'ชลน่าน-ปิยบุตร-สุทิน' ฝ่ายค้าน ไม่เห็นด้วย ศาล รธน. ให้โหวตงบวาระ 2-3 ใหม่ ชี้ไม่ชอบด้วยกม.

ฝ่ายค้านอภิปรายไม่เห็นด้วย ศาล รธน. ให้โหวตงบวาระ 2-3 ใหม่ 'ชลน่าน' ชี้ควรเริ่มวาระ 1 ใหม่ หากไม่ก็จะไม่ร่วมพิจารณา 'ปิยะบุตร' ระบุศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่เหนือสภา ปมเสียบบัตรแทนกันไม่ชอบด้วยกฎหมายควรตกทั้งฉบับ 'สุทิน' เห็นว่าเป็นเรื่องต้องถ่วงดุล มีความชอบธรรมที่จะท้วงติง ที่ประชุมว่าเห็นชอบส่งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อศาล รธน.

วันที่ 12 ก.พ. ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติเรื่องการใช้อำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วาระ 2-3 ใหม่ จากกรณี ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

นพ.ชลน่าน อภิปรายว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการกำหนดบังคับของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้สภามาพิจารณาในวาระที่ 2-3 ใหม่ เพราะจากคำวินิจฉัยในอดีต มี 9 เรื่อง 10 ฉบับ เมื่อกระบวนการตรากฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมายฉบับนั้นก็ตกไป เช่น คำวินิฉัยที่ 2 /2551 ว่าด้วยเรื่องผู้ตรวจการแผ่นดิน ตราโดยไม่ชอบเรื่องจากองค์ประชุมไม่ครบไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ซึ่งกระบวนการตราไม่ชอบร่าง พ.ร.บ.ตกไป

แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยต่างไปจากเดิมและมาออกข้อกำหนดบังคับในคำวินิจฉัยให้องค์กรใดๆ กระทำตาม มาตรา 74 พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้สภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติดำเนินการตาม เป็นการไม่สอดคล้องตามหลัก 3 อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยต้องถ่วงดุลกัน หรือไม่

ข้อเสนอของตน คือ 1.สภาควรมีความเห็นไม่ควรปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ส่งผ่านประธานสภา และให้ไปปฏิบัติตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ ข้อ 44-45 แทน การแสดงออกแบบนี้จะเป็นการถ่วงดุลอำนาจได้ 2.ถ้าจะพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ควรพิจารณาครบทั้ง 3 วาระ เริ่มตั้งแต่วาระที่ 1 ใหม่ ฝ่ายค้านพร้อมจะช่วยให้มีการพิจารณา 3 วาระรวด โดยตั้ง คณะกรรมาธิการเต็มสภา

แต่ถ้ายังจะดำเนินการต่อตามที่ศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาเฉพาะวาระ 2-3 เราจะไม่ร่วมพิจารณาด้วย จะขอเพียงให้กำลังใจ นอกจากนี้ยังขอตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ถ้าจะดำเนินการตามนี้จะไปขัดกับ รัฐธรรมนูญมาตรา 143 วรรค 1 ที่ให้การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต้องอยู่ภายใน 105 วันหรือไม่ ถ้าอย่างนั้นตนเห็นว่า ควรจะนำร่างฉบับที่ไม่มีการแก้ไขส่งให้วุฒิสภาพิจารณาไปเลยหรือไม่จะได้ไม่ขัดรัธรรมนูญข้อนี้อีก

ด้านปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายสนับสนุนว่า นี่เป็นเรื่องแดนอำนาจของใครของมัน คือ เราเอาคำวินิจฉัยมาดูว่าจะดำเนินการอย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่เหนือสภา เราอยู่ในระนาบเดียวกันในระบอบประชาธิปไตย หนำซ้ำเรามีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า เพราะมาจากการเลือกของประชาชน

ตนเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลพิเศษมีเขตอำนาจเฉพาะ คำวินิจฉัยผูกพันทุกองค์กร ถ้าไม่ตีกรอบจำกัดไว้เท่ากับว่าจะวินิจฉัยอย่างไรก็ได้แม้รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้จะอันตราย เท่ากับมีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน

การที ส.ส.ยื่นคำร้อง ขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ในเรื่องกระบวนการตราและเนื้อหา คำร้องที่ส่งไปขอให้ตรวจสอบกระบวนการตราถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งถ้าไปที่อ่านวรรคสาม มาตรา 148 หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเห็นว่ากระบวนตราไม่ชอบ ศาลทำได้เพียงอย่างเดียวคือวินิจฉัยให้ร่างตกไปทั้งฉบับ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าชอบ ก็เดินหน้าต่อโดยส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ

ศาลรัฐธรรมนูญก็ระบุว่า ตรวจเฉพาะการตรา และระบุว่าการเสียบบัตรแทนกัน ทำให้กระบวนการตรากฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผลจึงต้องตกไปทั้งฉบับเท่านั้น แต่กลับมีคำวินิจฉัยว่า กรณีนี้ไม่ส่งผลสำคัญกับเนื้อหาของร่างกฎหมาย และมาอ้างเหตุจำเป็นเร่งด่วนว่าต้องได้กฎหมายนี้

ทางแก้ของเรื่องนี้ถ้าดูกรณีของประเทศที่มีปัญหาแบบเดียวกัน เขาจะดูว่าเสียงข้างมากเท่าไร เสียงผิดพลาดกี่เสียง ให้หักคะแนนออก ถ้าเสียงข้างมากชนะให้เดินหน้าต่อ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับไม่มีการพิจารณาในแง่มุมนี้ กลับไปอ้างในเรื่องอื่น

การนำมาตรา 74 พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาบังคับองค์กรอื่นดำเนินการแบบผิดที่ผิดทาง วันข้างหน้าถ้าเดินอย่างนี้ ต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้และตีความจนขึ้นมาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ เพราะตีความและผูกพันทุกองค์กร จนกลายเป็นซูเปอร์รัฐธรรมนูญ เป็นอันตรายต่อการแบ่งแยกอำนาจและตรวจสอบถ่วงดุล ทั้งนี้ แม้อภิปรายแล้วจะเปลี่ยนคำวินิจฉัยไม่ได้ แต่ ส.ส.ต้องยืนยันว่าสภามีศักดิ์ศรีเทียบเท่าศาลรัฐธรรมนูญ เรามีสิทธิ์ว่าเอาคำวินิจฉัยมาคุยกันว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป

ด้านสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นี่ไม่ใช่เรื่องความกล้าหาญแต่เป็นความจำเป็นที่ต้องยืนในหลักการถ่วงดุลอำนาจ ในอดีตมีไม่น้อยที่ศาลตัดสินผิดแล้วมายอมรับทีหลัง เช่น ยุบพรรค หรือปลดนายกฯ ก็เคยมายอมรับภายหลังว่าผิด

ฝ่ายนิติบัญญัติคือผู้ออกกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินโดยกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติออก เมื่อพบว่าถูกหรือผิด ฝ่ายออกกฎหมายจึงมีความชอบธรรมที่จะท้วงติง แสดงความกังวล ในเรื่องขอบเขตอำนาจถ้าล่วงล้ำกัน ตนมองว่าไม่ใช่เรื่องศักดิ์ศรีแต่ต้องรักษาหลักนิติธรรม ถ้าเซก็จะกระทบประชาชน การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมา ตนไม่สบายใจและกังวลใจที่จะปฏิบัติตาม ถ้าร่าง พ.ร.บ.ตกก็ควรตกทั้งฉบับ อย่างที่ อ.ปิยบุตร บอก

ขณะที่ มาตรา 143 เรื่องเงื่อนเวลาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จในเวลา 105 วัน ซึ่งขณะนี้เกินแล้ว คือ สิ่งที่ศาลควรวินิจฉัยแต่ไม่ได้พูดเรื่องนี้ ซึ่งทำให้เกิดความลังเลว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ

สุทิน กล่าวด้วยว่า การอภิปรายต้องการให้องค์กรต่างๆ ได้ยินว่าสภาผู้แทนราษฎรคิดอย่างไร จะขอบันทึกไว้ในที่ประชุม สภาจะเห็นว่าควรส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่สุดแล้วแต่พวกตนจะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไม่ขัดขวางคำสั่ง ยินดีให้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน แต่ขอแสดงออกว่า ไม่ขอร่วมประชุมด้วยเพื่อเป็นการส่งสัญญาณ แต่จะไม่กระทบกับผลประโยชน์ประชาชน โดยจะลงชื่อให้ เปิดทางให้ฝ่ายรัฐบาลทำงาน

“เราไม่อยากอยู่ด้วยและต้องให้ผ่านโดยฝืนหรือร่วมการทำผิดหลักการหรือร่วมทำในสิ่งที่เรากังวลใจอยู่” สุทินกล่าว

หลังจากเปิดให้ ส.ส.ทั้ง 2 ฝ่าย อภิปรายแล้ว ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้สอบถาม ที่ประชุมว่าเห็นชอบให้ส่งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญต่อไปหรือไม่ ซึ่งไม่มีผู้ใดเห็นคัดค้าน

 

อ้างอิง: Workpoint News

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท