Skip to main content
sharethis

สปสช.ย้ำผู้บาดเจ็บเหตุกราดยิงโคราช ใช้สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ ไม่ว่าจะมีสิทธิข้าราชการ ประกันสังคม หรือบัตรทอง พร้อมประสาน รพ.เอกชนในพื้นที่รับทราบแล้ว ไม่เรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย ส่วนกรณีญาติผู้บาดเจ็บสิทธิประกันสังคมโพสต์ว่าต้องเตรียมเงินไว้หลายแสนนั้น สปสช.ประสาน รพ.รับทราบแล้ว ไม่เสียค่าใช้จ่าย ทุกอย่างเป็นไปตามสิทธิ UCEP รพ.ไม่ต้องกังวล

9 ก.พ. 2563 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรณีสถานการณ์เหตุคนร้ายกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 27 ราย และบาดเจ็บ 57 รายนั้น สปสช.ได้รับมอบจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งห่วงใยผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์โดยให้ประสานงานสถานพยาบาลดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิ ซึ่งในส่วนของสิทธิการรักษาพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉินเป็นไปตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ หรือ UNIVERSAL COVERAGE FOR EMERGENCY PATIENTS (UCEP) ที่รัฐบาลโดย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้วางระบบรองรับการรักษาพยาบาลที่เป็นมาตรฐานไว้ โดยครอบคลุมดูแลประชาชนทุกสิทธิ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติที่หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง เข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่สถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทุกแห่งที่อยู่ใกล้สุด โดยสถานพยาบาลไม่ต้องกังวลเรื่องการแบกรับค่าใช้จ่าย และให้สถานพยาบาลที่ให้การรักษาเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ตามอัตราที่กำหนด ซึ่งขณะนี้ สปสช.เขต 9 นครราชสีมา ได้ประสาน รพ.เอกชนทั้ง 3 แห่งใน จ.นครราชสีมาที่ให้การดูแลรักษาผู้บาดเจ็บตามนโยบาย UCEP เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนั้นยังได้ประสานตามที่ได้รับแจ้งจากแอดมินเพจ Drama addict หรือจ่าพิชิต ขจัดพาลชน กรณีผู้บาดเจ็บสิทธิประกันสังคมที่โพสต์ว่าต้องเตรียมค่ารักษาหลายแสนบาทนั้น ล่าสุดทางเจ้าหน้าที่ สปสช.ประสานพูดคุยกับทาง รพ.ดังกล่าวแล้วว่าสามารถใช้สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ โดยไม่ต้องเก็บค่ารักษาจากผู้ป่วย ซึ่งทาง รพ.และญาติผู้ป่วยเข้าใจกันดี ไม่มีปัญหาแล้ว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนผู้ที่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทหรือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่ฉุกเฉินระดับวิกฤตินั้น สถานพยาบาลที่รักษาสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามข้อบังคับ สปสช.ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขกรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ระบุว่า ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองหากมีเหตุสมควร หรือกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนหน่วยบริการประจำและสถานพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

“สปสช.ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่บุคลากรสาธารณสุขทุกท่านที่ทำกำลังปฏิบัติหน้าที่แข่งกับเวลาในขณะนี้ และขอให้กำลังใจชาวโคราชทุกท่านผ่านพ้นเหตุการณ์นี้ไปด้วยดี ในส่วนของค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลนั้น รัฐบาลดูแลตามสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติที่ได้ออกแบบรองรับไว้แล้ว ผู้บาดเจ็บไม่เสียค่าใช้จ่าย หากท่านใดประสบปัญหากรณีดังกล่าว โทรเข้ามาที่สายด่วน สปสช. 1330 เพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันที” เลขาธิการ สปสช.กล่าว

เกิดเหตุกราดยิงกลางเมืองนครราชสีมา
วิสามัญฆาตกรรมมือกราดยิงนครราชสีมา
'แอมเนสตี้' แสดงความเสียใจต่อเหตุ 'กราดยิงนครราชสีมา'
กสทช.เตรียมเรียกช่องทีวีไลฟ์สดเหตุกราดยิงนครราชสีมาเข้าชี้แจง 

กรมสุขภาพจิตส่งทีมเข้าดูแลสภาพจิตใจผู้ประสบเหตุที่นครราชสีมา

ด้าน นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ระบุถึงเหตุการณ์กราดยิง ที่จังหวัดนครราชสีมา ว่า เบื้องต้นกรมสุขภาพจิต ส่งทีมเข้าดูแลจิตใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา โดย เป็นสทีม MCATT หรือ ทีมวิกฤติสุขภาพจิต เพื่อเข้าดูแลจิตใจประชาชนอย่างเร่งด่วน

โดยแบ่งการประเมินสภาพจิตใจ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะฉุกเฉิน ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดภาวะความเครียดสูง ทำให้หลายคนมีอาการหลากหลาย กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หวดผวา หวาดกลัว ทีมจิตแพทย์จะคัดกรองบุคคลเหล่านี้ จะเข้าไปดูแลเยียวยาทั้งกาย และจิตใจ เพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย ซึ่งอาการเหล่านี้ภายใน  2 สัปดาห์ ก็จะดีขึ้น

ส่วนระยะที่ 2 ระยะนี้อาจทำให้บางคนเกิดโรคจิตเภทได้ เนื่องจากยังไม่สามารถปรับสภาวะความเครียด และอาจเกิดภาวะซึมเศร้าได้ ทีมจิตแพทย์ต้องเข้าไปดูแลใกล้ชิด เพื่อวินิจฉัยอาการอีกครั้ง ในช่วง 2 สัปดาห์แรก ถึง 3 เดือน

และระยะสุดท้าย ช่วงหลัง 3 เดือนไปแล้ว ซึ่งจะเป็นกลุ่มของญาติผู้เสียชีวิต หรือ ผู้ได้รับบาดเจ็บ จากเหตุการณ์ รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ทุกคน 

ขณะที่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบทางด้านจิตใจแก่ผู้ประสบเหตุ โดยเฉพาะเด็ก เนื่องจากการเติบโตของเด็กแต่ละคนจะมีกรอบไอเดียจากประสบการณ์ เมื่อเจอเรื่องที่กระทบจิตใจ อาจจะส่งผลต่อพฤติกรรมหลังจากนี้ไปจนถึงอนาคต เช่น เด็กเล็ก อาจจะมีพฤติกรรมถดถอย เด็กโต อาจจะเก็บตัว ระแวง หรือ มีพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งทางครอบครัวคนใกล้ชิด จะต้องคอยสังเกต หากผิดปกติให้ติดต่อทางกรมสุขภาพจิต โทร 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ประชาชน ควรหลีกเลี่ยงการรับข่าวที่มากเกินไปจากสื่อ ภาพความรุนแรงต่างๆ รวมไปถึงข่าวปลอมและข่าวลือ อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดและปัญหาด้านสุขภาพจิตภายหลังเผชิญภัยพิบัติ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net