Skip to main content
sharethis

ชวนดูปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก บนเรื่องราวการเป็นมรดกโลกของพื้นที่ป่าแก่งกระจาน ทั้งเรื่องปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และการมีส่วนร่วมของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ ที่รัฐพยายามสานต่อ แต่ยังเป็นไปอย่างจำกัด อะไรคือช่องว่างที่ยังขาดเหลือ เมื่อรัฐไทยจะดันให้แก่งกระจานอยู่ในสถานะเดียวกันกับแกรนด์แคนยอน และเกรท แบริเออร์ รีฟ

ทิวทัศน์ก่อนจะถึงบ้านโป่งลึก-บางกลอย บริเวณตีนเขาจะเห็นพื้นที่ทำไร่ของชาวบ้าน

เซ่นสังเวยยางล้อหน้า 1 ล้อ และเวลา 2 ชั่วโมงกว่าๆ บนถนนลูกรังบนถนนเส้นรองของเส้นรองอีกทีหนึ่ง  คณะสื่อมวลชนจึงเดินทางมาถึงบ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง จ.เพชรบุรี พื้นที่ภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หนึ่งในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานขนาด 2.9 ล้านไร่ ถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงที่ถูกนโยบายรัฐโยกย้ายจากพื้นที่ตอนในของอุทยานมาอยู่ในบริเวIนี้ เนิ่นนานที่สุดที่พอเห็นประวัติก็คือตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น

มีเรื่องเล่าหลายมุมในกลุ่มป่าผืนนี้ ที่ประกอบด้วยพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทประจัน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มแม่น้ำภาชี ทั้งความเป็นมาของมนุษย์ที่เคย และยังคงอาศัย พึ่งพิงพื้นที่ป่ามายาวนาน เคยเป็นพื้นที่ที่รัฐไทยพยายามต่อสู้และควบคุมอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นพื้นที่รองรับเมกะโปรเจคต์ของรัฐทั้งการเปิดป่าให้สัมปทานไปจนถึงสร้างเขื่อน ล่าสุดคือความพยายามในการจดทะเบียนผืนป่านี้เป็นมรดกโลก

ไม่ว่าเล่าจากมุมใด ชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานต่างเป็นตัวละครที่อยู่ในเส้นเรื่องทุกเรื่อง ทั้งในฐานะผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ

นโยบายรัฐที่กระทำบนผืนป่า นำมาซึ่งการจำต้องโยกย้าย ที่บางครั้งสามารถเรียกได้ว่ารื้อไล่ถิ่นฐานชาวกะเหรี่ยง การประกาศเขตอุทยานทำให้ที่ดินทำกินถูกจำกัด ขัดกับแนวทางการทำไร่หมุนเวียนของพวกเขาที่ใช้พื้นที่ในป่าทำไร่ จากนั้นก็ทิ้งที่ดินตรงนั้นไว้ราว 7-10 ปีให้พื้นที่ฟื้นฟูตามธรรมชาติ ในขณะที่นโยบายการจัดสรรที่ดินให้ชาวกะเหรี่ยงยังคงไม่แล้วเสร็จ

ยุทธการตะนาวศรี ที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไล่รื้อ ถาง เผาชุมชนชาวกะเหรี่ยงในบ้านใจแผ่นดิน บังคับย้ายพวกเขาลงมาที่บ้านบางกลอยในปี 2553-2554 และการหายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำของพอละจี ‘บิลลี่’ รักจงเจริญ นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยง ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่อุทยานในช่วงที่ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรเป็นหัวหน้าอุทยานฯ ยิ่งทำให้ผืนป่าที่จะถูกยกสถานะให้เทียบเท่ากับแกรนด์ แคนยอน หรือแนวปะการังเกรท แบริเออร์ รีฟ เป็นเกียรติยศที่ถูกตั้งคำถามได้สารพัด

เป็นมรดกโลกหมายความว่าอะไร

ข้อมูลจาก UNESCO ระบุว่า ทั่วโลกมีพื้นที่ได้รับรองให้เป็นมรดกโลกทั้งสิ้น 1,121 แห่ง เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 869 แห่ง มรดกโลกทางธรรมชาติ 213 แห่ง และพื้นที่ผสมผสานระหว่างทั้งสองแบบอีก 39 แห่ง

สำนักงานมรดกโลกทางธรรมชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ข้อมูลของการเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติว่า เป็นสภาพธรรมชาติที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพอันมีคุณค่าเด่นชัดในด้านความล้ำเลิศทางวิทยาศาสตร์ หรือเป็นสถานที่ซึ่งมีสภาพทางธรณีวิทยาและภูมิประเทศที่ได้รับการวิเคราะห์แล้วว่าเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชและสัตว์ ซึ่งถูกคุกคาม หรือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของพืชหรือสัตว์ที่หายาก เป็นต้น

เมื่อสถานที่หนึ่งๆ ได้รับการยอมรับให้เป็นมรดกโลก จะถือว่าเป็นมรดกของมนุษยชาติ ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในดินแดนของประเทศใดก็ตาม ในทางสากลมีการกำหนดอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ หรือ “อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก” เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2515 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยการรับรองขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) และมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา

เรื่องราวที่ยังสะสางไม่ได้ก่อนเป็นมรดกโลก

กรมอุทยานฯ ขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกในปี 2554 ในปี 2556 คณะกรรมการมรดกโลกนำกลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) หรือรายชื่อที่จะนำพิจารณาอนุมัติเป็นมรดกโลก ด้วยเหตุผลว่ากลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นถิ่นอาศัยที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืชและสัตว์

ไทยได้ขอจดทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติในปี 2558 แต่คณะกรรมการมรดกโลกไม่อนุมัติ เนื่องจากเห็นว่าปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการอพยพชาวกะเหรี่ยงลงมาในพื้นที่บางกลอยล่าง และการขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในเขตกลุ่มป่าแก่งกระจาน

กรมอุทยานฯ ได้จัดเวทีสร้างความเข้าใจทั้งหมดอีก 5 ครั้ง และเสนอให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาอีกครั้งในปี 2558 แต่ในการประชุมสมัยครั้งที่ 40 ที่กรุงปารีส มีมติให้เลื่อนการพิจารณาการขึ้นทะเบียนออกไป 3 ปี เพื่อดำเนินการตามข้อเสนอของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอย่างเต็มที่

คืนวันที่ 28 ม.ค. 63 ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย โดยการดำเนินงานของเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี จัดพิธีดั้งเดิม นำวิญญาณบิลลี่กลับบ้านใจแผ่นดิน ถือเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ก่อนจะเปิดเวทีเสวนา แลกเปลี่ยนข้อมูล ให้ความรู้ รับฟังความเห็นตัวแทนชุมชนจากผืนป่าแก่งประจานในเช้าวันถัดมา

การผลักดัน อพยพชาวกะเหรี่ยงเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2539 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หน่วยเฉพาะกิจกรรมทหารราบที่ 29 และ จ.เพชรบุรี อพยพชาวกะเหรี่ยงมารวมอยู่ในพื้นที่ตรงข้ามหมู่บ้านโป่งลึก ตั้งหมู่บ้านใหม่ชื่อบางกลอย พวกเขาถูกปล่อยไว้ที่นั่นนานกว่า 10 ปี จนมีบางส่วนกลับไปทำกินในพื้นที่ใจแผ่นดินและบางกลอยบนที่ถูกอพยพมา ก่อนจะเกิดยุทธการตะนาวศรีอีกครั้งในปี 2553-2554 โคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้อาวุโสในบ้านใจแผ่นดินที่เสียชีวิตไปเมื่อปี 2561

มติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 และ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยการจัดสรรที่ดินให้กับชาวกะเหรี่ยงที่ถูกย้ายลงมา และการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงตามลำดับ ยังคงดำเนินต่อไปและไม่เสร็จสิ้น ซ้ำร้าย มติ ครม. 2553 มักถูกมองข้ามจากเจ้าหน้าที่รัฐ มิพักต้องพูดถึงความเข้าใจของคนในพื้นที่ผืนป่าต่อการเป็นมรดกโลก

จากการสำรวจของเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ในชุมชนในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน จำนวน 398 ครัวเรือนจากทั้งหมด 2537 ครัวเรือน พบว่า ร้อยละ 92.21 ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินตั้งบ้านเรือน ซึ่งจำนวนนี้มากกว่าผลสำรวจในชุมชนรอบเขตอนุรักษ์ ที่มีสัดส่วนร้อยละ 56.59 การมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินส่วนมากจะเป็นโฉนด น.ส.4 มากที่สุด ที่ร้อยละ 5.34 และ น.ส.3 ที่ร้อยละ 4.73

ป้ายหน้าบ้านของชาวบ้านบางกลอยที่ได้รับการพิสูจน์สิทธิที่ดิน ตัวเลข 3 ตอน บ่งบอกจำนวนพื้นที่ เรียงเป็นไร่-งาน-ตารางวา ในภาพนี้ หมายถึงนายจอมู้ มีที่ดิน 2 งาน 74 ตารางวา

ในส่วนของที่ดินทำกิน จากผลสำรวจเดียวกันนี้ ผู้อยู่อาศัยในชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ มีที่ดินทำกิน 274 ครัวเรือน ไม่มีที่ดินทำกิน 115 ครัวเรือน แต่การใช้ที่ดินของชาวกะเหรี่ยงในกลุ่มป่าแก่งกระจานยังมีปัญหาจากการอยู่ในเขตอุทยานแห่งขาติ ไม่ว่าจะเป็นการถูกประกาศเขตป่าอุทยานแห่งชาติทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ถูกอพยพ รื้อย้าย และดำเนินคดีจากการใช้ชีวิตในป่า จากผลสำรวจพบว่ามี 183 ครัวเรือน ที่ถูกประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับที่อยู่อาศัย มี 36 ครัวเรือนถูกรื้อถอนบ้านเรือน มี 30 ครัวเรือนที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดี มี 43 ครัวเรือนถูกปลูกป่าทับที่ดินทำกิน  และ 127 ครัวเรือน ถูกประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับที่ทำกิน

สำนักข่าวกรีนนิวส์ สัมภาษณ์มานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยมานะระบุว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ร่วมกับผู้นำท้องถิ่นทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ ทหาร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ร่วมกันรังวัด พิสูจน์สิทธิที่ดินตามระเบียบ ครม. 30 มิ.ย. 2541  และ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ 2562 ให้ชาวบ้านทุกหมู่บ้านในเขตอุทยานฯ โดยมีตัวแทนจากชุมชนเข้าร่วมทุกกระบวนการ ในส่วนบ้างโป่งลึก-บางกลอย ได้รับการรังวัดและพิสูจน์ที่ดินเสร็จเป็นหมู่บ้านแรก ชาวบ้านทุกครัวเรือนที่มีคุณสมบัติตรงกับระเบียบกฎหมาย ได้รับสิทธิในที่ดินทำกินเรียบร้อยแล้ว

ในส่วนของบางครัวเรือนที่ยังไม่มีที่ดินทำกิน มานะให้เหตุผลว่า เพราะเป็นครอบครัวที่ขยายจากครัวเรือนเดิมที่ให้สิทธิไว้ หรือเป็นเครือญาติที่อพยพเข้ามาหลังการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดิน โดยทางอุทยานกำลังจัดสรรที่ดินเพิ่มเติมให้แก่ชาวบ้านที่เข้าเกณฑ์ผู้ยากไร้โดยอนุโลม

แม้องคาพยพของรัฐจะเข้าหาชาวกะเหรี่ยงมากขึ้น จากหน้าข่าวที่มีการ การอนุญาตให้ชาวกะเหรี่ยงเข้าไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเพื่อประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ กระนั้น การดำเนินการของรัฐก็ยังเป็นไปอย่างจำกัด ยกตัวอย่างเช่น ชาวกะเหรี่ยงที่มาจากนอกพื้นที่อุทยานฯ ที่เข้าไปทำพิธีกรรมส่งดวงวิญญาณบิลลี่ยังคงต้องจ่ายค่าเข้าอุทยาน ในเวทีเสวนาก็มีการพูดถึงการถูกเจ้าหน้าที่ยึดบัตรประจำตัวประชาชนเก็บไว้ ปรากฎการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงความขาดตกบกพร่องในทางนโยบายที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์

เวทีเสวนาในเช้าวันที่ 29 ม.ค.

เกรียงไกร ชีช่วง จากเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี กล่าวว่า คนจากศูนย์กลางอำนาจรัฐ มาบอกว่ากะเหรี่ยงจะทำป่าหมด ซ้ำร้าย รัฐยังมองว่าแนวทางของรัฐถูก ชาวบ้านผิด คนที่มาช่วยชาวบ้านก็ผิด

วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ทนายความของพิณนภา พฤกษาพันธุ์ หรือมึนอ ภรรยาของบิลลี่ ในการดำเนินคดีกรณีการหายตัวไปของบิลลี่ กล่าวว่า รัฐบาลไทยบรรจุกลุ่มป่าแก่งกระจานให้เป็นมรดกทางธรรมชาติอย่างเดียว แต่ไม่ได้ระบุถึงวิถีดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ ดังนั้น ชาวกะเหรี่ยงจะต้องตอบให้ได้ว่าวิถีดั้งเดิมที่มีอยู่นั้นดีอย่างไร อยากส่งต่อให้คนรุ่นหลังหรือไม่

สะพานข้ามแม่น้ำเพชรบุรี เชื่อมบ้านโป่งลึก และบ้านบางกลอยไว้ด้วยกัน

ทิศทางความเห็นของตัวแทนชุมชนที่มาร่วมวงเสวนาสะท้อนว่าพวกเขายังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าการเป็นมรดกโลกจะมีผลอย่างไรต่อการใช้ชีวิตและถิ่นที่อยู่ของพวกเขา สิ่งที่ชัดเจนจากตัวแทนชุมชน คือข้อกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อกระบวนการจัดสรรที่ดินที่ยังไม่แล้วเสร็จ และวิถีชีวิตแบบการทำไร่หมุนเวียนที่ทุกวันนี้ก็ทำได้อย่างจำกัดอยู่แล้ว

ตัวแทนชุมชนพื้นที่ป่าแก่งกระจานจึงส่งเสียงข้อกังวลของพวกเขาผ่านแถลงการณ์ ให้รัฐฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยงดั้งเดิม การมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และยังย้ำว่า คดีของบิลลี่ที่ยังคงคาใจ ค้านสายตาชาวบ้านจากการที่อัยการไม่ฟ้องชัยวัฒน์ เกี่ยวพันแน่นอนกับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของพื้นที่ป่าแก่งกระจาน ต้องมีการดำเนินคดีกรณีการเสียชีวิตของบิลลี่อย่างจริงใจ

ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานร้องรัฐแก้ปัญหาที่ดิน ทรัพยากร คดีบิลลี่ก่อนขอมรดกโลก

ทำอย่างไรที่เราจะควบรวมเสียงของคนที่พึ่งพาอุทยานแห่งชาติ ให้มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรสารพัดตั้งแต่วัตถุดิบตามธรรมชาติ ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน จนถึงอำนาจในการตัดสินใจ ทำอย่างไรมรดกโลกจะเป็นความภาคภูมิใจของคนทุกคนอย่างแท้จริง

ทำอย่างไรจึงจะมีกฎหมายป้องกันไมให้คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวแล้วหายไปเฉยๆ แล้วเป็นภาระคนในครอบครัวต้องตามหา

ทำอย่างไรจะไม่มีบิลลี่คนต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net