการไม่สั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวทำร้าย และร่วมกันฆ่าอำพรางศพนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึกบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นสำนวนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว

สรุปงานงานเสวนารับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2563 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 10.00-13.00 น. มีการจัดงานเสวนาแลกเปลี่ยน รับฟังความคิดเห็นและแถลงข่าว ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.... โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้สรุปเนื้อหาการรับฟังความคิดเห็นไว้ดังนี้

อังคณา นีละไพจิตร มูลนิธิยุติธรรมสันติภาพ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ประเทศไทยมีวัฒนธรรมการบังคับให้คนสูญหายมายาวนาน เหตุการณ์สำคัญรวมถึงการปราบปรามคอมมิวนิสต์ กรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฯลฯ ผู้คนไม่กล้าร้องเรียนหรือแจ้งความเพราะต่างรู้ว่าเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ คดีการหายไปของทนายสมชายมีการฟ้องในคดีลักทรัพย์และข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว  คดีต่อสู้ถึงศาลฎีกาและยกฟ้อง ญาติและผู้เกี่ยวข้องไม่สามารถฟ้องแทนได้ กรอบกฎหมายปัจจุบันต้องให้ทนายสมชาย นีละไพจิตรมาฟ้องเอง เป็นข้อจำกัดของกฎหมายไทย  คดีบิลลี่ มีประเด็นคำถามในประเด็นการตรวจพิสูจน์หลักฐาน การเทียบดีเอ็นเอทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถตรวจให้รอบด้าน แปลกใจในคดีบิลลี่ทำไมอัยการไม่ติดใจเรื่องนักศึกษากลับคำให้การ  โดยภาพรวมเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎหมาย หากมีความผิดฐานการบังคับให้บุคคลสูญหาย กรณีที่ยกตัวอย่างนี้ ก็จะไม่ซับซ้อนและยากเย็นอย่างที่เป็นอยู่

ร่างกฎหมายพรบ.ทรมานและอุ้มหายของกระทรวงยุติธรรมไม่ได้ถูกนำเสนอในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อปี 2561 แม้จะผ่านวาระแรกไปแล้ว และในรัฐบาลใหม่ชุดนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้พยายามจัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่มีความเห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นดำเนินการผ่านออนไลน์ไม่เพียงพอ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นภูมิภาคยังไม่ทั่วถึง  ต่อไปจะมีการนำเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้มาพิจารณาต่อ

จริงแล้วเห็นว่าร่างกฎหมายของรัฐบาลมีการรับรองสิทธิการมีชีวิตอยู่การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แต่ต้องมีความจริงใจในการทำงาน   กฎหมายหลายฉบับตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ 1 มีข้อบทที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนอยู่มาก หวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่ใช่แค่พิธีกรรม ต้องมีหลักประกันว่ากฎหมายจะสอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) และอนุสัญญาการป้องกันไม่ให้มีการบังคับให้บุคคลสูญหาย พร้อมๆ กันนี้  ต่อมาก็ต้องให้สัตยาบัน อนุสัญญาการป้องกันไม่ให้มีการบังคับให้บุคคลสูญหาย (CED) และเปิดให้คณะทำงานเข้ามาตรวจสอบสถานการณ์ และหวังว่าวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งมานั้นจะไม่คัดค้าน ขัดขวาง การเสนอร่างกฎหมายนี้เหมือนในสมัยที่ผ่านมา

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ตัวแทนญาติผู้เสียหาย

ยินดีที่ได้มาฟังร่างกฎหมายและมีส่วนเป็นตัวแทนยื่นต่อสภาฯ ในวันพรุ่งนี้  ตนเองเป็นผู้เสียหายจากกรณีสามีได้หายตัวไปพร้อมกับอีกสองคน เมื่อเดือนธันวาคม 2561 พบศพลอยติดมาที่ท่าน้ำ 3 ครั้ง แต่ต่อมามีหนึ่งศพกลับหายไป ซึ่งผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ให้การไม่ตรงกับที่ปรากฏในข่าว ได้ไปแจ้งความเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถช่วยติดตามให้ได้ ตำรวจแจ้งว่าไม่รู้จะติดตามอย่างไร ยื่นหนังสือไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เงียบ จึงได้ไปร้องกับยูเอ็นแต่รัฐบาลยังไม่สามารถให้คำตอบได้ ร้องกับกสม. ตนเองต้องรับภาระในการจ่ายค่าปรับที่ศาลในอีกคดีที่ศาลพัทยา จำนวน 4.5 แสน และต้องผ่อนให้ศาลเดือนละ 3 พัน ซึ่งไม่สามารถขอจากกองทุนยุติธรรมได้ ไปขอลดก็ไม่ได้เพราะไม่มีตัวแล้ว จึงจำหน่ายเสื้อและสินค้าต่าง ๆ เพื่อใช้จ่ายเป็นความขัดข้องในข้อกฎหมายการบังคับให้บุคคลสูญหายทำให้ยากลำบากในการติดต่อราชการ

สมศักดิ์ ชื่นจิตร ตัวแทนญาติผู้เสียหาย

ลูกชายถูกเจ้าหน้าที่รัฐซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพ ในขณะเรียนม.6 ลูกชายถูกจับในข้อหาชิงทรัพย์ เอาถุงดำครอบหัว ไม่มีอากาศหายใจ ชักหลายครั้งตอนอยู่ในถุง จึงออกอุบายว่าจะพาไปหาทอง แล้วหนีออกมาได้ หลังจากดำเนินคดีกับลูกชายฐานชิงทรัพย์ไม่ได้ (ไม่มีหลักฐานบันทึกการจับกุมแต่อย่างใด) จึงดำเนินคดีข้อหาเสพยาเสพติด และต่อมาก็จับผู้ชิงทรัพย์ตัวจริงได้ การแจ้งความเรื่องทรมานลำบาก ต้องไปแจ้งถึงสามครั้ง เจ้าหน้าที่บางครั้งก็แจ้งว่าต้องส่งไป ปปช. อีกครั้งก็แจ้งว่าต้องส่งไป ปปท. ใช้เวลาถึงสามปี ยังไม่มีความคืบหน้า ติดต่อองค์กรเอกชน แล้วพบขบวนการสมอ้างเบิก/คำพยานเท็จทำให้สรุปสำนวนของรัฐยุติ จึงต้องฟ้องคดีเอง

ศาลเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าลูกชายถูกทำร้าย แต่มีกรณีที่ศาลยกฟ้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจบางนายเพราะขาดอายุความเพราะนายตำรวจคนนั้นทำร้ายร่างกายไม่สาหัสอายุความเพียงหนึ่งปี   เมื่อศาลยกฟ้องแล้วตำรวจนายดังกล่าวจึง กลับมาฟ้องกลับเพื่อปิดปากให้ถอนคดีที่ศาลลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงอีกนายหนึ่งไปแล้ว   คดีที่ฟ้องลูกชายกลับข้อหาแจ้งความเท็จในคดีที่ฟ้องตำรวจ ศาลตัดสินจำคุกห้าปีไม่รอลงอาญา อยู่ในระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา

คดีอาญาที่เราฟ้องตำรวจข้อหาทำร้ายร่างกายลูกชาย   มีความพยายามไกล่เกลี่ยในชั้นศาลอ้างว่าจะให้เงินคนละหนึ่งล้านและบวชอีกหนึ่งพรรษา การยอมรับผิดนี้เป็นเพราะเจ้าหน้าที่จำนนต่อพยานหลักฐาน  แต่ไม่ได้สำนึกผิดจริง  พอศาลตัดสินลงโทษจริงแม้ศาลจะเชื่อว่าลูกชายถูกทำร้าย แต่ก็ยังพิจารณารอลงอาญาแก่นายตำรวจระดับสูงนายนั้น อ้างว่าเพราะวิชาชีพเป็นคุณ จึงจำคุกแปดเดือนและให้รอลงอาญา  

ความรู้สึกเหมือนตกเหว ถูกผลักตกจากเหวหลาย ๆ รอบ ใครไม่เคยพบจะไม่เคยรู้เลยว่าการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมันร้ายแรงขนาดไหน ทุกข์แสนสาหัส หายนะเกิดขึ้นฉับพลันโดยที่เราไม่ได้เชื้อเชิญ ยังเชื่อว่าการต่อสู้ สู้ด้วยความเชื่อว่า ถ้าเราปราศจากความกลัว ก็อาจทำให้ผู้ที่ลุแก่อำนาจลดถอยลงบ้าง

เวทีแลกเปลี่ยนรับฟังความเห็น ดำเนินรายการโดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

สมศรี หาญอนันตสุข - อยากให้ขยายความเรื่องกลไกพิเศษ 

ตอบ - อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ แต่พนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนโดยตรง เมื่อเห็นว่าพร้อมแล้วก็สามารถสั่งฟ้องได้เลย ผู้ได้รับความเสียหายรับผิดชอบสำนวนตั้งแต่ต้น ออกแบบให้มีกลไกช่วยเหลือผู้เสียหายซึ่งเชื่อว่าองค์กรกลุ่มที่มีผู้แทนผู้เสียหาย/ภาคประชาสังคมร่วมอยู่ด้วยน่าจะทำให้ง่ายขึ้น กรอบกฎหมายที่มีความชัดเจนแน่นอน ย่อมทำให้เกิดชัดเจนยิ่งขึ้น    

สุนัย ผาสุก HRW – ให้กำลังใจผู้จัดทำร่าง ขอเน้นย้ำ เป็นการไล่จับนวัตกรรมที่รัฐไทยประดิษฐ์ขึ้น เช่น เรื่องการเชิญตัว ฯลฯ เป็นจุดที่คณะทำงานพยามตอบการสร้างข้อโต้แย้งในทางกฎหมาย คำถามมีแผนที่จะ lobby อย่างไรเพื่อที่จะไม่ถูกแปรเปลี่ยนสาระของกฎหมาย

ตอบ – ถ้าประชาชนเข้ารายชื่อจะมีสัดส่วน 1/3 ซึ่งน่าจะมีส่วนโต้แย้งในชั้นกรรมาธิการ แต่อาจไม่ทัน แนวทางคือพยายามที่จะทำงานกับทุกพรรคการเมือง

ปิยนุช โคตรสาร Amnesty International Thailand – อยากให้เน้นหลักการห้ามผลักดันกลับเพราะเป็นประเด็นภูมิภาคแล้ว เราจะทำอย่างไรให้การผลักดันออกไป จะสื่อออกไปอย่างไร ซึ่ง AI จะพยายามช่วยทำวิธีการสื่อสารออกไป

สุนัย ผาสุก HRW – ทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ อาชญากรรมของรัฐ ทุกคนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น ไม่มีใครมีความปลอดภัยจากเงื้อมมือของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ประเด็นเรื่องการจับแพะ ประเด็นเรื่องการปฏิบัติกับคนที่เห็นว่าเป็นศัตรู

สมนึก ตุ้มสุภาพ สภาทนายความ – สงสัยเรื่ององค์ประกอบความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย อาจทำให้ศาลไม่เข้าใจในเรื่องการตีความ ถ้าศาลไม่เข้าใจอาจกลายเป็นบรรทัดฐานด้วย อีกส่วนคือบทกำหนดโทษ (เห็นว่าความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายน่าจะเกี่ยวข้องกับการทรมานด้วย)

กลุ่มสิทธิผู้หญิงในการยุติการตั้งครรภ์ - ข้อแนะนำของคณะกรรมการ CAT ให้ความเห็นว่าการปิดกั้นการไม่ให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการทำแท้งเป็นการทรมาน ทำให้ผู้หญิงต้องดิ้นรนหาบริการเองและทำให้ใช้บริการไม่ปลอดภัย ประเด็นคำถามคือครอบคลุมถึงการละเว้นการปฏิบัติไหม

ตัวแทนผู้เสียหายจากจังหวัดชายแดนใต้ – อิสมาแอ เต๊ะในจังหวัดชายแดนใต้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยหกราย ผู้ถูกทรมาน/ผู้เสียชีวิตยังไม่เข้าถึงความยุติธรรมในพื้นที่ ยังไม่มีการชดเชยเยียวยาแท้จริง สู้คดีแปดปี ฟ้องกลับและสุดท้ายศาลตัดสินว่าถูกกระทำและได้รับเงินเยียวยา แต่ในทางอาญายังไม่สามารถดำเนินคดีได้ 

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ – คดีกรณีเสียชีวิตภายใต้กฎหมายอำนาจพิเศษ เสียชีวิตในระหว่างควบคุมตัว ในค่ายทหาร ในหมู่บ้าน (กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน) เป็นกลุ่มที่มีหมาย พรก. จึงยังเป็นกรณีที่ไม่ถูกบันทึกและไม่เปิดเผย ชาวบ้านไม่กล้าดำเนินการ ข้อกังวลคือความขัดแย้งกับกฎหมายเก่า

ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรม - ฝากข้อกังวลในประเด็น Gender ถูกควบคุมตัว คุกคาม ถูกละเมิดในระหว่างควบคุมตัวถูก (Harassment) ในข่าว ซึ่งประเด็นเหล่านี้ sensitive น่าจะคำนึงประเด็นนี้ในสัดส่วนของคณะกรรมการด้วย อีกส่วนคือวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวที่กระทบต่อผู้หญิง

ในช่วงท้าย นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้กล่าวปิดงานและแถลงข่าวดังนี้

ขอบคุณที่ให้ข้อมูล ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแล้ว ไม่ได้คาดเดาอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นความเดือนร้อนที่เกิดขึ้นแล้วในสังคม จึงต้องมีการออกกฎหมายมาเพื่อแก้ไข และสุดท้ายคือการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นปัญหาตลอดมา

ปัญหาการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายเกิดขึ้นทั่วโลก เกิดจากคนทำมีหลายคน มีอาวุธ มีเครื่องแบบ มีการบังคับบัญชา พื้นที่ที่ทำเป็นพื้นที่เฉพาะ ทำให้ไม่สามารถหาหลักฐานได้ ทำให้ไม่สามารถเอาผิดผู้กระทำได้ จึงเป็นที่มาของการออกกฎหมายนี้ โดยเครือข่ายองค์กร 12 องค์กรที่สนับสนุนร่างพรบ.ฉบับประชาชนนี้ จะนำร่างฯ ฉบับนี้ไปยื่นกับประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาสนับสนุนร่างฉบับประชาชนนี้   ในวันที่ 30 ม.ค. 2563 เวลา 11.00 น.ที่พื้นที่แถลงข่าว สภาผู้แทนราษฎร 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net