Skip to main content
sharethis

กรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เรียก 4 ฝ่ายแจง กรณีที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยกเลิกเงินสนับสนุนการประชุมอาเซียนภาคประชาชน 2019 - ซักหนักเป็นเรื่องระเบียบราชการหรือความมั่นคง

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายศราวุธ เพชรพนมไพร พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน และนางสาวพรรณิการ์ วานิช พรรคอนาคตใหม่ เป็นรองประธาน พิจารณาเรื่องร้องเรียนของภาคประชาชนเรื่อง “ขอให้ตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนภาคประชาสังคมไทยในประชาคมอาเซียน” (ตามเอกสารแนบ) โดยเชิญตัวแทนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงต่างประเทศ (กต.) และสภาความมั่นคงแห่งชาติ และตัวแทนกรรมการไทยในการจัดประชุมอาเซียนภาคประชาชน (ACSC/APF) ปี 2019 เข้าชี้แจง ประเด็นหลักเพื่อขอคำอธิบายถึงสาเหตุที่รัฐบาล โดย พม. ยกเลิกการสนับสนุนงบประมาณจัดการประชุมเพียง 7 วันก่อนกำหนดการจัดประชุม ACSC/APF เมื่อเดือน ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่กรรมการภูมิภาค ACSC/APF ยืนยันหลักการไม่ส่งมอบรายชื่อผู้เข้าร่วมชาวต่างประเทศให้ทางพม. ซ้ำพม. ยังใช้เงินเกือบ 10 ล้านบาทที่อนุมัติเพื่อ ACSC/APF 2019 ไปในการจัดการประชุมภาคประชาสังคมไทยเองในวัน เวลาเดียวกันอีกด้วย

ในที่ประชุม นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง ประธานกรรมการอำนวยการฝ่ายไทยของ ACSC/APF 2019 ชี้แจงเนื้อหาในคำร้อง และยืนยันว่าการที่พม.ยกเลิกการสนับสนุนงบประมาณ ทั้งที่ได้รับรายชื่อของผู้เข้าร่วมชาวไทย 600 ชื่อ และกรรมการจัดงานทั้ง 11 ประเทศจำนวน 30 คนไปทั้งหมดแล้ว ขาดแต่ผู้เข้าร่วมอื่นที่พม.เพียงสนับสนุนค่าอาหารกลางวันระหว่างการประชุม ในขณะที่กรรมการ ACSC/APF 2019 เสนอว่าพร้อมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวเอง และการที่ พม.จัดการประชุมภาคประชาสังคมเอง เป็นการกระทำที่ขาดมารยาทอย่างยิ่ง และแสดงถึงการไม่สนับสนุนหลักการมีประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาของอาเซียน (People Centered ASEAN) ไม่เคารพภาคประชาชนและประชาสังคมอาเซียนที่มีกระบวนการทำงานต่อเนื่องมายาวนานกว่า 10 ปี และไม่เคารพสิทธิเสรีภาพในการแดงความคิดเห็นของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย และสร้างความเสียหายอย่างยิ่งกับภาพพจน์ของประเทศไทยในเวทีอาเซียน โดยเฉพาะเมื่อการยกเลิกการสนับสนุนงบประมาณเกิดขึ้นหลังจากการประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง ซึ่งที่ประชุมได้ตั้งคำถามในวิธีการจัดการประชุมของภาคประชาชน โดยเฉพาะประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในภูมิภาค การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และชาวโรฮิงญา และจบการประชุมด้วยการที่ฝ่ายความมั่นคงยืนยันว่ากรรมการ ACSC/APF 2019 ต้องส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมต่างประเทศทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยรองปลัดกระทรวงฯ ยืนยันว่าการยกเลิกงบประมาณเป็นเพียงประเด็นของการทำตามระเบียบการอนุมัติงบประมาณโดยที่ต้องมีรายชื่อทั้งหมดแนบ โดยปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคง ในขณะที่ตัวแทนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติความมั่นคงยอมรับในการชี้แจงว่า ในที่ประชุมร่วมกันกับกรรมการ ACSC/APF 2019  มีการตั้งคำถามเรื่องความมั่นคง และการแจ้งว่าต้องส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดจริง สำหรับกระทรวงต่างประเทศ ชี้แจงเพียงว่าได้พยายามสนับสนุนการประชุมร่วมระหว่างผู้นำอาเซียนและตัวแทนภาคประชาสังคม (Interface Meeting) และในปีนี้ทำได้เพียงการพบกับระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศประเทศอาเซียนกับตัวแทนภาคประชาสังคม

ทั้งนี้ตลอดการประชุม กรรมาธิการต่างประเทศสภาผู้แทนราษฎรหลายท่าน ตั้งคำถามและข้อสังเกตในประเด็นข้อเป็นห่วงของฝ่ายรัฐและความมั่นคง นำมาซึ่งการขอรายชื่อผู้เข้าร่วมการประชุม และการยกเลิกการสนับสนุนงบประมาณ เป็นไปโดยมีตัวบทกฎหมายรองรับหรือไม่ และการประชุมดังเช่น ACSC/APF ย่อมมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับปัญหาของอาเซียน และมีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์จากมุมมองของประชาชนซึ่งเป็นเรื่องปกติ และรัฐบาลควรยอมรับในสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

“จบจากการประชุมครั้งแรกนี้ เราคงยังต้องดำเนินการต่อเนื่องกับกรรมาธิการต่างประเทศ เพื่อรับทราบว่าการร้องเรียนนี้จะมีโอกาสส่งผลกับกระบวนการปฏิบัติของรัฐบาลไทยต่อภาคประชาสังคมได้หรือไม่ในระยะยาว” นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่งกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net