การจ้างงานภายใต้ ‘Gig economy’ กำลังคุกคามชีวิตคนทำงานเกาหลีใต้

พบชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ค่าจ้างที่ลดต่ำลง ตามระบบเศรษฐกิจที่จ้างงานแบบจบเป็นครั้งๆ ไป หรือ 'Gig economy' กำลังคุกคามชีวิตคนงานในเกาหลีใต้ 

คนขับรถจักรยานยนต์พนักงานของแอปพลิเคชั่น Baemin ในเกาหลีใต้ | ที่มาภาพ: Yonhap

คนงานแพลตฟอร์มที่เป็นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของแพลตฟอร์มที่จ้างงานจบเป็นครั้งๆ ไป (gig platforms) ซึ่งกำลังมีความสำคัญมากขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ อันประกอบด้วยการขนส่งสินค้าและอาหารถึงที่พักอาศัย การขนส่งผู้โดยสาร และการบริการทำความสะอาดบ้าน ได้ถูกเปิดเผยโดยงานวิจัยล่าสุดให้เห็นถึง สภาพการจ้างงานที่ย่ำแย่ เช่น การจ่ายค่าจ้างต่ำ ชั่วโมงการทำงานยาวนาน  

ขัดแย้งกับข้อความคิดที่ว่าไลฟ์สไตล์หรือวิถีชีวิตของคนทำงานแพลตฟอร์มทำให้คนงานมีเสรีภาพในการเลือกตารางการทำงานของตนเอง จากงานศึกษาวิจัยโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของเกาหลีใต้ แสดงให้เห็นว่า คนงานในเศรษฐกิจแบบจ้างงานจบเป็นครั้งๆ ไป บ่อยครั้ง ทำงานมากเท่ากับลูกจ้างประจำ แต่เผชิญกับความไม่แน่นอนด้านต่างๆ และได้รับค่าจ้างต่ำ 

จากการสำรวจ คนงานส่วนใหญ่ กล่าวว่า พวกเขาเลือกอาชีพนี้ด้วยความหวังที่ว่า พวกเขามีอิสระในการเลือกเวลาการทำงาน แต่งานวิจัย แสดงให้เห็นว่า คนงานในเศรษฐกิจแบบจ้างงานจบเป็นครั้งๆ ไป โดยเฉลี่ยทำงาน 8. 22 ชั่วโมงต่อวัน และทำงาน 5 ถึง 6 วันต่อสัปดาห์  

ชั่วโมงการทำงานของพวกเขาอาจจะยาวนานมากกว่านั้นหากนับ “ชั่วโมงการทำงานแฝง” ซึ่งเป็นเวลาพวกเขาต้องอยู่กับแพลตฟอร์มหรืออยู่ในห้องแชทโดยใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อรอรับงานที่จะเข้ามา 

“ฉันอยู่กับแอป ยาวนานตลอดทั้งวัน” คนขับรถคนหนึ่งที่ทำงานในสาขาขนส่ง กล่าว 

งานวิจัย ระบุว่า คนงานในเศรษฐกิจที่จ้างงานจบเป็นครั้งๆไป ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไปและ 50 ปีขึ้นไป พวกเขามีทางเลือกน้อยเพียงไม่กี่ทางในการเลือกประเภทของงาน และขอบเขตของงาน และต้องพึ่งพาเป็นอย่างมากกับงานที่จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น 

จากผลการสำรวจ พบว่า อายุเฉลี่ยของคนงานแพลตฟอร์มทำความสะอาดบ้านและคนงานบริการขับรถจะอยู่ที่ 55 ปีและ 50 ปีตามลำดับ ส่วนคนงานแพลตฟอร์มขับรถขนส่งโกดังสินค้าจะมีอายุเฉลี่ย 46 ปี และ พบว่า 64 % ของคนงานไม่มีงานที่สองหรืองานที่สาม ที่สำคัญ พวกเขาเป็นแกนหลักในการหารายได้ของครอบครัว ซึ่งรายได้ของเขาคิดเป็นสัดส่วน 79% ของรายได้ทั้งหมดของครอบครัว ทั้งนี้ รายได้ต่อเดือนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.52 ล้านวอน (1,313 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 39,000 บาท) 

กลุ่มคนขับรถของแอปพลิเคชั่นส่งอาหาร Baemin แถลงข่าวในกรุงโซลเมื่อต้นเดือน ม.ค. 2563 เรียกร้องให้ปรับปรุงสภาพการทำงาน | ที่มาภาพ: Yonhap

แม้ว่าสภาพงานทำงานจะเป็นที่ไม่น่าพึงพอใจนัก ทว่า 90% ของคนขับรถในงานแบบจบเป็นครั้งๆไป และ 80 % เฉพาะคนขับรถส่งพัสดุ บอกว่า พวกเขาไม่สามารถปฏิเสธงานที่จ้างเป็นครั้งๆ เหล่านั้นได้ เนื่องจากกลัวว่าจะกระทบกับงานของตัวเองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตวันต่อไป 

งานวิจัยชี้ให้เห็นจุดสำคัญคือ การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมแพลตฟอร์ม และการเข้าไปสู่งานของคนงานหน้าใหม่ที่กำลังบีบให้คนงานทำงานเพื่อผลตอบแทนที่น้อยลง  

“ปัญหา (เกี่ยวกับการเข้าไปทำงานแพลตฟอร์ม) คือ ราคากำลังลดต่ำลงเรื่อยๆ ฉันรู้สึกว่า มันเป็นราคาที่น่ารังเกียจ แต่หลายคนก็เข้าไปทำงานเพื่อให้ได้เงินจำนวนนั้นมาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ค่าตอบแทนลดต่ำลงเรื่อยๆ” คนงานคนหนึ่ง กล่าว 

 “ฉันกำลังมองหางานอื่น ตั้งแต่ค่าจ้างลดต่ำลงมากเกินไป และมันก็ไม่ใช่งานที่มีค่าตอบแทนที่ดีอะไรทั้งสิ้น (ค่าจ้างลดลง) เมื่อมีคนเข้ามาทำงานมากขึ้น (ในแพลตฟอร์มของเศรษฐกิจที่จ้างงานแบบจบเป็นครั้งๆไป) “ คนงานอีกคนหนึ่งกล่าว 

รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของเกาหลีใต้ ได้จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของการสำรวจเก็บข้อมูลด้วยวิธีการออนไลน์และการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ รวมถึงนักวิจัยได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในห้องแชท เพื่อดูว่าคนงานแพลตฟอร์มสื่อสารกันกับคนงานคนอื่นๆ อย่างไร 

เศรษฐกิจแบบจ้างงานจบเป็นครั้งๆ ของเกาหลีใต้เติบโตขึ้นอย่างสูงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บนความสำเร็จของแพลตฟอร์มส่งอาหาร เช่น Baemin และ Yogiyo ทำให้มีมูลค่าของตลาดถึง 10 ล้านล้านวอน (ประมาณ 8,386 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 251,580 ล้านบาท) ในปี 2561 

ในปี 2562 ในเกาหลีใต้มีคนงานในเศรษฐกิจแบบจ้างงานจบเป็นครั้งๆไป ราว 500,000 คนหรือคิดเป็น 2% ของจำนวนคนงานทั้งหมดในประเทศ จากข้อมูลจากหน่วยงานบริการข้อมูลการจ้างงานของเกาหลีใต้ (the Korea Employment Information Service) 

ที่มาเรียบเรียงจาก
Long Working Hours, Falling Wages Threaten S. Korea’s Gig Economy Workers 
(Korea Bizwire in Business, 15 Jan 2020)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท