Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไม่น่าจะเหนือความคาดหมายแต่อย่างใดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ในประเด็นวินิจฉัยกรณีเสียบบัตรแทนกันในการโหวตผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พศ. 2563 ในวาระ 2 และ 3

โดยศาลรัฐธรรมนูญลงมติ 5 ต่อ 4 เห็นโดยสรุปว่าร่างพระราชบัญญัติไม่เป็นโมฆะ และอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 74 ให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการให้ถูกต้องเฉพาะในวาระที่สองและวาระที่สาม

จากนั้นให้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่แก้ไขให้ถูกต้องดังกล่าวให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไป พร้อมทั้งให้สภาผู้แทนราษฎรรายงานผลการปฏิบัติตามคำบังคับต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย

ซึ่งภายในเพียงไม่กี่อึดใจหลังจากนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ก็ได้เรียกผู้เกี่ยวข้องหารือร่วมกัน ก่อนได้ข้อสรุปนัดประชุมสภาฯ นัดพิเศษในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในวาระ 2 และ 3 ใหม่ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ภายใต้กรอบการอภิปรายเดิมที่ได้ดำเนินการไว้

จากคำวินิจฉัยดังกล่าวเชื่อว่าต้องมีทั้งคนที่เห็นด้วย และคนที่ไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน เพราะหลายคนอาจนำเอาไปเปรียบเทียบกับคำวินิจฉัยจากกรณีเดียวกันของพรรคเพื่อไทย ที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2557 กรณีนายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย เสียบบัตรแทนกัน ช่วงพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ… หรือร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การลงคะแนนเสียงแทนกันในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนั้น ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 2 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ตัดสินให้ร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต้องตกไป

ซึ่งแน่นอนเป็นเรื่องที่น่าคิด และเป็นเรื่องที่อาจเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึง “มาตรฐาน”ในการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แม้การวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวอาจเสี่ยงการถูกกล่าวหาว่าละเมิดศาลก็ตาม แม้ศาลฯ จะมีคำอธิบายเทียบเคียงให้เห็นถึงความแตกต่างกันก็ตามกล่าวคือ คดีนี้ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับข้อความอันเป็นสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่มีปัญหาที่กระบวนการตราต่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เท่านั้น

ทั้งข้อเท็จจริงในคดีนี้ ก็ปรากฏชัดว่าการพิจารณาออกเสียงลงมติของสภาผุ้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการ และการพิจารณาของคณะกรรมาธิการก่อนเสนอให้สภาผุ้แทนราษฎรพิจารณาเรียงตามลำดับมาตราในวาระที่สอง ได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทุกประการ ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนที่เสร็จสิ้นไปโดยสมบูรณ์ก่อนแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศชาติจะต้องได้กฎหมายฉบับนี้ไปช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าและอุปสรรคในการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินอีกด้วย (ซึ่งตรงนี้น่าจะนับรวมไปถึงองค์กรศาลรัฐธรรมนูญด้วยนั่นเอง)

ดังนั้นถ้าลองมานั่งพินิจพิเคราะห์ตามนี้ ก็อาจเป็นไปตามที่ศาลฯ ท่านว่านั่นก็คือ เหตุแห่งคดีมันต่างกัน (ตรงไหนไม่รู้ ยังงงๆ) ดังนั้นศาลฯ ไม่ได้มี“สองมาตรฐาน” มีเพียง“มาตรฐานเดียว” ซึ่งแน่นอนตรงนี้ก็จะเป็นอีกจุดที่จะต้องมีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน

เมื่อไม่มีทางเป็นอย่างอื่น เพราะคำวินิจฉัยนี้ครอบคลุมถึงทุกองค์กรต้องปฎิบัติตาม การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในวาระที่ 2 และ3 ใหม่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้นั้น การอภิปราย ข้อมูลหรือสีสันลีลาใดๆ คงไม่ได้น่าติดตามเท่าที่ควร เพราะคงจะเหมือนการนำละครมารีรันใหม่นั่นเอง ซึ่งคงไม่ต้องคาดคะเนตอนจบว่าจะลงเอยกันอย่างไร เพราะรู้ๆ กันอยู่แล้วนั่นเอง เว้นเสียแต่ว่า จะมีการหักมุมจบเหมือนละครบางเรื่องในปัจจุบันที่ทำตอนจบไว้หลายๆ รูปแบบนั่นเอง

โดยในการประชุมสภาฯ ครานี้ ก็น่าจะคาดเดากันได้ว่าฟากฝ่ายรัฐบาล ก็น่าจะอภิปรายเปิดในมุมที่ให้ลงมติกันไปเลย โดยชี้ให้เห็นว่าได้มีการอภิปรายในเนื้อหาสาระกันไปแล้วนั่นเอง ซึ่งคาดว่าฝ่ายค้านเอง ก็น่าจะเออออห่อหมกด้วย เพราะงบประมาณนี่ เป็นเรื่องเร่งด่วนจำเป็นอย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญท่านว่าไว้จริงๆ ซึ่งก็คงไม่ใช่แต่เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลเพียงเท่านั้น งบประมาณนี้ก็ถือว่า เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนของฝ่ายค้านด้วยเช่นกัน เว้นแต่ว่าฝ่ายค้านไม่เร่งด่วน ซึ่งถ้าไม่เร่งด่วน ก็อยากแนะนำให้สมาขิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ต้องไปอภิปรายให้ยืดเยื้อเสียเวลา แต่ให้เสนอลงมติไปเลย

โดยในการลงมติ ให้ลงมติเห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปเลย โดยให้ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมดที่มีสิทธิ์ลงคะแนน อยู่ในที่ประชุมสภาฯ นั่นแหละ แต่..ให้ใช้วิธีให้เสียบบัตรลงมติแทนกัน เพราะที่เสียบบัตรมีไม่เพียงพอ เหมือนที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเคยทำนั่นแล

จากนั้นให้มีคนส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง อยากดูอยากเห็นเหมือนกันว่ามติศาลรัฐธรรมนูญจะออกมา 5:4 อีกหรือไม่ และจะวินิจฉัยหรือสั่งแบบเดิมหรือไม่ เพราะนี่จะคือสิ่งชี้วัดว่า ศาลรัฐธรรมนูญมี“มาตรฐานเดียว” จริงๆ

“ถ้าหากสมมติว่าศาลรัฐธรรมนูญมี“มาตรฐานเดียว” จริงๆ และฝ่ายค้านไม่รีบเร่งในเรื่องงบประมาณนี้ ก็ขอให้ดำเนินการแบบนี้วนไปเรื่อยๆ จนกว่า...ศาลฯ จะมีสองมาตรฐาน”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net