Skip to main content
sharethis

แม้โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะเป็นปัญหาวิกฤตด้านการสาธารณสุข แต่ความกลัวไวรัสจนนำไปสู่การเหยียดเชื้อชาติสีผิวจนดูไม่มีเหตุผลก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลและกำลังเกิดขึ้นในประเทศแถวยุโรป จนทำให้คนเชื้อสายเอเชียที่อาศัยในพื้นที่เหล่านั้นเดือดร้อนและวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้

ภาพถนนในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (ที่มา:Flickr/ Shaun Garrity)

4 ก.พ. 2563 ภาวะความกลัวที่มากับการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019-nCoV ไปในหลายที่ทั่วโลก กำลังผสมผสานกับภาวะการเหยียด เกลียด กลัวคนจีนและคนเอเชียจนน่ากลัวว่าจะกลายเป็นเรื่องเดียวกันอย่างแยกไม่ออก

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยแห่งมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในการสื่อสารเพื่อป้องกันการเกิดผลลัพธ์ดังกล่าว ที่ร้านอาหารชื่อดังในแม่กำปอง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เดิม เมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาขึ้นป้าย “ขออภัยไม่รับจีนและลูกค้าต่างชาติ” จนมีเจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าข้อความในป้ายดังกล่าวกระทบความมั่นคงของชาติ ให้เปลี่ยนเป็นป้ายใหม่ว่า 'อาหารหมด' แทน

ต่อมา เจ้าหน้าที่ปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านห้วยแก้วได้ทำความเข้าใจกับเจ้าของร้าน ได้ความว่า เจ้าของร้านขึ้นป้ายเพราะว่ารับข้อมูลจากจากสื่อสังคมออนไลน์แล้วกลัวมาก โดยทางเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนได้ทำความเข้าใจ และจัดเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุข อ.แม่ออน และเจ้าหน้าที่ รพ.สต.บ้านห้วยแก้ว ตั้งจุดตรวจโรคไข้หวัด โดยเบื้องต้นตั้งจุดตรวจที่วัดแม่กำปอง 1 และที่จุดจอดรถนักท่องเที่ยวในบ้านแม่กำปอง และจะเสนอเรื่องขอเครื่องตรวจเพิ่มกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยได้ขึ้นป้ายต้อนรับนักท่องเที่ยวแทนป้ายการไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีน (ที่มา:ข่าวสด)

ในทวีปยุโรปที่มีการพบผู้ป่วยโคโรน่าไวรัส ก็มีการพูดถึงกระแสการเหยียดเชื้อชาติสีผิวต่อชาวเอเชียในประเทศอังกฤษและในที่อื่นๆ เช่นในฝรั่งเศส มีชาวเอเชียที่ร้องเรียนว่าถูกคุกคามในขนส่งสาธารณะและในพื้นที่โซเชียลมีเดีย จนทำการณรงค์ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติสีผิวในครั้งนี้ด้วยแฮชแท็ก #JeNeSuisPasUnVirus (เราไม่ใช่ไวรัส)

นอกจากการคุกคามในชีวิตประจำวันทั่วไปแล้ว สื่อหนังสือพิมพ์ Le Courier Picard ได้ใช้พาดหัวข่าวในเชิงกระตุ้นเร้าให้เกิดความเกลียดชังทางเชื้อชาติสีผิวเช่นคำว่า "ตื่นภัยเหลือง" (Alerte jaune) และ "หายนะสีเหลือง?" (Le peril jaune?) ซึ่งคำว่า "ผิวสีเหลือง" เป็นคำที่ใช้เหยียดคนเอเชีย เมื่อมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์พาดหัวดังกล่าว สื่อหนังสือพิมพ์เหล่านี้ก็ออกมาขอโทษแทบจะทันที แก้ตัวว่าพวกเขาไม่ได้จงใจใช้คำที่สื่อถึง "การเหยียดเหมารวมระดับที่แย่ที่สุดต่อชาวเอเชีย"

สเตฟาน นิเวต์ ประธานกลุ่มเฝ้าระวังการเหยียดเชื้อชาติและการสร้างกระแสเกลียดชังชาวยิว หรือไลครา (LICRA) กล่าวว่าไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดกล้าที่จะพาดหัวข่าวว่า "ตื่นภัยคนดำ" ดังนั้นเรื่องนี้จึงชี้ให้เห็นว่าเป็นปัญหาอย่างชัดเจน

เคธี เจิ่น หญิงชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ในเมืองกอลมาร์ทางตะวันออกของประเทศฝรั่งเศส เผชิญกับการถูกเหยียดขณะเดินทางไปทำงาน โดยมีชายสองคนพูดกันว่า "ระวังนะ ผู้หญิงจีนกำลังจะมาทางนี้แล้ว" หลังจากนั้นตอนที่เธอเดินทางกลับบ้านก็มีชายขี่รถสกู๊ตเตอร์ผ่านมาบอกให้เธอสวมหน้ากาก

มีคนอื่นๆ พูดถึงเรื่องนี้ผ่านแฮชแท็กทวิตเตอร์ระบุว่า "เลิกถามพวกเราสักที่ว่าอันตรายหรือเปล่าในตอนที่พวกเราไอ ขณะที่คนอื่นๆ รอบตัวเราก็ไออยู่ด้วยเหมือนกัน" ชาวจีนอีกรายหนึ่งระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า "ผมเป็นชาวจีน แต่ผมก็ไม่ใช่ไวรัส ผมรู้ว่าพวกเราทุกคนกลัวไวรัสกันแต่ก็ได้โปรดขออย่าอคติเลย"

แต่ไม่เพียงแค่ชาวจีนเท่านั้นที่ถูกตีตราในเรื่องนี้ คนเอเชียอื่นๆ ก็ถูกเหยียดหรือถูกตีตราไปด้วยเช่นกัน ชานา เฉิง ชาวปารีสที่มีเชื้อสายเวียดนามและกัมพูชาอายุ 17 ปีเล่าว่าเธอต้องเผชิญกับความคิดเห็นเชิงดูถูกเหยียดหยามบนรถประจำทางทั้งจากคนรุ่นเยาว์และคนสูงอายุ เช่นกล่าวหาว่าเธอเป็นหญิงชาวจีนที่จะทำให้พวกเขาติดโรค หรือไล่ให้เธอกลับบ้าน มีคนมองเธอในแบบที่รังเกียจราวกับว่าเธอเป็นไวรัส ไม่ใครช่วยปกป้องเธอ

เคธี เจิ่น บอกว่าเธอไม่แปลกใจในเรื่องที่ผู้คนจะอ้างเรื่องไวรัสมาใช้เหยียดเชื้อชาติ แต่สิ่งที่แตกต่างกันออกไปคือในครั้งนี้เธอเผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติในแบบที่หนักกว่าเดิมอย่างที่เธอไม่เคยเจอมาก่อน เจิ่นบอกว่าชาวเอเชียไม่ค่อยพูดถึงเรื่องการถูกเหยียดเชื้อชาติมากนักและมักจะเก็บความเจ็บปวดไว้เงียบๆ

เกรซ ลี่ ชาวฝรั่งเศสเชื้อสายจีนที่เป็นนักเขียนและผู้กำกับพูดถึงกระแสเหยียดเชื้อชาติในครั้งนี้ว่าเป็น "การโจมตีชาวจีน" และเป็นการยุยงปลุกปั่นความเกลียดชังต่อชาวเอเชีย

ในแคนาดาเองก็มีความกังวลในหมู่ชุมชนคนเชื้อสายจีน-แคนาดาว่าอาจจะเกิดอะไรร้ายๆ แบบช่วงโรคซาร์สระบาดอีก ทำให้ในวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมาเทศบาลเมืองโตรอนโตและผู้นำชุมชนชาวจีนต่างก็แถลงขอให้ชาวโตรอนโตไม่กล่าวโทษหรือเหยียดผู้มีเชื้อสายเอเชียเพราะความกลัวการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

ช่วงที่โรคซาร์สระบาดในอดีตนั้น ธุรกิจที่มีเจ้าของเป็นชาวจีน และธุรกิจในย่านไชน่าทาวน์ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยสูญเสียรายได้ไปร้อยละ 40-80 จัสติน กง ผู้อำนวยการบริหารสภาแห่งชาติชาวจีนเชื้อสายแคนาดาเล่าถึงความเลวร้ายในช่วงนั้นว่าเกิดภาวะการสูญเสียทั้งรายได้ การงาน วิถีชีวิตผู้คน ที่อยู่อาศัย และยังเผชิญกับการถูกตีตราที่โรงเรียนและที่ทำงาน

ในช่วงที่ไวรัสใหม่กำลังระบาดหนัก อดีตนายกรัฐมนตรีของแคนาดา ฌอง เครเจียน พยายามแสดงให้เห็นว่าการใช้บริการธุรกิจของชาวเอเชียไม่ใช่เรื่องน่ากลัวด้วยการเข้าไปรับประทานอาหารกลางวันในไชน่าทาวน์ เครเจียนบอกว่าในชุมชนมีความกลัวทั้งเรื่องโรค และผลกระทบจากการกีดกัน เลือกปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะไปมีผลกระทบกับธุรกิจ แรงงานและกิจการขนาดเล็กในชุมชน

เรียบเรียงจาก

Coronavirus: French Asians hit back at racism with 'I'm not a virus', BBC, Jan. 29, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net