Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อปลายปี 2561 ผมมีโอกาสในการไปทำงานที่ศูนย์วิจัยสิทธิมนุษยชนศึกษา คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ในฐานะนักวิจัยรับเชิญ ในช่วงเวลานั้นผมมีโอกาสได้ศึกษาทั้งประเด็นรัฐสวัสดิการ จินตนาการทางสังคมของผู้คนในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพชีวิตดีอันดับต้นๆของโลก ผมถือโอกาสการ กราดยิงที่นครราชสีมาในการเรียบเรียงประเด็นที่ผมได้มีโอกาสศึกษาสู่สาธารณะอีกครั้ง 

แม้แต่หนึ่งในประเทศที่เหลื่อมล้ำน้อยที่สุด มั่งคั่งที่สุด มีเสรีภาพมากที่สุด เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดอย่างนอร์เวย์ ก็เคยมีประสบการณ์ที่เลวร้ายเมื่อปี 2011 กับเหตุการณ์กราดยิงค่ายเยาวชนซึ่งจัดในพื้นที่ชานเมืองออสโล รวมมีผู้เสียชีวิตจากการก่อเหตุมากกว่า 70 คน ส่วนมากเป็นเยาวชนอายุน้อยกว่า 25 ปี ในค่ายเยาวชนของเครือข่ายพรรคแรงงานแห่งนอร์เวย์ สำหรับประเทศที่มีคดีฆาตกรรมทั้งประเทศ 40 คดี ใน 1ปี และเมืองหลวงที่มีประชากร 1 ล้านคนมีการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนปีละ 1 คน การกราดยิงที่มีการเสียชีวิตมากกว่า 70 คน นับเป็นความรุนแรงต่อชีวิตพลเรือนที่อาจต้องย้อนไปถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่สองถึงจะมีความสูญเสียเชิงปริมาณเทียบเคียง เมื่อพิจารณาเช่นนี้เหตุการณ์การกราดยิงจึงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ แม้มีการควบคุมอาวุธปืนเช้มงวด จำกัดความรุนแรงในสังคม แต่ก็ไม่มีสมการสมบูรณ์ในการทำให้สิ่งเหล่านี้ไม่มีทางเกิดขึ้น ความแตกต่างสำคัญก็คือการ “ล้อมคอก” หรือการเรียนรู้จัดการปัญหาหลังเหตุการณ์เพื่อป้องกันหรือการลดไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำอีก หรือการจัดการเหตุการณ์ต่างๆให้มีประสิทธิภาพ 

เมื่อเทียบกรณี July 2011 ในออสโล และ กุมภาพันธ์ 2020 ที่โคราช มีลักษณะที่เหมือนและแตกต่างกันหลายประการ 

 ในส่วนที่แตกต่าง ประการแรกบริบทสังคมของไทยและนอร์เวย์ต่างกันมากกล่าวคือ ไทยคือประเทศที่เหลื่อมล้ำที่สุดในโลกประเทศหนึ่งตรงข้ามกับนอร์เวย์ ถัดมาไทยเป็นประเทศที่ล้มเหลวในการเรียนรู้เรื่องราวความขัดแย้งทั้งภายในและระหว่างประเทศ ขณะที่นอร์เวย์นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการถอดบทเรียนเรื่องความขัดแย้งทั้งภายในและระหว่างประเทศเสมอ ประการที่สองผู้ก่อเหตุกรณีไทยไม่ชัดเจนเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองและเหยื่อนอกจากคู่กรณีกลุ่มแรกที่ถูกสังหารที่เหลือไม่มีส่วนซ้อนโดยตรงกับความขัดแย้งของผู้ก่อเหตุนั้น ซึ่งกับนอร์เวย์ที่ผู้ก่อเหตุประกาศตัวว่าเป็นกลุ่มขวาจัดมีจุดยืนต่อต้านผู้อพยพ ศาสนาอิสลาม และพุ่งเป้าไปที่ค่ายเยาวชนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีจุดยืนเรื่องความเสมอภาคในสังคม และส่วนต่างที่สามคือกรณีนอร์เวย์นี้ผู้ก่อเหตุถูกคุมตัวและดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรม ผู้ก่อเหตุถูกตัดสินจำคุกมากกว่ายี่สิบปีและได้สิทธิตามนักโทษทั่วไปของนอร์เวย์ขณะที่กรณีไทยเป็นการวิสามัญด้วยเหตุที่ชัดเจนว่าผู้ก่อเหตุมีอาวุธครบมือและไม่มอบตัว  

แล้วส่วนที่เหมือนกันคืออะไร? ข้อชัดเจนคือ ทั้งสองกรณีผู้ก่อเหตุทั้งไทยและในนอร์เวย์ ล้วนเป็นคนธรรมดาที่เราพบเจอตามท้องถนน ผู้ก่อเหตุอายุ 32 ปีเท่ากันพอดิบพอดี ไม่ได้เป็นคนที่ประสบความสำเร็จมีอำนาจที่สุด แต่ก็ไม่ได้เป็นผู้ที่ต่ำต้อยที่สุดในสังคม แต่กลับกลายเป็นผู้ที่มีศัยกภาพรุนแรงในการคร่าชีวิตผู้คน เราสามารถเรียนรู้อะไรได้จากเหตุการณ์ในนอร์เวย์เมื่อ 9 ปีที่แล้วบ้างจากส่วนเหมือนและส่วนต่างนี้ 

รัฐสวัสดิการอาจไม่ใช่ยาวิเศษที่แก้ได้ทุกปัญหา แต่จากเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่ารัฐสวัสดิการเป็นยาเม็ดแรกของการแก้ปัญหาทุกเรื่อง ภาพสะท้อนคือกระบวนการจัดการต่อจากนี้ 


ภาพจากพิพิธภัณฑ์ การกราดยิงวันที่ 22July 2011-ออสโล นอร์เวย์
มีการทำกิจกรรมของเยาวชนเพื่อเรัยนรู้เรื่องพหุวัฒนธรรม
  

"มันเป็นการง่ายที่คุณจะมองว่าเขาคือปีศาจร้าย แต่เมื่อผมเห็นเขาครั้งแรก สิ่งที่ผมเห็น คือ เขาเกิดใน ออสโล เขาโตมาแบบเรา เรียนโรงเรียนแบบเดียวกับพวกเรา เมื่อตอนเด็กสักช่วงเขาก็มีความฝันแบบพวกเรา ถ้าเราจบเรื่องนี้โดยการโยนความเป็นปีศาจให้เขา เท่ากับเราจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย" อัยการฝั่งจำเลยกล่าวต่อศาลในวันไต่สวน เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญด้านฝ่ายขวาสุดโต่งพูดถึงวันทีเขาต้องสอบสวน Breivik "ผู้คนคงอยากให้ผลการสอบสวนวันนี้ แล้วผมพบว่าเขา 'บ้า-ผิดปกติ' ที่คนคนหนึ่งทำสิ่งมนุษย์ไม่ทำ ใช่เขาไม่มีองค์กรสนับสนุน ใช่ ไม่มีใครสนับสนุนเขาวัันนี้บนท้องถนนทุกคนร้องเพลงสนับสนุนพหุวัฒนธรรม แต่พวกคุณต้องดูมีจดหมายสนับสนุนเขา ถ้อยคำชาตินิยมมากมายในอินเตอร์เนต ใช่ Breveik อาจจะบ้า แต่ด้วยความบ้าที่อยู่ในสังคมเรา อยู่ในตัวเราด้วยกัน นี่คือสิ่งที่ต้องยอมรับ เขาไม่ได้เดียวดายมีความผิดปกติอยู่ในสังคมเรา" 

การสอบสวนในกระบวนการยุติธรรมปกติของนอร์เวย์ทำให้ได้ข้อสรุปที่สำคัญว่า สังคมนอร์เวย์มีความรู้ความเข้าใจกลุ่มฝ่ายขวา (กลุ่มที่เชื่อว่ามีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีคุณค่าทางชีวิตเหนือกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง) น้อยมาก อาจด้วยอิทธิของพรรคแรงงาน และขบวนการภาคประชาสังคมในการผลักดันรัฐสวัสดิการหลายทศวรรษจึงเสมือนว่านอร์เวย์เป็นประเทศแห่งอุดมคติที่ลดความโหดร้ายของระบบทุนนิยมและสร้างความเสมอภาคแบบสังคมนิยมลงได้พร้อมกัน แต่ความเข้าใจของสาธารณะต่อ “กลุ่มคนที่รังเกียจความเท่าเทียม” ในนอร์เวย์มีความเข้าใจอยู่ต่ำมาก อย่างไรก็ตามการเริ่มทำความเข้าใจเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสายเกินไปสำหรับสังคมนอร์เวย์ 

“มันเป็นเรื่องสำคัญจริงๆสำหรับคนนอร์เวย์ หรือ ออสโล เพราะเมื่อคุณพูดถึงคนที่โหดเหี้ยมคนนั้น เราอยู่ในสังคมเดียวกัน เรียนโรงเรียนเดียวกัน ไปโรงพยาบาลเดียวกัน ลูกเล่นที่สนามเด็กเล่นด้วยกัน อย่างที่คุณทราบ ประเทศเราเป็นรัฐสวัสดิการ คนมากกว่า 90 % อยู่ในระบบการบริการของรัฐแบบเดียวกัน “ นักวิชาการด้านอาชญวิทยาชาวนอร์เวย์อธิบายให้ผมฟัง “มันจึงเป็นเรื่องที่ทำให้เรากลับมาคิดว่าระบบสังคมแบบไหน ความผิดปกติตรงไหนที่เกิดขึ้นในระบบนี้ เพราะเราก็มีประสบการณ์แบบนี้เหมือนกัน ถ้าเขาเป็นปีศาจร้ายก็แสดงว่าเรามีปีศาจในตัวด้วยเช่นกัน” 

เหตุปัจจัยหนึ่งที่สามารถสรุปได้สำหรับผู้ก่อการที่เกิดและเติบโตในยุค1980-1990 คือการเปลี่ยนผ่านของค่านิยมที่สำคัญในยุโรปตะวันตก การสิ้นสุดของสงครามเย็น รวมถึงการขยายตัวของคลื่นผู้อพยพที่เข้ามาพร้อมกับความไม่แน่นอนของระบบรัฐสวัสดิการในกลุ่มประเทศนอร์ดิกในช่วงปี 1990-2000 การเปลี่ยนผ่านนี้ทำให้คนที่ใช้ชีวิตวัยรุ่นช่วงนี้ย่อมรู้สึกว่าเขากำลังถูกทิ้งให้อยู่กับความไม่แน่นอน แม้ว่านอร์เวย์จะเป็นไม่กี่ประเทศในยุโรปที่ยืนหยัดในหลักรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าต่อมาก็ตาม แต่ความไม่แน่นอนนี้ย่อมฝังอยู่ในความทรงจำของผู้คนในช่วงเวลานั้น จากเหตุการณ์การกราดยิงปี 2011 สังคมนอร์เวย์เริ่มทำความเข้าใจฝ่ายขวาแบบใหม่ ว่าไม่ใช่พวกอนุรักษ์นิยมคนแก่หลงยุคเพียงอย่างเดียว พวกเขามีแนวร่วมที่เป็นคนรุ่นใหม่ บางครั้งดูฉลาดมาก ดูมีเสน่ห์ พูดเก่ง น่าเชื่อถือ และดึงดูดคนจำนวนมากให้คล้อยตามได้ อย่าง Breveik ก็ได้อิทธิพลจาก  Blogger ฝ่ายขวาที่มีความสามารถในการปะติดปะต่อคำอธิบายทางวิชาการเข้ากับสถานการณ์จริงเพื่อปลุกกระแสการต่อต้านผู้อพยพ ซึ่งวัฒนธรรมธรรมสังคมนิยมและรัฐสวัสดิการที่พูดเรื่องความเท่าเทียมแบบฝังรากในนอร์เวย์บางครั้งก็ทำให้ กลุ่มฝ่ายขวาไม่แสดงตัวในที่สาธารณะ (เพราะทำให้พวกเขาดูโง่) แต่กลุ่มนี้ก็มักจะส่งเสียงดังและแสดงความคิดเห็นแบบสุดโต่งเมื่อมีโอกาส 


แผนผังของพิพิธภัณฑ์มีทั้งส่วนเกี่ยวกับเหยื่อและส่วนทำความเข้าใจสภาพสังคมที่เป็นเหตุแห่งความรุนแรง

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องทำความเข้าใจ แต่ในระยะสั้นสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นหัวใจสำคัญของสังคมนอร์เวย์คือการคืนความเป็นมนุษย์ให้แก่ “ผู้ก่อเหตุ” เป็นเรื่องที่ยากและลำบากใจอย่างมาก แต่สิ่งเหล่านี้คือการยืนยันหลักการที่ว่าต่อให้คุณเกลียดความเป็นมนุษย์ขนาดไหน รัฐก็จะไม่พรากความเป็นมนุษย์ไปจากคุณ ไม่ใช่สำหรับผู้ก่อเหตุ แต่คือการยืนยันกับพลเมืองทุกคน เพื่อให้เชื่อมั่นในรัฐ เพราะการก่อเหตุจะมีแนวโน้มรุนแรงมากเมื่อรัฐตอบสนองต่อความต้องการของผู้ก่อเหตุดังในกรณีของฝรั่งเศสที่จะเห็นในหลายปีถัดมา ส่วนระยะกลางสิ่งที่รัฐบาลทำคือการทำความเข้าใจเรื่องพหุวัฒนธรรมมากกว่าเดิม แต่การสร้างให้เกิดความเข้าใจต่อพหุวัฒนธรรมไม่ใช่เรื่องเพียงแค่สอนหนังสือ แต่คือการเปิดพื้นที่สาธารณะที่มากขึ้น  

“ลองคิดดูว่า ผู้อพยพที่เพิ่งมาถึงนอร์เวย์ใหม่ๆ คุณพูดภาษานอร์เวย์ไม่ได้ ไม่รู้จักใคร และคุณก็ต้องทำงานกะค่ำที่คนนอร์เวย์ไม่ทำ ลูกของคุณก็จะถูกทิ้งไว้บ้าน พวกเขาก็จะรวมตัวเป็นแก๊งกับคนรุ่นราวคราวเดียวกัน พวกเขาจะเริ่มมีอำนาจแม้เพียงเล็กน้อย แต่ไม่มีประสบการณ์ในการจัดการ และในที่สุดเมื่อกลุ่มแก๊งใหญ่ขึ้น ก็จะสร้างช่องว่างระหว่างผู้อพยพกับคนท้องถิ่น การเหมารวมต่อผู้อพยพก็จะเกิดขึ้น” นักอาญวิทยาชาวนอร์เวย์ท่านเดิมอธิบายแก่ผม “ความรู้สึกแรกคือเราน่าจะต้องจ้างตำรวจมากขึ้น เพื่อทำให้ชุมชนเรียบร้อย แต่จากประสบการณ์เรามองว่ามันคือการฝังความรุนแรงและความเป็นอื่นมากขึ้น เราตัดสินใจสร้างสนามฟุตบอล โรงเรียนดนตรี โค้ชฟุตบอล คนดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ให้บริการทางสังคมต่างๆ....มันถูกกว่าตำรวจเยอะ และได้ผลดีกว่ามาก ความเป็นอื่นระหว่างผู้อพยพและชุมชนเดิมหายไป เมื่อพวกเขาได้ใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน” 

“เราพยายามนิยามเรื่องอาชญากรรมใหม่ เราไม่ได้หาคนผิด เรามองว่าสังคมต้องรับผิดชอบ ดังนั้นมันจึงกลับกัน การสอบสวนของเราจึงเริ่มต้นจากการดูว่า คนที่กระทำความผิดต้องการอะไรแล้วเราตอบสนองได้อย่างไร ตำรวจนอร์เวย์ฝึกกระบวนการสอบสวนตามแนวทางสิทธิมนุษยชนแบบเข้มข้นมาก ผมว่างานหลักของตำรวจคือการคุยกับประชาชนเพราะฉะนั้นการเข้าใจหลักสิทธิมนุษยชนสำคัญมาก เราลดเวลาฝึกแถว ยิงปืนลงจนแทบไม่มี เพราะวิธีการคิดเรื่องวิ่งจับคนร้ายหายไป เพราะไม่มีนิยามว่าด้วยผู้ร้ายในกระบวนการยุติธรรม” 


คำให้การของอัยการฝั่งจำเลยเพื่อปลุกให้สังคมศึกษาต้นตอของความโหดร้ายของเหตุการณ์

หลังเหตุการณ์กราดยิงสิ่งที่น่าคิดสำหรับคนนอร์เวย์คือ กลุ่มเยาวชนแสดงออกมากขึ้นทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาพวกเขาปฏิสัมพันธ์กับพรคการเมืองมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบอลมองไปในทางบวกเพราะมันทำให้เกิดพื้นที่ในการถกเถียงสาธารณะมากขึ้น ในเวลา 9 ปีที่ผ่านมาไม่มีใครรับประกันได้ว่าเหตุร้ายจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่กระบวนการทำความเข้าใจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เป็นการยืนยันถึงความพยายามในการลดความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุจากปัจจัยซ้ำอีก 

กรณีของนอร์เวย์การถอดบทเรียนผ่านกระบวนการยุติธรรมและนักวิชาการ มีข้อสังเกตมากมายเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุ เช่นการระบุถึงความล้มเหลวของระบบสวัสดิการการเลี้ยงดูเด็กและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่ปล่อยให้ แม่ที่อารมณ์ฉุนฉียวเลี้ยงลูกตามลำพัง ทั้งๆที่มีรายงานว่า Breveik มีปัญหาด้านอารมณ์ตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก การโดนคุมตัวจากคดีการพ่นสีผนัง ซึ่งทำให้เขารู้สึกผิดและเลิกติดต่อกับพ่อที่หย่ากับแม่ตั้งแต่เขาจำความไม่ได้ เขาสูญเสียช่องทางติดต่อกับคนสำคัญในชีวิตเขาในวัย 16 ปี และหมกมุ่นกับตัวเองนำสู่การเพาะกายและหลงไหลในชาติพันธุ์ของตนเอง และศัลยกรรมพลาสติก ฯลฯ การวิเคราะห์หลายปัจจัยนำสู่การทบทวนความเป็นไปของสังคมและการเดินหน้าต่อไป 

สำหรับกรณีไทยซึ่งมีความแตกต่างและคล้ายกับนอร์เวย์ในบางส่วน สิ่งสำคัญคือการถอดบทเรียนเพื่อลดการสูญเสีย การถอดบทเรียนไม่ได้เป็นเรื่องของการแก้ต่างให้ผู้กระทำผิด ไม่ได้ทำให้ความเลวร้ายของสิ่งที่เขาทำน้อยลง แต่ตรงกันข้ามการถอดบทเรียนจะเป็นเครื่องยืนยันว่าเราให้ความสำคัญแก่การสูญเสียนั้น ซึ่งประเด็นสำคัญที่นอกเหนือจากประเด็นด้านการจัดการของผู้เกี่ยวข้องของกองทัพแล้ว ประเด็นทางสังคมวิทยาที่เราควรตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นและความรุนแรงนี้มีต้นต่อจากอะไรก็เป็นสิ่งที่เราไม่อาจมองข้ามได้ เรารู้หรือไม่ว่า ผู้ก่อเหตุผ่านเงื่อนไขทางสังคมแบบไหนมา? เขาเคยได้รับการลงโทษแบบใดในวัยเด็กที่หล่อหลอมพฤติกรรมของเขา? เคยได้รับรางวัลอะไรที่เชิดชูความโหดเหี้ยมของเขาและเข้าใจว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่พึงทำ? หรือประสบการณ์ใดที่เปลี่ยนทัศนคติของเขาให้เลวร้ายขนาดนี้? คำตอบคือเราจะไม่ทราบ และจะไม่สามารถทราบได้เลยหากเรามองว่าเขาเป็น อสุรกาย ปีศาจร้าย ที่ไม่มีอะไรเหมือนกับพวกเรา การเรียนรู้ถอดบทเรียนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และมีความเสี่ยงสูงว่าหากการถอดบทเรียนทางสังคมวิทยาไม่เกิดขึ้น ความรุนแรงครั้งต่อไปก็จะเกิดขึ้นซ้ำอีกโดยที่เราไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเลย 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี เป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และนักวิชาการรับเชิญประจำ The Norwegian Centre for Human Rights- the University of Oslo 2018

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net