Skip to main content
sharethis

นายกคนใหม่ของฟินแลนด์ เตรียมเสนอนโยบายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ วันละ 6 ชั่วโมง

Sanna Marin นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ของฟินแลนด์ วัย 34 ปี ประกาศความตั้งใจในการเริ่มต้นทดลองตารางการทำงานรูปแบบใหม่ ที่มีความยืดหยุ่นและกำหนดให้มีวันทำงานเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ และทำงานไม่เกินวันละ 6 ชั่วโมง เธอระบุว่าอาจเป็นรูปแบบชีวิตการทำงานในขั้นต่อไปของชาวฟินแลนด์ ที่จะใช้เวลากับครอบครัว คนที่รัก งานอดิเรก และมุมมองด้านอื่นๆ ของชีวิตให้มากขึ้น เช่น ด้านวัฒนธรรม

ที่มา: neweurope.eu, 2/1/2020

แรงงานผิดกฎหมายในไต้หวันยังไม่มีแนวโน้มลดลง ส่วนใหญ่หลบไปทำงานเกษตรในชนบทและภูเขา ตำรวจชี้จับไม่หมด ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

หนังสือพิมพ์เหลียนเหอเป้าหรือ UDN สื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของไต้หวัน รายงานสถานการณ์ของแรงงานต่างชาติหลบหนีนายจ้างหรือแรงงานผิดกฎหมายว่า ยังไม่มีแนวโน้มลดน้อยลง เนื่องจากมีที่ไป โดยเฉพาะฟาร์มหรือไร่สวนในชนบทหรือบนภูเขา เนื่องจากขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก และรัฐบาลยังไม่อนุญาตให้เกษตรกรทั่วไปนำเข้าแรงงานต่างชาติได้ ทำให้ต้องพึ่งพาแรงงานผิดกฎหมาย ประกอบกับในการเดินทางมาทำงานที่ไต้หวัน ถูกบริษัทจัดหางานเรียกเก็บค่าหัวคิวที่แพง เมื่อมีแรงกดดัน จึงเลือกวิธีหลบหนีออกจากโรงงานไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย ส่งผลให้ยอดจำนวนการหลบหนีกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายของแรงงานต่างชาติ ยังไม่มีแนวโน้มลดลง แม้รัฐบาลจะประกาศมาตรการต่างๆ เพื่อสกัดแต่ก็ไร้ผล

นักข่าวของ UDN ลงพื้นที่ชนบทและบุกป่าฝ่าดงเพื่อทำข่าวสถานการณ์แรงงานต่างชาติผิดกฎหมายที่แฝงตัวอยู่ในฟาร์มและไร่สวน โดยอ้างสถิติของคณะกรรมการการเกษตรกล่าวว่า ภาคการเกษตรของไต้หวัน ปกติขาดแคลนคนงานประมาณ 15,000 คน  ในฤดูเก็บเกี่ยวจะเพิ่มสูงถึง 210,000 คน นอกจากนี้ เนื่องจากคนหนุ่มสาวไม่ยอมทำงานเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรไต้หวัน  มีอายุโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 62 ปี การขาดช่วงในการสืบทอดงานภาคการเกษตรอยู่ในขั้นวิกฤต ขณะที่รัฐบาลไม่อนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างชาติ ยกเว้นที่ทดลองเปิดให้นำเข้า 800 คน แต่จำกัดอยู่แค่ฟาร์มโคนมและจ้างเหมาบริการภาคการเกษตร เกษตรกรจึงต้องหันไปพึ่งพาแรงงานต่างชาติ และนี่เป็นสาเหตุสำคัญประการที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถลดจำนวนแรงงานต่างชาติหลบหนีลงได้อย่างมีผล

นอกจากนี้ แรงกดดันด้านหนี้สิน ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเพื่อนำมาจ่ายเป็นค่าบริการจัดหางานหรือที่เรียกกันว่าค่าหัวคิวแก่บริษัทจัดหางาน อย่างเช่นแรงงานเวียดนาม รัฐบาลเวียดนามอนุญาตให้บริษัทจัดหางานเก็บค่าหัวคิวได้ไม่เกิน 4,500 USD แต่ราคาท้องตลาดเก็บกัน 6,000-7,000 USD ตกประมาณ 180,000-210,000 เหรียญไต้หวัน เมื่อเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันครบสัญญา 3 ปี หนี้ยังไม่ทันจะหมด แทนที่จะได้ต่อสัญญาใหม่ทำงานหาเงินต่อไป ตามที่กฎหมายกำหนด กลับถูกบริษัทจัดหางานเรียกเก็บค่าต่อสัญญา หรือบังคับให้เดินทางกลับประเทศไปเสียค่าหัวคิวมารอบใหม่ ทำให้แรงงานเวียดนามและอินโดนีเซียจำนวนมากเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการหลบหนีไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย

รายงานกล่าวว่า แรงงานต่างชาติผิดกฎหมายกลายเป็นกำลังแรงงานกลุ่มหลักของภาคการเกษตรไปแล้ว หากมีการจับกุมกวาดล้างจนหมดเกลี้ยง พื้นที่เกษตรในไต้หวันกว่า 1 ใน 3 จะต้องถูกทิ้งร้างเพราะขาดแคลนแรงงาน รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญ แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ที่มา: Radio Taiwan International, 3/1/2020

นักวิจัยหวั่น 'AI' จ่อแย่งงาน 'คนทำงานออฟฟิศ'

ระหว่างที่หลายคนกำลังเป็นห่วงเป็นใยงานในภาคอุตสาหกรรมว่าจะถูกจักรกลแย่งงาน หันมาอีกที ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อาจจะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงานของมนุษย์ออฟฟิสในเวลาอันใกล้นี้แล้ว โดยในการศึกษาจาก Brookings Institute ฟันธงเลยว่า AI จะสะเทือนตำแหน่งงานที่ต้องใช้วุฒิการศึกษาระดับปริญญา และในตำแหน่งที่จะได้รับค่าจ่างสูงๆเสียด้วย

นายมาร์ค มูโร นักวิจัยอาวุโสจาก Brookings Institute บอกว่า จากเดิมที่คิดว่า AI จะทดแทนตำแหน่งงานค่าจ้างน้อย แต่ตอนนี้พบว่าปัญญาประดิษฐ์จะสามารถทดแทนงานของคนรายได้ปานกลาง อย่างเหล่าพนักงานออฟฟิส ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจอย่างมาก

ระบบปัญญาประดิษฐ์ ออกแบบมาเพื่อทำสิ่งที่ต้องพึ่งพามันสมองของมนุษย์ เช่น การวางแผน, การเรียนรู้, การให้เหตุผล และการแก้ปัญหา ซึ่งทีมวิจัยของ Brookings Institute วิเคราะห์อาชีพที่จะได้รับผลกระทบจาก AI โดยตรง และพบว่าไม่มีตำแหน่งงานใดที่รอดพ้นจากเงื้อมมือ AI ไปได้

นายมูโร ชี้ว่า ตำแหน่งงานที่ใช้วุฒิการศึกษาปริญญาตรี 4 ปี จะได้รับผลกระทบจาก AI มากกว่าตำแหน่งงานที่ใช้วุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลายถึง 5 เท่าตัว อย่างตำแหน่งงานที่มีรูปแบบการทำงานแบบชัดเจนตายตัว เช่น นักวิเคราะห์ตลาด, ผู้จัดการฝ่ายขาย, โปรแกรมเมอร์, นักวิเคราะห์ฝ่ายบริหาร และวิศวกร นั่นเป็นเพราะว่า AI ถูกออกแบบให้มีทักษะที่จำเป็นของมนุษย์ออฟฟิส โดยเฉพาะตำแหน่งฝ่ายบริหาร อย่างผู้จัดการและฝ่ายวิเคราะห์ ซึ่งเป็นงานถนัดของ AI ในแง่ของการใช้ทักษะการตัดสินใจและการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

จากความท้าทายที่คืบคลานเข้ามาใกล้ทุกขณะ ทีมวิจัยของ Brookings Institute แนะว่า การปรับตัวเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนสำหรับมนุษย์ในทุกหย่อมหญ้า ในการเพิ่มคุณค่าให้กับงานที่ทำอยู่

ขณะที่เอนิมา อนันกุมาร์ หัวหน้าฝ่าย Machine Learning ของ Nvidia กล่าวว่า พนักงานทุกคนควรประเมินอนาคตของบทบาทหน้าที่ที่ได้รับในงานที่ทำ ด้วย 3 คำถามสำคัญ คือ งานที่ทำอยู่เป็นงานที่ทำซ้ำซากหรือไม่? มีรูปแบบการประเมินผลงานที่ชัดเจนหรือไม่? และงานที่ทำเกี่ยวข้องกับข้อมูลมหาศาลเพื่อใช้ในการฝึกฝน AI ด้วยหรือไม่? ถ้าคำตอบทั้งหมดคือ “ใช่” ก็ฟันธงได้ว่า AI จ่อแย่งงานนี้ของคุณไปในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าแน่นอน

อนันกุมาร์ แนะว่าพนักงานที่เสี่ยงต่อการถูก AI แย่งงาน ควรมุ่งเป้าไปที่ตำแหน่งงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และสัญชาตญาณมนุษย์ เพิ่มทักษะแบบ Soft Skill และด้านเทคโนโลยีซึ่งให้รู้เท่าทัน AI ขณะเดียวกันต้องมี growth mindset ในแง่ของการยอมรับและปรับเพิ่มการเรียนรู้ทักษะใหม่ เพื่อเปิดประตูแห่งโอกาสที่จะเข้ามาในอนาคต

ที่มา: VOA, 3/1/2020

พบแรงงานภาคอุตสาหกรรมในกัมพูชาเสี่ยงชีวิตบนรถโดยสารจากอุบัติเหตุทางถนน

แรงงานในภาคส่วนอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มักเสี่ยงอันตรายอยู่ทุกวัน ในประเทศที่อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต กัมพูชาผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าให้กับแบรนด์ชื่อดังของตะวันตกในอุตสาหกรรมส่งออกมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์ ที่ยังเป็นนายจ้างอย่างเป็นทางการที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ แม้คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะได้รับการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 190 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน แต่ยังถือเป็นเงินเดือนที่ต่ำในประเทศที่ยากจนแห่งนี้ ที่บังคับให้พวกเขาต้องยอมเสี่ยงภัยอย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก คนงานส่วนใหญ่จ่ายเงินราว 10-20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน สำหรับพื้นที่บนรถบรรทุกและรถตู้เก่าๆ ที่มักพลิกคว่ำเทกระจาดคนงานลงบนถนนและชนพวกเขา

จากผลการศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่า มีเหตุรถชนประมาณ 12 ครั้งต่อวันที่เกี่ยวข้องกับคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป คนขับรถรับส่งคนงานเหล่านี้เริ่มวันแต่เช้ามืดก่อนหยุดพัก และในระหว่างที่หยุดพัก พวกเขาอาจเริ่มดื่มสังสรรกับเพื่อนร่วมงานก่อนถึงเวลารับคนงานกลับ คนขับรถบางคนมีอาการมึนเมาทำให้อุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง คนขับรถรายหนึ่งระบุว่าเขาปล่อยให้คนงานขึ้นรถบรรทุกเก่าของเขาราว 60 คนอยู่เป็นประจำ เพราะเป็นทางเดียวที่จะทำกำไรได้ หลังหักค่าใช้จ่าย

ที่มา: france24.com, 8/1/2020

พม่าเผยปราบปรามการค้ามนุษย์ได้ 239 คดี ในปี 2019

กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ของพม่าเปิดเผยว่า ในปี 2019 สามารถปราบปรามการค้ามนุษย์ได้ถึง 239 คดี สามารถช่วยเหยื่อได้ 358 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 297 คน และสามารถจับกุมสมาชิกขบวนการค้ามนุษย์ได้ถึง 732 คน

ปี 2019 ที่ผ่านมานครย่างกุ้งและรัฐฉานเป็นพื้นที่ที่มีการค้ามนุษย์มากที่สุด พื้นที่ละ 65 คดี ตามมาด้วย มัณฑะเลย์ และอิรวดี พื้นที่ละ 28 คดี และรัฐคะฉิ่น 25 คดี นอกจากนี้ยังมี 40 คนที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ภายในประเทศ โดยถูกนำไปบังคับใช้แรงงานทาส เป็นโสเภณี และถูกบังคับแต่งงาน  ภายใต้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ ผู้กระทำผิดจะมีโทษจำคุกอย่างน้อย 10 ปี ถึงตลอดชีวิต หรือปรับ ส่วนเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการค้ามนุษย์จะตกเป็นของรัฐ

ที่มา: mmtimes.com, 9/1/2020

สหรัฐฯ ลงโทษ 2 บริษัทเกาหลีเหนือลอบส่งแรงงานไปต่างประเทศ

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศมาตรการลงโทษต่อนิติบุคคลของเกาหลีเหนือสองแห่งที่ถูกกล่าวหาว่าส่งออกแรงงานไปต่างประเทศ ซึ่งขัดกับมาตรการลงโทษของสหประชาชาติ แถลงการณ์ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือยังคงส่งออกแรงงานไปต่างประเทศเพื่อหารายได้ส่งกลับมายังเกาหลีเหนือ ซึ่งถือเป็นการละเมิดมติของสหประชาชาติ และว่ามาตรการลงโทษชุดใหม่ของสหรัฐฯ ที่ประกาศในวันอังคารมีเป้าหมายไปที่บริษัทเกาหลีเหนือสองแห่ง คือ บริษัท Namgang Trading Corp (NTC) และบริษัท Beijing Sukbakso ที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดส่งแรงงานดังกล่าว

ภาพใต้มาตรการลงโทษชุดใหม่ ทรัพย์สินทั้งหมดของทั้งสองบริษัทที่อยู่ในอเมริกา จะถูกอายัดและควบคุมโดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่ผ่านมา องค์กรสิทธิมนุษยชนมักกล่าวหาเกาหลีเหนือว่าบังคับพลเมืองของตนให้ไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อส่งเงินกลับมาจุนเจือเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือ โดยเงินรายได้ส่วนใหญ่ของแรงงานเหล่านั้นจะถูกส่งให้รัฐบาลเปียงยางโดยตรง

ที่มา: VOA, 15/1/2020

นายกรัฐมนตรีไต้หวันขอบคุณแรงงานไทยนับพัน ที่ช่วยสร้างทางลัดเส้นทางสำคัญ

ถนนทางลัดสายซูอ้าว-ฮัวเหลียน ระยะทาง 38.8 กม. เนื่องจากตัดผ่านภูเขา มีอุโมงค์ถึง 8 แห่งรวมระยะทาง 24.5 กม. ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 9 ปี มีแรงงานต่างชาติเข้าร่วมการก่อสร้างกว่า 1,000 คน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไทย ในที่สุดได้สร้างเสร็จเปิดใช้งานแล้วเมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา ทำให้การเดินทางไปมาระหว่างซูอ้าวในเมืองอี๋หลานและฮัวเหลียน ซึ่งเดิมมีความยาว 118 กม. ร่นระยะทางลง 18.65 กม. ที่สำคัญเลี่ยงจุดอันตรายที่มักจะมีก้อนหินหล่นลงมาจากภูเขา ทำให้การเดินทางไปยังฮัวเหลียนโดยรถยนต์มีความปลอดภัยและประประหยัดเวลามากขึ้น

เมืองฮัวเหลียน ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของเกาะไต้หวัน การเดินทางโดยรถยนต์ระหว่างไทเปไปยังฮัวเหลียนลำบากมาก เนื่องจากเต็มไปด้วยภูเขา การเดินทางโดยรถยนต์มีทางหลวงเพียงเส้นเดียว เริ่มจากซูอ้าวในเมืองอี๋หลานถึงฮัวเหลียน ความยาว 118 กม. ทางหลวงสายนี้สร้างเลียบชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและผ่านหน้าผาภูเขาหินอ่อน สามารถมองเห็นมหาสมุทรแปซิฟิกและธรรมชาติอันน่าอัศจรรย์ จัดเป็นทางหลวงที่มีทัศนียภาพสวยงามระดับโลกสายหนึ่ง

แต่แม้ว่า ทางหลวงสายซูอ้าว-ฮัวเหลียน ซึ่งเดิมเรียกว่าทางหลวงหมายเลข 9 จะมีทิวทัศน์สวยงามน่าหลงใหล แต่เนื่องจากฝั่งตะวันออกของเกาะไต้หวันเป็นแหล่งผลิตวัสดุทางอุตสาหกรรม อาทิ หินอ่อนชั้นดี หินปูน กรวดและทรายเป็นต้น การขนส่งต้องใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ ทำให้ทางหลวงสายนี้ มักจะมีรถบรรทุกวัสดุดังกล่าววิ่งผ่านไปมาด้วยความเร็วสูงเป็นประจำ ประกอบกับตลอดแนวเส้นทางเลียบชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ลึกลงไปใต้ดินเป็นรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียนและแผ่นเปลือกโลกฟิลิปปินส์ มักเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ทำให้โครงสร้างภูเขาคลอนแคลน ไม่ว่าฝนตกหรือแดดออก โดยเฉพาะหลังฝนตกหนักหรือพายุไต้ฝุ่นพัดผ่านมักจะมีก้อนหินร่วงหล่นลงมา เป็นอันตรายกับรถยนต์ที่วิ่งผ่านไป ในอดีตทางหลวงสายซูอ้า-ฉัวเหลียน จึงถูกจัดให้เป็นถนนอันตราย โดยช่วงเวลา 11 ปี ระหว่าง 1997-2008 เกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงสายนี้ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 1,046 คน

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลในสมัยประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่ว จึงทุ่มงบประมาณ 55,100 ล้านเหรียญไต้หวัน ปรับปรุงช่วงอันตรายของทางหลวงสายนี้ ด้วยการสร้างทางลัดใหม่ที่ปลอดภัยความยาว 38.8 กม. ทำให้ร่นระยะทางลง 18.65 กม. และประหยัดเวลาได้ 40 นาที แต่เนื่องจากตัดผ่านภูเขา ต้องเจาะอุโมงค์ซึ่งเต็มไปด้วยหินแกรนิตและหินอ่อนถึง 8 แห่ง รวมระยะทางอุโมงค์ 24.5 กม. และสะพานแขวนผ่านหุบเขาความยาว 8.5 กม. การก่อสร้างเต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องใช้เวลานานถึง 9 ปี นำเข้าแรงงานต่างชาติกว่า 1,000 คน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นเป็นแรงงานไทย นอกนั้นมีแรงงานอินโดนีเซียและเวียดนาม บริษัทที่นำเข้าแรงงานไทยสำหรับงานก่อสายทางลัดสายนี้ อาทิ Kung Sing Engineering Corporation, Continental Engineering Corporation, และ PAN ASIA (Engineers & Constructors) Corporation, ในจำนวนนี้ เฉพาะบริษัท Kung Sing Engineering Corporation บริษัทเดียวว่าจ้างแรงงานไทยทำงานก่อสร้างเส้นทางสายลัดนี้ประมาณ 500 คน 

ดังนั้นในวันทำพิธีเปิดใช้ถนนสายนี้ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีซูเจินชาง ได้กล่าวขอบคุณแรงงานทุกคนที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างทางลัดสายซูอ้าว-ฮัวเหลียน โดยเฉพาะแรงงานไทย และมีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ตัวแทนแรงงานไทยด้วย

ที่มา: Radio Taiwan International, 17/1/2020

ฝรั่งเศสเดินหน้าปฏิรูประบบเงินบำนาญ-สหภาพเตรียมประท้วงหยุดงานรอบใหม่ 

รัฐบาลฝรั่งเศสเตรียมเปิดเผยแผนการปฏิรูประบบเงินบำนาญฉบับใหม่อย่างเป็นทางการในวันศุกร์ตามเวลาในฝรั่งเศส ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการทดสอบศักยภาพของรัฐบาลฝรั่งเศสอีกครั้ง ว่าจะสามารถรับมือกับสหภาพแรงงานและกลุ่มผู้ประท้วงที่เดือดดาลจากการผ่านกฎหมายดังกล่าวได้หรือไม่

แผนปฏิรูประบบเงินบำนาญฉบับใหม่นี้นคือนโยบายสำคัญในการหาเสียงของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาคร็อง ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจฝรั่งเศสมีความยั่งยืนในระยะยาว แต่ก็เป็นนโยบายที่นำไปสู่การประท้วงหยุดงานครั้งใหญ่ทั่วฝรั่งเศสในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และอาจทำให้ประธานาธิบดีมาคร็องพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ ก่อนหน้านี้รัฐบาลฝรั่งเศสได้ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์บางอย่างในแผนปฏิรูปดังกล่าว เพื่อประนีประนอมกับผู้ประท้วง เช่น การยกเลิกข้อเสนอเพิ่มอายุผู้เกษียณจากงานที่จะได้รับเงินบำนาญเต็มอัตราจาก 62 ปี เป็น 64 ปี เป็นต้น

นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่ารัฐบาลฝรั่งเศสคือผู้ชนะอย่างแท้จริงในการเผชิญหน้าเรื่องการปฏิรูปเงินบำนาญครั้งนี้ เพราะสามารถทำให้สหภาพแรงงานไม่สามารถรวมตัวกันติด ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่การสิ้นสุดการประท้วงที่กินเวลานานหลายสัปดาห์ และสร้างอุปสรรคต่อการคมนาคมขนส่งทั่วฝรั่งเศส แต่กลุ่มผู้ประท้วงแนวแข็งกร้าวยังประกาศว่าจะเดินขบวนครั้งใหญ่ในวันศุกร์นี้ ซึ่งเรียกว่าเป็นวัน "black Friday" เพื่อต่อต้านกฎหมายดังกล่าว โดยจะปิดสถานีรถไฟใต้ดินทั่วกรุงปารีส ซึ่งจะทำให้การประท้วงหยุดงานที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมกลายเป็นการประท้วงที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส

ที่มา: VOA, 24/1/2020

'สหภาพแรงงานฟิลิปปินส์' เรียกร้องปกป้อง 'คนทำงานสนามบิน-ท่าเรือ' ภายใต้วิกฤต 'ไวรัสโคโรนา'

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเพิ่มความปลอดภัยทางชีวภาพเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 'สหภาพแรงงานสัมพันธ์' (ALU) ได้เรียกร้องให้ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการบินให้ความมั่นใจว่า พิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพไม่ได้คุ้มครองเฉพาะผู้โดยสารเท่านั้น แต่รวมถึงลูกเรือและพนักงานการบินด้วย

สหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศชี้ว่าว่าเนื่องจากพนักงานเหล่านี้เป็นด่านแรกที่จะป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา

“หนึ่งในภารกิจที่ยากที่สุดของงานลูกเรือบนเครื่องบินเพื่อให้เที่ยวบินปลอดภัยตลอดระยะเวลาของการเดินทางคือ การจัดการกับผู้โดยสารที่ติดเชื้อหรือดื้อรั้น” นาย Gerard Seno รองประธานสหภาพแรงงาน ALU กล่าวในแถลงการณ์

“เพื่อให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานภายใต้ความกดดันนี้ได้ จำเป็นต้องยกระดับมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อ”

นาย Seno กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จำเป็นต้องแน่ใจว่าพนักงานทุกคนได้รับการคุ้มครองด้านสวัสดิการสังคมและการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินเพราะทำงานเสี่ยง

กลุ่มพนักงานดังกล่าวยังชื่นชมสายการบินที่ออกหนังสือให้ลูกเรือสวมหน้ากากป้องกันที่บริษัทจัดหา เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการสัมผัสกับเชื้อไวรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเที่ยวบินไปและกลับประเทศจุดหมายปลายทางที่มีความเสี่ยง

“เราขอชมเชยพวกเขาที่ทำถูกต้อง เพราะเป็นมาตรการที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้พนักงานและเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานภายใต้สถานการณ์ที่ผิดปกตินี้” นาย Seno กล่าว

ในขณะเดียวกัน 'สภาแรงงานแห่งฟิลิปปินส์' (TUCP) ประธานและ ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก TUCP นายเรย์มอนด์ เมนโดซา กล่าวว่ามาตรการของรัฐบาลเพื่อลดการสัมผัสกับเชื้อไวรัสไม่เพียงแต่คุ้มครองผู้โดยสารเท่านั้น แต่รวมถึงเจ้าหน้าที่สนามบินและท่าเรือด้วย

เขาเสนอว่าผู้โดยสารที่เดินทางมาจากเมืองที่มีการติดเชื้อไวรัสควรจะเข้าประตูแยกต่างหาก ส่วนเครื่องบินที่เดินทางมาถึงนั้นควรจอดในพื้นที่แยกออกไป เพื่อรมควันฆ่าเชื้อโรค

ที่มา: news.mb.com.ph, 24/1/2020

ค่าจ้างแรงงานต่างชาติภาคการผลิตในไต้หวันเพิ่มต่อเนื่องเป็นปีที่ 5

จากสถิติ ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2019 ที่ผ่านมาแรงงานต่างชาติในไต้หวันมีจำนวนกว่า 718,000 คนแล้ว เพื่อให้ทราบถึงสภาพการทำงานและปัญหาอุปสรรคที่เกิดกับนายจ้างและแรงงานต่างชาติ กระทรวงแรงงานไต้หวันจึงดำเนินการสำรวจสภาพการทำงานและการบริหารแรงงานต่างชาติเป็นประจำทุกปี เพื่อนำผลที่ได้ไปวิเคราะห์ ปรับปรุงแก้ไขต่อไป กระทรวงแรงงานไต้หวันประกาศผลการสำรวจสภาพการทำงานและการบริหารแรงงานต่างชาติฉบับล่าสุดพบว่า แรงงานต่างชาติในภาคการผลิต มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 29,029 เหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 1,241 เหรียญไต้หวัน สาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำ ในส่วนของผู้อนุบาลต่างชาติในครัวเรือน มีรายได้โดยเฉลี่ยเดือนละ 19,947 เหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนหน้านี้เพียง 20 เหรียญไต้หวัน

ที่มา: Radio Taiwan International, 24/1/2020

ครูเนเธอร์แลนด์กว่า 4,000 โรงเรียนหยุดงานประท้วง เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มค่าจ้างและลดภาระงาน

สำนักข่าว NU.nl รายงานว่าโรงเรียนระดับประถมศึกษาจำนวน 3,978 แห่งและโรงเรียนมัธยมศึกษา 180 แห่ง ประกาศปิดเรียนในวันที่ 30-31 ม.ค. 2020 เพราะมีการนัดหยุดงาน ซึ่งรวมแล้วเท่ากับ 56% ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมดในประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือ 59% ของโรงเรียนประถมศึกษาทั้งหมด และ 28% ของโรงเรียนมัธยมทั้งหมดเข้าร่วมนัดหยุดงาน

เมื่อวันพุธที่ 29 ม.ค. 2020 Arie Slob รัฐมนตรีกระทรวงศึกษา วัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ NPO talk show Op1. ว่าทางรัฐบาลไม่มีเงินเพียงพอที่จะเพิ่มค่าจ้างให้กับครู ซึ่งรัฐบาลก็ได้จัดงบพิเศษไปแล้วเป็นจำนวนมากในเรื่องต่าง ๆ เพื่อที่จะเพิ่มเงินเดือนให้กับครูประถม รวมทั้งลงทุนโปรแกรมฝึกอบรมการสอน ซึ่งมีนักเรียนใหม่และสายอาชีพอื่นที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพมาสมัครมากขึ้น

"ขณะนี้ จึงไม่มีเงินเพียงพอสำหรับอุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างครู จนกว่าจะได้คณะรัฐมนตรีใหม่ในปีหน้า จึงต้องการให้มีการเจรจาต่อรองมากกว่าที่จะนัดหยุดงาน" Arie Slob กล่าว

ในช่วงของการนัดหยุดงาน ศูนย์รับเลี้ยงเด็กกลางวันจำนวน 2 ใน 3 เสนอกิจกรรมพิเศษให้แก่เด็กเล็ก พิพิธภัณท์ สวนสัตว์ สวนสนุกหลายแห่งเสนอลดราคาพิเศษสำหรับเด็กๆ ในช่วงนัดหยุดงาน 2 วันนี้

ครูประเทศเนเธอร์แลนด์กำลังเจอวิกฤตการศึกษา พวกเขาต้องการให้รัฐบาลลงทุนเงินหลายร้อยล้านยูโรเพื่อขึ้นค่าจ้าง ลดภาระงาน และจัดการปัญหาขาดแคลนครู สถานการณ์ในปี 2020 นักเรียน 55,000 กว่าคนในโรงเรียนประถมศึกษาจะไม่มีครูในชั้นเรียน ซึ่งหากไม่ทำอะไร ก็จะมีนักเรียนเล็กๆ เพิ่มเป็นจำนวน 240,000 คนในปี 2028" สหภาพแรงงานครู (The Algemene Onderwijsbond-AOb) กล่าว

นอกจากนี้พบว่าอัตราภาวะหมดไฟของครูสูงขึ้น โดยเฉพาะครูมัธยม เพราะต้องดูแลชั้นเรียนที่มีนักเรียนมากเกิน ทำให้ครูลาออก และเกิดภาวะขาดแคลนครู

ครูจึงออกมาประท้วงเดินขบวนในหลายๆ เมือง ได้แก่ Amsterdam, Rotterdam, The Hague, Groningen, Maastricht และ Middelburg ครูประถมเรียกร้องให้รัฐเพิ่มการลงทุน 560 ล้านยูโรเพื่อให้เงินเดือนเท่ากับครูมัธยม

การนัดหยุดงานครั้งนี้เป็นครั้งที่ 10 แล้วนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2017 การประท้วงเริ่มจากเปิดเรียนสายและยกระดับเป็นการนัดหยุดงานทั่วประเทศ 1 วันไปสู่การนัดหยุดงาน 2 วัน

นาย Arie Slob รัฐมนตรีศึกษาฯ ลงไปเยี่ยมโรงเรียนบางแห่งเพื่อถกปัญหาการขาดแคลนครูในช่วงนัดหยุดงาน และกล่าวว่ารัฐบาลได้ลงทุนเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เริ่มมีการนัดหยุดงานครั้งแรก นาย Arie Slob กล่าวอีกว่า รัฐบาลชุดนี้ได้ใช้จ่ายเงินไป 895 ล้านยูโรให้กับการศึกษาระดับประถมศึกษา, 700 ล้านยูโรนำไปแก้ปัญหาลดภาระงานและเพิ่มเงินเดือน และในปีนี้รวมถึงปีหน้าก็จะลงทุนเพิ่ม 195 ล้านยูโรเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู โดยจัดอบรมให้กับสายอาชีพอื่นเพื่อที่จะมาเป็นครู รวมทั้งให้การอบรมแนะนำครูใหม่และผู้ช่วยครู

ยังไงก็ต้องมีการประท้วง "ครูไม่ได้หยุดงานเพื่อความสนุก" ประธานสหภาพแรงงานครู Eugenie Stolk ให้สัมภาษณ์กับ RTL Nieuws ว่า "เราก็รู้ว่ามีการลงทุนในการศึกษาแต่ขณะเดียวกันเรามองว่ามันก็ไม่พอ มันดูเหมือนว่าเราต้องการอีกเพื่อที่จะเห็นการศึกษามีคุณภาพ"

ที่มา: NU.nl, 30/1/2020

ภาคธุรกิจต่างชาติขยับตัวรับมือการระบาดโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากจีน

บริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในจีนเร่งออกมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หลังมีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คนและตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งเกินหลัก 4 พัน โดยส่วนใหญ่ออกคำสั่งให้พนักงานที่เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดให้ทำงานที่บ้านเป็นระยะเวลาหนึ่ง ขณะที่ร้านค้าหลายแห่งตัดสินใจปิดตัวชั่วคราว

เฟซบุ๊ค (Facebook) สั่งห้ามพนักงานเดินทางไปยังจีนแผ่นดินใหญ่หากไม่มีความจำเป็นจริงๆ และให้ทำงานภายในที่พัก หากต้องเดินทางไปจีน ขณะที่ บริษัท Bytedance เจ้าของแอพพลเคชั่น TikTok สั่งให้พนักงานที่เดินทางไปภายในประเทศจีนระหว่างช่วงเทศกาลตรุษจีนให้ พักดูอาการและทำงานที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน

ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ ของอังกฤษมีคำสั่งห้ามพนักงานเดินทางไปมณฑลหูเป่ย รวมทั้งสั่งจำกัดการเดินทางไปจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง รวมทั้งให้พนักงานที่กลับมาจากหูเป่ย ให้ทำงานทีบ้านเป็นเวลา 14 วันเช่นกัน

บริษัทนิสสัน วางแผนส่งเครื่องบินเช่าเหมาลำไปรับพนักงานชาวญี่ปุ่นที่ประจำอยู่ที่ธุรกิจร่วมทุนในเมืองอู่ฮั่น พร้อมสมาชิกในครอบครัวกลับมาที่ญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว ส่วน บริษัท ซัมซุง อิเลคทรอนิคส์ ออกคำแนะนำให้พนักงานที่เพิ่งกลับมาจากมณฑลหูเป่ยให้ทำงานที่บ้านเป็นเวลา 7 วันด้วย

ขณะเดียวกัน แมคโดนัลด์ สั่งปิดร้านใน 5 เมืองของมณฑลหูเป่ย ส่วนสตาร์บัคส์ก็สั่งปิดร้านทั้งหมดรวมทั้งระงับบริการส่งอาหารและเครื่องดื่มในมณฑลนี้เช่นกัน ธุรกิจอื่นๆ ที่สั่งปิดตัวชั่วคราวมี อาทิ เคเอฟซี พิซซ่าฮัท ยูนิโคล่ และอิเกีย ในส่วนของธุรกิจการบิน หลายแห่งยกเลิกหรือจำกัดเที่ยวบินไปยังสนามบินหลายแห่งในจีน เช่น สายการบินคาเธย์แปซิฟิค และสายการบินคาเธย์ดรากอน ลดจำนวนเที่ยวบินไป-กลับจากจีน ลงไม่น้อยกว่า 50% ระหว่างวันที่ 30 ม.ค. 2020 และสิ้นเดือน มี.ค. 2020

ที่มา: VOA, 31/1/2020

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net