กมธ.แก้ไข รธน. ชงกำหนดมาตรา 49 ให้ชัดว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง

เพื่อไทยชงแก้ รธน. มาตรา 49 ขอเขียนให้ชัดว่าการ เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง ส่วนมาตรา 279 ในบทเฉพาะกาลที่รับรองประกาศ และคำสั่ง คสช. เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แนะกำหนดระยะเวลาบังคับใช้ ส่วนการแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไข รธน. นั้น กมธ. ยังเห็นไม่ตรงกัน จึงมีมติให้พักการพิจารณาไปก่อน

7 ก.พ. 2563 ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีวาระพิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

โภคิน พลกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสนอว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้จำนวนมาก แต่กลับถูกตัดด้วยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบรรดาประกาศ คําสั่ง และการกระทําของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ส่งผลให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องมาอยู่ภายใต้บทเฉพาะกาล ทั้งๆที่สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรองไว้ในบทถาวรของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการแก้ไขบทเฉพาะกาลในมาตรานี้ โดยอาจจะกำหนดระยะเวลาการบังคับใช้ เหมือนกับบทเฉพาะกาลในส่วนอื่นๆที่มีการกำหนดระยะเวลาเช่นกัน

มาตรา 279 บรรดาประกาศ คําสั่ง และการกระทําของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะ ออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คําสั่ง หรือการกระทําที่มีผลใช้บังคับ ในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คําสั่ง การกระทํา ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คําสั่ง หรือการกระทํานั้น เป็นประกาศ คําสั่ง การกระทํา หรือการปฏิบัติ ที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคําสั่งดังกล่าว ให้กระทําเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคําสั่ง ที่มีลักษณะเป็นการใช้อํานาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทําโดยคําสั่งนายกรัฐมนตรี หรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี

บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 ว่าเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้ง การกระทําที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ให้ถือว่าการนั้นและการกระทํานั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย

สมชัย ศรีสุทธิยากร รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนเขียนไว้ดีในรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติกลับถูกดำเนินคดีความ ขณะที่สิทธิเสรีภาพที่หายไปที่ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น สิทธิเสรีภาพในทางการเมืองที่ให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อกันถอดถอนคนในฝ่ายการเมืองได้ผ่านวุฒิสภา แต่ก็มีคำถามอีกว่าในช่วงที่ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งสมควรที่จะมีสิทธิถอดถอนคนของฝ่ายการเมืองหรือไม่ แต่หากมีการตั้ง ส.ว. ชุดใหม่ก็ควรให้อำนาจนี้กลับคืนมา หรืออีกทางคือพิจารณาว่า ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนคนในฝ่ายการเมืองหรือไม่ และถ้ามี ควรไปรวมอยู่กับอำนาจ ส.ว. เหมือนเดิมหรือไม่

ชูศักดิ์ ศิรินิล กรรมาธิการวิสามัญฯสัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้พิจารณาศึกษาแก้ไขมาตรา 49 ว่าด้วยบุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ โดยมาตรานี้มีความมุ่งหมายป้องกันการใช้รัฐประหารและป้องกันการใช้กำลังมาล้มล้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญในอดีตจะให้อำนาจอัยการสูงสุดในการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชน แต่ปรากฎว่าครั้งหนึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าให้ประชาชนเป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงเห็นว่ามาตรานี้มีปัญหาพอสมควร และใช้มาตรานี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แม้แต่การเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็ยังถูกกล่าวหาเป็นการล้มล้างการปกครองมาแล้ว ดังนั้น อยากเสนอว่าควรมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองฯ

"ไม่อยากให้มาตรานี้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จนเป็นคดีรกศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น มาตรา 49 ควรได้รับการแก้ไขให้ชัดเจนเพื่อให้การใช้อำนาจนิติบัญญัติเป็นไปด้วยความสะดวกและมีความชัดเจน" ชูศักดิ์ กล่าว

ปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมาธิการวิสามัญฯและอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า หมวดสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจำนวนมาก ดังนั้น การจะแก้ไขในเรื่องใดควรพิจารณาถึงพันธกรณีของไทยที่มีต่อต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ ไม่ว่าจะมีสิทธิเสรีภาพมากขนาดไหนแต่กรอบการใช้สิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ รัฐธรรมนูญต้องถูกใช้เพื่อให้เดินไปข้างหน้า จึงต้องคำนึงถึงการใช้สิทธิเสรีภาพในอนาคตภายใต้ความท้าทายใหม่ด้วย เช่น สังคมผู้สูงอายุ เพื่อให้เป็นนวัตกรรมของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่แสดงให้เห็นว่าได้ทำงานไปข้างหน้า

ไพบูลย์ นิติตะวัน รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯและประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการฯจะรับข้อเสนอจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯไปพิจารณา เพราะเห็นว่าหลายเรื่องที่กรรมาธิการวิสามัญฯ ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นนั้นได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการฯมาบางส่วนแล้ว แต่เมื่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้มีข้อสังเกต ทางคณะอนุกรรมาธิการฯจะนำไปพิจารณาและกลับมาเสนอต่อที่ประชุมต่อไป

ไพบูลย์ ยังให้สัมภาษณ์สื่อมวชนอีกว่า อนุกรรมาธิการวิเคราะห์ศึกษาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ได้นำการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปพิจารณาและนำเสนอต่อที่ประชุมในสัปดาห์ที่แล้ว โดยมีความเห็น 2 แนวทางฝ่ายแรกเห็นว่าควรแก้ไข เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญง่ายขึ้น อีกส่วนมีความเห็นคัดค้านซึ่งรวมความเห็นตนด้วย เนื่องจากต้องใช้งบประมาณในการจัดทำประชามติ 3,000 ล้านบาท และมาตรา 256 เป็นการป้องกันเสียงข้างมากลากไป และไม่ให้เกิดการฟ้องร้องที่มาของ ส.ว. แบบปี 2550 เนื่องจากความไม่เห็นพ้องต้องกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ แม้จะอ้างว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้เป็นสากล แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเทศต่างๆ ยากกว่านี้ เช่นประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ จึงมีมติให้พักการพิจารณาแก้ไขมาตรา 256 ไปก่อน เพื่อไม่ให้เสียเวลา และไม่เกิดผลดีต่อคณะกรรมาธิการฯ และให้นำเรื่องเมื่อสิทธิและเสรีภาพ มาตราที่ 25-45 มาพิจารณาแก้ไข เพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่งตนคิดว่าประเด็นนี้จะได้รับความเห็นชอบร่วมกันของรัฐสภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. โดยไม่ต้องแก้มาตรา 256 ก่อน ถือเป็นกลุ่มแรกที่กระทำได้เลย ซึ่งตนเชื่อว่าหลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพ้นวาระไปแล้ว น่าจะต้องยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา

ส่วนกลุ่มที่สอง เชื่อว่าจะมีประเด็นที่จะพิจารณาเรื่องบัตรเลือกตั้งหนึ่งใบหรือสองใบ และประเด็นที่มีปัญหาเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบ ของพรรคการเมือง ก็อาจจะยังไม่สามารถหาความเห็นร่วมกันในช่วงที่คณะกรรมาธิการฯ กำลังศึกษา ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกหนึ่งถึงสองปี ส่วนกลุ่มที่สาม น่าจะมีปัญหาไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากไม่ได้รับความเห็นชอบจากส.ว. ตามบทเฉพาะกาลได้แก่มาตรา 256 รวมทั้งการตั้ง สสร. และการแก้ไขบทเฉพาะกาล ซึ่งตนคาดว่าจะต้องใช้เวลา 4-5 ปี เพื่อให้ ส.ว. ชุดใหม่มาทำหน้าที่แทน

ที่มาจาก : ผู้จัดการออนไลน์ 1 ,

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท