เมื่อยุโรปหันขวา : คุยกับนักวิชาการโปแลนด์ ปมกระแสขวาตกขอบในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก

ประชาไทคุยกับ ราฟาว ปานกอฟสกี อาจารย์ประจำสถาบันสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Collegium Civitas ในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ และหัวหน้าศูนย์เฝ้าระวังภูมิภาคยุโรปตะวันออกของสมาคม Never Again Association และรองบรรณาธิการวารสารของสมาคม Never Again กับประเด็นการกลับมาของแนวคิดขวาสุดโต่งในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ผลกระทบต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชน อิทธิพลของโซเชียลมีเดีย และความเป็นไปได้ของการหาทางออกจากปัญหาที่เราต่างประสบร่วมกัน

ราฟาว ปานกอฟสกี (ภาพจากหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ปานกอฟสกีเคยตีพิมพ์งานวิชาการเกี่ยวกับกระแสแนวคิดขวาจัดและแนวคิดชาตินิยมในโปแลนด์มาแล้วหลายชิ้น เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปานกอฟสกีได้งานบรรยายสาธารณะที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในหัวข้อ “Right-wing extremism in Europe - a challenge for democracy.”

ประชาไทพบกับปานกอฟสกีหลังการบรรยายเพื่อคุยเรื่องการกลับมาของแนวคิดขวาสุดโต่งในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ผลกระทบต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชน อิทธิพลของโซเชียลมีเดีย และความเป็นไปได้ของการหาทางออกจากปัญหาที่เราต่างประสบร่วมกัน

ยุโรปหันขวา : แรงดึงดูดของแนวคิดฝ่ายขวา

เมื่อถูกถามว่าเหตุใดแนวคิดฝ่ายขวาจึงกลับมาเป็นที่นิยมในยุโรปอีกครั้งหลังจากบาดแผลทางประวัติศาสตร์ทั้งหมดที่ภูมิภาคนี้ได้รับในช่วงศตวรรษที่ 20 ปานกอฟสกีกล่าวว่าความวิตกกังวลในประเด็นอัตลักษณ์อาจมีส่วนในการทำให้เกิดกระแสดังกล่าว

“ผมคิดว่าเราต้องพิจารณาปรากฏการณ์แนวคิดขวาจัดในยุโรปทุกวันนี้ในบริบทของวิกฤตทางคุณค่าในหลายชั้น ซึ่งรวมไปถึงวิกฤตของคุณค่าประชาธิปไตยในหมู่คนรุ่นใหม่ เช่นในยุโรปบางประเทศ” ปานกอฟสกีกล่าว “แน่นอนว่าในบริบทของยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก เรากำลังประสบกับวิกฤตของคุณค่าประชาธิปไตยอยู่จริง ๆ บางคนบอกว่าสิ่งนี้ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ผมไม่ค่อยเห็นด้วย ผมคิดว่ามันซับซ้อนกว่านั้น เพราะมันไม่ใช่แค่เพราะปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเรื่องการว่างงาน

ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมมีอิทธิพลอยู่ในเบื้องหลังของปรากฏการณ์แนวคิดขวาจัดอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณลองดูตัวอย่างเช่นกรณีของโปแลนด์ โปแลนด์เป็นประเทศเดียวในยุโรปที่ไม่ได้มีช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก ผมไม่ได้หมายความว่าโปแลนด์ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจเลย แต่ผลกระทบไม่ได้รุนแรงเท่าในอีกหลายประเทศในยุโรป แต่ถึงอย่างนั้น ในกรณีของโปแลนด์ เราเห็นว่าแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งบางอย่างเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่าเราจะหาคำตอบได้ในประเด็นวัฒนธรรม ในเรื่องของคุณค่า อัตลักษณ์และโดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับอัตลักษณ์ชาติ มันเป็นความวิตกกังวลเกี่ยวกับอัตลักษณ์อย่างหนึ่ง”

หลังจากตั้งข้อสังเกตไว้ในการบรรยายของเขาว่ากลุ่มขวาจัดในบางภูมิภาคในยุโรปมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ปานคอฟสกีอธิบายต่อว่ากลุ่มขวาจัดเหล่านี้ประสบความสำเร็จมากในการใช้กลยุทธ์ทางวัฒนธรรมในการสร้างอิทธิพลในวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ ทำให้แนวคิดของกลุ่มดูน่าดึงดูดต่อคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มักถูกเหมารวมว่าเป็นคนหัวก้าวหน้ามากกว่าคนรุ่นก่อน

“ผมคิดว่าการเหมารวมว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นคนหัวก้าวหน้าโดยธรรมชาติเป็นความเข้าใจที่พบได้ทั่วไป และที่ผ่านมาเราก็พบว่ามันมักจะเป็นความจริง” ปานกอฟสกีกล่าว “แต่ผมคิดว่าสถานการณ์ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกในทุกวันนี้ทำให้เราเห็นแล้วว่าเราไม่สามารถมองว่าความเชื่อนี้เป็นของตาย และเราก็ไม่สามารถมองว่าคุณค่าเรื่องประชาธิปไตยเป็นของตายถ้าเราไม่พยายามเพื่อมันเลย

“ผมคิดว่าในบางแง่มุม ความนิยมของแนวคิดชาตินิยมฝ่ายขวาในหมู่คนรุ่นใหม่เป็นผลมาจากความบกพร่องทางการศึกษาบางอย่าง แต่เมื่อผมพูดถึงการศึกษา ผมไม่ได้หมายถึงโรงเรียนเท่านั้น แน่นอนว่าโรงเรียนก็สำคัญ โครงสร้างทางสถาบันการศึกษาก็สำคัญ แต่ผมกำลังคิดถึงสถาบันในรูปแบบอื่นที่มีอิทธิพลทางอ้อม เช่นศาสนาหรือครอบครัว หรือสมาคมฟุตบอลอย่างที่ผมพูดถึงในการบรรยาย

“มีหลายสิ่งที่เป็นศูนย์กลางของอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ และผมเชื่อว่าศูนย์กลางเหล่านั้นทำได้ไม่ดีในการให้การศึกษาพวกเขาเรื่องประชาธิปไตย ทำให้เกิดช่องว่างซึ่งกลุ่มชาตินิยมขวาจัดที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับประชาธิปไตยสามารถแทรกเข้ามาได้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เปิดในพวกเขา แต่พวกเขาก็มีอิทธิพลต่อวิธีการคิดของคนรุ่นใหม่และวิธีที่คนรุ่นใหม่มองโลกด้วย

“กลุ่มขวาจัดใหม่ๆ พวกนี้มักไม่เชื่อมโยงกลับไปหายุคนาซีหรือฮิตเลอร์ ถึงแม้ว่าแนวคิดและสโลแกนของพวกเขาจะไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่พวกเขาใช้สัญลักษณ์ที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นแน่นอนว่าการเปลี่ยนรูปแบบของกลุ่มขวาจัดเป็นส่วนที่สำคัญมากของปรากฏการณ์นี้ แต่ก็มีอย่างอื่นด้วย

“ผมพูดถึงแรงดึงดูดของแนวคิดชาตินิยมฝ่ายขวาในวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว ถ้าจะให้ยกตัวอย่าง มีนักร้องเพลงร็อกชาวโปแลนด์ที่ดังมากคนหนึ่งชื่อปาเวล คูคิซ เขาเป็นศิลปินที่ได้ความนิยมมาก โดยเฉพาะในดนตรีร็อกโปลิชช่วงยุค 90 และในปี 2015 เขาก็ตัดสินใจเล่นการเมือง และเขาก็สร้างขบวนการชาตินิยมและประชานิยมขึ้นมารอบตัวเขา วิธีที่เขาใช้ในการเปลี่ยนแปลงความนิยมที่เขาได้รับในฐานะนักดนตรีไปเป็นอำนาจต่อรองทางการเมืองในฐานะผู้นำทางการเมืองเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก

“สิ่งที่น่าสนใจก็คือเขาได้รับอิทธิพลจากแนวคิดชาตินิยม ซึ่งตรงข้ามกันกับเนื้อเพลงของเขาตลอดหลายปี และผู้ติดตามของเขาที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่รู้จักเขาเพราะดนตรี ต่อมาคนกลุ่มนี้ก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางการเมืองของเขา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดชาตินิยมฝ่ายขวาอย่างรุนแรง ผมคิดว่านี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของวิธีที่วัฒนธรรมมีอิทธิพลต่อการเมืองและการเมืองมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมเช่นกัน”

แบ่งเขา แบ่งเรา

ปานคอฟสกีกล่าวว่ามีสองประเด็นที่เป็นตัวอย่างของผลกระทบของแนวคิดขวาจัดต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในยุโรป นั่นคือในเรื่องนโยบายผู้อพยพและเรื่องของการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ

“ผมคิดว่าปี 2015 เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก นั่นเป็นตอนที่เหตุการณ์ที่เรียกกันว่าวิกฤตผู้อพยพเริ่มต้นขึ้นในตอนใต้ของยุโรป ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และผมคิดว่าในแง่หนึ่ง วิกฤตนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยกลุ่มขวาจัดในการเรียกร้องนโยบายผู้อพยพที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งเป็นอะไรที่ย้อนแย้งมาก

“แปลกมากที่สิ่งนี้เกิดในประเทศในยุโรปกลางที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตผู้อพยพมากขนาดนั้นด้วย เพราะว่ามีผู้อพยพจำนวนน้อยมากที่เดินทางไปประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก แต่ภาพของวิกฤตผู้อพยพที่ออกมาในสื่อและในวาทกรรมทางการเมืองออกมาในทางลบมาก ไปในทางว่าเป็นอันตรายต่ออัตลักษณ์ชาติ และกลุ่มขวาจัดก็ใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องมือและประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นการสร้างภาพของศัตรูในทางการเมืองประสบความสำเร็จอย่างมากในหลายประเทศในยุโรป แต่นอกจากนี้ฝ่ายขวาจัดก็มักจะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงหรือชักจูงวาทกรรมเรื่องของการอพยพและสิทธิมนุษยชน นี่เป็นตัวอย่างแรก

“ตัวอย่างที่สองคือการณรงค์ต่อต้านกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก และโดยเฉพาะในโปแลนด์ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมคิดว่ากลไกของมันไม่ต่างกันเท่าไหร่ คือการที่ฝ่ายขวาจัดพยายามใช้ความรู้สึกไม่เป็นมิตรต่อกลุ่มคนชายขอบเป็นเครื่องมือ พวกเขาพยายามสร้างศัตรูขึ้นมาและใช้มันเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนทางการเมือง ซึ่งดูเหมือนว่าจะประสบความสำเร็จมากในสังคมโปแลนด์ส่วนใหญ่ซึ่งดูเหมือนกับว่าจะถูกโน้มน้าวโดยโฆษณาชวนเชื่อที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังกลุ่มคนชายขอบแบบนี้ได้ง่าย”

ถึงกระนั้น ปานกอฟสกียืนยันว่าไม่ใช่ทุกคนในโปแลนด์ที่เกลียดกลัวคนหลากหลายทางเพศ โดยตั้งข้อสังเกตว่าโปแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในยุโรปที่ยกเลิกกฎหมายลงโทษคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งในโปแลนด์ การรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมายตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 และการใช้การรณรงค์ต่อต้านกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเป็นเครื่องมือทางการเมืองเป็นปรากฏการณ์ในศตวรรษที่ 21 ปานกอฟสกีระบุว่า การรณรงค์ดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนทางการเมืองโดยกลุ่มขวาจัดภายในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 แต่ในขณะเดียวกันขบวนการเพื่อสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน

“ผมคิดว่าสิ่งที่เราเห็นในโปแลนด์ขณะนี้คือการแบ่งขั้วโดยมีคนที่เปิดรับแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมของคนหลากหลายทางเพศอยู่ฝั่งหนึ่ง และอีกฝั่งคือกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกหรือการยอมรับสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างรุนแรง” ปานกอฟสกีอธิบาย

“ผมคิดว่าน่าสนใจมากที่นักการเมืองที่เปิดตัวเป็นคนรักเพศเดียวกันคนแรก ๆ ของยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก โรเบิร์ต เบียดรอน เป็นที่นิยมมากในโปแลนด์ ตอนนี้เขาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ชื่อ Spring และเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่เป็นที่นิยมที่สุดในโปแลนด์ ในปี 2011 โรเบิร์ต เบียดรอนได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนในสภาของโปแลนด์เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ก็ยังมีผู้แทนอีกคนที่ถูกเลือก คือแอนนา กรอดสกา ซึ่งเป็นผู้แทนที่เป็นคนข้ามเพศคนแรกในโปแลนด์ โดยได้รับเลือกจากคนในเมืองคราคุฟ ผมกำลังจะย้ำว่าไม่ใช่ทุกคนในโปแลนด์ที่เป็นพวกเกลียดกลัวคนหลากหลายทางเพศ แต่โชคร้ายที่สังคมโปแลนด์มีแนวโน้มของความเกลียดกลัวความหลากหลายทางเพศสูงมากในทุกวันนี้ คิดว่าโดยเฉพาะในคริสตจักรคาทอลิก ซึ่งมีอิทธิพลมากต่อความคิดเห็นของสาธารณะแต่ผมคิดว่ามันอาจจะสำคัญเช่นกันที่เราจะต้องบอกว่าความเกลียดกลัวคนหลากหลายทางเพศที่รุนแรงมากในคริสตจักรในโปแลนด์เป็นไปในทางตรงกับข้ามกับคำสอนของพระสันตะปาปา พระสันตะปาปาฟรานซิสเคยออกมาพูดอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องของการยอมรับและการเคารพกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แต่นั่นไม่ใช่คำสอนที่เป็นที่นิยมในคริสตจักรในโปแลนด์

“ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการแบ่งขั้วอย่างรุนแรงในสังคมโปแลนด์ ซึ่งเราจะเห็นได้จากการชุมนุมเรียกร้องสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในหลายเมืองในโปแลนด์เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งการชุมนุมเหล่านี้ในหลายที่ถูกโจมตีโดยกลุ่มขวาจัด เช่นในเมืองเบียวิสตอก มีกรณีหนึ่งที่ดังมากเมื่อเดือนกรกฎาคม การชุมนุมเพื่อสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมีผู้เข้าร่วมประมาณหนึ่งพันคน ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านมีประมาณสี่พันคน ดังนั้นที่จริงแล้วฝ่ายต่อต้านแข็งแกร่งกว่าฝ่ายเรียกร้องสิทธิเอง ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องปกติในสังคมโปแลนด์หรือไม่ก็ได้ แต่มันก็ทำให้เห็นว่าขบวนการต่อต้านสิทธิของคนหลากหลายทางเพศเป็นขบวนการที่แข็งแรงมาก”

ปานกอฟสกีระบุว่า ต้นเหตุของปรากฎการณ์นี้คือความวิตกกังวลในเรื่องของอัตลักษณ์ชาติและอัตลักษณ์ทางเพศ โดยเฉพาะอัตลักษณ์ของความเป็นชาย

“ถ้าเราลองสังเกตฝ่ายต่อต้านการชุมนุมเรียกร้องสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศในเบียวิสตอก เราจะเห็นว่าคนส่วนใหญ่ที่ต่อต้านแนวคิดสิทธิที่เท่าเทียมของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างรุนแรงส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอายุน้อย” ปานกอฟสกีกล่าว “เป็นเรื่องน่าสนใจมากที่ชายหนุ่มเหล่านี้ถูกดึงตัวมาร่วมกลุ่มและถูกผลักดันโดยเครือข่ายของวัฒนธรรมแฟนบอลอันธพาล ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว แต่เห็นได้ชัดมากว่าพวกเขาส่วนใหญ่มาจากสนามของสมาคมฟุตบอลท้องถิ่น ดังนั้นภาพของความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ วัฒนธรรมกีฬา การเมือง และความรุนแรงทางกายต่อกลุ่มคนชายขอบจึงเห็นได้ชัดมากในกรณีนี้

“ปรากฏการณ์แฟนบอลหัวรุนแรงไม่ใช่เรื่องใหม่ในยุโรป เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 1980 และโดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ ซึ่งขยายต่อไปประเทศอื่น ผมคิดว่าตอนนี้ในประเทศอังกฤษ เรื่องนี้ไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าใด แต่ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศเช่นโปแลนด์หรือรัสเซีย ในประเทศในยุโรปตะวันออกหรือกลุ่มประเทศที่เคยเป็นประเทศยูโกสลาเวีย แต่มันมักจะมาพร้อมกับภูมิหลังทางมโนคติบางอย่าง ซึ่งมักจะมีแนวคิดเหยียดเชื้อชาติและเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ดังนั้นกลุ่มขวาจัดบางกลุ่มที่เรากำลังพูดถึงก็ดึงตัวสมาชิกและผู้สนับสนุนจากสนามฟุตบอลในยุโรปตะวันออกและโปรโมทแนวคิดของพวกเขาในบริบทของวัฒนธรรมฟุตบอลและสนามฟุตบอล

“ผมขอยกตัวอย่างเป็นกรุงซาราเจโว ประเทศบอสเนีย ในเดือนกันยายน พวกเขาจัดงาน gay pride เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบอสเนีย ผมไปซาราเจโวในเดือนพฤษภาคมและผมได้คุยกับผู้จัดงานนี้ เป็นการพูดคุยที่น่าสนใจมาก พวกเขาบอกผมว่าฝ่ายต่อต้านเริ่มรวมตัวกันในช่วงหลายเดือนก่อนการจัดงานไพรด์ โดยมีศูนย์กลางเป็นสนามฟุตบอล เป็นเรื่องน่าสนใจและแปลกมากที่พวกแฟนบอลหัวรุนแรงที่แสดงออกถึงความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันในสนามฟุตบอลแสดงออกด้วยการโบกธงชาติประเทศบรูไน เพราะกฎหมายที่เกลียดชังคนรักเพศเดียวกัน ผมคิดว่านั่นเป็นกรณีที่น่าสนใจมากของสภาวะโลกาภิวัตน์ในทางลบ คุณอาจจะเรียกว่าเป็นโลกาภิวัตน์ในทางลบ หรือการแพร่กระจายในระดับโลกของความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน หรือการแพร่กระจายของการไม่ยอมรับความแตกต่าง แต่ผมคิดว่ามันเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจมาก

ปานกอฟสกีขณะบรรยายในงานบรรยายสาธารณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ภาพจากหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

โซเชียลมีเดียกับกระแสขวาตกขอบ

“อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มหัศจรรย์ แต่ผมคิดว่าตอนที่เราเริ่มมีอินเทอร์เน็ต คนจำนวนมากมีมุมมองที่ไร้เดียงสาต่อเทคโนโลยีชิ้นนี้ในฐานะวิธีที่ดีมากที่จะเชื่อมโยงผู้คน ในฐานะวิธีติดต่อสื่อสาร แต่ว่ามันมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม สัญชาติ ศาสนา และอื่น ๆ แน่นอนว่ามันสามารถเป็นวิธีการติดต่อสื่อสารที่ดีเยี่ยมได้ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดตลอดเวลาที่ผ่านมาก็คือกลุ่มที่แสดงความเกลียดชังสามารถใช้เครื่องมือใหม่นี้ได้อย่างประสบความสำเรจมากในการส่งเสริมการกีดกันและความเกลียดชังและสร้างชุมชนผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนการกีดกันและความเกลียดชัง ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นหนึ่งในความย้อนแย้งที่ใหญ่ที่สุดของยุคสมัยของเรา

“ผมอยากจะเน้นอีกครั้งว่าเราไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องการพูดเท่านั้น เพราะการโจมตีด้วยคำพูดนำไปสู่อาชญากรรมของความเกลียดชังและความรุนแรงทางกาย และเราสามารถเหตุการณ์ก่อการร้ายอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นที่เมืองไครส์เชิร์ชในนิวซีแลนด์ได้ที่นี่เช่นกัน แต่แน่นอนว่ามีอีกหลายกรณีที่การประทุษร้ายทางวาจานำไปสู่ความรุนแรง ยกตัวอย่างเช่นในศรีลังกาและเมียนมาร์ และแน่นอนว่าเรารู้ว่าโซเชียลมีเดียสามารถเป็นเครืองมือที่สำคัญในการปลุกระดมความเกลียดชัง เพราะฉะนั้นผมคิดว่านี่คือหนึ่งในความท้าทายหลัก ๆ ของยุคสมัยของเรา เราจะป้องกันไม่ให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมือของความเกลียดชัง การประทุษร้ายด้วยวาจา และการปลุกระดมได้อย่างไร

“ไม่มีใครมีทางออกที่สมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับปัญหานี้ แต่ผมจะพูดถึงเครือข่ายนานาชาติที่องค์กรของเรา สมาคม Never Again เป็นสมาชิก ชื่อว่าเครือข่ายต้านความเกลียดชังไซเบอร์นานาชาติ (International Network Against Cyber Hate) และผมคิดว่าเรายังต้องไปอีกไกล แต่มีกิจกรรมมากมาย ทั้งกิจกรรมให้ความรู้และอื่น ๆ ที่จัดขึ้นเพื่อพยายามหยุดยั้งการที่โซเชียลมีเดียถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยกลุ่มเหยียดเชื้อชาติและชาตินิยมหัวรุนแรง แต่ผมก็คิดว่าบริษัทโซเชียลมีเดียใหญ่ ๆ บางบริษัทเพิ่งเริ่มที่จะเข้าใจความรับผิดชอบของตน บริษัทเช่นเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ พวกเขายังต้องทำอะไรอีกมาก แต่ผมคิดว่าหลังจากแรงกดดันจากภาคประชาสังคม พวกเขากำลังเริ่มที่จะรับรู้ถึงความท้าทายและความรับผิดชอบของพวกเขาในเรื่องนี้”

ความท้าทายของยุคสมัยของเรา

ปานกอฟสกีกล่าวว่าเป็นการยากที่เขาจะพูดเรื่องสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เขาก็บอกว่ามีความท้าทายที่ผู้คนทั้งในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก เช่นในโปแลนด์และฮังการี และในที่อื่นๆ ล้วนต้องเผชิญ ซึ่งร่วมไปถึงแนวคิดสุดโต่ง ลัทธิอำนาจนิยม และแนวคิดประชานิยม แต่สำหรับปานกอฟสกี หนึ่งในบทเรียนที่สำคัญและหนึ่งในความท้าทายหลักๆ ของยุคสมัยของเราคือความที่ว่าเราไม่สามารถมองว่าประชาธิปไตยเป็นของตายได้อีกต่อไปแล้ว

“ผมคิดว่าหนึ่งในบทเรียนที่สำคัญที่เรามีและหนึ่งในความท้าทายหลักๆ ที่เป็นความท้าทายที่เราต่างต้องเผชิญก็คือความจริงที่ว่าเราไม่สามารถมองว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งแน่นอนได้ หรือผลของกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยไม่สามารถถูกมองว่าเป็นสิ่งที่แน่นอนได้ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นคำถามปลายเปิดเสมอ มันขึ้นอยู่กับผู้คนจริงๆ ขึ้นอยู่กับประชาชน แต่ผลที่ได้ไม่ใช่สิ่งแน่นอน เราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

“ผมคิดว่าในช่วงทศวรรษที่ 90 เรามักจะนึกเอาว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยเป็นถนนทางเดียว เป็นเส้นทางอะไรสักอย่างที่เราไม่สามารถหันหลังกลับมาได้ โชคร้ายที่ว่าทุกวันนี้เราเห็นแล้วว่ากระบวนการนี้สามารถย้อนกลับได้ แต่ผลของมันยังไม่ปรากฎออกมา มันจะขึ้นอยู่กับประชาชนเสมอว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

“ผมคิดว่ามีสิ่งที่ทุกคนจะทำได้ในทุกระดับ” ปานกอฟสกีบอกเมื่อเราถามว่าจะทำอย่างไรจึงจะต้านกระแสการหันกลับไปหาแนวคิดหัวรุนแรงและการเมืองของความเกลียดชังได้ “ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญมากที่ผู้คนมีความกล้าหาญ ความกล้าหาญของพลเรือนสำคัญมาก และการคิดวิเคราะห์ก็สำคัญมากเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเรามีการโฆษณาชวนเชื่อที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและแนวคิดชาตินิยม

“ผมเชื่อว่ามีสิ่งที่สำคัญมากในทุกวันนี้ ผมคิดว่าเราอาจจะเรียกมันว่าความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในระดับนานาชาติ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในระดับขององค์กรภาคประชาสังคมเป็นอะไรที่สำคัญมาก แต่ในระดับของประชาชนที่เป็นปัจเจกก็สำคัญเช่นกัน ความตระหนักรู้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญและบางครั้งก็เป็นสิ่งที่ขาดหายไป ผมคิดว่าเราทุกคนมีแนวโน้มที่จะมองเห็นแค่ปัญหาของเราเองในประเทศของเรา ที่จริงแล้วปัญหาเหล่านี้หลายๆ อย่างเป็นปัญหาที่เราเผชิญเหมือนกันและทางแก้ปัญหาอาจเป็นทางแก้ที่เราใช้ร่วมกันได้ ผมคิดว่าในบริบทนี้ ความเป็นหนึ่งเดียวกันคือประเด็นหลัก ผมรู้ว่าพูดมันง่ายกว่าทำ แต่ผมคิดว่านี่เป็นหนึ่งในแง่มุมที่สำคัญมากของความท้าทายนี้ แต่มันก็เป็นโอกาสเช่นกัน นอกจากนี้เทคโนโลยีก็ยังมอบโอกาสที่จะแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันที่เราอาจไม่มีมาก่อน แต่เราอาจจะยังใช้มันไม่พอ”

“ถ้าจะให้พูดสั้นๆ ผมคิดว่าวัฒนธรรมแฟนบอลในสนามฟุตบอลเป็นหนึ่งในจุดศูนย์กลางที่สำคัญของการเรียนรู้ทางสังคม มันเป็นที่ที่วัยรุ่น โดยเฉพาะเด็กหนุ่มวัยรุ่นในหลายๆ กรณี ได้รับการปลูกฝังคุณค่าและโชคร้ายที่ส่วนใหญ่คุณค่าเหล่านี้เป็นคุณค่าในทางลบ เป็นแนวคิดเกลียดกลัวคนต่างชาติ แนวคิดชาตินิยม และแนวคิดเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน แต่มันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น

“องค์กรของเราในโปแลนด์ สมาคม Never Again ใช้เวลาและพลังงานเยอะมากในการวิจัยปัญหาการไม่ยอมรับความแตกต่างในวัฒนธรรมแฟนบอล และนอกจากนี้เราก็พยายามส่งเสริมรูปแบบของวัฒนธรรมแฟนบอลในเชิงบวก กีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลสามารถเป็นเครื่องมือที่ใช้ส่งเสริมการเคารพความหลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำในวงกว้างในช่วงการจัดการแข่งขันฟุตบอล European Championship ในปี 2012 ในโปแลนด์และยูเครน

“เราทำแคมเปญให้ความรู้ในวงการฟุตบอลและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลภายใต้ชื่อ “เคารพความหลากหลาย” (“Respect Diversity”) โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมฟุตบอลยุโรป ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจมาก และแน่นอนว่าคนจำนวนหลักล้านดูการแข่งฟุตบอล European Championship ทั้งในสนามและโดยเฉพาะผ่านโทรทัศน์ และในฐานะองค์กรภาคประชาสังคม นี่เป็นโอกาสที่ดีมากที่เราจะส่งเสริมให้เกิดการเคารพความแตกต่างผ่านฟุตบอล และผมคิดว่ามันน่าสนใจมากที่ตอนนี้เราได้ยินว่ามีแผนที่จะให้กลุ่มประเทศอาเซียนจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ผมคิดว่ามันอาจจะเป็นโอกาสที่น่าสนใจมากสำหรับภาคประชาสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะจัดทำแคมเปญในเชิงบวก และถ้าเราจะสามารถเป็นประโยชน์ได้ พวกเรายินดีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จริงๆ แล้วพวกเราเคยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับองค์กรภาคประชาสังคมในรัสเซียค่อนข้างมาก เพราะการแข่งขันฟุตบอลโลกปีที่แล้วจัดที่รัสเซีย และเราก็มีส่วนร่วมในกระบวนการแบ่งปันแนวทางการทำงานที่ดีในการจัดการกับการไม่ยอมรับความแตกต่างในวงการฟุตบอลและผ่านฟุตบอล”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท