Skip to main content
sharethis

ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กประกาศ จะเปลี่ยนชื่อสวนสาธารณะในเขตบรูคลินเป็นชื่อของ มาร์ชา พี จอห์นสัน หญิงข้ามเพศและ drag queen ที่เป็นคนดำ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศในเหตุการณ์สโตนวอลล์ปี 2512 ต้นกำเนิดขบวนการไพรด์ทั่วโลกในเวลาต่อมา ผู้ว่าฯ ยังบอกว่ารัฐควรมีบทบาทในการต่อสู้และต้านกลับความเกลียดชังต่อกลุ่มชุมชนคนชายขอบด้วย

ซ้าย: มาร์ชา พี จอห์นสัน ในภาพวาดโดยแกรี่ เลอกอลท์ (ที่มา:วิกิพีเดีย)

5 ก.พ. 2563 แอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กประกาศในงานกาลาของฮิวแมนไรท์แคมเปญว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อสวนสาธารณะในเขตบรูคลินที่ชื่อเดิมคือ "อีสต์ริเวอร์สเตทปาร์ค" ให้เป็นชื่อของ มาร์ชา พี จอห์นสัน drag queen (การแต่งกายเลียนแบบผู้หญิง) หญิงข้ามเพศคนดำที่มีบทบาทในการต่อสู้ช่วงการลุกฮือประท้วงที่สโตนวอลล์ปี 2512

ประกอบสร้างวาระรำลึกจลาจล 'สโตนวอลล์' | หมายเหตประเพทไทย #266

คูโอโมระบุว่าเขาต้องการให้รัฐนิวยอร์กเป็น "เมืองหลวงแห่งความก้าวหน้า" ของสหรัฐฯ เขาบอกอีกว่าในขณะที่พวกเขาได้รับชัยชนะทางกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมให้กับชุมชนชาว LGBTQ แต่พวกเขาก็พ่ายแพ้ในวงกว้างในเรื่องของความเท่าเทียมทางอัตลักษณ์ คูโอโมยังบอกว่ารัฐควรจะมีบทบาทในการ "ต่อสู้กลับ" ต่อความเกลียดชังที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มชุมชนคนชายขอบ

ในการแถลงข่าวมีการกล่าวยกย่องว่าจอห์นสันเป็น "สัญลักษณ์ของชุมชน" และบอกอีกว่าสวนสาธารณะที่จะตั้งชื่อให้ใหม่นี้จะเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกที่ใช้ชื่อของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

จอห์นสันเสียชีวิตในปี 2535 เมื่ออายุ 46 ปี โดยยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่นอน เธอทำกิจกรรมในเรื่องบุคคลหลากหลายทางเพศมาหลายสิบปี เป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรคนข้ามเพศองค์กรแรกของโลกร่วมกับซิลเวีย ริเวรา ชื่อว่า STAR (ปฏิบัติการปฏิวัติของคนข้ามเพศบนท้องถนน หรือ Street Transvestites Action Revolutionaries) โดยที่องค์กรนี้กลายเป็นตัวแทนจัดตั้งให้กับ LGBTQ คนรุ่นเยาว์และคนทำงานบริการทางเพศ สร้างแหล่งที่พักอาศัย แหล่งชุมชน และการสนับสนุนช่วยเหลือบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการความช่วยเหลือด้วย

นอกจากเรื่องเกี่ยวกับจอห์นสันแล้ว คูโอโมยังพูดถึงการยกเลิกคำสั่งห้ามจ่ายเงินให้แม่เลี้ยงเด็กและบอกว่าจะวางแนวทางให้การรับอุปการะเลี้ยงเด็กมีกระบวนการซ้บซ้อนน้อยลงและเป็นมิตรกับ LGBTQ มากขึ้น

สื่อวิทยุ NPR นำเสนอเรื่องนี้พร้อมกับเผยแพร่บทสัมภาษณ์ในอดีตปี 2532 ที่พวกเขาเคยสัมภาษณ์จอห์นสันไว้ในชุดรายการที่ชื่อว่า "สร้างประวัติศาสตร์ชาวเกย์" โดยที่จอห์นสันเล่าว่าในการประท้วงครั้งนั้นมีการตะโกนคำขวัญต่อต้านการใช้ความรุนแรงโหดร้ายของตำรวจ และแสดงออกอย่างชัดเจนว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศจะไม่ทนต่อการถูกข่มเหงรังแกจากตำรวจอีกต่อไปแล้ว ทั้งนี้ในการประท้วงตอนนั้นผู้คนยังไม่ได้พัฒนาความรู้เรื่องเพศสภาพมากพอจึงยังมีแต่การพูดถึงเกย์และเลสเบียน ผิดกับในปัจจุบันที่ขบวนการเคลื่อนไหวหลายเป็นขบวนการสิทธิพลเมือง LGBTQ แล้ว

เรียบเรียงจาก

Marsha P. Johnson is getting a state park in Brooklyn named after her, LGBTQ nation, Feb. 2, 2020

Brooklyn park to be renamed after trans activist Marsha P. Johnson, NBC, Feb. 2, 2020

New York State To Rename Brooklyn Park After LGBT Activist Marsha P. Johnson, NPR, Feb. 3, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net