Skip to main content
sharethis

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวการย้ายอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ หรือค่ายพหลโยธิน จังหวัดลพบุรีออกจากสถานที่เดิม รวมทั้งKhaosod English  รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า รูปปั้นจอมพล​ ป. พิบูลสงคราม บริเวณวงเวียนภายในค่ายก็ปรับเปลี่ยนเป็นที่ตั้งพระบรมรูป​ในหลวงรัชกาลที่ 9​ นอกจากนี้ข้อความบนป้ายชื่อค่าย 'ค่ายพหลโยธิน' ก็หายไปด้วยเช่นกัน

ไม่ใช่เพียงค่ายทหาร ในเมืองลพบุรียังมีสถานที่ประวัติศาสตร์อีกมากมายที่น่าสนใจ บทความ 'สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในเมืองลพบุรี' ของปัณรสีรักษา และสมชาติ จึงสิริอารักษ์ เผยแพร่เมื่อปี 2560 ระบุว่า สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในจังหวัดนี้สร้างขึ้นในช่วงที่จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีทั้งในช่วงที่ 1 (พ.ศ.2481-2487) และช่วงที่ 2 (พ.ศ.2491-2500) การวางผังเมืองลพบุรีแสดงถึงความรู้ด้านการวางผังเมืองแบบตะวันตก ตลอดจนสถาปัตยกรรมที่ก่อสร้างนั้นถือเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นบนความสัมพันธ์กับบริบททางสังคมการเมืองและวัฒนธรรมในช่วงเวลาดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวประชาไทลงพื้นที่ลพบุรีเมื่อปลายเดือนมกราคม 2563 เพื่อทำการสำรวจรูปปั้นพระยาพหลฯ หลังจากนั้นจึงได้ตระเวนดูสิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์ในยุคสมัยของจอมพล ป.อีกหลายแห่งภายในจังหวัดลพบุรีด้วย

ตัวอาคารและสภาพภายในอาคารชาโต้

ตึกชาโต้

ในศูนย์การทหารปืนใหญ่หรือค่ายพหลโยธิน มีตึกกองบัญชาการบนเขาน้ำโจน (ตึกชาโต้) ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนภูเขาภายในค่าย ข้อมูลจาก เว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ระบุว่า ตึกนี้เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) ออกแบบให้มีลักษณะของป้อมปราการคล้ายปราสาทฝรั่ง สร้างขึ้นในพ.ศ.2487 สมัยที่พล.ต.อุทัย วงศ์วีรเดช ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกปืนใหญ่กรมเสนาธิการทหารบกลพบุรี ตามดำริของจอมพล ป. เพื่อใช้เป็นที่ตรวจการณ์และสำหรับสอนผู้ตรวจการณ์ในหลักสูตรต่างๆ เป็นตึกรับรองผู้บังคับบัญชาชั้นสูงและแขกผู้มีเกียรติชาวต่างประเทศ อาคารจึงประดับสัญลักษณ์ของ จอมพล ป. คือรูปไก่และคฑาไขว้

อาคารประดับสัญลักษณ์ของ จอมพล ป. คือรูปไก่และคฑาไขว้

อาคารนี้เคยมีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ใน พ.ศ.2528 ข้อมูลเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรระบุด้วยว่า ศูนย์การทหารปืนใหญ่ได้อนุรักษ์อาคารไว้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ของจอมพล ป.

อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่สำรวจสภาพในปัจจุบันพบว่า อาคารดังกล่าวถูกปิดไว้ทุกห้องและมีสภาพทรุดโทรมอย่างมาก ฝ้าเพดานผุ ภายในห้องกระจกชั้นล่างที่พอมองเห็นได้ไม่ปรากฏสิ่งของใดที่บ่งบอกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ ทางขึ้นไปยังตัวอาคารมีต้นไม้ขึ้นกลางถนนเหมือนไม่เคยมีการสัญจรมานานแล้ว

บริเวณทางขึ้นตึกชาโต้ที่ปรากฏต้นไม่ขึ้นตรงกลางถนน

ต้นศรีมหาโพธิ์บริเวณด้านหน้าตึกชาโต้ที่ปลูกโดยครอบครับของจอมพล ป. เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2526

อาคารสโมสรนายทหาร

อาคารสโมสรนายทหารอยู่บริเวณเชิงเขาน้ำโจน เยื้องกับอนุสาวรีย์พระยาพหลที่หายไป ข้อมูลจากรายงานก(ล)างเมือง ตอน พิบูลสงคราม ซึ่งออกอากาศทางไทยพีบีเอส เมื่อวันที่  6 ก.ค.2557 มีสิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ นักวิชาการอิสระผู้สนใจประวัติศาสตร์มาเป็นผู้อธิบายถึงสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในเมืองลพบุรี มีช่วงหนึ่งก่อนขึ้นไปตึกชาโต้จะต้องผ่านอาคารสโมสรนายทหาร สิทธาตั้งข้อสังเกตถึงอาคารนี้ว่าน่าจะสร้างร่วมสมัยกัน โดยยกเรื่องรูปทรงตัวอาคารที่มีเสาตรงกลางและปีกซ้าย-ขวา 6 แท่ง เช่นเดียวกับอาคารอื่นที่ร่วมสมัยเดียวกัน

ภาพซ้ายเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ภาพขวา ปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามอาคารนี้เดิมเคยมีตราสัญลักษณ์กองทัพติดอยู่บนยอด ขณะที่เมื่อผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ทำการสำรวจกลับไม่ปรากฏตราดังกล่าวด้านบนของอาคารแล้ว (ดูภาพด้านบน)

อนุสาวรีย์จอมพล ป. หน้าโรงละครทหารบก

อนุสาวรีย์จอมพล ป. หน้าโรงละครทหารบก

นอกเหนือจากในค่ายทหารแล้ว ในตัวเมืองลพบุรียังมีสถาปัตยกรรมอีกหลายแห่งที่ได้รับอิทธิพลในการออกแบบตามค่านิยมตะวันตกช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อแสดงสัญลักษณ์ความเป็นเมืองที่ก้าวหน้า โดยจะเน้นการออกแบบให้อาคารมีลักษณะเรียบง่าย รูปทรงโดยรวมเป็นแบบกล่องสี่เหลี่ยม มีหลังคาราบ

โรงภาพยนตร์ทหานบก (สะกดตามสมัยก่อน) เป็นโรงภาพยนตร์แห่งที่ 2 ของประเทศไทย ต่อจากศาลาเฉลิมกรุงในกรุงเทพฯ สร้างขึ้นในสมัยจอมพล ป. ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2482 เพื่อให้เป็นรมณียสถานของเมืองลพบุรีและอาจใช้เป็นที่ประชุมสภาได้หากเกิดเหตุคับขันจนต้องย้ายเมืองหลวง ซึ่งเป็นดำริที่รัฐบาลจอมพล ป.คิดอยู่เสมอ เนื่องมาจากความตึงเครียดของสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารมีการออกแบบเป็นทรงกล่องสี่เหลี่ยม มีหลังคาราบ ในปี 2498 มีการจัดตั้งสถานีวิทยุจังหวัดทหารบกลพบุรี ในโรงภาพยนตร์เพื่อโฆษณาและหารายได้

ปัจจุบันโรงภาพยนตร์นี้กลายเป็นสำนักงานบริษัทรักษาความปลอดภัย มีป้ายสมาคมกีฬาเบสบอลแห่งประเทศไทยติดตั้งอยู่

อย่างไรก็ตาม ด้านหน้าอาคารยังคงมีอนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งทำพิธีเปิดเมื่อ 21 ม.ค. 2537 โดย พลเอกวิมล วงศ์วานิช ผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน

“สถานที่นี้เป็นสิ่งแสดงถึงความร่วมใจกันระหว่างส่วนราชการต่างๆ ทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน พ่อค้าประชาชนจัดสร้างขึ้น โดยมณฑลทหารบกที่ 13 เป็นหน่วยดำเนินการ การก่อสร้างเป็นเงินทั้งสิ้น 4,528,000 บาท” นี่คือใจความที่สลักไว้ด้านหลังอนุสาวรีย์

ลานด้านหน้าอนุสาวรีย์ จอมพล ป. ซึ่งมองออกไปจะเห็นวงเวียนสระแก้ว

อนุสาวรีย์วงเวียนศรีสุริโยทัย (วงเวียนสระแก้ว)

วงเวียนนี้เป็น 1 ใน 3 แห่งภายในตัวเมืองลพบุรีซึ่งเป็นไปตามแบบแผนการออกแบบเมืองของจอมพล ป.ที่มุ่งใช้วงเวียนดังกล่าวเป็นจุดหมายตา (Landmark) พร้อมนำเสนอแนวคิดชาตินิยม วัฒนธรรมแบบไทยใหม่ ตัวอนุสาวรีย์ตรงกลางมีฐาน 8 เหลี่ยมตามจำนวนกระทรวง เดิมทีว่ากันว่ามีการเตรียมจะนำรูปปั้นของจอมพล ป. ไปตั้งไว้บนยอดอนุสาวรีย์แต่ถูกยับยั้งไว้

สำนักพิมพ์สารคดีเล่าว่า ในอดีตนั้นทางการต้องเกณฑ์คนไปอาศัยอยู่ใกล้บริเวณวงเวียนสระแก้วแบบให้อยู่ฟรี เนื่องด้วยต้องการขยายตัวเมือง แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวห่างไกลเมืองเก่าริมแม่น้ำลพบุรี คนจึงยังไม่ค่อยอยากไป ปัจจุบันวงเวียนดังกล่าวถือเป็นย่านธุรกิจของเมือง

สิทธา กล่าวไว้ในรายงานก(ล)างเมืองว่า ผังของตัวเมืองลพบุรีมีวงเวียน 3 แห่ง โดยเมืองจะขยายไปตามวงเวียน ทั้งหมดสร้างขึ้นในปี 2483 เป็นวิธีคิดเมืองแบบฝรั่งเศส โดยจอมพล ป. นำวิธีคิดการวางผังเมืองแบบตะวันตกมาใช้ที่นี่ นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรที่ดินให้ประชาชนครอบครัวละ 25 ไร่ที่นิคมกสิกรรมกับนิคมสร้างตนเอง ในพื้นที่รอยต่อระหว่างลพบุรีและสระบุรี

สวนสัตว์ลพบุรี

สร้างขึ้นเมื่อปี 2483 สมัยจอมพล ป. เป็นนายกฯ ตั้งอยู่หลังโรงภาพยนตร์ทหานบก เมื่อสิ้นยุคสมัยจอมพล ป. ก็ถูกทิ้งร้าง ต่อมาในปี 2520 ศูนย์สงครามพิเศษเจ้าของสถานที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งชมรม สโมสร พ่อค้า ประชาชน ปรับปรุงบูรณะสวนสัตว์ขึ้นใหม่ให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและศึกษาหาควมรู้เรื่องสัตว์และพืช และยังดำเนินกิจการอยู่จนถึงปัจจุบัน (ที่มา: emagtravel https://www.emagtravel.com/archive/lopburi-zoo.html)

เสาธง โรงพัก

สถานีตำรวจของนิคมกสิกร จ.ลพบุรี ตั้งอยู่ระหว่างทางแยกถนนตรงข้ามโรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ ทำพิธีเปิดเมื่อ 24 มิ.ย. 2483 นิคมกสิกรตั้งขึ้นด้วยความมุ่งหมายให้มีการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ

เสาธงหน้าโรงพักมีตรากองทัพ กงจักร และฐานเสาธงที่ทำเป็น 3 ชั้น แต่ละชั้นมีการหล่อเป็นเสาแยกอีกชั้นละ 2 ต้น รวมกันเป็น 6 เสาอาจสะท้อนหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ตามสถาปัตยกรรมสมัยคณะราษฎรที่มักใช้เสา 6 ต้นสำหรับสิ่งปลูกสร้าง

โรงแรมทหารบก

ตั้งอยู่หัวมุมถนนบริเวณวงเวียนศรีสุนทร ใกล้สถานีรถไฟลพบุรี สร้างในปี 2480 ปีเดียวกันกับการก่อสร้างประตูค่ายสมเด็จ (หรือสมเด็ด ตามการสะกดสมัยนั้น) พระนารายณ์มหาราช อาคารสูตินารีเวชกรรม อาคารอำนวยการ อาคารศัลยกรรมในโรงพยาบาลอานันทมหิดล และอาคารพาณิชย์ต่างๆ ในย่านศูนย์กลางเมือง โดยโรงแรมทหานบกถูกออกแบบในลักษณะคล้ายกับโรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน กทม.

ปัจจุบัน โรงแรมทหานบกถูกปล่อยร้าง ชั้นแรกของโรงแรมถูกอัดแน่นไปด้วยตุ๊กตาจำนวนมาก คาดว่าจะเปิดเป็นร้านขายสินค้ามือ 2

โรงพยาบาลอานันทมหิดล

สร้างขึ้นเมื่อปี 2480 สมัยพลตรีหลวงพิบูลสงครามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สืบเนื่องจากดำริที่ต้องการให้มีโรงพยาบาลไว้รองรับการเจ็บไข้ได้ป่วยของทหารจำนวนมากที่ถูกย้ายมาที่ลพบุรี

โรงพยาบาลอานันทมหิดลเป็นโรงเรียนผลิตแพทย์แห่งที่สอง ถัดจากโรงพยาบาลศิริราช โดยเริ่มต้นจากปี 2482 ที่หลวงพิบูลสงคราม เห็นว่าไทยยังขาดบุคลากรด้านการแพทย์จึงวางแผนผลิตแพทย์ชั้นหนึ่ง ภายใต้โครงการร่วมกันระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย (เดิมทีกระทรวงสาธารณสุขเป็นกรมภายใต้กระทรวงมหาดไทย)

อาคารอำนวยการถูกสร้างด้วยสถาปัตยกรรมสมัยคณะราษฎร และสะท้อนถึงการออกแบบสมัยใหม่ เช่น หน้าต่างที่เป็นกระจก หลังคาทรงราบ อาคารทรงเหลี่ยม โดยมีถนนขนาดใหญ่วิ่งเป็นเส้นตรงยาวและพุ่งตรงเข้ามายังวงเวียนด้านหน้าโรงพยาบาลตามลักษณะการออกแบบแบบบูเลวาร์ด (Boulevard)

ทั้งนี้ ด้วยปัญหาทางเทคนิคที่หลังคาทรงราบมักทำให้น้ำขัง อาคารในโรงพยาบาลจึงทำตัวตึกเป็นทรงเหลี่ยม แต่มีหลังคาทรงเอียงซ่อนอยู่ข้างใน

(ข้อมูลเพิ่มเติม: โรงพยาบาลอานันทมหิดล http://www.ananhosp.go.th/Ananhistory51.html)

ข้อมูลเพิ่มเติม (รวม) : ปัณรสี รักษา และสมชาติ จึงสิริอารักษ์, สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในเมืองลพบุรี, วารสารหน้าจั่ว ว่าด้วยสถาปัตยกรรม การออกแบบ และสภาพแวดล้อม, ฉบับที่ 32 (มกราคม-ธันวาคม 2560) https://www.tci-thaijo.org/index.php/NAJUA-Arch/article/view/107582

โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย

ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนศรีสุนทร เดิมชื่อโรงเรียนเสาธงทอง ก่อตั้งโดยพระครูลวลพบุรีคณาจารย์ (เนียม ภุมมสโร) เจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง ในวัดเสาธงทองเมื่อปี 2442 ก่อนย้ายมาสร้างที่เรียนใหม่อีก 2 ครั้งในปี 2458 และ 2481 ให้มีขนาดพื้นที่เหมาะสมกับจำนวนนักเรียน

การย้ายโรงเรียนในปี 2481 ทำในช่วงการปรับปรุงเมืองลพบุรีสมัยที่หลวงพิบูลสงครามเป็นนายกฯ โดยให้ใช้ที่ในกรมทหารปืนใหญ่ที่ 3 เพื่อสร้างอาคารเรียนตึกที่ 1 ด้วยงบประมาณกระทรวงกลาโหม เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "โรงเรียนประจำจังหวัดลพบุรี พิบูลวิทยาลัย” และต่อมาในปีเดียวกันได้สร้างตึก 2 ซึ่งมีสถาปัตยกรรมแบบสมัยคณะราษฎรเฉกเช่นเดียวกันกับตึกแรก

ในปี 2522 ด้วยขนาดนักเรียนที่มากขึ้น โรงเรียนพิบูลวิทยาลัยจึงสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ โดยแยกชั้นมัธยมศึกษาที่ 1 ออกไป เดิมจะใช้ชื่อว่าโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย 2 แต่กรมสามัญศึกษาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนพระนารายณ์ ตามชื่อเดิมของโรงเรียนประจำจังหวัดลพบุรี

สีและธงประจำโรงเรียนคือ เขียว-แดง เป็นสีประจำวันเกิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม

ในโรงเรียนมีป้ายคำขวัญ “ลูกชายหลวงพ่อขาว ลูกสาวจอมพล ป.”

(ที่มา:โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย http://www.pibul.ac.th/index.php/en/2016-04-21-03-00-58/2016-04-21-03-10-56)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net