Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ถ้าเราสูบบุหรี่หรือถ่มน้ำลายที่ไหนก็ได้ โดยไม่สนใจคนรอบข้าง ก็ไม่ต่างจากการกราดยิงฝูงชน เพียงแต่ระดับความร้ายแรงห่างกันเท่านั้นเอง แต่ทั้งสองมาจากสาเหตุเดียวกัน คือ “ไม่เคารพความรู้สึกและชีวิตของผู้อื่น” ซึ่งทุกคนอาจเป็นอาชญากรได้ เพียงแต่ปัจจัยแวดล้อม ความกดดันหรือปัญหาชีวิตไม่ได้เอื้อมากพอถึงขั้นให้ทำสิ่งที่รุนแรง แต่หากดูความรู้สึกที่เราอยากให้วิสามัญผู้ร้าย อยากให้ประหารชีวิตคนชั่ว ให้รุมประชาทัณฑ์ไอ้ขี้หื่น เราก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่ไม่มีโอกาสได้ทำ ขณะที่อาชญากรเหล่านั้น ก็รู้สึกว่าตนถูกทำร้าย/เอาเปรียบ จึงต้องตอบสนองให้สาสม

ทั้งนี้ ผมก็เชื่อว่า ศาสนาพุทธแบบไทย ก็ไม่ได้ช่วยจรรโลงความรู้สึกของคนเท่ากันนี้ ตัวอย่างที่ชัดคือ เรามักไม่ได้ทำทานเพราะอยากช่วยเหลือคน / พระ / หมา ที่ไม่มีกิน หากแต่ทำเพราะหวังผลบางอย่าง และพระอยู่ในสถานะที่เชื่อว่าจะให้ผลนั้นได้ดีกว่า นั่นคือ เราพร้อมจะเฉยเมยหากรู้ว่าข้างบ้านมีคนยากจนหรือเด็กไม่มีเงินเรียน การทำบุญที่วัดแทบไม่ได้ช่วยให้เรารักสิ่งมีชีวิตรอบข้างมากขึ้น รวมทั้งอากาศหรือต้นไม้

ราวปี 2556 ผมได้คลุกคลีกับสถานพินิจฯ แห่งหนึ่งในฐานะพระที่ไปช่วยสอนจริยธรรมแก่เด็กที่ก่ออาชญากรรม ถ้าเราได้สนิทสนมกับเด็กเหล่านี้ด้วย ได้เข้าไปคุยกับเขาในสถานกักกัง ซึ่งบางกลุ่มกำลังเล่นกีต้าร์ บางกลุ่มโม้ประสบการณ์ส่วนตัว ฯลฯ ก็จะพบว่าเขาไม่ได้ต่างจากเด็กทั่วไป เพียงแต่เหตุการณ์ที่เขาเจอเลวร้ายกว่า จนทำให้เขาตัดสินใจทำบางอย่าง ซึ่งหากเป็นเราก็อาจทำเช่นนั้น

“กลับมาจากโรงเรียน เห็นพ่อตบแม่ทุกวัน ถ้าพระอาจารย์เป็นผม จะทำยังไงคับ” วุธ (นามสมมติ) อายุ 17 ปี เข้ามาอยู่สถานพินิจฯ เพราะฆ่าพ่อตัวเอง พูดประโยคนี้กับผม เจ้าหน้าเน้นกับผมว่า ให้ช่วยเตือนสติให้แกรู้จักบุญคุณพ่อแม่ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย และเชื่อว่า คนที่ถูกพ่อ/แม่ทำร้ายเช่นนั้น แต่ยังจะนึกถึงบุญคุณ เป็นเรื่องไม่ปกติและต้องยอมรับความรุนแรง (เหมือนรับกรรม) ซึ่งผมเลือกพูดกับแกเรื่องการต้องเคารพคนอื่น (โดยไม่จำกัดว่าผู้นั้นจะเป็นใคร) และควรเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีไม่รุนแรง เช่น ขอความช่วยเหลือจากญาติผู้ใหญ่หรือแจ้งตำรวจ ฯ

การไม่เคารพนี้ อาจไม่ได้เกิดจากความชั่วร้ายอย่างเดียว แต่เป็นการไม่ตระหนัก เพราะไม่ถูกสอนหรือพูดถึงกันอย่างมากพอ การต้องยอมหรือเคารพผู้อื่นในสังคมเรา ดูจะเป็นเรื่องอำนาจ/การลงโทษ มากกว่าการสอนให้สัมพันธ์กับผู้นั้นในระนาบความสัมพันธ์ที่เป็นมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตที่เท่าเทียมกัน แต่เคารพเสรีภาพและกติกาที่ตกลงร่วมกัน เช่น ไม่เล่นในห้องเรียนขณะครูสอน ไม่ใช่เพราะกลัวครูลงโทษ แต่เคารพครูที่กำลังสอนและเด็กคนอื่นๆ ที่ตั้งใจเรียน น่าตั้งคำถามว่า ทำไมความรู้สึกเคารพมนุษย์คนอื่นจึงไม่ค่อยมีในสังคมเรา

กรณีหลานผม เมื่อเดินเข้าครัว จะเอาทัพพีในหม้อนั้นตักแกงขึ้นมากิน (ราวกับใช้ช้อน) ซึ่งเคยถูกคนอื่นห้าม/ด่าหลายครั้ง ว่า “อย่าทำแบบนั้น” ซึ่งเด็กอาจไม่เข้าใจ และจะไม่ทำเมื่อคนที่ด่าเขามองอยู่ เพราะเขากลัวอำนาจ ครั้งหนึ่ง ผมกำลังนั่งกินข้าว เขาก็วิ่งเข้ามาตักกินแบบเดิม ผมเลยเรียกเข้ามาหา แล้วใช้ช้อนตักข้าวในจานตัวเอง ถ่มน้ำลายใส่ช้อน แล้วยื่นให้หลานกิน แกรีบปฏิเสธว่า “มันสกปรก” 

ผมเลยบอกว่า แล้วการที่ตัวเองใช้ทัพพีตักกิน แล้วใส่หม้อกลับไว้ให้คนอื่นมากินต่อ มันต่างกันไหม? แกนิ่ง แล้วบอกว่า “.. เออ ใช่ ..” แล้วเดินออกไปจากครัว ผมไม่รู้ว่าตั้งแต่นั้นมา หลานยังทำนิสัยเดิมอยู่ไหม แต่เชื่อว่า ต่อให้ยังเปลี่ยนนิสัยไม่ได้ ก็จำเป็นต้องอธิบายให้เขาเห็นว่า พฤติกรรมของเขาละเมิดผู้อื่นอย่างไร การช่วยให้เขาเข้าใจเรื่องแบบนี้ตั้งแต่เด็ก ผมเชื่อว่าช่วยลดการละเมิดผู้อื่นได้ ถ้าเคารพคนอื่นได้แม้แต่เรื่องการตักแกง น่าจะช่วยขยายความรู้สึกเคารพนี้ไปได้กว้างขึ้นเรื่อยๆ


ปัญหาเรื่องนิยามของ “ความยุติธรรม”

ถ้านิยามความยุติธรรมในแบบคานท์ ที่สมภาร พรมทา เสนอในงานวิจัยเรื่อง พุทธศาสนากับโทษประหารชีวิต (2548, น. 17) “การที่เขาได้รับโทษในปริมาณที่เท่ากันกับสิ่งที่เขาทำ ถือเป็นความยุติธรรม” ก็จะนำไปสู่การสรุปที่ว่า ถ้าเขาฆ่าคนตาย เขาก็ควรชดใช้ด้วยชีวิต และยิ่งเมื่อเอามาโยงกับหลักพุทธ (แบบที่ตีความกันเอง) แล้ว กรรมก็จะให้ผลอย่างยุติธรรม หรือหลายเท่ากว่านั้น เช่น ฆ่าคนหนึ่งคน แต่ตกนรกเป็นเวลายาวนาน กรรมเบาบางลงก็เกิดมาให้คนอื่นฆ่า หรือแม้ไม่ถูกฆ่าก็จะมีโรคภัยเบียดเบียน โดยสรุปคือ นั่นเป็นความยุติธรรมที่เขาควรได้รับ

เหตุผลที่ต้องอธิบายแนวคิดของค้านท์ว่าสนับสนุนโทษประหารชีวิต เพราะอิงตามหลักการ “ปริมาณของโทษที่ควรได้รับจากการกระทำ” และเมื่อเชื่อว่าสิ่งนั้นยุติธรรมแล้ว ก็อธิบายเรื่อง เครื่องมือ/เป้าหมายในตัวเอง (mean/goal) ได้ว่า หากสังคมไม่ลงโทษให้เขาได้รับผลเท่าที่เขาทำ (ชีวิตชดใช้ด้วยชีวิต) แต่อยากจะใช้วิธีเปลี่ยนใจเขาให้กลายเป็นคนดี เท่ากับใช้ฆาตกรเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองความต้องการอย่างอื่น ทั้งที่ควรจะปฏิบัติกับเขาในฐานะเป็นเป้าหมายในตัวเอง (goal/aim)

แม้จะอ้างไม่ได้ว่า คนไทยมีแนวคิดเรื่องเครื่องมือ/เป้าหมายแบบค้านท์จึงสนับสนุนให้ประหารชีวิต หรือทำร้ายร่างกายคนผิด แต่ความคิดนี้ยังมีอิทธิพลต่อคนไทยมาก ซึ่งเรามักเห็นการผลิตซ้ำความเชื่อผ่านคอมเม้นท์ตามเฟสบุคและยูทูป ตลอดจนภาพยนตร์และคำสอนทางศาสนา (บุคคลหว่านพืชเช่นไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น) ก็มักเสนอว่านั่นเป็นความยุติธรรม 

คิดเล่นๆ ว่า กรณีที่ผมสอนหลานข้างบน ถือว่าไม่ยุติธรรม เพราะเท่ากับใช้หลานเป็นเครื่องมือโดยหาวิธีให้แกได้เข้าใจและเปลี่ยนตัวเอง สิ่งที่ยุติธรรมคือ ให้คนในครอบครัวมาถ่มน้ำลายใส่ช้อนแกง และบังคับให้หลานกิน จึงจะเป็นการรับผลในปริมาณที่เท่ากัน .. อันนี้ล้อเล่นนะครับ ค้านท์คงหมายเอาเฉพาะเรื่องประหารชีวิต

เหตุผลที่ความยุติธรรมในแบบที่ต้องได้รับโทษเท่ากับปริมาณที่ตนทำใช้ไม่ได้ เพราะมีปัญหาในการนิยาม “ปริมาณที่เท่ากัน” นั่นคือ หากเขาฆ่าคน 2 คน เขาจะต้องชดใช้อย่างไร ในเมื่อเขามีชีวิตเดียว และการนิยามเช่นนี้ อย่างน้อยที่สุด (ที่นำเสนอโดยสมภาร พรมทา) ได้นำไปสู่ความชอบธรรมในการฆ่าคนชั่วในนามของอำนาจรัฐ แม้จะอ้างว่าการลงโทษเช่นนั้นทำเพื่อเคารพกติกาของสังคม โดยปราศจากความรัก/เกลียดส่วนตนก็ตาม  


เป็นอาชญากรเพราะมีนิสัยเผด็จการ

ผมเชื่อว่า ทั้งการฆ่าตัวตายและฆ่าคนอื่น เป็นผลจากการกระทำของสังคม ที่เราต้องร่วมกันรับผิดชอบ/หาทางออก (ไม่ใช่หาวิธีลงโทษเพียงอย่างเดียว) ทั้งนี้ ผมก็เห็นว่าการฆ่าคนอื่นเป็นสิ่งที่ร้ายแรงกว่า เพราะการไม่เคารพคนเช่นนี้เอง ที่นำไปสู่การกลั่นแกล้ง/ทำร้ายผู้คน จนเกิดปัญหาและส่งผลต่อการฆ่าตัวตายอีกทีหนึ่ง

ครั้งหนึ่ง ผมเคยถูกคน (ที่เชื่อกันว่า) บ้าทำร้าย ซึ่งตอนนั้นผมเป็นพระ กำลังเดินบิณฑบาต ราวเวลา 06.30 น. ในจังหวัดตรัง ชายคนนั้นสวมเสื้อผ้าสกปรก ผมรุงรังและนอนอยู่ข้างถนน เขาวิ่งมาหาผม และพูดเสียงดังว่า “ไอ้เหี้ย ! ทำไมมึงไม่ห่มผ้าเหลือง มึงกลับไปเปลี่ยนผ้าเหลืองเดี๋ยวนี้เลย” แล้วถอดรองเท้าตีหัวผม ซึ่งผมก็ยกแขนมาป้องกัน และรีบเดินหนีไป 

ต้องทราบก่อนว่า ตรังเป็นจังหวัดที่ไม่มีนิกายธรรมยุต ดังนั้น พระในเมืองเกือบ 100% จึงห่มจีวรสีเหลืองส้ม แต่ผมห่มสีกรัก (น้ำตาลเข้ม) จึงตกเป็นเหยื่อของชายคนนั้น ทั้งที่มีพระห่มจีวรสีเหลืองส้มเดินอยู่แถวนั้น แต่เขาก็ปลอดภัย การทำร้ายผู้อื่นจากกรณีนี้ แม้จะยกความผิดให้กับ “ความบ้า” แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปมมันคือ การไม่เคารพความแตกต่าง และอยากให้ผู้อื่นทำ/เป็นในแบบที่ตัวเองเชื่อ ซึ่งการที่คน (ที่ถูกเชื่อว่า) บ้าจะถูกสังคมเช่นนี้หล่อหลอมด้วยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

อีกกรณีคือ หลวงพ่อในจังหวัดตรังอีกเช่นกัน (กรณีของท่านเป็นข่าวดัง) ปฏิเสธการรับเงินถวายจากทหารท่านหนึ่งขณะบิณฑบาต ทหารท่านนั้นเลยมองว่า ท่านน่าจะเป็นพระปลอม (เพราะพระแท้ต้องรับทุกอย่างที่คนถวาย) เลยลงมือทำร้ายร่างกายพระ (ที่ตนเชื่อว่าปลอม) กรณีนี้ก็ไม่ต่างกัน แม้จะยกความผิดให้กับการเมาสุรา แต่ปมปัญหาคือ การเชื่อว่าตนเองถูก สามารถทำร้ายคนผิดหรือปลอมอย่างไรก็ได้ 

ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนว่า อาชญากรเขารู้สึกว่า “เขาไม่ได้ทำผิด” ในแง่จิตสำนึก หรือจริยธรรมที่เขาเชื่อว่าเป็นความจริงสากล เขาเพียงแต่ทำผิดกฏหมายปลอมๆ ที่สังคมกำหนดขึ้น เพราะสังคมไม่เข้าใจคนที่รักษาความถูกต้องแบบเขา และแน่นอนว่า คนที่เชียร์อยู่จำนวนมากก็มองเช่นนั้น


ฆาตกรหมู่ (mass murder) คิดอะไร?

ฆาตกรที่กราดยิงคนตามที่สาธารณะ ห้าง หรือโรงเรียน แถมยังถ่าย facebook live มักถูกยกให้เป็นเหตุผลของการอยากดัง แต่การที่เขาจะอยากทำอะไรที่ยิ่งใหญ่เป็นที่จดจำก่อนจะจากโลกนี้ไปก็อาจไม่แปลก อย่างไรก็ตาม การยกให้กับเหตุผลนั้นเท่ากับปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะที่ตนเป็นเพื่อนร่วมสังคมและไม่พยายามเข้าใจความรู้สึกมุมอื่นๆ ของเขา
 
ในแง่หนึ่ง ผมก็เชื่อว่า คนที่ยิงคู่กรณีพร้อมทั้งครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือคนอื่นๆ ในที่สาธารณะ เพราะเขาเชื่อว่าเขาถูกเอาเปรียบ/ถูกทำร้าย ดังนั้นต้องให้กรรมตอบสนองต่อผู้ที่กระทำเขา ถามว่า แล้วคนอื่นๆ ในสวนสาธารณะเกี่ยวอะไรด้วย? คำตอบคือ “เพราะพวกแกคือคนที่อยู่ร่วมสังคม เป็นตัวแทนของสังคม ซึ่งเป็นสังคมที่ทำร้ายฉัน พวกแกไม่เคยช่วย/หรือเฉยเมยกับการที่ฉันถูกทำร้าย ดังนั้น พวกแกจึงต้องรับผิดชอบกับสิ่งนี้ด้วย” ความเชื่อแบบนี้จึงสื่อว่า อาชญากรไม่ได้มองว่าสิ่งที่ตนทำเป็นเรื่องผิด เขาเพียงแต่ไม่อาจอธิบายความรู้สึกนี้ได้

การวิสามัญคนฆาตกร (อาจช่วยให้คนดูรู้สึกยุติธรรม และสบายใจที่จะยุติความไม่ปลอดภัยในสังคมลงแม้จะเป็นระยะสั้น) แต่สำหรับฆาตกรเอง การถูกวิสามัญไม่ใช่สิ่งที่เขากลัว หรือเกินความคาดหวัง หลายคนไม่ได้คิดจะมีชีวิตอยู่ต่อไป (Jeffery Kluger, 2007) ดังนั้น ถ้าจะหาความสะใจเพราะฆาตกรจะกลัวตำรวจจึงเป็นเรื่องไร้สาระ ฆาตกรจำนวนมากเลือกที่จะปลิดชีพตัวเองเสียด้วยซ้ำเมื่อทำการเสร็จ สิ่งที่เขาต้องการในช่วงเวลานั้นคือ ทำให้สังคมเจ็บช้ำมากที่สุด (เช่นเดียวกับที่เขาเจ็บช้ำ) และการเลือกผู้บริสุทธิ์ เช่น กราดยิงเด็กในโรงเรียน ก็เพราะเหยื่อเหล่านั้น (ถูกสังคมสร้างให้) บริสุทธิ์ และสังคมรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าการที่เขาไปยิงทหารหรือตำรวจซึ่งมีความสามารถในการต่อสู้ระดับที่ใกล้เคียงกัน

การพยายามเข้าใจความรู้สึกของอาชญากร เป็นเงื่อนไขแรกๆ ในการจัดการปัญหาอาชญากรรม เพราะไม่เพียงแค่สังคมมีส่วนในการสร้างปัญหาให้แก่ปัจเจกบุคคลเท่านั้น แม้ฆาตกรหมู่ ก็มองว่าทุกคนคือคนที่ชั่วร้าย (ไม่ต่างจากฆาตกร) ที่ร่วมกันทำร้ายเขา หรือนิ่งเฉยเมื่อเขาถูกทำร้าย เราจึงควรช่วยกันหาทางสาเหตุ/ออกให้กับคนที่เผชิญปัญหา (ซึ่งก็คือพวกเรากันเอง) มากกว่าการดีใจเมื่อคนร้ายถูกวิสามัญ หรือเรียกร้องให้ออกกฏหมายประหารคนชั่ว

 

 

อ้างอิง
สมภาร พรมทา. (2548). พุทธศาสนากับโทษประหารชีวิต. วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 13(3): 5-116.
Jeffrey Kluger. (2007). Inside a Mass Murder’s Mind. เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 จากเว็บไซด์ http://content.time.com/time/magazine/article/0,9171,1612694,00.html
ภาพจาก : https://spectator.imgix.net/content/uploads/2019/04/Murder.jpg?auto=compress,enhance,format&crop=faces,entropy,edges&fit=crop&w=820&h=550
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net