Skip to main content
sharethis

เทียบ 3 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณี ส.ส. เสียบบัตรลงคะแนนผ่านร่างกฎหมายแทนกัน พบร่างแก้ไข รธน. ประเด็นที่มา ส.ว. และ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ถูกตัดสินให้โมฆะ ตกไปทั้งฉบับ ส่วน ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 63 ซึ่งมีการเสียบบัตรลงคะแนนเหมือนกัน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ไม่ให้เป็นโมฆะ แต่ให้สภานำร่างกฎหมายกลับไปโหวตใหม่ในวาระ 2-3

7 ก.พ. 2563 ในการประชุมศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ มีวาระพิจารณาวินิจฉัย พร้อมนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ กรณีคำร้องชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สังกัดรัฐบาล 90 คน กรณีการเสียบบัตรลงคะแนนแทน ฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ และสมบูรณ์ ชารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เป็นผลเนื่องจากมี ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน และมีการเสียบบัตรค้างไว้ในเครื่องลงมติอัตโนมัติ ในระหว่างลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วาระ 2 และ 3 โดยคำร้องหลักมาจาก ส.ส. รัฐบาล 90 คน นำโดย วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 3 ประเด็น ดังนี้

1.กระบวนการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ขัดหรือแย้งกับหลักการการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 120 หรือไม่

2.หากมีปัญหา จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ตกไปทั้งฉบับ หรือเฉพาะมาตราที่มีปัญหา และกรณีนี้จะถือว่าสภาพิจารณาร่างกฎหมายนี้ไม่เสร็จภายใน 105 วัน ตามมาตรา 143 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญหรือไม่

3.จะดำเนินการในแต่ละกรณีต่อไปอย่างไร

โดยการใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุมสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 139 ที่เปิดทางให้สมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสองสภา หรือ 75 จาก 750 คน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ภายใน 3 วันหลังวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (7 ก.พ. 2563) ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุม และลงมติ 5 ต่อ 4 ว่า กระบวนการร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ขัดหรือแย้งกับหลักการการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 120 ดังนั้นให้มีการลงมติใหม่ ในวาระ 2 และ 3

โดยผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคดีนี้ไม่มีประเด็นให้วินิจฉัยเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และไม่มีประเด็นเกี่ยวกับความผิดทางอาญาหรือทางจริยธรรมของ ส.ส.คนใด คงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะเรื่องกระบวนการตราร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เท่านั้น ส่วนบุคคลใดจะต้องรับโทษอย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า การกระทำโดยไม่สุจริตใช้สิทธิออกเสียงลงมติแทนผู้ที่ไม่ได้อยู่ร่วมประชุมด้วยนั้นเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็น ส.ส. ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในอาณัติมอบหมายของผู้ใด และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 114 ทั้งสมาชิกคนหนึ่งย่อมมีหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 วรรคสาม และการออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันมิได้ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 80 วรรคสาม 

โดยข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2563 เวลา 19.30 น. ถึงวันที่ 11 ม.ค. 2563 ซึ่งเป็นการพิจารณาวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ปรากฏการแสดงตนและลงมติของฉลอง ทั้งที่ฉลองรับเองว่าตนไม่อยู่ในที่ประชุมตามวันและเวลาดังกล่าว การที่ ส.ส.มิได้อยู่ในห้องประชุมแต่ปรากฏว่ามีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทนย่อมมีผลเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต ทำให้ผลการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 63 ในวันและเวลาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ 

ทั้งนี้ปัญหาว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 63 ตกไปทั้งฉบับตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18 /2556 (กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.) และคำวินิจฉัยที่ 3-4/2557(กรณีร่างพ.ร.บ.กู้เงิน2.2 ล้านล้านบาท) หรือไม่ เห็นว่าประเด็นข้อวินิจฉัยพฤติการณ์แห่งคดีและบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวแตกต่างจากประเด็นข้อวินิจฉัยพฤติการณ์แห่งคดี และบทกฎหมายในคดีนี้อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือคดีนี้ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับข้อความอันเป็นสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่มีปัญหาที่กระบวนการตราร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เท่านั้น ทั้งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ปรากฏชัดว่า การพิจารณาออกเสียงลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการและการพิจารณาของกรรมาธิการก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเรียงตามลำดับมาตราในวาระที่ 2 ได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ ถือว่าได้เป็นขั้นตอนที่เสร็จสิ้นไปโดยสมบูรณ์ก่อนแล้ว

นอกจากนี้ยังมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศชาติจะต้องได้กฎหมายฉบับนี้ไปช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าและอุปสรรคในการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 74 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจกำหนดคำบังคับไว้ในคำวินิจฉัยได้ด้วย ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวนี้มิได้มีอยู่ในอดีต จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ป. ดังกล่าว ให้สภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการให้ถูกต้องเฉพาะในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 และข้อสังเกตของกรรมาธิการแต่การพิจารณาลงมติในวาระที่ 1 และขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาออกเสียงลงมติเรียงตามลำดับมาตราในวาระที่ 2 ซึ่งได้เสร็จสิ้นไปก่อนที่จะมีการกระทำอันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงเป็นขั้นตอนที่ชอบและมีผลสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญแล้ว จากนั้นให้เสนอร่างพ.ร.บ.ที่แก้ไขให้ถูกต้องดังกล่าวให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไป พร้อมทั้งให้สภาผู้แทนราษฎรรายงานผลการปฏิบัติตามคำบังคับต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย

ส่วนคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของส.ส.จำนวน 78 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 6 ก.พ.นั้น เห็นว่า เหตุแห่งคำร้องดังกล่าวเป็นเหตุเดียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในคดีนี้แล้วกรณีจึงไม่มีเหตุต้องรับไว้พิจารณาวินิจฉัยให้อีกจึงสั่งไม่รับคำร้อง โดยมีรายงานว่าคำร้องดังกล่าวเป็นกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย ยื่นขอให้ศาลวินิจฉัยประเด็นเดียวกัน โดยอ้างพฤติการณ์ของนางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย และ ส.ส.พรรคพลังท้องถิ่นไท

รายชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 5 ราย ได้แก่ นุรักษ์ มาประณีต , จรัญ ภักดีธนากุล นายบุญส่ง กุลบุปผา , ปัญญา อุดชาชน และวรวิทย์ กังศศิเทียม เสียงข้างน้อย 4 ราย ได้แก่ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ , นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ , ชัช ชลวร และอุดมศักดิ์ นิติมนตรี

สำหรับมาตรา 120 ในรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมวุฒิสภาต้องมีสมาชิกมาประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา จึงจะเป็นองค์ประชุม เว้นแต่ ในกรณีการพิจารณาระเบียบวาระกระทู้ สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะกําหนดองค์ประชุมไว้ในข้อบังคับ เป็นอย่างอื่นก็ได้

การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษาให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ในรัฐธรรมนูญ

สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธาน ในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

รายงานการประชุมและบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคนต้องเปิดเผยให้ประชาชน ทราบได้ทั่วไป เว้นแต่กรณีการประชุมลับหรือการออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ

การออกเสียงลงคะแนนเลือกหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดํารงตําแหน่งใด ให้กระทําเป็นการลับ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยปัญหากรณีการเสียบบัตรออกเสียงแทนกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2556 เป็นการวินิจฉัย กรณีการเสียบบัตรออกเสียงแทนกันระหว่างการลงมติพิจารณาให้ความเห็นชอบ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 ประเด็นที่มา ส.ว. โดยศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าหนึ่งในประเด็นปัญหาที่ทำให้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น เกิดจากการที่ นริศร ทองธิราช อดีต ส.ส. สกลนคร พรรคเพื่อไทย เสียบบัตรประจำตัว ส.ส. แสดงตนและลงคะแนนแทน ส.ส. คนอื่น ระหว่างการลงมติ โดยศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า เป็นการกระทำที่มีผลให้การลงคะแนนผิดไปจากความเป็นจริงกรณีนี้ย่อมไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ส่วนการวินิจฉัยในแง่ของเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ศาลชี้ว่า แก้ไขที่มาของ ส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวอันมีที่มาเหมือนกับ ส.ส. จึงย่อมเป็นเสมือนสภาเดียวกัน ไม่เกิดความแตกต่างและเป็นอิสระซึ่งกันและกันของทั้งสองสภา เป็นการทำลายลักษณะของสาระสำคัญของระบบสองสภาให้สูญสิ้นไป การแก้ไขที่มาและคุณสมบัติของ ส.ว.ให้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองหรือ ส.ส.ได้ ย่อมทำให้หลักการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกันของระบบสองสภาต้องสูญเสียไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถควบคุมอำนาจเหนือรัฐสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน อันเป็นการกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ศาลจึงวินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่าการดำเนินการพิจารณาและลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้องทั้งหมดในคดีนี้เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และวินิจฉัยด้วยมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ว่ามีเนื้อความที่เป็นสาระสำคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อันเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้ถูกร้องได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 1 เป็นอันให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นตกไป

อีกกรณีหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2557 เป็นการวินิจฉัย กรณีของการเสียบบัตรออกเสียงแทนกันระหว่างการพิจารณาลงมติให้ควมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ....  (พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน) ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 122 และ 126  ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 2 เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ตราขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนในประเด็นที่สอง ศาลได้วินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลังและงบประมาณ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงมีผลให้ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เป็นอันตกไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 วรรคสาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net