Skip to main content
sharethis

ตามหาความหมายของ 'สันติภาพ' ในงานวันชาติรัฐฉาน 73 ปี ว่าหมายถึงอะไรในสายตาผู้บัญชาการกองทัพ ที่ปรึกษาคณะทำงานเจรจาสันติภาพและประชาชนทั่วไป ในวันที่เสียงปืนยังกระหึ่มแบบไม่สนใจสัญญาหยุดยิง

ประชาชนที่มาร่วมงานและปืนของเล่น

‘สันติภาพ’ ในยามสงบอาจหมายถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ในสหภาพพม่า ประเทศที่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์หมายถึงการปะทะกันทั่วประเทศ หมายถึงความพยายามแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายและมีผลกระทบหยั่งลึกลงไปในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป สันติภาพอาจมีความหมายมากไปกว่านั้น

ราว 2 กม. ห่างจากชายแดนไทย-พม่า ถัดจากบ้านพญาไพร อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย คือที่ตั้งของดอยก่อวัน ฐานที่มั่นของกองทัพภาคเชียงตุงแห่งสภาฟื้นฟูรัฐฉาน กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) ที่ในวันที่ 6 ก.พ. 2563 จุดผ่านแดนนี้คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่ขึ้นมาร่วมงานวันชาติรัฐฉาน 73 ปี ในวันที่ 7 ก.พ.

73 ปีของการประกาศใช้ธงชาติและเพลงชาติไต เริ่มต้นเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ถูกรัฐบาลพม่าล้มโต๊ะเจรจา รบพุ่ง จนถึงวันที่สันติภาพถูกนำขึ้นมาพูดคุยบนโต๊ะเจรจาอีกครั้ง

บนเส้นทางยาวนานนี้ 'สันติภาพ' ของใคร คืออะไรกันบ้าง

- สันติภาพคืออธิปไตย -

เวทีกลางขณะมีงานคอนเสิร์ตช่วงกลางคืน

ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. จุดสนใจของผู้ร่วมงานหลากชาติพันธุ์จากทั้งไทยและพม่าอยู่ที่ร้านรวง มหรสพสารพัด เวทีแสง สี เสียงอลังการ และพื้นหลังเวทีที่ถูกออกแบบเลียนแบบหอเจ้าฟ้าเชียงตุง วังของเจ้าฟ้าที่ถูกพม่าทุบทำลาย

ในวันที่ 7 ก.พ. ความสนใจหลักถูกดึงไปที่ขบวนสวนสนามของชาวไทใหญ่ กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ปาฐกถา และการซ้อมรบ แสดงแสนยานุภาพทางทหารผ่านปฏิบัติการโจมตีด้วยกระสุนและระเบิดจริงของทหารรัฐฉานทั้งชายและหญิง เพื่อให้เห็นถึงยุทธวิธีการรบในวันที่ยังมีเหตุปะทะและรบพุ่งกับกองกำลังชาติพันธุ์อื่น

การแสดงปฏิบัติการทางทหาร

พ.อ.เจ้ากอนจื้น ผู้บัญชาการกองทัพภาคเชียงตุง ประธานในพิธีวันชาติรัฐฉานที่ดอยก่อวัน กล่าวว่า ที่ดอยก่อวันมีการจัดงานวันชาติมาตั้งแต่ปี 2543 มีการงดจัดเพียงปีเดียวในปี 2544 เพราะมีการรบพุ่ง การปะทะที่มีล่าสุดระหว่างกองทัพรัฐฉานกับกลุ่มกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) ก็มีเพียงประปรายแล้ว

กลาง: พ.อ.เจ้ากอนจื้น

สันติภาพสำหรับเจ้ากอนจื้นคืออำนาจอธิปไตย การกู้ชาตินั้นคือหน้าที่ ซึ่งมีความลำบากอยู่แล้ว แต่ไม่ช้าก็เร็ว ต้องมีสักวันที่จะได้รับสันติภาพ การมีกองกำลังทหารนั้นก็เพื่อสันติภาพ 

“เราต้องการให้เรามีสิทธิที่เราอยากจะทำในชาติของเรา ที่จะทำได้ เช่น การศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง อันนั้นคือสันติภาพ”

“ตราบใดที่ยังไม่มีความจริงใจในการเจรจา ความสงบในสหภาพพม่าก็ไม่เกิดขึ้น การมีความสงบ คือต้องมีความเสมอภาค”

- สันติภาพคือการเมือง -

สันติภาพที่เกี่ยวพันกับอำนาจอธิปไตยในมุมมองของเจ้ากอนจื้น เป็นแค่ยอดหนึ่งของภูเขาน้ำแข็งที่เกิดขึ้นบนโต๊ะเจรจาสันติภาพพม่า ความพยายามที่กำลังก่อรูปร่างอีกครั้งตั้งแต่ปี 2554 นับตั้งแต่รัฐบาลพม่าล้มสัญญาปางโหลงในปี 2490 ที่มีเงื่อนไขยอมให้รัฐชนกลุ่มน้อยแยกออกไปเป็นอิสระจากสหภาพพม่าได้

คืนใส ใจเย็น ที่ปรึกษาคณะกระบวนการสันติภาพ (Peace Process Steering Team - PPST) คณะทำงานอำนวยความสะดวกของการเจรจาสันติภาพในพม่า ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวฉาน สำนักข่าวที่รายงานเรื่องการเมืองระหว่างรัฐฉานและรัฐบาลพม่ามาตั้งแต่ปี 2534 ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลพม่าในการเจรจาสันติภาพมี 19 กลุ่ม 

ขบวนสวนสนามของทหารเมื่อเข้าสู่พื้นที่พิธี

ใน 19 กลุ่มนี้ มีเพียง 10 กลุ่มที่เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement - NCA) ข้อตกลงว่าด้วยการสร้างสันติภาพในพม่าที่เป็นเอกสารชุดเดียว จากที่เดิมทีการหยุดยิงจะเซ็นกันเป็นสัญญาแบบทวิภาคี ถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นใหม่

อีก 9 กลุ่มยังไม่ได้เซ็น NCA นั้น โดย 7 ใน 9 รวมตัวกันเป็นพันธมิตรในนามคณะกรรมการเจรจาและปรึกษาทางการเมืองแห่งสหพันธรัฐ (Federal Political Negotiation Consultative Committee : FPNCC) หรือเรียกว่า พันธมิตรฝ่ายเหนือ ผู้รอดูผลการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการที่จะมีขึ้นก่อนจะตัดสินใจเข้าร่วมวง 

การรอดูอยู่นอกวง นัยหนึ่งทำให้อำนาจต่อรองของกลุ่มชาติพันธุ์บนโต๊ะเจรจาอย่างเป็นทางการลดลงมาก อีกนัยหนึ่งคือการวางแรงกดดันไปที่รัฐบาลพม่า ว่าจะมีข้อตกลงออกมาแบบไหนให้เป็นที่น่าดึงดูดใจ 

ทางเดินเข้างานวันชาติรัฐฉาน ดอยก่อวัน

พันธมิตรฝ่ายเหนือซึ่งมีชายแดนติดต่อกับจีนนี้ถือเป็นขั้วอำนาจที่มีกำลังต่อรองสูง เพราะนำโดยกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ที่มีกองกำลังมากกว่า 3 หมื่นคน โดย UWSA ยังไม่มีท่าทีจะร่วมโต๊ะเจรจาสันติภาพ เนื่องจากมีจุดยืนที่คืนใสบอกว่า พวกเขาอยากให้พื้นที่ปกครองของว้ามีลักษณะเป็น ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ อย่างที่ฮ่องกงเป็นกับจีน

ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวฉานเล่าต่อไปว่า ระหว่างที่กระบวนการสันติภาพกำลังดำเนินไป การปะทะก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและหลายครั้งก็รุนแรง เมื่อ 15 ส.ค. 62 กองกำลัง 3 กลุ่มในพันธมิตรฝ่ายเหนือโจมตีโต้ตอบกองทัพพม่า ในการโจมตีดังกล่าวมีการใช้จรวดซึ่งเป็นอาวุธจากจีนซึ่งสร้างความสงสัยให้หลายฝ่ายว่าได้มาจากไหน อย่างไร เพราะจีนเองก็มีท่าทีสนับสนุนให้กลุ่มพันธมิตรเหล่านี้เซ็นสัญญาหยุดยิงเพื่อเข้าร่วมโต๊ะเจรจาสันติภาพ

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดบนโต๊ะเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการนั้น การเจรจายาวนาน 9 ปี เพิ่งจะนำมาซึ่งข้อตกลงเรื่องหัวข้อเจรจาเมื่อ 8 ม.ค. 63 โดยในเดือน ก.พ. - มี.ค. นี้ จะมีการเจรจากันต่อ หลังจากนั้นจะจัดประชุมใหญ่ที่เรียกว่าการประชุมสันติภาพสหภาพ (Union Peace Conference) ภายในเดือน เม.ย. ข้อตกลงต่างๆ ที่ได้มาจากการประชุมใหญ่จะถูกเข้ารัฐสภา และเมื่อรับรองแล้วก็จะเป็นกฎหมาย

หลายฝ่ายมองว่าอาจจะมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นเมื่อเหล่าขุนศึกและนักการเมืองอยากเปลี่ยนความสำเร็จเป็นคะแนนเสียงในกล่องเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าที่จะมาถึงในปีนี้

“หลายฝ่ายก็คาดกันว่า การเจรจาครั้งนี้อาจจะได้ผลที่ดีมากกว่าครั้งก่อนๆ มา เพราะทางฝ่ายพรรครัฐบาล NLD ก็ต้องการโชว์ผลงานต่อประชาชน เพื่อจะดึงเสียงจากประชาชน แม้แต่กองทัพเองก็ต้องการว่าพวกเขาไม่ได้ขัดขวางเรื่องสันติภาพ กองทัพพม่าก็คงจะไม่ค่อยเข้มงวดมากเท่าไหร่” คืนใสกล่าว

ภาพการแสดงต่อสู้มือเปล่าโดยทหารชายและหญิงของ SSA

การเจรจากับรัฐบาลพม่าที่นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่มีอองซานซูจีเป็นผู้นำมีความยุ่งยาก เพราะเดิมทีสมัยรัฐบาลทหารที่นำโดย พล.อ.เต็งเส่ง การคุยกับรัฐบาลก็ถือเสมือนว่าได้คุยกับทหาร แต่ปัจจุบันกองทัพและรัฐบาลพม่ายังไม่ไว้วางใจและยังแข่งขันกัน ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ก็ไม่รู้ว่าจะต้องคุยกับใครกันแน่ ทำให้เวทีเจรจาซับซ้อนขึ้นอีก

ทางฝั่งกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยกำลังรบและทรัพยากรที่มากกว่าใคร ทำให้ RCSS ภายใต้การนำของเจ้ายอดศึก กลายเป็นหัวหอกของกลุ่มชาติพันธุ์ 10 กลุ่มในการเจรจากับรัฐบาลพม่า หลังจากหัวหอกร่วมอย่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ลดบทบาทลงจากวงเจรจาเนื่องจากมีปัญหาภายใน ในวันชาติปีนี้ที่ดอยไตแลง ศูนย์บัญชาการใหญ่ของ RCSS มีตัวแทนจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่าไปเข้าร่วมงานวันชาติเป็นครั้งแรก ซึ่งคืนใสมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่สุด

ทหาร SSA แสดงปฏิบัติการช่วยตัวประกัน

“การมีตัวแทนผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพพม่าร่วมวันชาติไทใหญ่ที่ดอยไตแลง เป็นสัญญาณที่ดีที่สุดเท่าที่มีการเจรจากันมาจนถึงบัดนี้ เพราะกองทัพพม่าและ RCSS ยังมีความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันอยู่ จะมีการปะทะกันบ่อย หลังเซ็นหยุดยิงมาก็ 50 ครั้ง มี 2-3 ครั้งที่รุนแรงมาก

“เมื่อ 8 ม.ค. เจ้ายอดศึก และ (พล.อ.อาวุโส) มินอ่องหล่าย (ผู้บัญชาการทหารสูงสุด) พบกันที่เนปิดอว์ มีความใกล้ชิดมากขึ้น จนถึงบัดนี้ยังไม่เปิดเผยว่าข้างในพูดอะไรกัน ที่สำคัญก็คือการประชุมนี้เป็น ice breaker (สร้างความคุ้นเคย) งานที่จัดที่ดอยไตแลง มินอ่องหล่ายเลยส่งตัวแทนเข้าร่วม”

คืนใสประเมินข้อท้าทายว่า RCSS ยังขาดประสบการณ์เรื่องการสร้างพันธมิตร เพราะในหมู่กลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยก่อพันธมิตรมาหมดแล้ว ก็มีแต่ RCSS ที่ยังไม่เคยเป็นพันธมิตรกับใคร จึงยังขาดความคุ้นเคยกับกลุ่มอื่นๆ ทั้งนี้ ทางภาคีเจรจาสันติภาพต้องมีความอดทน เพราะกระบวนการเจรจานั้นมีทั้งก้าวหน้าและถอยหลัง ซึ่งหวังว่ากลุ่มชาติพันธุ์ 10 กลุ่มจะอดทนต่อไป

- สันติภาพคือ...อะไร? -

ประชาชนที่มาร่วมงาน

เมื่อถามถึงความฝันเรื่องสันติภาพกับประชาชนที่มาร่วมงาน คำตอบที่ได้ก็แตกต่างไปจากมุมมองบนเวทีและโต๊ะเจรจา

เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกด้านภาษา ทาง RCSS จัดให้มีทหาร 1 นายคอยติดตามการเดินสัมภาษณ์ กระนั้น ผู้ร่วมงานที่ให้สัมภาษณ์หลายคนก็สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้

จายก๋อง ชายอายุ 36 ปี เดินทางมาจากท่าเดื่อ อยู่บริเวณเมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ประเทศพม่า มาเพื่อมาให้กำลังใจพี่น้องไทใหญ่ แต่เมื่อถามถึงเหตุปะทะระหว่างไทใหญ่กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เขาไม่ทราบข้อมูลใดๆ

จายพงษ์ อายุ 15 ปี นักเรียนที่โรงเรียนดอยก่อวันที่ตั้งอยู่ด้านหลังเวทีกลาง เมื่อเห็นงานวันชาติและการแสดงก็รู้สึกอุ่นใจ เขามีความฝันอยากจะเป็นทหาร เพราะเห็นว่าพม่าชอบรังแกคนไทใหญ่ แต่ยังไม่รู้ว่าสันติภาพหมายความว่าอะไร

เด็กเล่นปืนของเล่นบนแทมโบรีน

นางแก้ว อายุ 18 ปี หญิงสาวจากท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ประเทศพม่า เดินทางมาร่วมงานวันชาติครั้งแรก รู้สึกสนุกและได้เจอญาติที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลดอยก่อวัน เธอไม่เคยได้ยินเรื่องการปะทะกันระหว่างกองทัพไทใหญ่และชาติพันธุ์อื่นๆ เมื่อพูดถึงสันติภาพ เธอยังไม่มีภาพในหัว แต่เธอมีความฝันว่าอยากเป็นแพทย์เพื่อรักษาญาติๆ ในยามป่วยไข้ 

นางขันคำ หญิงอายุ 40 ปี เดินทางมาจากเมืองในรัฐฉาน ประเทศพม่า แถบชายแดน อ.แม่สาย เพื่อเอาขนมมาให้กับน้องที่เป็นทหารอยู่ที่ดอยก่อวัน เมื่อถามถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘สันติภาพ’ เธอไม่มีคำตอบให้กับคำถามดังกล่าว

ความไม่รู้ที่ได้รับยังคงเป็นคำถามที่คาใจว่าเป็นเพราะสื่อสารกันไม่เข้าใจ หรือเป็นเพราะเขาไม่เคยตระหนักรู้ถึงเรื่องเหล่านั้น อะไรทำให้เรื่องราวการต่อสู้ของชาติพันธุ์ที่บนเวทีพยายามจะพร่ำพรรณากลับไม่เป็นที่รับรู้

“ที่ชาวบ้านต้องการไม่ใช่ระบบสหพันธรัฐที่อยู่บนพื้นฐานประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ อันนี้เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว สิ่งที่เขาต้องการที่สุดคือให้มีการหยุดยิงกัน สอง ให้มีสิทธิมนุษยชนทุกฝ่ายปฏิบัติตามหลักสากล ถ้าเป็นเช่นนั้นพวกเขาจะสบายใจ แต่เรื่องการตกลงเรื่องระบอบประชาธิปไตย ระบอบสหพันธรัฐก็ต้องคุยกันอีกทีหนึ่ง” คืนใสกล่าว

ภาพในงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net