Skip to main content
sharethis

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ระบุได้ส่งหน้ากากอนามัย-แอลกอฮอล์ล้างมือ ให้ นศ.ไทย 59 คน ใน 11 มหาวิทยาลัย ในนครอู่ฮั่น ตั้งกลุ่มสนทนาทางวีแชทสื่อสารกับคนไทยในมณฑลหูเป่ยและนครอู่ฮั่น ที่ลงทะเบียนไว้ 161 คน มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคระบาดจากกระทรวงสาธารณสุขของไทยคอยให้คำปรึกษา - สภา นสพ.ขอสื่อเสนอข่าวโคโรนาคำนึงการปฏิบัติงานภาวะวิกฤต ร้องสมาชิก 'นสพ.-เว็บไซต์' ไม่สร้างความตื่นตระหนก - ECDC อัพเดทข้อมูล 30 ม.ค. ผู้ติดเชื้อรวมแล้วจำนวน 7,824 คน ใน 20 ประเทศ


ที่มาภาพ: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง

30 ม.ค. 2563 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง โพสข้อความผ่านทางเว็บไซต์ของสถานทูต https://thaiembbeij.org/th/ ถึงการจัดส่งสิ่งของเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาไทยในนครอู่ฮั่น ระบุว่าสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง มีความห่วงใยคนไทยในนครอู่ฮั่น ได้ติดต่อสื่อสารเพื่อติดตามสภาพความเป็นอยู่ และใช้เป็นช่องทางในการประสานงานและแจ้งข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2563 ได้จัดส่งสิ่งของทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ ได้แก่ หน้ากากอนามัย และแอลกอฮอล์เหลวสำหรับล้างมือ ส่งไปให้นักศึกษาไทยจำนวน 59 คน ใน 11 มหาวิทยาลัยในนครอู่ฮั่น เพื่อบรรเทาการขาดแคลนในเบื้องต้น

ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อดูแลคนไทยในพื้นที่ โดยได้จัดตั้งกลุ่มสนทนาทางวีแชท เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับคนไทยในมณฑลหูเป่ยและนครอู่ฮั่น ที่ลงทะเบียนไว้กับสถานเอกอัครราชทูตฯ จำนวน 161 คน (สถานะ ณ วันที่ 28 ม.ค. 2563 เวลา 23.59 น.) ซึ่งในกลุ่มสนทนาดังกล่าว มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคระบาดจากกระทรวงสาธารณสุขของไทยคอยให้คำปรึกษา และแนวทางปฏิบัติตนแก่คนไทยในกลุ่มสนทนาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องด้วย

สภา นสพ.ขอสื่อเสนอข่าวโคโรนาคำนึงการปฏิบัติงานภาวะวิกฤต ร้องสมาชิก 'นสพ.-เว็บไซต์' ไม่สร้างความตื่นตระหนก

วันเดียวกันนี้ (30 ม.ค.) คณะกรรมการจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ออกแถลงการณ์เรื่อง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ขอความร่วมมือสมาชิกทั้งหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ นำเสนอข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อ "ไวรัสโคโรนา" โดยคำนึงถึงแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต โดยระบุว่า ตามที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยแหล่งที่มาของโรคอยู่ที่เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และพบว่าผู้ติดเชื้อได้เดินทางไปยังหลายพื้นที่ของโลก จนส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาแล้วหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนอย่างมาก และสื่อมวลชนทุกสำนักต่างนำเสนอข้อมูลต่างๆ จนบางครั้งอาจส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง และสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

คณะกรรมการจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงขอความร่วมมือมายังสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ทั้งหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ ให้เสนอข่าวตาม "แนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต" ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพ

ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ให้การรับรองแล้ว เพื่อให้การปฏิบัติงานของสมาชิกเป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรม และสามารถทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูล ข้อเท็จจริงตามหลักสิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบ เพื่อเฝ้าระวัง เตือนภัย ไม่สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชน อันจะนำไปสู่การบรรเทาความเสียหายและคลี่คลายวิกฤตการณ์

โดยมีสาระสำคัญดังนี้ "ภาวะวิกฤต" หมายถึง สถานการณ์ที่เข้าสู่ภาวะที่จำเป็นต้องเข้าจัดการเพื่อหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพ ชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิ หรือเสรีภาพของประชาชนในวงกว้าง โดยหมายรวมถึงภัยพิบัติ เหตุฉุกเฉิน สาธารณภัย หรือภัยคุกคามที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่มีความรุนแรง อันเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

"สถานการณ์โรคและภัยสุขภาพ" หมายถึง สถานการณ์ที่เกิดโรคติดต่อหรือโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด ซึ่งอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว หรือมีภาวะของการเกิดโรคมากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา รวมถึงโรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ ภัยสุขภาพ หรือภาวะที่มีมลพิษในอัตราสูงที่ส่งผลกระทบหรืออันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน

การปฏิบัติงานท่ามกลางสถานการณ์โรค-ภัยสุขภาพ
ในการการปฏิบัติงานในสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพนั้น -ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคหรือการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพที่กำหนดโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และไม่กระทำการใดที่จะทำให้ตนกลายเป็นผู้ประสบภาวะวิกฤต

-ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องเคารพสิทธิของผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยตามกฎหมาย ทั้งความเป็นอยู่อย่างสงบ สิทธิความเป็นส่วนตัว สิทธิมนุษยชน โดยไม่นำเสนอภาพ ข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยอันเป็นความลับส่วนบุคคลที่อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับความเสียหาย เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

-ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงระมัดระวังการสร้างความตื่นตระหนกจากการนำเสนอโดยการคาดเดา หรือไม่ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หรือหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับสาเหตุการแพร่ระบาดของโรคหรือสถานการณ์ภัยสุขภาพ รวมถึงวิธีการป้องกัน แก้ไข และรักษา

ECDC อัพเดทข้อมูล 30 ม.ค. ผู้ติดเชื้อรวมแล้วจำนวน 7,824 คน ใน 20 ประเทศ

ข้อมูลจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป (European Centre for Disease Prevention and Control : ECDC) ณ วันที่ 30 ม.ค. 2020 (11:00 CET) ระบุว่ามีการพบผู้ติอเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ใน 20 ประเทศ (ECDC รวมเอา ฮ่องกงและมาเก๊า เข้ากับข้อมูลผู้ติดเชื้อในประเทศจีน) โดยมี 3 ประเทศล่าสุดที่พบผู้ติดเชื้อได้แก่ อินเดีย, ฟินแลนด์ และฟิลิปปินส์

ผู้ติดเชื้อรวมแล้วจำนวน 7,824 คน (ในจำนวนนี้ 16 คน เป็นบุคลากรด้านสาธารณสุข) และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 170 คน

ผู้ติดเชื้อแบ่งตามทวีปและประเทศต่างๆ ได้ดังนี้

Asia: China (7 734), Thailand (14), Japan (11), Singapore (10), Taiwan (8), Malaysia (7), Republic of Korea (4), United Arab Emirates (4), Vietnam (2), Cambodia (1), Nepal (1), The Philippines (1), India (1), and Sri Lanka (1).

Europe: France (5), Germany (4), and Finland (1).

America: the United States (5) and Canada (3).

Oceania: Australia (7).


ที่มาเรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย | Thai PBS | European Centre for Disease Prevention and Control

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net