Skip to main content
sharethis

เวทีเสวนา "สถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ" เผยสถิติหลังรัฐประหาร 2557 มีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถูกคุกคามฟ้องคดี 440 คน เข้าถึงกองทุนยุติธรรมเพียง 25 คน  'อังคณา นีละไพจิตร' เสนอภาครัฐเลิกหวาดระแวงนักสิทธิ เร่งบังคับใช้มาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก ขณะที่ 'อันธิฌา แสงชัย' ชี้นอกจากงานรณรงค์แล้ว ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ยังต้องต่อสู้กับการละเมิดภายในขบวนด้วย โดยเรียกร้องให้ร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการทำงาน

สถิติระหว่างปี 2557-2562 พบว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกคุกคามด้วยการฟ้องคดี 440 ราย โดยกลุ่มที่ถูกฟ้องร้องด้วยคดีขับไล่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 200 คน ความผิดฐานบุกรุก 83 คน และฐานความผิดอื่นๆ (ภาพประกอบโดย กิตติยา อรอินทร์ ที่มา: ข้อมูลจาก Protection International)

ในการแถลงข่าวเปิดตัวผ้าปักควิลท์ “จากเส้นด้ายและปลายเข็ม สู่ศิลปะแห่งการต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ #ArtForResistance" นำเสนอผลงานผ้าปัก 54 ชิ้นโดยผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทั่วประเทศไทย จัดโดย  องค์กร Protection International โดยการสนับสนุนจากสถานทูตแคนาดา เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ในงานเดียวกันยังมีเวทีพูดคุย "สถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ" โดยปรานม สมวงศ์ ผู้แทนจากองค์กร Protection International, อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ได้รับรางวัลแม็กไซไซปี 2019, สมบุญ คงคา ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค, พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์กร Fortify Rights, กัชกร ทวีศรี สมาคมวัฒนธรรมความพิการเชียงใหม่ และ อันธิฌา แสงชัย ผู้ก่อตั้งสโมสรฟุตบอล Buku FC

หลังรัฐประหารผู้หญิงนักปกป้องสิทธิถูกคุกคามด้วยคดีความ 440 ราย

ปรานม สมวงศ์

ปรานม สมวงศ์ จากองค์กร Protection International กล่าวว่า ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นผู้สร้างคุณูปการในการปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ขึ้นพื้นฐานของพวกเราทุกคน อย่างไรก็ตาม "กลายเป็นว่าลุกขึ้นมาสู้เมื่อใดก็โดนคุกคาม ฟ้องร้องทางคดี ทำร้าย ให้ร้าย ตีตรา ข่มขู่ โจมตีเมื่อนั้น ซึ่งประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากแต่การรับรู้ของสังคมยังมีอยู่น้อยและไร้ซึ่งความตระหนักถึงความสำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของพวกเธอ"

"เราจึงคิดกิจกรรมที่จะทำให้พวกเธอได้แสดงออก บอกเล่าเรื่องราวและช่วยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่ม ระหว่างภูมิภาค ระหว่างประเด็นการต่อสู้   เพื่อที่สังคมจะได้รับรู้เรื่องราวของพวกเธอมากขึ้นโดยการจัดทำโครงการผ้าปักควิลท์ “จากเส้นด้ายและปลายเข็ม สู่ศิลปะแห่งการต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ #ArtForResistanceขึ้น ซึ่งโครงการนี้ใช้เวลาสองปี โดยเริ่มจากปีที่แล้วซึ่งเพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 20 ปี ปฏิญญาของสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องราวของแต่ละคน เป็นเรื่องราวของผู้หญิงหลายล้านคนในโลกใบนี้ ที่อาจจะมีความคล้ายคลึงกันในการต่อสู้” ปรานมระบุ
ปรานมเปิดเผยด้วยว่า สถิติการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในช่วง 3 ปีแรกหลังรัฐประหาร 2557-2560 มีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิจากชุมชนถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม 179 คน แต่ในปัจจุบัน 6 ปีผ่านไปเพิ่มขึ้นเป็น 440 คน แม้ว่าก่อนหน้านี้ในปี 2560 คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี หรือ CEDAW มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ ซึ่งแทนที่ตัวเลขจะลดลง ปรากฏว่าสถิติกลับพุ่งสูงขึ้น  และพบว่ามีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิเพียง 25 คนจากทั่วประเทศเท่านั้นที่เข้าถึงกองทุนยุติธรรม

เมื่อจำแนกประเภทคดี พบว่าถูกดำเนินคดีในความผิดฐานบุกรุก 83 คน ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ความผิดฐานหมิ่นประมาท จำนวน 36 คน ความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 35 คน คดีขัดคำสั่ง คสช.3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปพ่วงด้วยคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จำนวน 22 คน

คดีขัดคำสั่งคสช. 3/2558 จำนวน 20 คน การฟ้องร้องความผิดฐานละเมิด ขับไล่ และเรียกค่าสินไหมทดแทน 17 คน คดีสร้างสิ่งกีดขวางทางสาธารณะ 12 คน คดีร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น 3 คน ถูกเชื่อมโยงเกี่ยวกับคดียาเสพติด 2 คน คดีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ จำนวน 8 คน และคดีร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆ ให้ทางสาธารณะประตูน้ำ ทำนบ เขื่อน อยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร และ คดีบุกรุกสถานที่ราชการอย่างละ 1 คน นอกจากนี้ยังมีคดีขับไล่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อีกประมาณ 200 คน

และเมื่อนำสถิติทั้งหมดมารวมกันเป็นภูมิภาคจะพบว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิจากกรุงเทพฯและปริมณฑล ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมากที่สุดถึง 235 คน รองลงมาคือภาคอีสาน 129 คน  ภาคเหนือ 44 คน และภาคใต้ 32 คน

ผู้แทน Protection International กล่าวถึงทางออกในเรื่องนี้ด้วยว่า ประการแรก สิ่งที่จะต้องมีก็คือ มีพื้นที่ให้ผู้หญิงเหล่านี้ได้บอกว่าถึงความต้องการ และเมื่อพวกเธอบอกแล้ว ต้องฟังและหาทางออกร่วมกัน ประการที่สอง รัฐต้องไม่ลงโทษพวกเธอที่ลุกขึ้นมาใช้สิทธิเพื่อเราทุกคน เช่น ต้องยุติการใช้คดีความกลั่นแกล้ง และยุติการคุกคามในทุกรูปแบบเมื่อนักปกป้องสิทธิลุกขึ้นมาใช้สิทธิ ด้วยการยกเลิกคดีทุกคดีที่มีการฟ้องร้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทุกคน การลงพื้นที่ไปรับฟังผู้หญิงถึงสิ่งที่ต้องการและมีการนำไปปฏิบัติ รวมถึงในพื้นที่ชายแดนใต้ต้องยุติการบังคับตรวจดีเอ็นเอและการควบคุมตัวภายใต้กฎหมายความมั่นคง ซึ่งทำให้ผู้หญิงในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีสันติภาพและปราศจากความกลัวในพื้นที่

ผู้หญิงปักผ้าควิลท์ สะท้อนการต่อสู้ภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ, 4 ก.พ. 2562

เปิดตัวผ้าปักควิลท์ 54 ผลงานผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ พร้อมเรียกร้องยุติฟ้องร้อง-คุกคาม, 5 ก.พ. 2562

อังคณา นีละไพจิตร เรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐเลิกระแวงผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ

อังคณา นีละไพจิตร กล่าวถึงสถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบว่า  หลังการเลือกตั้งแม้ประเทศไทยจะมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การใช้เสรีภาพกระทำได้มากขึ้น แต่ผลพวงของการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐบางฝ่าย และกฎหมายหลายฉบับที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังคงอยู่ เช่น ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า หรือการใช้เสรีภาพในการชุมนุมหรือการแสดงความคิดเห็นยังถูกฟ้องร้องถูกดำเนินคดีในศาล  ซึ่งในทุกสถานการณ์ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้หญิงมักเป็นแกนนำในการปกป้องทรัพยากร สิทธิชุมชน หรือแม้แต่สิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็น เนื่องจากผู้หญิงเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง  ทำให้ผู้หญิงหลายคนถูกจับ ถูกดำเนินคดี  ต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่าย

แม้รัฐจะมีกองทุนยุติธรรมช่วยเหลือค่าใช้จ่ายบางส่วน แต่การพิจารณาของกองทุนมีความล่าช้า ที่สำคัญกรรมการกองทุนมักเป็นคนในพื้นที่ หรือเจ้าหน้าที่บางฝ่ายที่มักเป็นปฏิปักษ์ต่อนักสิทธิมนุษยชนและแม้ว่ารัฐบาลจะได้ประกาศว่าประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตย หากแต่การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของประชาชนเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะกับกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐหลายคนในหลายพื้นที่มักมองผู้เห็นต่างด้วยความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ จนนำไปสู่ความพยายามจำกัดเสรีภาพของบุคคลเหล่านี้

"นอกจากนี้ยังพบว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมักพบการท้าทายในรูปแบบต่างๆ กัน โดยเฉพาะมีการใช้เพศเป็นเครื่องมือในการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง และมีความเปราะบางในความเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากขึ้น" อังคณากล่าวและว่า เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้รับรองแผนปฏิบัติการระดับชาติเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยกระทรวงยุติธรรมจะได้ดำเนินมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และหามาตรการยุติการคุกคามโดยกฎหมาย (judicial harassment) ในการฟ้องร้องเพื่อปิดปาก หรือเพื่อยุติการมีส่วนร่วมสาธารณะของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต่อมา สนช.ได้ปรับปรุงกฎหมาย มาตรา 161/1 เพื่อให้ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจไม่ฟ้องคดีที่จะไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะได้ อย่างไรก็ดี พบว่าที่ผ่านมาศาลยังไม่ได้นำมาตรามาใช้นี้เพื่อป้องกันการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งนักสิทธิมนุษยชน

เครือข่ายสลัมสี่ภาคเรียกร้องรัฐแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง

สมบุญ คงคา ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค เสนอว่าคนจนโดยเฉพาะผู้หญิงถูกผลักดันออกจากการพัฒนา และไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และการเรียกร้องสิทธิเรื่องที่อยู่ศัยมักถูกมองข้าม แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นกว่าในยุค คสช. ที่การยื่นหนังสือหรือการเรียกร้องสิทธิ รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่สามารถจัดได้ แต่ในปัจจุบัน หลังการเลือกตั้ง แม้ประชาชนสามารถไปยื่นหนังสือผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ร้องเรียนรัฐบาลได้ แต่การเรียกร้องเรื่องที่อยู่อาศัยก็ยังไม่คืบหน้า

การรณรงค์ของเครือข่ายในเรื่องที่อยู่อาศัยนั้น ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ก็คือกลุ่มผู้หญิงในทุกช่วงวัยที่มาร่วมกันทำงานรณรงค์ สำหรับทางออกในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงคนจนเมืองนั้น เห็นว่าเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพราะถ้าไม่มีบ้าน การไปประกอบอาชีพอะไรมันก็เป็นไปไม่ได้ การมีบ้านมันเหมือนนับหนึ่ง โดยขอเสนอว่ารัฐควรจัดสรรที่ดินว่างเปล่าของรัฐให้กับคนจนเมือง เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย ดีกว่าจะไปจัดสรรให้กับภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจ และทำให้คนจนเข้าถึงการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐาน เช่น สลิปเงินเดือน หรือผู้ค้ำประกัน ทุกวันนี้จะไปหาหลักฐานเพื่อเข้าถึงสินเชื่อเหล่านี้ทำได้ยากเพราะหลายคนทำงานอาชีพรับจ้าง ไหนจะหาสลิปเงินเดือน ไหนจะต้องหาคนค้ำ การซื้อบ้านสำหรับคนจนเลยทำไม่ได้ คนจนเลยมีแต่คำว่าเช่าบ้าน แถมค่าเช่าก็ขึ้นทุกปี พอไปบุกรุกที่ว่างก็ถูกดำเนินคดี กลายเป็นวงจรแบบนี้ สำหรับประเทศที่มีห้างเยอะแยะแต่คนจนไม่ทีที่อยู่

หวังให้ ตม.เข้าใจผู้อพยพ เน้นบทบาทคุ้มครองมากกว่าปราบปราม

พุทธณี กางกั้น

พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์กร Fortify Rights กล่าวว่า ปัจจุบันมีพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เพียงฉบับเดียวที่นำมาใช้บังคับกับผู้ลี้ภัย แต่เนื่องจากผู้ลี้ภัยส่วนหนึ่งไม่มีเอกสารประจำตัวหรือเอกสารการเข้าเมือง และส่วนมากต้องใช้ระยะเวลารอคอยอย่างยาวนานก่อนเดินทางไปประเทศที่สาม เกือบทั้งหมดจึงผิดกฎหมายคนเข้าเมือง ซึ่งปัญหาที่พบคือผู้ลี้ภัยไม่ได้รับสิทธิในการประกอบอาชีพ แต่ต้องเลี้ยงดูครอบครัว ทำให้ต้องแอบไปรับจ้างทำงานในราคาที่ต่ำกว่าทั่วไป ไม่สามารถต่อรองกับนายจ้าง ผู้ลี้ภัย ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามซึ่งจะไม่มีการแจ้งความเอาผิดเพราะตัวเองเป็นผู้ลี้ภัยที่ผิดกฎหมายคนเข้าเมือง และหากมีกรณีสามีถูกจับกักอยู่ในห้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ผู้หญิงก็ต้องรับภาระดูแลลูกตามลำพัง

สำหรับสถิติของ UNHCR พบว่าจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมดในเมืองมีประมาณ 5,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเพศหญิง และชาย ในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง เพราะส่วนใหญ่ลี้ภัยมาในรูปแบบของครอบครัว โดยพบว่าชาติที่มีการลี้ภัยในเมืองในประเทศไทยสูงสุดคือปากีสถาน และยังมีชาติอื่นๆ เช่น เวียดนาม โซมาเลีย ซีเรีย รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่าสำหรับผู้ลี้ภัยไม่ว่าประเทศไทยจะอยู่ในระบอบการปกครองแบบใด ก็ดำเนินชีวิต หรือมีสภาพที่ไม่ได้ดีไปกว่ากันเท่าใดนัก สำหรับข้อเสนอในการแก้ไขปัญหานั้น ต้องยอมรับว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยเริ่มใส่ใจกลุ่มคนกลุ่มนี้มากขึ้นกว่าในอดีต ล่าสุดมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารจัดการคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย ตามกฎหมายนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และมีสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นทีมเลขานุการ ซึ่งถือว่าประเด็นสำคัญ เพราะที่ผ่านมาสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทำหน้าที่ปราบปราม แต่กฎหมายนี้คือการคุ้มครอง ดังนั้นต้องทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจว่ากฎหมายนี้ให้ความคุ้มครองมากกว่าการปราบปรามแบบที่เคยทำมา เชื่อว่ากฎหมายฉบับใหม่นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ขอคำนิยามสถานะ "ผู้หญิงพิการ"ให้ชัดเจนในกฎหมาย

กัชกร ทวีศรี สมาคมวัฒนธรรมความพิการเชียงใหม่ ตัวแทนผู้หญิงนักปกป้องสิทธิผู้หญิงพิการ กล่าวว่าสถานการณ์ในภาพรวมในมุมมองระดับชาติดูมีแนวโน้มที่ดี เพราะมีการประกาศใช้แผนระดับชาติฉบับที่2 ที่มีการเชิญชวนให้ผู้หญิงพิการรวมตัวกันและกลับไปตั้งองค์กรในพื้นที่ของตัวเองในแต่ละจังหวัด พร้อมกับมีตัวชี้วัดโดยใช้จำนวนการจัดตั้งองค์กรทั่วประเทศ

แต่ส่วนตัวมองว่าผู้หญิงพิการไม่ได้มีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในโครงสร้างเชิงอำนาจเท่าที่ควร นอกจากนี้ผู้หญิงพิการที่เข้ามาจัดตั้งองค์กรในพื้นที่ของตัวเองยังมีวิธีคิดที่ไม่เข้าใจในเรื่องความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริง เช่น หลายคนเป็นอาสาสมัครในชุมชน พูดแต่เรื่องการป้องกันการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งไม่สอดคล้องในเรื่องของโครงสร้างเชิงอำนาจ ที่จะต้องเป็นผู้ที่มีการแสดงความเห็นหรือการส่งเสียงของความต้องการของตัวเองเพื่อนำไปสู่ประเด็นปัญหา การวางแผน แก้ไขปัญหา

ในส่วนของกฎหมายคนพิการถือเป็นกฎหมายลักษณะกลางๆที่ไม่มีการระบุให้ชัดเจน หรือ เจาะจง ดังนั้นสิ่งที่ไม่ได้ถูกพูดถึงในกฎหมายจะไม่ได้รับการปฏิบัติ รัฐบาลต้องระบุให้ชัดเจนว่าผู้หญิงพิการได้สิทธิ์อะไรบ้าง เพราะบางประเด็นไม่สามารถเขียนในแบบกลางๆ ได้ ดังนั้นกรอบของโครงสร้างทางสังคมจะต้องเข้ามาช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ พร้อมกันนี้ยังเสนอแนะว่าหน่วยงานรัฐต้องให้นิยามสถานะของผู้หญิงพิการอย่างชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่ให้เป็นเพียงไม้ประดับในเวทีเสวนาต่างๆ เพราะไม่ส่งเสริมให้เกิดพลังในการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ห่วงปฏิบัติการข่าวสารภาครัฐ กระทบผู้หญิงนักปกป้องสิทธิชายแดนใต้ 

อันธิฌา แสงชัย

อันธิฌา แสงชัย ผู้ก่อตั้งสโมสรฟุตบอล Buku FC กล่าวถึงสถานการณ์ผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า พื้นที่ประสบกับความรุนแรงยาวนานถึง 16 ปี ในบางช่วงที่บรรยากาศเป็นประชาธิปไตยจะทำการแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดเปิดมากกว่า ซึ่ง 6 ปีให้หลังนี้ ปัญหาบางอย่างแก้ไขได้ยากขึ้น โดยเฉพาะทรัพยากรที่ดิน เนื่องจากปัญหาทับซ้อนของการออกมาพูดเรื่องทรัพยากรของชุมชนจะกลายเป็นเรื่องของความมั่นคง และมีการควบคุมที่เข้มข้น เข้มงวด นอกจากนี้ยังมิติอื่นๆ ในเรื่องของเพศ ที่จะมีกรอบวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ ในพื้นที่ ซึ่งการทำงานของนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะไม่ได้ทำงานอย่างเป็นอิสระ ทั้งจากชุมชน ครอบครัว และภาครัฐ 

“โดยเฉพาะภาครัฐที่การทำงานพื้นที่ในบางประเด็น จะนำไปสู่การเชื่อมโยงทางการเมืองมากขึ้นมีการใช้ไอโอ หรือปฏิบัติการเชิงข้อมูลข่าวสารโจมตี นอกจากนี้ผู้หญิงที่ออกมาต่อสู้มีการเยี่ยมเยียนจากฝ่ายความมั่นคงของเจ้าหน้าที่รัฐ กับผู้หญิงที่ทำงานกับการต่อสู้ทางความคิด“ อันธิฌากล่าว

อันธิฌาเสนอด้วยว่า ผู้หญิงไม่ได้สู้แค่ทุน ภาครัฐ หรือผู้มีอำนาจเท่านั้น ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิต่อสู้เหน็ดเหนื่อยแม้แต่ในขบวนเคลื่อนไหวภาคประชาชน ทุกๆ ประเด็นการต่อสู้มีผู้หญิงอยู่เสมอ "แต่พวกเราเผชิญการคุกคามทางเพศ ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในการทำงาน ทั้งที่ต่อสู้เพื่อคนอื่นแต่ตัวเองกลับไม่ปลอดภัย"

โดยอันธิฌาเรียกร้องให้ร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการทำงาน เพราะแม้แต่คนทำงานประเด็นหลากหลายทางเพศยังมีการบั่นทอน กลั่นแกล้งกัน จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงจากข้างในองค์กร ข้างในเครือข่าย อยากเห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ภายในองค์กร และนอกจากเรื่องเพศสภาพแล้ว อยากเห็นการทำงานภายในเครือข่ายในมิติเรื่องสุขภาพด้วย เพราะมีนักกิจกรรมหลายคนที่ได้รับผลกระทบในมิติด้านสุขภาพ โดยเฉพาะสภาพจิตใจ

สำหรับ“กิจกรรมเย็บผ้าปักควิลท์” เป็นโครงการของ Protection International โดยการสนับสนุนของสถานทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย เพื่อทำให้เกิดการเข้าถึงและกระตุ้นให้ผู้หญิงที่เข้าร่วมในกิจกรรมนี้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และยังเป็นชิ้นงานที่บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตอุปสรรคและผลกระทบที่พวกเธอต้องพบเจอในการลุกขึ้นมาต่อสู้ พร้อมทั้งฉายภาพให้เห็นข้อเรียกร้องในการแก้ไขปัญหาถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ตามข้อเสนอของพวกเธอซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบของสหประชาติ (CEDAW) โดยนิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 4 ถึง 7 กุมภาพันธ์นี้ ที่โถงหน้าห้องสมุด ชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net