Skip to main content
sharethis

ป้ายข้อความ 'บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม' ที่ จ.เชียงราย หายไป วันนี้เหลือแค่ชื่อ 'ศูนย์เรียนรู้เชิงประวัติศาตร์'

ภาพขวาสุด ได้รับภาพจาก อานนท์ นำภา 1 ก.พ.63

1 ก.พ.2563 ความคืบหน้าของของสถานที่ความทรงจำเกี่ยวกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม จากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีภาพปรากฏข้อความบนป้ายพิพิธภัณฑ์บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ จ.เชียงราย หายไปนั้น

ล่าสุดวันนี้ (1 ก.พ.63) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งพร้อมรูปภาพจาก อานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชน ว่า ตนเดินทางไปดูพิพิธภัณฑ์บ้านจอมพล ป. ดัวยตัวเอง วันนี้ พบว่าป้ายจาก "บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม" หายไปแล้ว เหลือแค่ "ศูนย์เรียนรู้เชิงประวัติศาตร์" โดยที่สีป้ายยังไม่แห้งสนิทเลย

อานนท์ ยังส่งภาพด้านในบ้านจอมพล ป. ที่ยังคงอยู่ แต่ไม่ทราบว่ามีการเคลื่อนย้ายของด้านในอะไรออกไปบ้างหรือไม่

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวประชาไท เคยโทรศัพท์สอบถามไปที่พิพิธภัณฑ์บ้านจอมพล ป. เจ้าหน้าที่รับสาย อธิบายว่า จะเปลี่ยนป้ายใหม่เฉยๆ พร้อมยืนยันว่าสถานที่ดังกล่าวยังเป็นพิพิธภัณฑ์ทหาร บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม เหมือนเดิม 

ป้ายในอดีต

ภาพป้ายปัจจุบันวันที่ 1 ก.พ.63 ภาพจาก อานนท์

ภาพภายใน จากอานนท์

สำหรับ จอมพล ป. เคยดำรงตำแหน่งนายกฯของไทยและยังเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฏร คณะที่ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ไม่เพียงป้ายพิพิธภัณฑ์บ้านจอมพล ป. ที่หายไปเท่านั้น ยังมีอนุสาวรีย์จอมพล ป. ที่อยู่บริเวณด้านหน้าอาคารสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ซึ่งจากการตรวจสอบเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ไม่พบอนุสาวรีย์ดังกล่าวแล้ว เช่นเดียวกับอนุสาวรีย์พระยาพหล ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ หรือ ค่ายพหลโยธิน จ.ลพบุรี ก็ถูกย้ายออกไป  รวมทั้ง Khaosod English รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า รูปปั้นจอมพล​ ป. พิบูลสงคราม บริเวณวงเวียนภายในค่ายก็ปรับเปลี่ยนเป็นที่ตั้งพระบรมรูป​ในหลวงรัชกาลที่ 9​

ขณะที่การรื้อถอนสถานที่รำลึกเหตุการณ์เกี่ยวกับคณะราษฎรก่อนหน้านี้นั้น ยังมีอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช 2476 ตั้งอยู่ กลางบริเวณวงเวียนหลักสี่ ย่านบางเขน กทม. ถูกเคลื่อนย้านไป กลางดึกคืนวันที่ 28 ธ.ค.2561 จนขณะนี้ยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด เช่นเดี่ยวกับก่อนหน้านั้น หมุดคณะราษฎร ก็หายไปตั้งแต่ เม.ย.60 ด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net