Skip to main content
sharethis

This Land No Mine ชวนจับตาสถานการณ์เหมืองแร่ทั่วประเทศไทยในปี 62 ที่มีประชาชนเห็นข้อบกพร่องของกระบวนการต่างๆ รวมตัวกันลุกขึ้นคัดค้าน รวมถึงชวนจับสถานการณ์ร้อนในปี 63 ที่การต่อสู้ระหว่างประชาชนในพื้นที่กับเหมืองยังไม่สิ้นสุด


เดินปิดเหมือง ภาพจากเพจ เหมืองแร่หนองบัว

จากการติดตามสถานการณ์เหมืองแร่ในประเทศไทย ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมาของเพจ This Land No Mine สิ่งที่เราสังเกตเห็นอย่างหนึ่งคือ ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่นั้น กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภาค ทุกพื้นที่ของประเทศไทย และมีพี่น้องประชาชนไม่น้อย ที่ทราบข้อมูล เห็นพิรุธ หรือข้อบกพร่องจากกระบวนการต่างๆที่ไม่ถูกต้อง จนมีการรวมตัวกันและลุกขึ้นมาแสดงพลังคัดค้านการทำเหมืองแร่ในหลายพื้นที่

ด้วยเหตุผลนี้เอง ในครั้งนี้ ทางเพจ This Land No Mine จึงขอหยิบยก เรื่องเด่น ประเด็นร้อน 5 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับการคัดค้านเหมืองแร่ ในปี 2562 มาดังนี้

 

5 เรื่องเด่น ประเด็นเหมืองแร่ 2562

1. อุ้ม เอกชัย อิสระทะ แกนนำต่อต้านเหมืองหิน

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 นายเอกชัย อิสระทะ ได้เดินทางไปร่วมสังเกตการณ์ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในการขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่หินปูน ของบริษัทสิงห์ศิลาทอง จำกัด ที่จังหวัดพัทลุง แต่เมื่อไปถึงสถานที่จัดเวทีฯ กลับถูกอุ้ม นำไปกักขัง ยึดทรัพย์สินและอุปกรณ์สื่อสาร พร้อมทั้งข่มขู่ให้หยุดการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ 

แม้เหตุการณ์นี้จะจับตัวผู้ต้องหาได้ จากการเข้ามามอบตัว แต่สิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือการเอาตัวผู้อยู่เบื้องหลังมารับผิด สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายเอกชัยฯ กำลังทำให้เราเห็นปัญหาของความรุนแรง ที่ถูกนำมาใช้เพื่อจัดการกับกลุ่มผู้คัดค้านการทำเหมืองมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตและยังคงความรุนแรงมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเหมืองหินที่ลงทุนน้อย แต่ได้ผลตอบแทนมหาศาล

 

2.สกัดเหมืองแร่เถื่อน ฅนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่

ทราย ชนิดของดินที่ลักษณะเป็นเม็ดเดี่ยวๆ ไม่เกาะกัน และเป็นดินที่มีการระบายได้ดีเกินไป จึงไม่ค่อยถูกใจเกษตรกรมากนัก จนบางครั้งก็ยอมที่จะขายในราคาถูกแสนถูก เพื่อกำจัดดินทรายเหล่านี้ออกไป เพื่อแลกกับการปรับพื้นที่ให้เหมาะแก่การปลูกพืชให้มากที่สุด โดยหารู้ไม่ว่า จริงๆแล้วดินทรายเหล่านั้นไม่ใช่ดินทรายธรรมดา แต่คือทรายซิลิก้า ที่มูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแก้ว 

ในพื้นที่ ต.เหล่าไฮงาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้มีการเข้ามาขอประทานบัตรทำเหมืองทรายแก้วในพื้นที่ โดยเข้ามาในเวลาใกล้เคียงกัน 2 บริษัท จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อผลกระทบและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เพราะผู้ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นมีเพียงหมู่บ้านเดียว การรวมตัวของพี่น้องฅนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่จึงเกิดขึ้น และจากการรวมตัวกันศึกษาข้อมูลโดยมีนักวิชาการต่างๆเข้ามาให้ความรู้นี่เอง ทำให้ในพื้นที่พบพิรุธว่า มีการลักลอบขุดแร่ก่อนได้รับประทานบัตร เนื่องจากสภาพพื้นที่ประทานบัตรที่การกองดินทรายไว้รอแล้ว และพบว่าเคยมีการรับซื้อดินจากชาวบ้านจำนวนมากในราคาถูก และพิรุธในข้อมูลที่ให้สำหรับจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ทำให้คาดหมายได้ว่าจะมีการการนำดินทรายจากพื้นที่อื่นเข้ามาแต่งแร่อย่างแน่นอน 

และในที่สุด จากการแสดงพลังคัดค้านอย่างต่อเนื่องของชาวบ้าน จากการติดตามสถานการณ์และหาข้อเท็จจริงของสื่อมวลชน การเข้ามาให้ข้อมูลของนักวิชาการด้านต่างๆ ก็เป็นผลทำให้ในวันที่ 9 กันยายน 25612 อุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ทำการเพิกถอนคำขอประทานบัตรทำเหมืองทรายแก้วในพื้นที่ ทั้ง 2 คำขอ

 

3. พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง แสดงพลังยับยั้งเหมืองถ่านหิน

เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ กับการรวมตัวกันของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในอำเภออมก๋อย เรื่องราวเริ่มต้นจากการเข้ามาติดประกาศว่าจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในการทำเหมืองแร่ถ่านหินที่หมู่บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกอย่างมากทั้งพี่น้องชาวบ้านในพื้นที่ และพี่น้องประชาชนในเขตตัวอำเภอ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่ามีการสำรวจ หรือมีการขอประทานบัตรในพื้นที่ และชาวบ้านในพื้นที่เองก็ไม่เคยได้เข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่กฎหมายระบุไว้เลยแม้แต่เวทีเดียว

ความไม่ชอบมาพากลนี้เอง ทำให้หลายภาคส่วนเข้ามาร่วมศึกษาประเด็นปัญหาจนพบข้อพิรุธหลายประการ โดยเฉพาะการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่มีข้อสงสัยว่าข้อมูลบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง อาจจะไม่ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างที่อ้าง และดูเหมือนว่าจะมีลายเซนต์ปลอมหลายจุด ความไม่ซื่อสัตย์ ความไม่ตรงไปตรงมานี้เองทำให้เกิดรวมพลังอย่างมหาศาลของชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ จนทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่มีชาวบ้านกว่าสองพันคนลุกขึ้นมาสกัดกั้นเวทีรับฟังความคิดเห็น ในวันที่ 28 กันยายน 2562 เพื่อแสดงพลังว่าคนอมก๋อยไม่เอาเหมืองถ่านหิน 

การต่อสู้ของพี่น้องอมก๋อยอาจจะไม่ง่ายนัก เพราะเหมืองถ่านหินดังกล่าว มีเป้าหมายสำคัญเพื่อลดต้นทุนให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง SCG เพื่อให้ SCG ได้ใช้ถ่านหินในราคาที่ถูกที่สุด แต่ถึงจะไม่ง่ายเราก็ยังเชื่อว่าพลังของประชาชน จะทำให้พี่น้องอมก๋อยได้รับชัยชนะได้ในที่สุด

 

4. ชัยชนะแรกของขบวนการภาคประชาชน ตามพ.ร.บ.แร่ใหม่ ยุติเหมืองหิน(ทราย) คำป่าหลาย จ.มุกดาหาร

จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ทำให้ นักต่อสู้หลายพื้นที่ต้องลุกขึ้นมาศึกษากฎหมายแร่ฉบับใหม่ เพื่อเตรียมตัวป้องกันการพลิกแพลงกฎหมาย จนกลายเป็นกฎหมายแร่ภาคพิสดาร จนกลายเป็นกฎหมายลูก ระดับอนุบัญญัติกลับมีอำนาจเหนือกฎหมายแม่อย่างพ.ร.บ.แร่ หรือแม้แต่การที่ แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ที่ไม่ได้มีสถานนะเป็นกฎหมายเสียด้วยซ้ำ กลับสามารถสั่งยับยั้งให้บางโครงการไม่ต้องทำตามกฎหมายแร่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร ที่รวมกลุ่มกันเพื่อคัดค้านการทำเหมืองหินทรายในพื้นที่ ยังคงยืนยันว่า การดำเนินโครงการเหมืองแร่ต้องทำตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติแร่ 2560 โดยเฉพาะมาตราสำคัญ มาตรา 17 วรรค 4 ที่ห้ามนำพื้นที่ต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ไปเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง จนนำมาสู่การพิสูนจ์ข้อเท็จจริงจนพบว่ามีตาน้ำผุดซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำซับซึมอยู่ภายในเขตประทานบัตร ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2562 ได้มีการแจ้งอย่างไม่เป็นทางการจากทรัพยากรจังหวัดมุกดาหาร ว่ามีการเพิกถอนคำขอประทานบัตรเหมืองหินทรายในพื้นที่ไปแล้ว นี่จึงนับว่าเป็นชัยชนะแรก และหวังว่าการเพิกถอนคำขอจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ลมปากของตัวแทนจากส่วนราชการ

 

5. 25 ปี แห่งการต่อสู้ สู่กิจกรรม "เดิน-ปิด-เหมือง" หยุดการต่อสัมปทานเหมืองหิน @ดงมะไฟ

กิจกรรม "เดิน-ปิด-เหมือง" เป็นกิจกรรมการรณรงค์ครั้งใหญ่ของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชน เขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ในพื้นที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู และเป็นพื้นที่หนึ่ง ที่มีการต่อสู้กับการทำเหมืองหินและโรงโม่หินมาอย่างยาวนาน ตลอดเส้นทางการต่อสู้ มีบทเรียนต่างๆมากมายให้ชาวบ้านนักต่อสู้พื้นที่อื่นๆได้ศึกษา ทั้งบทเรียนเรื่องการสูญเสีย จากการที่ต้องเสียแกนนำจากการถูกสังหาร มากถึง 4 คน และบทเรียนแห่งชัยชนะ ที่สร้างบรรทัดฐานของเรื่องสิทธิชุมชนจากการฟ้องศาลปกครอง

การเดินปิดเหมือง ของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้จัดขึ้นในวันที่ 7-12 ธันวาคม 2562 การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ถือว่าเป็นการจัดกิจกรรมที่ประสบผลสำเร็จอย่างมากของชาวบ้าน กำลังใจจากชาวหนองบัวลำภูตลอดเส้นทางการเดิน การติดตามสถานการณ์จากสื่อโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่การลุกขึ้นมารวมตัวกันอย่างมากมายอีกครั้งในรอบหลายปี กำลังปลุกไฟแห่งการต่อสู้ขึ้นมาอีกครั้ง และในปี 2563 นี้เอง ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ประกาศ ณ ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภูว่า 

"พวกเราจะปิดเหมืองให้ได้ภายในปี 2563 นี้"

 

จับตาสถานการณ์ร้อน ปี 63

1. ฟื้นคืนชีพเหมืองทองอัครา 

ภายหลังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรา 44 สั่งระงับกระบวนการผลิต การต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ การสำรวจ การต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรี โดยมีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ประเทศออสเตรเลีย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ โดยมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการทำเหมืองทองคำ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้บริษัท คิงส์เกตฯ ได้ใช้สิทธิ์ทาฟตา (TAFTA : ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย) นำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการโลกตัดสิน พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายให้บริษัทเป็นจำนวนเงินประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากการที่มีคำสั่งให้เหมืองแร่ทองคำชาตรียุติการประกอบกิจการในปี 2559 มีการละเมิดข้อตกลงทาฟตา โดยกำหนดการพิจารณาคดีตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการกับราชอาณาจักรไทย ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย จะมีขึ้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ประเทศสิงคโปร์ นี้ ซึ่งต้องจับตามองเป็นพิเศษต่อกระบวนการพิจารณาในครั้งนี้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

 

2. รัฐบาลประยุทธ์ปลุกผีโปแตช รุกพื้นที่ทั่วอีสาน

ภายหลังจากการประกาศใช้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 - 2564 ซึ่งได้มีการกำหนดให้แหล่งแร่โปแตชและเกลือหินในภาคอีสาน เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ได้มีความพยายามผลัดดันโครงการทำเหมืองแร่โปแตชของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยการเปิดทางให้บริษัทเอกชนเข้าสำรวจแร่โปแตชทั่วภาคอีสาน ซึ่งปัจจุบันได้มีบริษัทเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตอาชญาบัตรเพื่อสำรวจแร่โปแตชไปแล้วกว่า 246,010 ไร่ ได้ประทานบัตรไปแล้ว 2 บริษัท คือ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 9,005 ไร่ และบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ 9,707 ไร่ รวมทั้งสิ้นกว่า 18,712 ไร่

และเมื่อเข้าสู่ปี 2563 สถานการณ์ของการขออนุมัติ/อนุญาตการสำรวจและทำเหมืองแร่โปแตชในแต่ละพื้นที่ก็เป็นที่น่าจับตามองและเริ่มร้อนแรงมากขึ้น เมื่อ“กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี” ได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการประชุมปรึกษาหารือเบื้องต้นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี หลังจากหน่วยงานราชการในจังหวัดมีการจัดประชุม เพื่อดำเนินกระบวนการตามคำขอประทานบัตรของบริษัท เอเชีย แปซิฟิคโปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัดซึ่งเป็นการปลุกผีเหมืองแร่โปแตชอุดรฯ กลับมาขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านการสำรวจและทำเหมืองแร่โปแตชมากว่า 20 ปี 

ไม่เพียงเท่านั้น ในจังหวัดนครราชสีมาเองก็มีความเคลื่อนไหวเรื่องการขอประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชเช่นกัน หลังจากมีการสำรวจลับๆ แบบไม่บอกชาวบ้าน ของ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียม กรุ๊ป จํากัด ที่ได้รับใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตชใน จ.นครราชสีมา จำนวน 13 แปลง กว่า 130,000 ไร่ และกำลังจะเข้าสู่กระบวนการจัดประชุมปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งมีการขอประทานบัตรมากถึง 4 แปลง เป็นเนื้อที่กว่า 35,000 ไร่ และเริ่มมีกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวเพื่อคัดค้านเหมืองโปแตชกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะ “กลุ่มรักษ์ลำคอหงษ์” ที่มีการยื่นหนังสือคัดค้าน และแถลงการณ์ไม่เอาเหมืองแร่ ในวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา

และอีกหนึ่งสถานการณ์สำคัญคือ การขออาชญาบัตรสำรวจแร่โปแตช รอบที่ 2 ของ บริษัท ไชน่า หมิงต๋า คอร์เปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หลังจากอาชญาบัตรสำรวจแร่โปแตชของบริษัทได้หมดอายุลงในวันที่ 11 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา และกำลังดำเนินการยื่นคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่โปแตชในแปลงเดิม ท่ามกลางเสียงคัดค้านของ “กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส” ที่ได้คัดค้านการสำรวจและการทำเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนครมาอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่การฟ้องดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายกับชาวบ้าน 9 คน เป็นจำนวนเงิน 3,600,000 บาท 

การเคลื่อนไหวอย่างพร้อมเพรียงกันของบริษัทต่างๆที่ทำเหมืองโปแตชรอบนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนแล้วว่าเหมืองแร่โปแตชกำลังจะกลับมาทั่วภาคอีสาน!!

 

3. จับตา ปิดเหมืองหิน ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู

ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะร้อนระอุตั้งแต่ต้นปี หลังจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา (วันที่ 7-12 ธันวาคม 2562) กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน ได้จัดกิจกรรมเดิน-ปิด-เหมือง จากภูผาฮวกถึงศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู รวมระยะทางกว่า 80 กิโลเมตร เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ และปัญหาการทำเหมืองและโรงโม่หิน พร้อมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐยุติการต่อใบอนุญาตให้บริษัทเอกชน เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองแร่ บนเนื้อกว่า 175 ไร่ และโรงโม่หินอีก 50 ไร่

ทั้งนี้ ใบอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง และอายุประทานบัตรทำเหมืองแร่ ของบริษัทธ.ศิลาสิทธิ จำกัด กำลังจะหมดอายุลงในเดือนกันยายน 2563 ซึ่งตาม พ.ร.บ.แร่ ปี พ.ศ.2560 กำหนดให้ผู้ถือประทานบัตรต้องยื่นขอต่อใบอนุญาตก่อน ไม่น้อยกว่า 180 วัน นั่นก็คือก่อนสิ้นเดือนมีนาคม 2563 อย่างไรก็ดี ตามขั้นตอนจะต้องมีการประชาคมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และได้รับความเห็นชอบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อบต.ดงมะไฟ ในการอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อประกอบการต่ออายุประทานบัตรด้วย

ที่ผ่านมาบริษัทได้รับการอนุญาตมาแล้ว 2 ครั้งๆ ละ 10 ปี หากครั้งนี้หน่วยงานรัฐ อนุมัติ อนุญาตอีกเป็นครั้งที่ 3 จะส่งผลให้บริษัทสามารถทำเหมืองต่อไปได้จนถึงปี 2573 ท่ามกลางเสียงการคัดค้านต่อต้านของชาวบ้านในพื้นที่ ดังนั้นจึงเป็นที่น่าจับตาว่าปัญหาเหมืองหินดงมะไฟ มหากาพย์การต่อสู้ที่ยาวนานมากว่า 25 ปี จะปิดฉากลงในปีนี้ หรือจะเปิดม่านดำเนินเรื่องในภาคต่อไปอีก 10 ปี

 

4.จับตา! ขบวนประชาชนจะเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564 ที่ออกตามความกฎหมายแร่ฉบับใหม่ (พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560)มีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ตามมาตรา 19 ว่าการอนุญาตให้ทำเหมืองให้พิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ เท่านั้น  และตามมาตรา 17 วรรคสี่ ว่าพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองได้ต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ  เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาดพื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติและพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม 

แต่ยุทธศาสตร์และแผนแม่บทฯดังกล่าวซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 กลับระบุให้พื้นที่เหล่านี้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองได้โดยไม่สนใจว่าพื้นที่เหล่านี้จะทับซ้อนกับพื้นที่ตามมาตรา 17 วรรคสี่หรือไม่ อย่างไร  ได้แก่

          (1) พื้นที่ตามประทานบัตร คำขอต่ออายุประทานบัตร และคำขอประทานบัตร ที่ได้ออกให้หรือได้ยื่นไว้ตามกฎหมายแร่ฉบับเก่า (พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510) ก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้

          (2) พื้นที่ตามอาชญาบัตรและคำขออาชญาบัตรที่ได้ออกให้หรือได้ยื่นไว้ตามกฎหมายแร่ฉบับเก่า  ก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้เฉพาะพื้นที่ที่ผลการสำรวจพิสูจน์ได้ว่าเป็นแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง

          (3) พื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ตามมติคณะรัฐมนตรี ประกาศ กระทรวงอุตสาหกรรม และประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ที่ประกาศก่อนกฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้  และที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรม (อุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้าง) ของกระทรวงอุตสาหกรรมแล้วแต่ไม่สามารถประกาศได้ทันก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้

          (4) พื้นที่ประกาศกำหนดพื้นที่เป็นเขตสำหรับ ดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษาหรือการวิจัย เกี่ยวกับแร่ที่ออกตามกฎหมายแร่ฉบับเก่าที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ  เฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีแร่โพแทชและเกลือหินเป็นชนิดแร่เป้าหมายของการประกาศที่มีผลสำรวจพิสูจน์ได้ว่าเป็นแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง

          (5) พื้นที่ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีการทำเหมืองประเภทที่ 1 ตามมาตรา 53 แห่งกฎหมายแร่ฉบับใหม่หรือกรณ์การทำเหมืองหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือกรณีการทำเหมืองประเภทอื่นตามที่คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติกำหนด

ซึ่งการกำหนดให้พื้นที่ตามข้อ (1) – (5) เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ในวาระเริ่มแรกนั้น  น่าจะเป็นการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนแม่บทฯที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแร่ฉบับใหม่หรือเป็นยุทธศาสตร์และแผนแม่บทฯที่มีเนื้อหาเกินไปกว่าบทบัญญัติในกฎหมายแร่ฉบับใหม่  เพราะมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ปรากฎตรงที่หลายบริเวณของพื้นที่ตามข้อ (1) – (5) เป็นพื้นที่ที่ทับซ้อนกับพื้นที่อ่อนไหวและหวงห้ามที่ห้ามทำเหมืองแร่ตามมาตรา 17 วรรคสี่

หรือเป็นการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนแม่บทฯที่มีเจตนาชัดเจนว่าต้องการเปิดทางให้พื้นที่ตามข้อ (1) – (5) เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ในวาระเริ่มแรกได้โดยละเว้นหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 16 วรรคสอง  มาตรา 17 วรรคแรกและวรรคสี่มาตรา 19 วรรคแรกมาตรา 187  มาตรา 188  และมาตรา 189 ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่

 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.)  กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)และสภาการเหมืองแร่ได้ปกปิดและบิดเบือนข้อมูลมาตลอด  และไม่ต้องการให้ถูกรื้อใหม่เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่เพราะเกรงว่าจะถูกงดเว้นการทำเหมืองในหลายบริเวณของพื้นที่เหล่านั้น



5.เครือข่ายประชาชนคัดค้านการทำเหมืองหินทั่วทุกภูมิภาคจะเคลื่อนไหวให้ยกเลิกประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรม

ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564 ตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ (พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560) ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ระบุให้พื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง  ตามมติ ครม.ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมและประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ที่ประกาศก่อนกฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้  และที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรม (อุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้าง) ของกระทรวงอุตสาหกรรมแล้วแต่ไม่สามารถประกาศได้ทันก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้  เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ได้

นั่นแสดงว่ายุทธศาสตร์และแผนแม่บทฯดังกล่าวเป็นเอกสารที่ขัดต่อกฎหมายแร่ฉบับใหม่  เพราะสิ่งที่ควรทำคือนำประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างที่ประกาศครอบคลุมเกือบทุกจังหวัดในทุกภูมิภาคของประเทศไทยก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้  ซึ่งมีจำนวนรวมกัน 325 แหล่งหินรวมเป็นพื้นที่ 143,713 ไร่มีปริมาณสำรองรวมกันถึง 8,127 ล้านเมตริกตันมาชำระล้างใหม่ด้วยการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายแร่ฉบับใหม่  ว่าภูเขาลูกใดหรือแหล่งหินใดบ้างเป็นพื้นที่ตามมาตรา 17 วรรคสี่ ที่ไม่ควรถูกประกาศเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง 

ดังเช่นภูเขาลูกโดดที่มีความสวยสดงดงามในหลายพื้นที่ที่ถูกระบุไว้ในประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรมถูกพบว่ามีแหล่งโบราณคดีอายุเก่าแก่  และพบว่าเป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมสำคัญที่มีน้ำไหลซึมซับเล็ดลอดขึ้นมาจากใต้ดินเกือบทั้งปีซึ่งประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์เพื่ออุปโภคและบริโภค  ตามมาตรา 17 วรรคสี่ควรถูกกันออกจากการเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่โดยทันที

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net