Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) แถลงข่าวกรณี "เอกชัย อิสระทะ" ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ประกบพร้อมกักขังไม่ให้เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นเหมืองหิน จ.พัทลุง โดยเรียกร้องรัฐคุ้มครองพยานในช่วงขึ้นศาลที่ จ.พัทลุง

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) แถลงข่าวกรณี "เอกชัย อิสระทะ" เลขาธิการ กป.อพช. ทั้งระดับภาคใต้และระดับชาติ ถูกอุ้มไปกักขัง โดยแถลงเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2563

12 ก.พ. 2563 ที่ห้องประชุมมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กรุงเทพมหานครฯ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จัดเวทีเสวนาและแถลงข่าวกรณี เอกชัย อิสระทะ นักกิจกรรมและเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ทั้งระดับภาคใต้และระดับชาติ ถูกอุ้มไปกักขังระหว่างการสังเกตการณ์เวทีรับฟังความคิดเห็นเหมืองหินที่ จ.พัทลุง เหตุเกิดเมื่อ 5 สิงหาคมปี 2562 ที่ผ่านมา

ภายหลังเวทีเสวนาได้มีการอ่านแถลงการณ์ในนาม กป.อพช.เรื่อง “รัฐต้องคุ้มครอง เอกชัย อิสระทะ และต้องเร่งแก้ไขปัญหาการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิชุมชนกรณีเหมืองแร่ทั่วประเทศ” ความว่า

ตามที่ นายเอกชัย อิสระทะ ซึ่งเป็นนักพัฒนาเอกชนและยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ทั้งระดับภาค และระดับชาติ และยังเป็นนักปกป้องสิทธิชุมชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน ถูกคนกลุ่มหนึ่งควบคุมตัวและนำไปกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ในที่แห่งหนึ่ง จนต้องสูญเสียอิสรภาพ และมีความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน อันถือเป็นการกระทำที่อุกอาจ และไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมืองแต่อย่างใด

ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ส.ค.2562 ณ มัสยิดแห่งหนึ่งของ ต.คลองใหญ่ อ.ป่าบอน จ.พัทลุง ซึ่งเป็นสถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ของ บริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด ที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานรัฐตามกระบวนการภายใต้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 56 จึงถือได้ว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นที่สาธารณะของชุมชน และการเข้ารับฟังความคิดเห็นในเวทีดังกล่าวนั้นได้เปิดกว้างให้กับประชาชนผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้

โดยนายเอกชัยมีความประสงค์ที่จะเข้าไปสังเกตการณ์ในเวทีดังกล่าว แต่กลับถูกชายฉกรรจ์กว่า 10 คนเข้าประกบและควบคุมตัว แล้วนำไปกักขังไว้ในที่แห่งหนึ่งของ อ.ป่าบอน จ.พัทลุง เกือบ 1 วันเต็ม พร้อมกันนี้ได้ข่มขู่ว่าจะไม่รับรองความปลอดภัยหากนำเรื่องนี้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

กป.อพช.มีความเห็นว่า กรณีการข่มขู่คุกคามในลักษณะเช่นนี้ได้เกิดขึ้นกับหลายกรณีทั่วทุกภูมิภาค อันเป็นปัญหามาจากระบวนการและข้อกฎหมายที่ไร้มาตรฐาน อันรวมถึงผลประโยชน์มหาศาลของกลุ่มธุรกิจเหมืองแร่ ที่พร้อมจะใช้ทุกวิธีเพื่อให้ตนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่สัมปทานอย่างเต็มที่ จึงเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรปล่อยให้กรณีของนายเอกชัยเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ อีกต่อไป จึงมีข้อเสนอดังนี้

1. ต้องจัดให้มีการคุ้มครอง นายเอกชัย อิสระทะ ในฐานะพยานคดีอุ้มขังจากกรณีการเข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการสัมปทานเหมืองหินเขาน้อย อ.ป่าบอน จ.พัทลุง ให้ได้รับความปลอดภัยอย่างเต็มที่ทั้งในระหว่าง และหลังกระบวนการพิจารณาคดี

2. รัฐบาลจะต้องติดตาม ตรวจสอบโครงการสัมปทานเหมืองแร่ในทุกภูมิภาคว่า มีการกระทำการในลักษณะข่มขู่ คุกคาม หรือสร้างความทุกข์ร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ หรือไม่อย่างไร พร้อมกับสร้างมาตรการป้องกันหรือป้องปรามการกระทำการดังกล่าวอย่างเข้มข้น

3. ต้องยกเลิกแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับปัจจุบัน และให้มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับใหม่ โดยต้องยึดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดแหล่งแร่ใหม่ตามเจตนาของ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 โดยเฉพาะมาตรา 17 วรรค 4 และต้องคำนึงถึงการคุ้มครองความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม วิถีวัฒนธรรมและความสำคัญทางโบราณคดี

นักสิทธิฯ จี้นายกฯ ดำเนินคดีเด็ดขาดคนอุ้มเลขาฯ กป.อพช.ไปขู่ห้ามร่วมเวทีประทานบัตรเหมืองแร่หิน, 13 ส.ค. 2562

กสม.หวัง สตช.เร่งดำเนินคดีกลุ่มชายฉกรรจ์อุ้มเอ็นจีโอสิ่งแวดล้อม บล็อกร่วมเวทีเหมืองหิน จ.พัทลุง, 14 ส.ค. 2562

'เอกชัย อิสระทะ' ร้อง กสม.-ยูเอ็น ปมกลุ่มชายฉกรรจ์อุ้ม-บล็อกร่วมเวทีเหมืองหิน จ.พัทลุง, 19 ส.ค. 2562

เอกชัย อิสระทะ เลขาธิการ กป.อพช. และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จ.พัทลุง ยื่นหนังสือร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังถูกอุ้มสกัดเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นเหมืองหิน จ.พัทลุง เมื่อ 19 สิงหาคม 2562

ในการแถลงข่าว รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า วันนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอกชัยในฐานะที่ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนที่เข้าสังเกตการณ์ประชาพิจารณ์ว่า เป็นการกระทำที่โปร่งใสมากน้อยแค่ไหน เพราะต้องมาประสบเหตุชายฉกรรจ์อุ้ม พฤติการณ์แบบนี้สะท้อนให้เห็นว่าการทำประชาพิจารณ์เพียงเพื่อจะบอกว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบแล้ว โครงการนี้สมควรเดินหน้าต่อนั้น กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและวิธีการ

“การเอาตัวเอกชัยไปควบคุมกักขังตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเวทีรับฟังความเห็นเสร็จสิ้น ถ้าเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้นๆ แสดงว่าโครงการนั้นเป็นโครงการที่ไม่ชอบ และประชาชนสามารถดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครองได้”

ทนายความสิทธิมนุษยชนระบุว่า ในวันดังกล่าวนักข่าวที่เข้าไปทำข่าว ก็ถูกชายฉกรรจ์เรียกไปพูดคุยหลังเวทีและข่มขู่ไม่ให้นำเสนอข่าว เมื่อนักข่าวถามเหตุผลชายฉกรรจ์กลุ่มดังกล่าวตอบว่า อย่าเสนอข่าวก็แล้วกัน เขาได้เคลียร์กับนักข่าวอื่นๆ เรียบร้อยแล้วสิ่งเหล่านี้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องพิจารณาว่า โครงการนี้มีปัญหาแล้ว คาดหวังว่าในการพิจารณาคดีในศาลเจ้าหน้าที่ในระดับบังคับบัญชาจะต้องสั่งการให้ปกป้องคุ้มครองพยานที่จะมาให้การในศาล เพราะถ้าหากพยานเกิดหวาดกลัวจะส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรม คนผิดอาจลอยนวลได้หากขาดพยานปากที่สำคัญ

สมบูรณ์ คำแหง ที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ ได้กล่าวถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวของเอกชัยที่โดนกลุ่มคนบล็อกไม่ให้เข้าพื้นที่เวทีรับฟังความคิดเห็นการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่และยังกล่าวถึงการคุกคามเอกชัยที่ถูกอุ้มไปว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเหตุการณ์ที่เอกชัยโดนข่มขู่ไม่ให้พูดถึงกลุ่มคนที่อุ้มตัวไปห้ามชี้แจ้งกับทางเจ้าหน้าที่รัฐโดยเด็ดขาด 

อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเจ้าของรางวัลแมกไซไซ 2562 กล่าวถึง การถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในภาพรวมของประชาชนว่า เกิดคดีความฟ้องร้องมากขึ้น ทำให้เกิดพื้นที่แสดงออกของประชาชนนั้นน้อยลงโดยเน้นย้ำให้รัฐต้องให้คำมั่นในการดูแลประชาชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ปล่อยให้ผู้มีอิทธิพลเข้ามาคุกคามและสร้างความหวาดกลัวต่อประชาชน

สุทธิเกียรติ คชโส นักกฎหมายมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวถึง รูปแบบกระบวนการทำ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีการปลอมลายเซ็นต์ และกระบวนการกำหนดแผนแม่บทเน้นใช้ข้อมูลเก่ามากกว่าการสำรวจข้อมูลใหม่ และยังกล่าวถึงเรื่องการประกาศแหล่งหินควรทบทวนยกเลิก ยังได้กล่าวทิ้งท้ายเรื่องความปลอดภัยที่คนเห็นต่างมักถูกสังหารเพราะพื้นที่แหล่งหินเป็นพื้นที่ทำกำไร เยอะและลงทุนน้อยดังนั้นต้องทบทวนจัดทำการขออนุญาติให้เป็นไปตามกฎหมายรูปแบบใหม่

ข้อมูลจาก กป.พอช. ระบุด้วยว่า สำหรับความคืบหน้าของการดำเนินคดีกรณีเอกชัยถูกกลุ่มชายฉกรรจ์อุ้มจากเวทีประชาพิจารณ์นั้น ศาลจังหวัดพัทลุงได้นัดสืบพยานครั้งแรกในวันที่ 18 ก.พ.2563 หลังจากนั้นจะนัดสืบพยานต่อระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 ก.พ.นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net