ศาลเนเธอร์แลนด์ สั่งให้รัฐบาลเลิกสอดแนมประชาชนเรื่องเสี่ยงโกงสวัสดิการ

ศาลเนเธอร์แลนด์ตัดสินสั่งให้มีการยกเลิกระบบการสอดแนมอัตโนมัติต่อผู้คนเพื่อตรววจสอบการโกงสวัสดิการ โดยระบุว่าเป็นวิธีการที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและอนุสัญญาของยุโรป และมีความเป็นไปได้ว่าการตัดสินในครั้งนี้อาจจะส่งผลสะท้อนไปสู่ภายนอกเนเธอร์แลนด์ด้วย โดยที่ประเทศอื่นๆ อย่างอังกฤษก็มีการนำปัญญาประดิษฐ์กับอัลกอริทึมมาใช้สอดแนม-ประเมินว่าคนๆ หนึ่งเสี่ยงที่จะโกงสวัสดิการหรือไม่ แต่วิธีนี้ก็ถูกวิจารณ์มาโดยตลอดว่าละเมิดความเป็นส่วนตัวและเลือกปฏิบัติ


ที่มาภาพประกอบ: Pieter Edelman (CC BY-NC-ND 2.0)

คดีนี้ถูกมองว่ามีความสำคัญเนื่องจากรัฐบาลหลายแห่งเริ่มนำระบบปัญญาประดิษฐ์และวิธีการประเมินปัจจัยเสี่ยง (risk modeling) มาใช้ในการบริหารจัดการสวัสดิการและบริการของรัฐอื่นๆ ซึ่งเป็นวิธีการของรัฐบาลที่ชวนให้เกิดข้อโต้แย้ง

หนึ่งในข้อโต้แย้งที่นักรณรงค์ต่อต้านการสอดแนมด้านสวัสดิการระบุว่า การใช้วิธีการแบบดิจิทัลในการสอดแนมและวัดผลผู้คนเหล่านี้กระทำโดยไม่ผ่านการปรึกษาหารือกับผู้คนในสังคมก่อน และมีการดำเนินการอย่างเงียบๆ และไม่มีการควบคุมดูแลที่ดีพอ การใช้วิธีการนี้เทียบได้กับเป็นการสอดแนมคนจน ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิความเป็นส่วนตัว

หนึ่งในประเทศที่นำวิธีการปัญญาประดิษฐ์สอดแนมสภาพของผู้คนเพื่อตรวจวัดสวัสดิการคือประเทศอังกฤษ หนึ่งในกรรมาธิการด้านแรงงานและสวัสดิการของสภาผู้แทนฯ ของอังกฤษคือ สตีเฟน ทิมม์ส กล่าวว่า คำตัดสินของศาลเนเธอร์แลนด์ในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐสภาควรจะพิจารณาอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับการที่รัฐบาลจะใช้เทคโนโลยีในระบบสวัสดิการสังคม เพื่อให้เป็นไปในรูปแบบที่สิทธิของพลเมืองได้รับการคุ้มครอง

ฟิลิป อัลสตัน ผู้รายงานพิเศษด้านความยากจนและสิทธิมนุษยขนของสหประชาชาติกล่าวชื่นชมคำตัดสินของศาลเนเธอร์แลนด์ในฐานะที่เป็นชัยชนะของผู้ที่เป็นห่วงในเรื่องที่สวัสดิการดิจิทัลจะเป็นภัยต่อสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้คำตัดสินนี้ยังจะกลายเป็นตัวชี้นำทางในแง่กฎหมายสำหรับศาลอื่นๆ ในการตัดสินเรื่องนี้

ในอังกฤษมีกลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการคอยจับตามองคำตัดสินนี้เพราะพวกเขากลัวว่าการทำให้การตรวจประเมินสิทธิในการรับสวัสดิการของประชาชนถูกทำให้เป็นดิจิทัลแล้วอาจจะส่งผลให้ผู้คนหิวโหยและกลายเป็นหนี้มากกว่าเดิม

สื่อเดอะการ์เดียนเคยเปิดเผยรายงานการสืบสวนสอบสวนกรณีนี้มาก่อน พบว่ากรมแรงงานและสวัสดิการ (DWP) ของอังกฤษเพิ่มงบประมาณไปในส่วนของการพัฒนาด้านระบบปัญญษประดิษฐ์เพื่อเอามาใช้กับเรื่องสวัสดิการ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เองก็นำโมเดลการชี้วัดความเสี่ยง (SyRI) มาใช้ในการคำนวนความเสี่ยงเรื่องความเป็นไปได้ที่ผู้คนจะทำการโกงสวัสดิการ โกงภาษี หรือละเมิดกฎหมายแรงงาน

การใช้ปัญญาประดิษฐ์สอดแนมข้อมูลประชาชนเหล่านี้มักจะนำมาใช้กับย่านของคนที่มีรายได้น้อย มีการเก็บข้อมูลต่างๆ ของประชาชนไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน หนี้สิน ประวัติด้านสวัสดิการ รวมถึงประวัติการศึกษาและประวัติเกี่ยวกับที่พักอาศัย จากนั้นพวกเขาจะนำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลผลด้วยอัลกอริทึมลับเพื่อประเมินว่าบุคคลเหล่านั้นมีความเสี่ยงที่จะทำการโกงสวัสดิการหรือไม่

เรื่องนี้ทำให้เกิดแนวร่วมของกลุ่มด้านสิทธิการเข้าถึงสวัสดิการ กลุ่มด้านสิทธิความเป็นส่วนตัว และการหนุนหลังจากสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์ร่วมกันคัดค้านการสอดแนมย่านคนจนเช่นนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ศาลตัดสินให้ข้อกำหนด SyRI ที่ใช้สอดแนมประชาชนนี้ถือว่าไม่มีหลักประกันดีพอที่จะสกัดกั้นไม่ให้เกิดการล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวและขาดความโปร่งใสอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังมีลักษณะของการเลือกปฏิบัติกลุ่มคนจนและกลุ่มคนที่อยู่ในสถานะผู้อพยพ

นอกจากนี้ศาลยังตัดสินอีกว่าระบบสอดแนมดังกล่าวยังไม่ผ่านมาตรฐานอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เนื่องจากไม่มีความสมดุลดีพอระหว่างเป้าหมายเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดการโกงสวัสดิการกับการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว ฉะนั้นแล้วข้อกำหนด SyRI นี้จึงถือว่าผิดกฎหมาย

คริสเตียน วอน วีน ผู้อำนวยการโครงการรัฐสวัสดิการดิจิทัลและสิทธิมนุษยชนที่วิทยาลัยกฎหมายมหาวิทยาลัยนิวยอร์กกล่าวว่า นอกจาก SyRI แล้วยังมีรัฐบาลอื่นๆ ที่ทดลองระบบอัตโนมัติแบบนี้เพื่อใช้กับรัฐสวัสดิการ เช่นในอังกฤษ หรือในออสเตรเลีย คำตัดสินในครั้งนี้จึงจะกลายเป็นการวางบรรทัดฐานคำพิพากษาในที่อื่นๆ ของโลกและจะช่วยให้กำลังใจนักกิจกรรมในประเทศอื่นๆ เพื่อท้าทายรัฐบาลตัวเองในเรื่องนี้

เรียบเรียงจาก
Welfare surveillance system violates human rights, Dutch court rules, The Guardian, 05-02-2020
https://www.theguardian.com/technology/2020/feb/05/welfare-surveillance-system-violates-human-rights-dutch-court-rules

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท