Skip to main content
sharethis

ตม.แถลงรวบชาวกัมพูชาตั้งขบวนการขนแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ รับค่าขนเที่ยวละ 5 พัน

7 ก.พ. 2563 ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม.พร้อมด้วยพล.ต.ต.พรชัย ขันตี พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ พล.ต.ต.ชูฉัตร ธารีฉัตร รองผบช.สตม. พ.ต.อ.ปรีชา กองแก้ว รองผบก.ตม.2 พ.ต.อ.สถิตย์ พรมอุทัย รอง ผบก.สส.สตม. แถลงการจับกุมนายวิทย์ (ไม่ทราบสกุล) ชาวกัมพูชา และนายสมพงษ์ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาในขบวนการลอบพาคนต่างด้าวเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย โดยใช้พื้นที่ชายแดนฝั่งไทย บ้านหนองหญ้าแก้ว อ.โคกสูง จ.สระแก้ว

การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากชุดสืบสวน บก.ตม.2 พบเบาะแสะขบวนการดังกล่าวได้พาชาวกัมพูชาลอบเข้าประเทศโดยใช้รถกระบะโตโยต้าไฮลักซ์ รีโว่ สีขาว ลักษณะบรรทุกของหนักและมีผ้าใบปิดคลุมท้ายกระบะวิ่งมาด้วยความเร็วสูง ตามเส้นทาง ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี เมื่อเจ้าหน้าที่สกัดเข้าตรวจสอบพบนายสมพงษ์ เป็นผู้ขับรถ ส่วนท้ายกระบะมีชาวกัมพูชา 25 คน อัดแน่นมาเต็มท้ายโดยไม่ถือหนังสือเดินทางสักราย

จากการสอบถามนายสมพงษ์ สารภาพว่า ได้รับว่าจ้างจากนายวิทย์ ขาวกัมพูชา ให้ขับรถดังกล่าวมาตามเส้นทางธรรมชาติ โดยมีปลายทาง จ.ชลบุรี จ.สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ โดยมีค่าจ้างขนส่งเที่ยวละ 1,500 บาท เมื่อเสร็จงานจะได้รับเงินเพิ่มตามจำนวนที่ไปส่งอีกรายละ 100 บาท โดยชาวกัมพูชาจะเดินเท้ามาขึ้นรถที่จุดนัดพบบ้านหนองหญ้าแก้ว ต.โคกสูง และเสียค่าดำเนินการให้นายวิทย์คนละ 5,000 บาท เจ้าหน้าที่จึงจับกุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ดำเนินคดี

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 7/2/2563

ผลกระทบไวรัสโคโรน่า แรงงานภูเก็ตตั้งทีมให้คำปรึกษานายจ้าง-ลูกจ้าง

7 ก.พ. 2563 นายเวียง สุวรรณะ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ถึงสถานการณ์แรงงานภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่ได้รับผลกระทบจาก “ไวรัสโคโรน่า” ในขณะนี้ว่า ได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางชมรมบริหารงานบุคคลจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีอยู่ 2 ชมรมคือ ชมรมบริหารจัดการงานบุคคลจังหวัดภูเก็ตและชมรมบริหารงานบุคลป่าตอง เรื่องการใช้มาตรการแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น

ซึ่งมีแนวปฎิบัติเริ่มตั้งแต่การลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นก่อน,ให้ลูกจ้างใช้วันลาวันหยุดสะสมที่มีอยู่, การหมุนเวียนการทำงาน หรือหากจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวก็จ่าย 75 เปอร์เซ็นต์ตามกฎหมาย แต่ถ้าได้รับผลกระทบที่รุนแรงจนถึงขั้นจำเป็นต้องเลิกกิจการไป ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย โดยทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงงานจังหวัดภูเก็ตได้จัดเจ้าหน้าที่เพื่อให้คำปรึกษากับลูกจ้างและนายจ้างในช่วงนี้

“ผลตอบรับหลังจากมีการประชาสัมพันธ์ออกไปก็ยังมีน้อย เพราะจนถึงขณะนี้ผลกระทบที่ทำให้ต้องหยุดกิจการหรือเลิกจ้างแรงงานยังไม่มี แต่ก็มีนายจ้างที่มาปรึกษาหารือ”

นายเวียง กล่าวและว่า เท่าที่ได้รับฟังจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก “ไวรัสโคโรน่า” พบว่าได้รับผลกระทบกันเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป แต่ทางผู้ประกอบการ ก็ยังประคองธุรกิจเพื่อรักษาแรงงานไว้ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาท่องเที่ยว ฉะนั้นทางผู้ประกอบการจึงพยายามรักษาแรงงงานไว้ สำหรับสถานประกอบพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีอยู่กว่า 10,000 แห่ง มีแรงงานอยู่ในระบบประมาณ 1.8 แสนคน ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ก็อยู่ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเป็นหลัก

ที่มา: Spring News, 7/2/2563 

เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินนกแอร์ ชนเข้ากับรถลากเครื่องบินระหว่างการลากเข้าหลุมจอด ส่งผลให้พนักงานภาคพื้นดินเสียชีวิต 1 คน

7 ก.พ. 2563 นาย สัมพันธ์ ขุทรานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง เปิดเผยว่า เมื่อเวลาประมาณ 08.00 น. ที่บริเวณลานจอดเครื่องบินภายในสนามบินดอนเมือง ได้เกิดอุบัติเหตุ เครื่องบินของสายการบินนกแอร์ เที่ยวบิน DD6458 เส้นทาง ดอนเมือง-นครศรีธรรมราช ชนเข้ากับรถลากเครื่องบินของสายการบินนกแอร์ ระหว่างที่รถลากกำลังลากเครื่องบินเข้ามายังหลุมจอดเพื่อไปรอรับผู้โดยสารเพื่อเดินทางไปยังนครศรีธรรมราช

โดยระหว่างที่รถกำลังลากเครื่องบินนั้นปรากฏว่า อุปกรณ์ลากที่เชื่อมต่อระหว่างรถลากและตัวเครื่องบินเกิดขาดทำให้คนขับรถลากหยุดรถทันที ขณะที่เครื่องบินที่ถูกลากมายังมีแรงเฉื่อยอยู่ทำให้เครื่องบินไหลเข้ามาพุ่งชนกับรถลากจนเครื่องบินได้รับความเสียหาย ทางสายการบินจึงต้องนำเครื่องบินไปตรวจเช็คและซ่อมบำรุง และต้องเปลี่ยนเครื่องบินใหม่เข้ามาทำการบินแทน ส่งผลให้เที่ยวบินดังกล่าวออกเดินทางล่าช้ากว่ากำหนดไป 1 ชั่วโมง โดยได้ออกเดินทางไปเมื่อเวลา 09.50 น. ล่าช้ากว่าตารางเวลาออกเดินทางเดิมที่กำหนดไว้ที่ 08.40 น.

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า พนักงานภาคพื้นดิน คนขับรถลากบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่อีกรายได้รับบาดเจ็บ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว

ที่มา: Thai PBS, 7/2/2563 

Big cleaning ศูนย์เด็กเล็กฯ สังกัดกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สกัดโคโรนา

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวในกลุ่มเด็กเล็กซึ่งอยู่ในการความดูแลของศูนย์เด็กเล็กวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ จังหวัดนครปฐมและจังหวัดสมุทรปราการ ภายใต้การกำกับดูและของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงได้สั่งการให้ศูนย์เด็กเล็กฯ

ทั้งสองแห่งจัดมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยมีการตรวจวัดอุณหภูมิของเด็กทุกวันก่อนเข้าเรียนด้วยเครื่องวัดเทอร์โมมิเตอร์ และล้างมือด้วยเจล การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันไวรัสแก่เด็กและผู้ปกครอง นอกจากนี้ได้จัดกิจกรรม Big cleaning ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคห้องเรียน และบริเวณศูนย์เด็กเล็กฯ เป็นเวลา 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 7 ถึง 10 ก.พ. 2563 เพื่อความปลอดภัยของเด็กปฐมวัย รวมทั้งบุคลากรของศูนย์ฯ

นอกจากนี้ กสร.ได้ขอความร่วมมือนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการที่มีการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กเพื่อผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบกิจการ จัดมาตรการในการป้องกันไวรัสโคโรนา เช่น การตรวจคัดกรองเด็กทุกวัน การทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมและของเล่นทุกวัน หรือเมื่อมีการเปื้อนน้ำลาย น้ำมูกหรือสิ่งสกปรก รณรงค์สวมหน้ากากอนามัย การจัดเจลล้างมือและมีมาตรการเคร่งครัดในการล้างมือให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกระดับที่ดูแลสัมผัสเด็กเล็กเป็นต้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่เด็ก และผู้ปกครองในการป้องกันไวรัสดังกล่าวด้วย

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 7/2/2563 

ประกันสังคมเฝ้าระวังสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรน่า แจงหากพบในผู้ประกันตน ต้องเข้ารับการรักษาเร่งด่วน

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2563 - นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ ไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งปัจจุบันเชื้อไวรัสนี้สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน จากการไอ จาม หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งของคนที่ป่วย และขณะนี้อยู่ในการดูแลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขแล้ว ดังนั้น ไวรัสโคโรน่า อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

สำหรับผู้ประกันตนที่สัมผัส กับผู้ติดเชื้อ หากมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น มีอาการไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หรือหายใจเหนื่อยหอบ ให้สวมหน้ากากอนามัย และขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกทันที เพื่อทำการตรวจเชื้อ เพราะโรคนี้มีความเสี่ยงสูงเป็นอันตรายถึงชีวิต กรณีหากพบว่าผู้ประกันตนมีการติดเชื้อ “ไวรัสโคโรน่า” จะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้ประสานให้สถานพยาบาลคู่สัญญา 242 แห่ง และเครือข่ายทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมในการรักษา และวิธีป้องกันอย่างเต็มที่ พร้อมประสานส่งตัวผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีในโรงพยาบาล สังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตามขั้นตอนกระบวนการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

นายทศพล กล่าวต่อไปถึงวิธีป้องกันโรค “ไวรัสโคโรน่า” แต่ทุกคนควรป้องกันโรคทุกชนิดด้วยการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ ใช้ผ้าปิดปาก เมื่อมีอาการไอ หรือจาม สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่แออัด และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องระวังมากที่สุด คือ กลุ่มผู้ที่มีอาชีพสัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวชาวจีน ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ ด้วยความห่วงใยไปยังลูกจ้าง ผู้ประกันตน จากสำนักงานประกันสังคม หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัยโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 หรือปรึกษาการใช้บริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ โทร.02 956 2498 หรือ สายด่วนหมายเลข 1506 และที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ทั่วประเทศ

ที่มา: คมชัดลึก, 6/2/2563 

เหยื่อค้ามนุษย์หญิงสาวชาวเอธิโอเปีย ได้ไปประเทศที่สามแล้ว

น.ส.แอนเน็ท (นามสมมติ) ผู้เสียหายต้องทำงานให้นายโยนัส เทกเก้น โวลเดอแมเรียน และภริยา ซึ่งเป็นนายจ้างตั้งแต่เวลาตี 5 ถึงเที่ยงคืนหรือตี 1 ทุกวัน เป็นเวลาทำงานวันละ 19-20 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด โดยไม่ได้ค่าจ้างตามสัญญา อีกทั้งถูกทุบตีทำร้ายร่างกาย หากทำงานไม่เป็นที่พอใจ ถูกบังคับให้กินแต่ข้าวเปล่า ถูกข่มขู่และยึดหนังสือเดินทาง ทั้งหน่วงเหนี่ยวกักขังให้อยู่แต่ในบ้าน ผู้เสียหายทำงานได้ 1 ปี 8 เดือน ก็ทนไม่ได้ จนวันที่ 8 มีนาคม 2558 จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านนายจ้างเพื่อฆ่าตัวตาย แต่มีพลเมืองดีพบเห็นจึงได้รับการช่วยเหลือ จนนำมาสู่การร้องเรียนมูลนิธิผู้หญิง และสภาทนายความ

นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ เปิดเผยว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มูลนิธิผู้หญิงและสภาทนายความได้ช่วยให้ น.ส.แอนเน็ท ได้ออกมาร้องทุกข์กล่าวโทษนายโยนัส และภริยาต่อตำรวจ ในข้อหาค้ามนุษย์ เอาคนลงเป็นทาส หน่วงเหนี่ยวกักขัง ทำร้ายร่างกาย แต่ตำรวจและอัยการมีความเห็นว่าไม่สั่งฟ้อง อ้างว่า นายโยนัส มีความคุ้มกันทางการทูต จนต้องให้ทนายความฟ้องร้องเองในคดีแรงงาน และคดีอาญา ซึ่งในวันที่ศาลอาญานัดไต่สวน นายโยนัส เทกเก้น โวลเดอแมเรียน ก็ยอมชดใช้ไกล่เกลี่ย

น.ส.แอนเน็ท เป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยในเอธิโอเปีย ที่มีการฆ่ากันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ผ่านมา เคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารกระทำอย่างรุนแรง ประกอบกับนายจ้างเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถกลับเอธิโอเปียได้อย่างปลอดภัย จนต้องขอสถานะผู้ลี้ภัยและในที่สุดได้เดินทางลี้ภัยไปประเทศที่สาม

ด้าน นายโยนัส เทกเก้น โวลเดอแมเรียน หลังเป็นข่าวถูกองค์การอนามัยโลกสั่งพักงาน และถูกสอบสวน ต่อมามีคำสั่งย้ายไปปฏิบัติงานที่อื่นโดยไม่ถูกลงโทษ

ด้าน น.ส.กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม ทนายความในคดีนี้ กล่าวว่า กรณีนี้สะท้อนความไม่ยุติธรรมหลายอย่างในสังคม น.ส.แอนเน็ท มีฐานะยากลำบาก เป็นทั้งผู้ลี้ภัย เหยื่อค้ามนุษย์ และเป็นผู้หญิง ส่วนอีกฝ่ายเป็นผู้ชายมีฐานะ มีหน้าที่การงานดี เป็นเจ้าหน้าที่ WHO ระดับสูง ในคดีนี้นอกจาก น.ส.แอนเน็ท จะต้องต่อสู้กับการกดขี่ข่มเหงของนายจ้างแล้ว ยังต้องต่อสู้กับอคติของสังคมและกระบวนการยุติธรรม ทำให้การเข้าถึงความยุติธรรมเป็นไปด้วยความยากลำบาก บุคคลในกระบวนการยุติธรรมจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีความเข้าใจและให้ความช่วยเหลือโดยคำนึงถึงความเปราะบางในสถานะต่างๆ ของเหยื่อ รวมถึงเพศสภาพ เพราะไม่เช่นนั้นระบบยุติธรรมของไทยก็จะล้มเหลว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 6/2/2563 

'มอเตอร์ไซค์รับจ้าง' ทวงคำตอบ ก.คมนาคม ใช้กฎหมายจับ 'Grab Bike'

6 ก.พ. 2563 ที่ กระทรวงคมนาคม น.ส.ปัทมศรี ไกรรส ประธานชมรมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ (จยย.) สาธารณะแห่งกรุงเทพมหานคร ชมรมเพื่อนแท้ชาววิน พร้อมด้วยสมาชิก 100 คน เข้ามายื่นหนังสือถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรื่องขอให้บังคับใช้กฎหมาย กับบริษัทแอพพลิเคชั่นที่กระทำผิดกฎหมาย โดยมีนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รับหนังสือ

น.ส.ปัทมศรี กล่าวว่า การเดินทางมายื่นหนังสือถึงนายศักดิ์สยามในครั้งนี้นั้น เพื่อมาทวงถามคำตอบตามที่เคยได้ยื่นไปก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องด้วยในปัจจุบันมีบริษัทที่เปิดให้บริการรับ - ส่งผู้โดยสารผ่านทางแอปพลิเคชั่น ได้มีการนำรถส่วนบุคคลมารับจ้าง พร้อมทั้งนำรถป้ายเหลืองมาวิ่งให้บริการนอกเขตวินที่จดทะเบียน จึงเรียงร้องให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และกระทรวงคมนาคม บังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิด เนื่องจากในปัจจุบันกลุ่มผู้ขับขี่รถจักยานยนต์ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ภายหลังการยื่นหนังสือในครั้งนี้นั้น จะกลับมาทวงถามอีกครั้งในวันที่ 20 ก.พ. 2563

“ที่เราเดินทางมาในวันนี้ ถือเป็นเรื่องเก่าที่เคยได้มายื่นแล้ว แต่เงียบหายไป ตอนนี้ Grab ยังไม่ถูกกฎหมาย แต่การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด แถมยังมาครอบมอเตอร์ไซค์วินที่จดทะเบียนถูกต้อง ทำให้เราถูกมองว่าเป็นผู้ต้องหา ถ้าจะบังคับ อย่ามาใช้แค่กับมอเตอร์ไซค์วิน ซึ่งเรายืนยันว่า เราไม่ได้เรียกร้องเกินกว่าเหตุ แต่ทำตามกระบวนการและกฎหมายทั้งหมด” น.ส.ปัทมศรี กล่าว

สำหรับข้อเรียกร้องของชมรมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ (จยย.) สาธารณะแห่งกรุงเทพมหานคร (เพื่อนแท้ชาววิน) ที่ยื่นต่อนายศักดิ์สยามนั้น มี 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ยกเลิกหรือเพิกถอนการจดทะเบียนของบริษัทที่ทำผิดกฎหมาย หรือมีมาตรการลงโทษกับบริษัทที่สนับสนุนรถส่วนบุคคลมารับจ้างและนำรถป้ายเหลืองมารับ-ส่งนอกเขตพื้นที่ตัวเองจดทะเบียนไว้ 2.ขอให้กระทรวงคมนาคมสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เข้มงวดจับกุมรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่มารับ-ส่งผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชั่น และลงโทษในอัตราสูงสุด และ 3.ขอให้เพิ่มโทษกลับรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มารับผู้โดยสารนอกเขตวินที่ตนเองจดทะเบียนไว้ ขอให้มีโทษปรับและลงโทษให้พ้นสภาพจากการเป็นรถสาธารณะ เพราะโทษปัจจุบันที่ใช้อยู่ มีเพียงบันทึกถ้อยคำและนำเสนอคณะอนุกรรมการประจำเขตเท่านั้น ทำให้ผู้กระทำความผิดไม่หลาบจำ

ขณะเดียวกัน ตามนโยบายของนายศักดิ์สยามที่ให้ผู้ที่พบเห็นว่า รถสาธารณะกระทำความผิดสามารถแจ้งได้ที่กรมการขนส่งทางบก และผู้แจ้งจะได้รับเปอร์เซ็นต์จากค่าปรับนั้น จึงได้ตั้งคำถาม 3 ข้อ โดยระบุว่า 1.รถจักรยานยนต์สาธารณะแต่งกายไม่เรียบร้อยขณะรับ-ส่งผู้โดยสาร ผู้แจ้งจะได้รับส่วนแบ่งค่าปรับหรือไม่ 2.รถจักรยานยนต์สาธารณะที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมาย ใส่เสื้อวินแต่งกายเรียบร้อย แต่ขับรถส่วนบุคคลมารับจ้าง ผู้แจ้งจะได้รับส่วนแบ่งค่าปรับหรือไม่ และ 3.นำรถส่วนบุคคลมารับจ้าง ผู้แจ้งจะได้รับส่วนแบ่งค่าปรับหรือไม่

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า หลังจากนี้ จะนำข้อร้องเรียนของกลุ่มวินฯ ไปพิจารณาและตอบทุกข้อคำถามต่อไป โดยในขณะนี้ ขบ. ได้ประกาศเปิดรับลงทะเบียนสำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ ทั้งในส่วนที่จะมีการจัดตั้งวินใหม่ หรือวิน จยย. เดิม แต่มีการเพิ่มสมาชิกใหม่ โดยต้องได้รับการยินยอมจากสมาชิกในวินเดิมด้วย ตามที่ได้มีการประกาศไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา หลังจากไม่ได้มีการเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา สำหรับผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพวิน จยย. สามารถยื่นเอกสารการสมัครได้ จากนั้นคณะกรรมการในเรื่องดังกล่าว ที่ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ มณฑลทหารบกที่ 11 กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ ขบ. จะเป็นผู้พิจารณาต่อไป คาดว่าใช้เวลาดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ขบ.ยังไม่มีการพิจารณาจัดทำการให้บริการรถจักรยานยนต์ผ่านแอปพลิเคชั่นนั้น เนื่องจากจะต้องรอนโยบายให้มีความชัดเจนก่อน และจะต้องมีการแก้กฎหมาย ซึ่งจะใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี โดยในระหว่างนี้ ขบ.จะเข้มงวดจับกุมผู้กระทำความผิด พร้อมทั้งหารือร่วมกับบริษัทที่จัดทำแอปพลิเคชั่น และเรียกรถจักรยานยนต์มากำหนดพื้นที่ไม่ให้วิ่งข้ามเขตพื้นที่ ให้ใช้รถที่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด รวมถึงการพิจารณาให้มีแอปพลิเคชั่นกลางหรือไม่ เพื่อให้รถจักรยานยนต์เข้าสู่ระบบให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มีวินที่จัดตั้งทั่วประเทศกว่า 10,000 วิน คนขับรถ จยย. รับจ้างสาธารณะรวม 200,000 คน แบ่งเป็น ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต ประมาณ 5,000 กว่าวิน คนขับรถ จยย. รับจ้างสาธารณะ 90,000 กว่าคน และวิน จยย. ในพื้นที่ต่างจังหวัด ประมาณ 5,000 กว่าวิน คนขับรถ จยย. รับจ้างสาธารณะ 100,000 คน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 6/2/2563 

ให้ ขรก.ท้องถิ่น เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2563 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงความคืบการออกกฎหมายลำดับรองของพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ว่า ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 โดยให้ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ ปลัดเทศบาล ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ปลัดกรุงเทพมหานคร และปลัดเมืองพัทยา เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ

“การแต่งตั้งให้ท้องถิ่นเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ เป็นการแต่งตั้งเพิ่มเติม ซึ่งเดิมมีประกาศกระทรวงเกษตรฯ แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ ลงวันที่ 29 ม.ค.2562 คือ อธิบดีกรมปศุสัตว์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้อำนวยการกอง/สำนักที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค สำนักงานปศุสัตว์เขต สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว

สำหรับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ เป็นไปตามมาตรา 25 แห่งพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ ดังต่อไปนี้

1. มีหนังสือเรียกเจ้าของสัตว์ ผู้แทนองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ ผู้ดูแลสถานสงเคราะห์สัตว์หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้

2. เข้าไปในสถานที่ใดๆ เพื่อดำเนินการตรวจสอบ เมื่อได้รับแจ้งหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งการเข้าไปในสถานที่เพื่อทำการตรวจค้นต้องมีหมายค้น เว้นแต่มีเหตุอันควรเชื่อว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ จะมีการยักย้าย ซุกซ่อน หรือทำลายหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ให้ดำเนินการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น แต่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการค้น

3. สั่งให้หยุดซึ่งยานพาหนะเพื่อดำเนินการตรวจสอบ เมื่อได้รับแจ้งหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการทารุณกรรมสัตว์

4. ยึดหรืออายัดสัตว์หรือซากของสัตว์ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าถูกฆ่า หรือถูกทารุณกรรม รวมทั้งเอกสาร หลักฐาน ยานพาหนะ เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เพื่อเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี

5. นำสัตว์ที่ถูกทารุณกรรมไปตรวจรักษาหรือช่วยเหลือสัตว์ที่ตกอยู่ในภยันตราย ในกรณีที่ปรากฏว่าสัตว์นั้นไม่มีผู้ใดให้การรักษาหรือช่วยเหลือ

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการตามพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการกระจายอำนาจให้ดูแลสัตว์อย่างทั่วถึง ซึ่งกรมปศุสัตว์ยังคงทำหน้าที่กำกับดูแลกฎหมายฉบับนี้ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ในทุกมิติให้อยู่ร่วมกันกับสังคมอย่างปกติสุข

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 4/2/2563 

ผู้ประกอบการรถบัสภูเก็ตโอด พิษไวรัสโคโรนาส่งผลถูกเอเย่นต์ทัวร์ยกเลิกงาน รถบัสกว่า 1,200 คันเคว้ง วอนรัฐเคลียร์สถาบันการเงิน พักชำระหนี้อย่างต่ำ 6 เดือน

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ทำให้ทางการจีนห้ามไม่ให้พลเมือง โดยเฉพาะจากเมืองอู่ฮั่นและมณฑลหูเป่ยเดินทางออกนอกประเทศ ส่งผลกระทบกับธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก

หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก คือ การให้บริการรถบัสรับส่งนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่จะรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางกันมาเป็นกรุ๊ปหรือหมู่คณะ ทำให้ขณะนี้รถบัสจำนวนกว่า 1,200 คันต้องจอดนิ่ง เนื่องจากเอเย่นต์ในประเทศจีนได้ขอยกเลิกการใช้บริการ เพราะนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศไทยนายวิพงศ์ศักดิ์ มงคลบุตร ผู้ประกอบการรถบัส 30 สำหรับให้บริการรับส่งนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเป็นกรุ๊ป กล่าวว่า ทางรถบัส 30 ได้รับผลกระทบนับตั้งแต่ทางการจีนประกาศห้ามไม่ให้พลเมืองเดินทางออกนอกประเทศ โดยเฉพาะที่เดินทางกันมาเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา

ต่อมา วันที่ 29 ม.ค. ทางเอเย่นต์ทัวร์ได้ทยอยแจ้งยกเลิกการนำนักท่องเที่ยวเข้ามา ทำให้รถบัสที่ให้บริการรับส่งนักท่องเที่ยวประมาณ 1,200 คันต้องจอดนิ่ง เนื่องจากไม่มีงานทำ

“สิ่งที่อยากให้หน่วยงานรัฐ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของผู้ประกอบการ ต้องการให้ภาครัฐเข้าไปคุยกับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะไฟแนนซ์รถ ขอพักชำระหนี้อย่างต่ำ 6 เดือน ส่วนของพนักงานขับรถขอให้เข้ามาดูแลและหาแนวทางในการเยียวยา เนื่องจากมีภาระที่ต้องรับผิดชอบครอบครัวและอื่นๆ เมื่อไม่มีงานทำจึง ลำบากมาก เช่น ประกันสังคม เป็นต้น”

นายวิพงศ์ศักดิ์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้มีการประสานไปยังสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.)ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อรวบรวมเอกสารผู้ประกอบการรถบัสที่รับส่งทัวร์จีนในจังหวัดภูเก็ตที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาไปยื่นให้กับทาง สปข.เพื่อนำปัญหาทั้งหมดเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีได้รับทราบปัญหาของผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และจะได้ช่วยหาแนวทางการช่วยเหลือต่อไปในส่วนของรายได้ที่สูญเสียไปนั้น

นายวิพงศ์ศักดิ์ยังกล่าวว่า ในระยะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะไม่ทราบว่านักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาเมื่อใด แต่ที่เกิดขึ้นแล้วก่อนหน้าจะมีสถานการณ์ไวรัสโคโรนา ซึ่งมีการจ้างงานกันไปแล้ว โดยมีค่าจ้างคันละประมาณ 50,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงินประมาณ 180 ล้านบาท ซึ่งไม่ทราบว่าจะได้หรือไม่

"จากการประสานไปยังบริษัททัวร์ เขาบอกว่าต้องรออย่างเดียว โดยเขาไม่ได้ปฏิเสธที่จะจ่าย ซึ่งในจำนวนนี้มีการจ่ายมาบางส่วน ที่เหลือก็คงต้องรอต่อไป"

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 4/2/2563 

สมาคมผู้ปลูกลำไยสระแก้วระบุขาดแคลนแรงงานมีฝีมือในการจัดเก็บแรงงานเก็บลำไย

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2563 ร.อ.ทองวรา มากสาคร นายกสมาคมผู้ปลูกลำไยสระแก้ว เปิดเผยว่าได้เข้าไปชี้แจงปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยจังหวัดสระแก้ว ตามหนังสือเชิญของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนฯ เนื่องจากเกษตรกรสระแก้ว ทั้ง วังสมบูรณ์ คลองหาด วังน้ำเย็น เขาฉกรรจ์ เมือง ฯลฯ ล้วนเป็นเกษตรกรที่มีพื้นที่การเกษตรอยู่ในจังหวัดที่ติดชายแดนกัมพูชาทั้งสิ้น ด้วย คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ถนนประดิพัทธ์ พญาไท กทม. 10400 ด้วยคณะอนุกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐและกิจการชายแดนไทย ในคณะกรรมาธิการ ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร จะมีการประชุมพิจารณาศึกษากิจการชายแดนที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ เพื่อรับทราบผลการปฏิบัติงาน ตามอำนาจหน้าที่และปัญหาอุปสรรค อันนำไปสู่การร่วมกันแสวงหาแนวทาง มาตรการเพื่อดำเนินการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้การพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการ เป็นไปด้วยความรอบคอบ ได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน คณะกรรมาธิการจึงมีความประสงค์ขอเชิญ ท่านหรือผู้แทนระดับผู้บริหารไปร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการ ในพุธที่ 29 มกราคม 2563 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ 304 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา เพื่อให้ข้อมูล และข้อคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับการจัดการด้านกิจการชายแดนที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติของหน่วยงาน พร้อมเอกสารข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) จำนวน 30 ชุด ดังนี้ 1.ปัญหาการดำเนินงานตามโครงการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : 0ss ) ของกรมการจัดหางาน ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทยยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ คนที่หนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า ได้รับรายงานให้กับที่ประชุมทราบว่า พื้นที่ปลูกลำไย ประมาณ 40,000-45,000 ไร่ มีการส่งเสริมให้ปลูกที่จังหวัดสระแก้ว ประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านมา ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพสูง ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ1,500 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนใหญ่เป็นลำไยพันธุ์ อีดอ มูลค่าการขายโดนรวม ไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท/ปี (ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก กลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้าจังหวัดสระแก้ว)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเป็นข้อสรุปที่นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการของ ร.อ.ทองวรา มากสาคร นายกสมาคมผู้ปลูกลำไยสระแก้วว่า1. สระแก้วขาดแคลน แรงงานมีฝีมือในการจัดเก็บแรงงานเก็บลำไย เพราะเป็นแรงงานเฉพาะฤดูกาล ที่มาพร้อมกับผู้ประกอบการล้งรับซื้อลำไยจากจังหวัดจันทบุรี ถ้าเข้ามาในพื้นที่สระแก้ว จะถูกจับกุมเนื่องจากไม่สามารถข้ามเขตเข้ามาทำงานในพื้นที่จังหวัดสระแก้วได้ 2. ผลจากการจับกุม เพราะมีกฎหมายตาม พรบ.ตรวจคนเข้าเมืองปี 22 จึงมีการเรียกปรับจับกุม ตั้งบนดินและใต้ดิน จาก จนท.บางคน บางพวก ทำให้เกิดความเสียหายต่อการเก็บลำไยซึ่งมีฤดูการเก็บเกี่ยวประมาณ 4เดือนเท่านั้นรวมทั้งค่าเบี้ยบ้ายรายทาง เป็นภาระที่ ผู้รับซื้อ มักจะมาหักราคาจากเกษตรกรจึงทำให้ไม่ได้ราคาที่เป็นธรรม 3.จังหวัดสระแก้ว มีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ เกือบทั้งจังหวัด มีผลทำให้ ล้งผู้รับซื้อไม่มาตั้งฐานรับซื้อในจังหวัดสระแก้ว ทำให้ต้องเดินทางจากจันทบุรีแบบมาเช้าเย็นกลับ จนเกิดกระบวนการเรียกรับเบี้ยบ้ายรายทางข้างต้น

4.จังหวัดจันทบุรี มีกระบวนการบริหารจัดแรงงาน ที่อำนวยความสะดวกและดูแลแรงงานลำไยอย่างไรไม่ทราบ ทำให้แรงงานฝีมือเหล่านี้ ไม่นิยมเดินทางเข้ามาทางด่านคลองลึกและเขาดิน ซึ่งทำให้ยิ่งตอกย้ำให้ปัญหาแรงงานและกาหนดราคาลำไยเพิ่มมากขึ้นไปอีกถามว่าข้อเสนอที่ต้องการให้กรรมาธิการ ฯช่วยติดตามแก้ไข คือ แก้ไขระเบียบ โดยหน่วยจัดหางาน กรมแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักในการประสานช่วยปรับปรุงให้เฉพาะแรงงานภาคการเกษตรโดยเฉพาะ พืชตามฤดูกาล เช่น ลำไย อ้อย ข้าว มันสำประหลังสามารถข้ามไปในจังหวัดที่ติดต่อกันได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งในเบื้องต้น ทางผู้แทนจัดหางาน รับปากว่าจะเร่งดำเนินการแก้ไขให้โดยเร็วที่สุด ท้ายนี้ขอ เปิดเผย รายชื่อหน่วยงานที่คัดค้านคำร้องเรียนมาตลอดคือ สภาความมั่นคง และ สภาพัฒน์ ตัวดี ที่อ้างอิงปัญหาความมั่นคงตลอดมา ทั้งๆที่ทุกวันนี้ เขมรเข้าไปเต็มบ้านเมืองมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม หากมีข้อมูลอะไร ที่ขาดตกบกพร่องต้องขออภัย ความจริงลำไยยังมีปัญหาอีกมากมาย แต่เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องเวลา และไม่ต้องการเสนอการแก้ปัญหาให้สับสน จึงนำเสนอในเรื่องแรงงานข้ามเขตจังหวัด เป็นประเด็นหลักก่อน และขอให้กรรมาธิการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวลำไยต่อไป

ที่มา: บ้านเมือง, 2/2/2563 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net