Skip to main content
sharethis

30 ม.ค. 2563 ตัวแทนกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษได้เดินทางไปยื่นหนังสือกับนายปราจิต แก้วลา นายอำเภอไพรบึง เพื่อให้ยับยั้งแผนการดำเนินโครงการโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 อ้อย/วันและโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 40 เมกะวัตต์ ที่มีแผนจะดำเนินโครงการในพื้นที่ ต.สำโรงพลัน อ.ไพรบึง และ ต.โพธิ์กระสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ และยังเรียกร้องให้นายอำเภอประกาศเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิของอำเภอด้วย

นายเอกลักษณ์ โพธิสาร อายุ 36 ปี กรรมการกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่าวันนี้ตัวแทนพี่น้องได้เดินทางมายื่นกับนายอำเภอไพรบึง ในประเด็นข้อเสนอและทางเลือกต่อกรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่เราบอเคยให้ข้อมูลความเป็นจริงแล้วว่าพื้นที่เราไม่มีความเหมาะสมที่จะมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ เพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านปลูกข้าวหอมมะลิเป็นหลัก และเรายังมีข้อเสนอต่อนายอำเภอคือ 1.ให้นายอำเภอไพรบึงทำหนังสือถึงบริษัทที่ปรึกษาฯ ในกรณี โครงการโรงงานผลิตน้ำตาล ของบริษัท เอเคเอ็น แอสโซซิเอท จำกัด ขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล ของบริษัท กัญจน์สยามไบโอ เอนเนอร์จี จำกัด 40 เมกะวัตต์ โดยให้บริษัทไปดำเนินการจัดตั้งโรงงานในพื้นที่ซึ่งมีวัตถุดิบอ้อยจริงๆ เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มกำไรให้ชาวไร่อ้อย เพราะพื้นที่ซึ่งกำลังผลักดันโครงการนั้นไม่มีความเหมาะสมตามเหตุผลข้างต้น 

และ 2.ให้นายอำเภอไพรบึงประกาศเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิของตำบลสำโรงพลัน ซึ่งทางกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษ ยืนยันที่จะคัดค้านกระบวนการการดำเนินการของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลให้ถึงที่สุดด้วยหลักของสันติวิธี เพื่อไม่ให้โรงงานมาสร้างในพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ

ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก อายุ 40 ปี ที่ปรึกษากลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษ กล่าวเพิ่มเติมว่าสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 นี้เป็นปัญหาต่อสุขภาพของคนที่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่รัฐบาลยังจะมีแผนและนโยบายให้ดำเนินการขยายโรงงานในพื้นที่ภาคอีสานยิ่งจะทำให้สถานการณ์ฝุ่นที่เป็นมลพิษตั้งแต่ชาวไร่อ้อยที่เผาอ้อยตลอดจนกระบวนการรับซื้อและการผลิตของโรงงาน ที่หน่วยงานราชการหรือรัฐบาลไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการจัดการปัญหาเหล่านี้ 

ดังนั้นแล้วแผนการดำเนินการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ ต.สำโรงพลัน อ.ไพรบึง คาบเกี่ยวกับ ต.โพธิ์กระสังข์ อ.ขุนหาญ นั้นทางกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษ ก็ยังเดินหน้าคัดค้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โรงงานไปดำเนินการในพื้นที่เหมาะสมจริงๆ ไม่ใช่พื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ เพราะจากตัวเลขการปลูกอ้อยในพื้นที่ อ.ไพรบึง 0 ไร่ อ.ขุนหาญ 182 ไร่ อ.ขุขันธ์ 661 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยที่มีคู่สัญญากับโรงงานอื่นอยู่แล้ว ฉะนั้นตัวเลขสะท้อนให้เห็นชัดแล้วว่าปริมาณอ้อยมีอยู่อย่างจำกัดด้วยเงื่อนไขหลายเรื่องทั้งการลงทุน พื้นที่ไม่เหมาะสม แต่ทำไมถึงมีความพยายามผลักดันโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลให้เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ อ.ไพรบึง และ อ.ขุนหาญ ที่ขัดแย้งกับบริบทพื้นที่อย่างสิ้นเชิงเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ดำเนินวิถีชีวิตในการปลูกข้าวหอมมะลิ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net