Skip to main content
sharethis

ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาฝังแน่นอยู่ในสังคมไทยและเกาะติดเราทุกคนตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงชีวิตวัยทำงาน เป็นผลพวงจากการไม่มีแรงกระตุ้น การกระจายทรัพยากรของรัฐสู่สถานศึกษา และการทำงานที่ไม่ตรงกับสาขาที่ตนเองเรียนจบ

ที่มาภาพ :  EconTU Official 

  • การศึกษาระดับปฐมวัยมีความสำคัญมากและต้องใช้งบประมาณมากที่สุดเพื่อการนี้ ไม่ใช่เพียงเพื่อการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ แต่ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับสังคม
  • ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาเกี่ยวเนื่องกับการออกแบบระบบการจัดสรรทรัพยากรให้กับสถานศึกษาและวิธีการกระจายบุคลากรของภาครัฐไปยังสถานศึกษาต่างๆ
  • ความไม่สอดคล้องทางการศึกษาในแนวราบหรือการทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมาส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำด้านค่าจ้างแรงงาน

‘ประชาไท’ ยังคงเกาะติดงานสัมมนาวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2563 ครั้งที่ 42 ภายใต้หัวข้อใหญ่ที่ชื่อว่า ‘ชีวิตเหลื่อมล้ำ: เหลื่อมล้ำตลอดชีวิต’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย

โดยเวทีในช่วงบ่ายเริ่มต้นด้วยหัวข้อ ‘ความเหลื่อมล้ำจากวัยเรียนสู่วัยทำงาน’ ซึ่งฉายภาพให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษานั้นติดตัวเราไปตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนกระทั่งทำงานแล้ว

วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ที่มาภาพ :  EconTU Official)

การศึกษาปฐมวัย

วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า

ถ้าจะให้ผมเล่าว่าการศึกษาปฐมวัยมีความเหลื่อมล้ำแค่ไหน ก็อาจจะน่าเบื่อ ผมจึงตัดสินใจไม่ทำอย่างนั้นเพราะทุกคนก็คงพอรู้ เรามีโรงเรียนนานาชาติอาจจะค่าเทอมละ 1 ล้าน เรามีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ไม่มีค่าใช้จ่ายเลยและเด็กก็ไม่ได้ทำอะไรเลยในวันๆ หนึ่ง ได้นม 1 กล่อง ได้อาหาร แล้วก็กลับบ้าน คงไม่ต้องอธิบายว่านั่นคือความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยชัดเจนมาก โตขึ้นมาก็มีอีก แต่ทำไมเราจึงสนใจการศึกษาปฐมวัย

ประสบการณ์ 5 ปีที่ผ่านมาจากการทำวิจัย ได้ทำการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ทำให้ผมตระหนักว่ามันสำคัญแค่ไหนที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการคิด วิธีการแก้ปัญหาในเรื่องการศึกษา

ทำไมผมจึงสนใจเรื่องการศึกษาปฐมวัย เพราะผมฟังโปรเฟสเซอร์เจมส์ เฮ็คแมน ซึ่งมี 2 ประเด็นที่ผมจับมาและสนใจทำ ข้อที่ 1 การลงทุนในช่วงปฐมวัยมีความคุ้มค่ามาก การลงทุนแต่ละรูปแบบไม่เหมือนกัน สอนที่โรงเรียนก็ประมาณหนึ่ง สอนที่บ้านโดยพ่อแม่ก็ประมาณหนึ่ง แต่โดยเฉลี่ยแล้วในเชิงนโยบายสรุปง่ายมาก หมายความว่างบประมาณต่อหัวที่เราจะให้ในการศึกษาหรือพัฒนาทุนมนุษย์ของคนในอนาคตจะต้องสูงที่สุดในตอนที่เด็กเล็กที่สุด และต้องน้อยลงเรื่อยๆ ตามอายุ นั่นคือข้อสรุปเชิงเศรษฐศาสตร์มหภาค แต่ผมไม่ได้ต้องการมาพูดเรื่องนี้ ผมแค่ต้องการจะบอกว่าเด็กปฐมวัยสำคัญ

ข้อที่ 2 โปรเฟสเซอร์เจมส์ เฮ็คแมน พูดสั้นๆ และผมก็ค่อนข้างเห็นด้วยว่าการลงทุนในเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะถ้าเราช่วยเด็กที่ถูกกลุ่ม ถ้าเราช่วยให้เขาได้เรียน ได้รับรู้ ในสิ่งที่ควรจะรู้ นั่นคือการลดช่องว่างตั้งแต่เยาว์วัยที่คุ้มค่าที่สุด และนี่ไม่ใช่นโยบายที่เน้นแต่ลดช่องว่าง แต่เป็นนโยบายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับสังคมไปพร้อมกัน

ผมจึงทำโครงการที่เรียกว่า RIECE Thailand เป้าหมายคือต้องการพัฒนาทุนมนุษย์ ตอนที่เราเริ่มต้น เราก็เริ่มกับท้องถิ่นคือ อบต. ที่ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในภาคอีสาน เราก็ไปเลือกหลักสูตรหนึ่งขึ้นมาหลักสูตรนี้ชื่อว่าหลักสูตรไฮสโคป (high scope) เราเริ่มเรื่องนี้อย่างไร ผมเริ่มโดยนำงานศึกษาจำนวนมากมาศึกษาและเลือกหลักสูตรนี้ เพราะมี benefit to cost ratio ที่สูงที่สุดคือ 7 ต่อ 1 แต่ในโลกความจริงไม่ได้ง่ายเหมือนในงานวิจัย

ส่วนที่ 2 เป็นส่วนที่เหนื่อยที่สุดและสนุกที่สุดก็คือการนำไปใช้จริง เราเริ่มใช้จริงประมาณปี 2558 ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์ ในขนาดที่คิดว่าใหญ่พอสมควรคือ 50 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กพร้อมกัน เราเริ่มเก็บข้อมูลเด็กปฐมวัยตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้ประมาณ 5 ปีต่อเนื่องกัน เรามีข้อมูลเด็กปฐมวัยพันกว่าคนที่เริ่มทำความเข้าใจ

กิจกรรมที่โครงการนี้ทำหลักๆ มีอยู่ 2 ข้อ ข้อที่ 1 พัฒนาและนำหลักสูตรไฮสโคปไปสอนในโรงเรียน และข้อที่ 2 ที่ผมยังไม่ได้ทำ แต่ก็สำคัญเช่นเดียวกันคือการไปเยี่ยมบ้านเด็กทุกสัปดาห์ คงเป็นสิ่งที่ผมต้องพยายามทำต่อ ไปเยี่ยมบ้านเพื่ออะไร เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง เด็กเล็กต้องการการกระตุ้น ผู้ปกครองต้องทำกิจกรรมกับเขา

เราเริ่มทดลองทำปี 2557 เป็นช่วงนำร่อง 2 แห่ง ทดลองจ้างครูเพิ่มมีอาจารย์มหาวิทยาลัยช่วยดูแล ล้มลุกคลุกคลานมากมาย การนำนโยบายไปปฏิบัติยากกว่าการวิจัยมาก มันยากเพราะเราไม่รู้ว่าแรงจูงใจอยู่ตรงไหน ทำไมคนจึงจะทำกับเรา บทเรียนที่ผมได้จากช่วงนำร่องก็คือ หนึ่ง ผมตระหนักว่าการทำงานกับท้องถิ่น ผมต้องเจอหัวหน้าเขาโดยตรง ข้อที่ 2 สิ่งที่เป็นปัญหามากคือทุกหน่วยงานโถมเข้าไปในพื้นที่ แต่เป็นแบบไฟไหม้ฟาง สิ่งที่เราพยายามทำเละเทะไปหมดเลย ดังนั้น เมื่อเราทำในขนาดใหญ่ เราบอกเลยว่าถ้าคุณจะร่วมมือกับใครหลังจากร่วมมือกับเรา ขอให้บอกเราก่อนเพราะสิ่งที่เราพบก็คือครูกับเด็กมีความทุกข์มากเพราะทุกคนอยากจะให้พวกเขาทำอย่างที่ตนเองอยากให้ทำ แล้วมันก็ไม่เข้ากัน เป็นคนละเรื่องราว มันกลายเป็นว่าสุดท้ายครูก็ตัดสินใจไม่ทำเลย

เราต้องตระหนักว่าในทางเศรษฐศาสตร์ทุกคนมี initial ability หรือความสามารถเบื้องต้นที่ต่างกัน เพื่อเราจะได้ช่วยเขาถูกระดับว่าจะช่วยเขาอย่างไร เพื่อให้เขาทำในสิ่งที่เขาควรจะทำได้ นั่นคือบทเรียนที่ผมได้ช่วงนำร่อง

เราทำโครงการในขนาดใหญ่ในปี 2558 สิ่งที่เราทำเพิ่มเติมในฐานะนักวิจัย เราเสนอทุกศูนย์ เรานำเขามาเทรน เราส่งเสริมให้ทำ แต่เราเพิ่มเรื่องหนึ่งเข้าไป เงินที่มีอยู่เราจ้างครูใหม่มาอีก 19 คนและนำมาจับฉลากใส่เข้าไปใน 19 ศูนย์ โดยทำต่อเนื่อง 5 ปีและจะอยู่ต่อ และจะขยายโครงการออกไป ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 50 ศูนย์ที่เราทำประสบความสำเร็จหมด ไม่ถึงครึ่งด้วย แต่เพราะปรากฏว่ามีที่ที่ดีขึ้นและสิ่งที่เราเรียนรู้เพิ่มเติมคือเรารู้เครื่องมือในการพัฒนาครูมากขึ้น แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เรายังไม่มีคือเราไม่มีเครื่องมือที่จะสร้างแรงจูงใจ

บทเรียนสำคัญที่สุดที่ผมอยากเน้นย้ำซึ่งเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์มากๆ ปัญหาใหญ่ในการศึกษาจริงที่ผมพบไม่มีอะไรมากไปกว่าการไม่มีแรงจูงใจในระบบ แรงจูงใจอยู่ที่ไหน ทำไมต้องทำ เพราะการเปลี่ยนมาทำวิธีไฮสโคปหรือวิธีอื่นๆ ก็แล้วแต่ ธรรมชาติคือคนทำดีต้องเหนื่อย คำถามคือทำไมเขาต้องเหนื่อยขึ้น จึงไม่แปลกที่การจะให้ครูทำจึงไม่ง่าย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ผมเองก็ไม่มีคำตอบ ถ้าใครแก้ปัญหาแรงจูงใจได้ ผมคิดว่ามันจะดีขึ้นเยอะ มีวิธีการมากมายที่ครูสามารถเลือกมาหยิบใช้ได้ แต่เขาไม่มีแรงจูงใจที่จะไปหยิบมาทำ

ปีที่แล้วมีโรงเรียนเอกชนเข้ามาทำกับเรามากขึ้น สิ่งที่เราเห็นก็คือ management monitoring supervision ต่างกันลิบลับระหว่างรัฐกับเอกชน ผมไม่ได้บอกว่าเอกชนดีที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่เขามีคือเขาเอาใจใส่กับครู ครูจะถูกมอนิเตอร์ ถูกดูแลให้ทำ ปรากฏว่าเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนมากเพราะมีการบริหารจัดการซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

เมื่อทำเสร็จ ผมก็เก็บข้อมูล ผมเรียกมันว่า RIECE panel data หลักๆ ตอนนี้เราเก็บที่มหาสารคามและกาฬสินธุ์ เราเก็บข้อมูลเป็นรายปีทำให้มีข้อมูลเยอะพอสมควร มีตัวแปรประมาณ 1,000 กว่าตัวแปร ช่วงแรกๆ ที่เราเน้นถามคือ input ที่เด็กได้รับ ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้ฟังแค่ไหน เล่นด้วยแค่ไหน ให้ทานอะไร ผู้ปกครองเดินตามป้อนข้าวหรือเปล่า ซึ่งผมกำลังดูอยู่ว่ามีผลต่อพัฒนาการของเด็กหรือไม่

เรามีกลุ่มตัวอย่าง ณ ปัจจุบันรุ่นล่าสุดประมาณ 1,400 คน ข้อมูลหลักๆ มีอยู่ 3 ชุด เกี่ยวกับตัวเด็ก เกี่ยวกับครัวเรือน และเกี่ยวกับสถานศึกษา นอกจากนั้น เรายังมีการทดสอบพัฒนาการเด็กเป็นระยะๆ ความตั้งใจคือผมต้องการสร้างข้อมูลตัวนี้ให้เป็น human capital production process data ที่ช่วยให้นักวิจัยสามารถเข้าใจว่าจะสร้างทุนมนุษย์ขึ้นมาได้อย่างไร อะไรที่มีผล อะไรไม่มีผล อะไรมีผลแค่ระยะสั้น ไม่มีผลในระยะยาว ผลจากการวิเคราะห์อย่างเร็วๆ พบว่า เด็กที่ได้เรียนตามหลักสูตรนี้มีพัฒนาการพื้นฐานที่ดีกว่า รู้จักรอคอย รู้จักการแบ่งปัน

ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ที่มาภาพ :  EconTU Official)

สองทศวรรษของความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษาและการจัดสรรทรัพยากรระดับพื้นที่ของประเทศ

ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องความเหลื่อมล้ำในวัยเรียน ผมคิดว่าทุกๆ คนอาจจะเห็นเป็นเรื่องที่ชินตาไปแล้ว สมัยผมเป็นเด็ก ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการเรียนระหว่างโรงเรียนในเมืองและชนบทก็เป็นอย่างนั้น 40 ปีผ่านก็ยังเป็นอย่างนั้น วันนี้เราจะมาช่วยกันคิดว่าในช่วงที่ผ่านมามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมการแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก

จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา เจตจำนงของคนทั้งประเทศที่ต้องการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาก็คือพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กฎหมายฉบับนี้ตั้งความหวังไว้ค่อนข้างสูงมาก เราตั้งใจจะให้โอกาสทางการศึกษากับเด็กผู้ยากไร้ แล้วคนเหล่านั้นก็จะหลุดจากวงจรความยากจน ท้ายที่สุดลูกของเขาก็จะโตไปไม่จนเหมือนพ่อแม่

กฎหมายฉบับนี้ระบุว่า เราควรมีการศึกษาที่เสมอภาค หมายถึงทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับและต้องมีคุณภาพ คือเห็นความเสมอภาคในการเข้าถึงและผลลัพธ์ทางการศึกษาด้วย เจตจำนงนี้ตั้งแต่ปี 2542 ประเทศไทยลงทุนเรื่องการศึกษาอย่างมหาศาล คิดในแง่ของงบประมาณแผ่นดินปีหนึ่งประมาณร้อยละ 20 ถือว่าเป็นงบอันดับ 1 ในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา คำถามคือ งบประมาณจำนวนมากมหาศาลเหล่านั้น ทำไมจึงไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราคิดว่าควรจะเป็น

อันนี้ก็ต้องย้อนกลับไปว่ากฎหมายได้สร้างกลไกหนึ่งขึ้นมาว่า รัฐจะจัดสรรเงินให้ทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชนในการจัดการเรียนการสอนในรูปของการให้ตามจำนวนหัวนักเรียน ส่วนค่าใช้จ่ายในเรื่องของครูซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ขณะนั้นยังไม่ได้ส่งงบตัวนี้ไปยังสถานศึกษา แต่กฎหมายปี 2542 มองการณ์ไกลว่าถ้าท้ายที่สุดการกระจายอำนาจเกิดขึ้นจริง งบประมาณทั้งก้อนนี้ถ่ายโอนไปให้ท้องถิ่นหรือเขตพื้นที่ทางการศึกษาและรวมถึงโรงเรียนมีความเป็นอิสระ เป็นนิติบุคคลทุกรูปแบบในเรื่องของเงิน งาน และคน การออกแบบ 20 ปีที่ผ่านมายังเป็นความฝันที่เลือนลาง

แต่ในแง่หนึ่งที่เป็นความสำเร็จจากการใช้งบประมาณจำนวนมากคือเรามีโอกาสทางการศึกษาในเชิงปริมาณเด่นชัด แต่คุณภาพการศึกษายังเหลื่อมล้ำและรุนแรง คำถามก็คือคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกันมีความเกี่ยวโยงกับข้อเท็จจริงหนึ่งซึ่งเราอาจจะรู้หรือไม่รู้ว่า โรงเรียนมีทรัพยากรในการดำเนินการที่แตกต่างกันจริงหรือเปล่า เพราะเจตจำนงของกฎหมายสร้างไว้ว่าเราจะจัดอุดหนุนรายหัวโดยบังคับให้โรงเรียนไม่เก็บค่าใช้จ่าย หมายความว่าถ้าการอุดหนุนมีอัตราที่เหมาะสมจริงจะมีเงินที่เข้าไปจัดการการศึกษาในลักษณะที่เป็นธรรมหรือเท่าเทียม แต่ในข้อเท็จจริงมันมีความเหลื่อมล้ำของทรัพยากรที่โรงเรียนได้รับอย่างมากและเรื่องนี้ก็จะผูกโยงกับระบบการจัดสรรงบประมาณ

ตัวหนึ่งที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นคือมันมีการตอบสนองจากครัวเรือนหรือชุมชนเองต่อปัญหาการจัดการศึกษาไม่ได้อย่างมีคุณภาพ รวมถึงท้องถิ่นเอง ซึ่งกลับมามีบทบาทในการเพิ่มความเหลื่อมล้ำในตัวเอง ถ้าเราเอาข้อมูลระดับจังหวัดไปพิจารณาจะเห็นว่าคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดูได้จากรายได้ต่อหัวของจังหวัด พูดง่ายๆ คือจังหวัดที่รวยหน่อยก็จะมีคุณภาพการศึกษาที่ดีหน่อย อย่างไรก็ตาม ตัวนี้ไม่ได้ชี้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพียงแต่บอกว่าการใช้จ่ายของผู้ปกครองช่วยลดปัญหาบางอย่างลงหรือช่วยเพิ่มปัญหาบางอย่างขึ้น งานชิ้นนี้จึงถือเป็นความพยายามหนึ่งที่ผมเก็บรวบรวมข้อมูลรายโรงเรียน เฉพาะโรงเรียนของรัฐ และเทียบกับผลลัพธ์ทางการศึกษาซึ่งก็คือผลทดสอบ o-net

ผลลัพธ์ทางการศึกษาเป็นปัญหาที่สั่งสม ถ้าเราดูในกลุ่มเด็กเล็กประถม มัธยม ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงวัยเด็กก่อนคลอดหรือแรกเกิด อีกส่วนหนึ่งเป็นพหุปัจจัยจำนวนมากที่ส่งผลตั้งแต่การจัดสรรทรัพยากรของประเทศ ระบบการออกแบบการศึกษา และการเห็นความสำคัญของครัวเรือนในการใช้จ่ายด้านการศึกษา รวมไปถึงในชั้นเรียน

สิ่งที่จะนำเสนอต่อไปเป็นการดูย้อนจากผลไปหาเหตุผล ทางการศึกษาจะมีตัวชี้วัดอยู่ 2 ตัว ตัวหนึ่งก็คือคะแนน PISA ตัวนี้จะเห็นว่าความสามารถในด้านการอ่านของเด็กไทยลดลงอย่างน่าตกใจในช่วง 3 ครั้งหลัง คะแนนด้านการอ่านระหว่างเมืองกับชนบทก็ถ่างกว้างขึ้น การอ่านของนักเรียนไทยค่อนข้างจะเป็นปัญหาที่เดียวเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์อ่านไม่รู้เรื่อง

อีกตัวหนึ่งคือคะแนน o-net ข้อมูลจากช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าตั้งแต่ช่วงปี 2553 ถึง 2554 เป็นต้นมา คะแนนมีทิศทางลดลงและมีความแตกต่างกันระหว่างโรงเรียนที่อยู่ในและนอกเขตเทศบาลทั้งระดับประถม 6 และมัธยม 3 ถ้าเราแบ่งย่อยลงมาอีก เราจะเห็นความแตกต่างค่อนข้างชัดเจนและรุนแรงมากขึ้นระหว่างโรงเรียนที่มีขนาดต่างกัน จะเห็นว่ามีการถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ พูดง่ายๆ คือความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากความเหลื่อมล้ำที่เห็นจากขนาดของโรงเรียนและคะแนน o-net ที่กระจายอยู่หรือค่าเฉลี่ยของจังหวัด เราจะเห็นว่ามีความแตกต่างระหว่างจังหวัด ตรงนี้ก็พออธิบายได้เพราะโรงเรียนในเขตตะเข็บชายแดนต่างๆ จะมีคุณภาพการเรียนที่ต่ำกว่าโรงเรียนที่มีความเจริญมากกว่า อันนี้คือข้อเท็จจริงว่าผลคะแนนจากตัวชี้วัดทั้งสองบอกไปในทิศทางว่าคุณภาพการศึกษาของเรามีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

มาดูตัวแปรด้านงบประมาณหรือทรัพยากรที่โรงเรียนมีอธิบายความแตกต่างของคุณภาพเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง ถ้าแบ่งกลุ่มโรงเรียนตามทรัพยากรที่มี ส่วนหนึ่งมาจากภาครัฐตามจำนวนรายหัวนักเรียน ส่วนที่ 2 เป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนครูซึ่งโรงเรียนไม่ได้บริหารเงินก้อนนี้ ส่วนที่ 3 เป็นงบประมาณสนับสนุนจากท้องถิ่น และส่วนที่ 4 มาจากการบริจาคของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเอกชน

เมื่อพิจารณาทีละส่วน ในส่วนเงินอุดหนุนรายหัวซึ่งมีหลักการกว้างอยู่ 2 ข้อ ข้อแรกคือความเสมอภาคในแนวราบคือรัฐจะอุดหนุนทุกคนเท่ากันตามจำนวนนักเรียน ส่วนที่ 2 การสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในแนวราบเพราะเด็กแต่ละคนอาจจะมีความจำเป็นที่แตกต่างกันก็จะอุดหนุนตามลักษณะของความจำเป็นของเด็กคนนั้น แนวทางของการอุดหนุนเราจะรู้จักในนามของการเรียนฟรี 15 ปี ปัจจุบัน ประเทศไทยอุดหนุนตั้งแต่อนุบาล 1 จนถึง ม.6 และรวม ปวช. ด้วย นอกจากนั้นยังมีรายจ่ายด้านการอุดหนุนค่าเครื่องแบบ หนังสือ อุปกรณ์ ค่ากิจกรรมเพื่อพัฒนาตัวผู้เรียน อีกส่วนหนึ่งเป็นการอุดหนุนนักเรียนยากจน

ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าในแต่ละปีเราใช้เงินประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาทเพื่อจัดสรรให้โรงเรียนเป็นค่าใช้จ่ายในด้านการเรียนการสอน เป็นการจัดสรรแบบเสมอภาคในแนวนอน ปัจจุบัน เราอุดหนุนด้านการเรียนการสอนในอัตราที่แตกต่างกันไปตามระดับการศึกษาซึ่งเป็นอัตราที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ในส่วนที่ 2 คือครู ข้อเท็จจริงก็คือประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนครู เกินเสียด้วยซ้ำ ปัจจุบัน เรามีครูมากถึง 4 แสนกว่าคนเพื่อดูแลเด็กที่ลดลงทุกปี ถ้ารวมบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆ ก็จะมีมากถึง 5 แสนคน ครูจึงเป็น 1 ใน 4 ของข้าราชการทั้งประเทศ อัตรานักเรียนต่อครูปัจจุบันนี้อยู่ในอัตรา 18 ต่อ 1 แปลว่าครู 1 คนมีภาระดูแลไม่มากนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศที่อาจจะสูงกว่านี้

ปัญหาคือเรามีครูเยอะ แต่ทำไมไม่ส่งผลต่อคุณภาพมากนัก เรื่องนี้มีคนเชื่อว่าระบบการจัดสรรของครูขาดประสิทธิภาพ การเกลี่ยครูไปยังโรงเรียนที่จำเป็นหรือจัดสรรให้เหมาะสมไม่เป็นในทิศทางนั้น ตามระเบียบถ้าครูไม่ขอย้ายก็ย้ายไม่ได้ เมื่อเด็กลดลงแต่คุณครูไม่ย้ายก็คงต้องอยู่อย่างนั้น มีการสอนไม่ตรงสาขาเป็นจำนวนมากทำให้โรงเรียนที่อยู่ห่างไกลขาดแคลนและเสียเปรียบ ปัจจุบัน เรามีโรงเรียนขนาดเล็กมากเกินกึ่งหนึ่งของโรงเรียนในระดับประถมกับมัธยมรวมกัน โรงเรียนขนาดเล็กก็คือโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ปัจจุบันค่าเฉลี่ยโรงเรียนหนึ่งมีนักเรียนประมาณ 80 คนและมีกว่า 15,000 โรงเรียน

ถ้าดูในมิติคุณภาพของครูต้องยอมรับว่ามีอายุเฉลี่ยค่อนข้างสูงมีประสบการณ์ในการสอนมาก และพบว่าครูกลุ่มนี้จะอยู่มากหน่อยในโรงเรียนขนาดเล็ก ครูใหม่ไม่ได้เข้าไปแทนที่ ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนของครูในระดับต่างๆ จะเห็นว่าไม่ได้น้อยกว่าอาชีพอื่นโดยเฉลี่ยก็กว่า 40,000 บาท

ถ้าดูทรัพยากรที่โรงเรียนมีในการจัดการศึกษาโดยดึงตัวเงินเดือนครูออกไปจะมีเงินอุดหนุนรายหัวให้โรงเรียนมาจัดการและมีเงินจากท้องถิ่นอีกส่วนหนึ่งในรูปของอาหารกลางวันและอาหารเสริมและอื่นๆ และเงินที่บริจาคจากภาคครัวเรือนและเอกชน พบว่า การอุดหนุนจากท้องถิ่นเท่าๆ กับการอุดหนุนจาก สพฐ.

ถ้าเราลองรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่โรงเรียนใช้ไป จะเห็นว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวนักเรียนในกลุ่มต่างๆ แตกต่างกันอย่างชัดเจน โรงเรียนขนาดเล็กก็จะแพงหน่อยเพราะไม่มีการประหยัดต่อขนาดและจะเริ่มมีการประหยัดต่อขนาดเมื่อโรงเรียนมีขนาดใหญ่ขึ้นถึงระดับใหญ่ซึ่งมีนักเรียนประมาณ 1,500 ถึง 2,000 คน เราเห็นแล้วว่าผลทดสอบมีแนวโน้มที่จะถ่างกว้างขึ้น งบประมาณที่ใส่ไปก็มีความแตกต่างกันตามขนาด

ถ้าเราจะพยายามหาความแตกต่างระหว่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหรือคะแนนการเรียนโดยการแบ่งนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มรวยและกลุ่มจน โดยการจัดกลุ่มนี้เราไม่ได้เอาส่วนที่เป็นเงินเดือนครูเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่จะดูจากทรัพยากรที่มาจากครัวเรือนและท้องถิ่น เราจะเห็นว่าทรัพยากรและคะแนนแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มรวยและกลุ่มจนและมีความแตกต่างกันทั้งในระดับประถมและมัธยม

ประเด็นที่เราอยากจะชี้ก็คือความแตกต่างระหว่างกลุ่มรวยและกลุ่มจนที่เกิดจากทรัพยากรต่างๆ ที่โรงเรียนใช้ไปที่มาจากท้องถิ่นในระดับประถมศึกษา ผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนอธิบายได้จากเงินที่มาจากท้องถิ่น เงินจากภาคครัวเรือน อีกรายการหนึ่งรัฐมีการอุดหนุนพิเศษถ้าโรงเรียนมีเด็กยากจนมาก น่าแปลกที่เงินที่ให้กับนักเรียนที่ยากจนไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

ความแตกต่างของคะแนนเกิดจากขนาดของปัจจัยที่แตกต่างกัน อีกส่วนหนึ่งเกิดจากประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยที่แตกต่างกัน การศึกษานี้ก็ชี้ว่ามีปัจจัยที่แตกต่างกันระหว่างโรงเรียนทั้งสองกลุ่มนี้จริง

ในแง่ของระดับมัธยมศึกษาก็มีผลในลักษณะเดียวกัน แต่อธิบายได้ยากกว่านิดหนึ่ง คือเงินที่ให้ไปในระดับมัธยมศึกษาจะให้ทั้งระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย การมีทรัพยากรที่แตกต่างกันบางตัวก็ส่งผลต่อคะแนนที่แตกต่างกันบ้าง แต่ไม่ค่อยชัดเจน ในกรณีของระดับมัธยมตัวแปรหลักๆ ที่สามารถอธิบายความเหลื่อมล้ำด้านผลลัพธ์ของโรงเรียนได้คือขนาดของโรงเรียน ส่วนปัจจัยอื่นๆ จะมีลักษณะไม่ค่อยแตกต่างกันมาก แต่ขนาดของโรงเรียนสะท้อนว่าโรงเรียนสามารถหาประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาดได้มากขึ้นในการใช้ทรัพยากรส่วนนี้

ข้อสรุปหนึ่งที่ได้จากการวิเคราะห์โดยรวม ความเหลื่อมล้ำทางด้านคุณภาพที่เกิดขึ้นในระหว่างโรงเรียนทั้งสองกลุ่มอธิบายได้จากความแตกต่างของทรัพยากรที่โรงเรียนมีเป็นสำคัญ ก็จะกลับไปสู่คำถามตั้งแต่ตอนต้นว่าโดยการออกแบบเราพยายามให้เกิดความเท่าเทียมกัน แต่ผ่านมา 20 ปีกลายเป็นว่ามีปัจจัยที่เข้ามาทำให้การมีอยู่ของทรัพยากรของโรงเรียนสร้างความเหลื่อมล้ำขึ้นมาได้ โดยเฉพาะเงินจากท้องถิ่นและครัวเรือนสามารถสร้างความแตกต่างระหว่างผลลัพธ์ระหว่างกลุ่มได้จริง

อีกส่วนหนึ่งคืองบที่จัดสรรให้กลุ่มโรงเรียนยากจน โดยหลักการแล้วตัวนี้น่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้บ้าง แต่ปรากฏว่าด้วยวิธีการจัดสรรที่เป็นอยู่คือไม่มีลักษณะเจาะจงมากนัก โรงเรียนนำงบส่วนนี้ไปเกลี่ยใช้จ่ายทั้งหมด การลดความเหลื่อมล้ำจึงไม่มากนัก การจัดสรรครูก็มีผลต่อความเหลื่อมล้ำ แต่ก็ไม่สามารถอธิบายความแตกต่างด้านคุณภาพได้มาก ขณะที่ขนาดของโรงเรียนชี้ชัดว่าการที่มีขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

ผมคิดว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาที่เป็นอยู่ยาวนานเกี่ยวเนื่องกับการออกแบบระบบการจัดสรรทรัพยากรให้กับสถานศึกษาของรัฐ อีกส่วนหนึ่งก็น่าจะเกี่ยวกับวิธีการกระจายบุคลากรของภาครัฐไปยังสถานศึกษาต่างๆ

ข้อเสนอ ถ้าเราจะลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาอาจต้องพิจารณาแนวทางการจัดสรรงบประมาณที่ตอบโจทย์ในแง่การสร้างความเป็นธรรมในแนวดิ่ง พูดง่ายๆ คือควรจะจัดสรรงบประมาณที่ไม่มองว่าทุกคนมีระดับความจำเป็นเท่ากัน อาจต้องจัดสรรให้บุคคลที่มีความจำเป็นมากกว่าในจำนวนที่มากกว่า ปกติงบประมาณส่วนนี้จะมีเพียงส่วนน้อย ปัจจุบัน รัฐบาลเริ่มเห็นความสำคัญที่จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนนี้จะมีเป้าชี้เฉพาะโดยตรงในการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม

ส่วนที่ 2 ผมคิดว่าปัญหาตัวหนึ่งในระบบการจัดสรรงบประมาณทั้งหมดคือการให้อัตรารายหัว ปัจจุบัน มันไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่เหมาะสมกับโรงเรียนในขนาดต่างๆ โดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเราจะเห็นการกระจุกตัวของโรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ก็ใหญ่ขึ้น ส่วนโรงเรียนที่มีขนาดเล็กก็เล็กลง โรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นก็จะได้รับเงินอุดหนุนรายหัวในอัตราคงที่ก็จะเป็นโรงเรียนที่ได้เปรียบอยู่ตลอดเวลา ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนลดลงเรื่อยๆ แต่ได้อัตราคงที่ก็จะมีรายได้ไม่พอ การจัดสรรงบประมาณอาจจะต้องสะท้อนตัวขนาดของโรงเรียนด้วย

อีกตัวหนึ่งที่เราอาจเห็นว่าเป็นปัญหา แต่เห็นไม่ชัดเพราะไม่สามารถยืนยันได้ว่าการกระจายหรือการใช้จ่ายของงบบุคลากรครูจะเป็นส่วนหนึ่งของการอธิบายความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน แต่ผมคิดว่ามีความจำเป็นต้องปรับ เนื่องจากครูเรามีจำนวนมาก แต่การจัดสรรครูไม่สามารถจัดสรรได้อย่างเกิดประสิทธิภาพ

แม้ว่าวันนี้เรายังไม่ได้พูดถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายของโรงเรียน แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญเพราะรัฐก็ใช้เงินเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถสร้างคุณภาพที่น่าพอใจ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพได้อย่างน่าพอใจ ผมคิดว่าตัวหนึ่งคือการจัดสรรงบประมาณของครูให้สอดคล้องหรือรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น และอีกส่วนหนึ่งที่อาจจะมีความสำคัญมากคือการเปิดโอกาสให้โรงเรียนมีอิสระในการตัดสินใจใช้จ่าย หวังว่าแนวทางเหล่านี้จะช่วยให้ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพดีขึ้น

ชญานี ชวะโนทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ที่มาภาพ :  EconTU Official)

ความไม่สอดคล้องทางการศึกษากับความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างแรงงานไทย

ชญานี ชวะโนทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตั้งแต่ปฐมวัยจนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เราก็เผชิญแต่ความเหลื่อมล้ำซึ่งงานศึกษาชิ้นนี้จะเชื่อมโยงกับเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษามาสู่ความเหลื่อมล้ำด้านค่าจ้างแรงงานไทย

สถานการณ์ในตลาดแรงงานไทย แรงงานในประเทศไทยมีแนวโน้มที่มีระดับการศึกษาสูงขึ้นและผู้ที่ว่างงานอยู่ในตอนนี้ก็อยู่ในกลุ่มที่มีการศึกษาสูงขึ้นเช่นกัน นอกจากเรื่องระดับการศึกษาของแรงงานที่สูงขึ้น อีกแง่หนึ่งที่เราเห็นก็คือเราขาดแคลนแรงงาน เราผลิตกำลังคนที่อาจจะไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และหลายครั้งก็มีการผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ

นอกไปจากนั้นปัญหาหรือสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่คือเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ในอัตราที่เร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ และอัตราการเกิดของเราน้อย จำนวนแรงงานในวัยต้นจึงมีอัตราลดลงด้วยเช่นกัน

ถ้าดูเรื่องความเหลื่อมล้ำ ในการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าแม้ค่าจ้างแรงงานในกลุ่มแรงงานระดับล่างจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังมีส่วนต่างของค่าจ้างแรงงานระดับมหาวิทยาลัยและระดับอาชีวศึกษาเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งงานชิ้นนี้จะช่วยขยายความในส่วนนี้ เพราะว่าเวลาเราพูดถึงความไม่สอดคล้องทางการศึกษา เราจะดูต่อไปว่ามันจะขยายความระหว่างแรงงานระดับมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษาอย่างไร

ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เรามาดูโครงสร้างการศึกษาและกลุ่มอาชีพของแรงงานไทยก่อน เนื่องจากแผนพัฒนาการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ ณ ปัจจุบันนี้สัดส่วนของแรงงานรุ่นใหม่ที่อยู่ในช่วงอายุ 15 ถึง 30 ปีจะเห็นว่ามีถึงร้อยละ 50 ที่จบการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมปลายหรือ ปวช. ขึ้นไป ซึ่งจะแตกต่างจากแรงงานรุ่น 46 ถึง 60 ปีที่มีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายหรือ ปวช. ขึ้นไปซึ่งเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้

เมื่อเราดูเรื่องการศึกษามันก็เกี่ยวโยงกับกลุ่มอาชีพซึ่งเราจะอ้างอิง การแบ่งกลุ่มของ International Standard Classification of Occupations (ISCO) ซึ่งในหนึ่งอาชีพก็จะมีทักษะสูงที่เป็นผู้จัดการ ผู้ประกอบวิชาชีพ หรือนักเทคนิค ทักษะปานกลาง และทักษะต่ำ เราจะเห็นว่าจากการศึกษาที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้มีสัดส่วนแรงงานที่ต้องใช้ทักษะมากขึ้นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการผลิตก็ทำให้ส่วนของแรงงานด้านการเกษตรลดน้อยลง ขณะที่แรงงานที่เกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น

เวลาเราดูเรื่องความไม่สอดคล้องทางการศึกษา ในภาพรวมเราจะดูทักษะความรู้ของแรงงานที่ไม่สอดคล้องหรือไม่ตรงกับที่ผู้ประกอบการต้องการ เราอาจจะแบ่งได้เป็นความไม่สอดคล้องในแนวดิ่งหรือที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในกรณี Over Education หรือแรงงานที่จบมาสูงแต่ทำงานในระดับการศึกษาที่ในอาชีพนั้นๆ ไม่ได้ต้องการระดับการศึกษาสูงขนาดนั้นหรือ Under Education ก็คือมีการระดับการศึกษาที่น้อยกว่าที่จำเป็นในการประกอบอาชีพนั้นๆ

สิ่งที่เราสนใจในการศึกษานี้ เราจะเน้นความไม่สอดคล้องในแนวราบก็คือการที่แรงงานสำเร็จการศึกษาในสาขาที่ไม่ตรงหรือไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยเราจะใช้ข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของแรงงานไทยปี 2554 ถึงปี 2560 โดยแบ่งกลุ่มแรงงานเป็นช่วง 3 อายุคือรุ่น 15-30 ปี รุ่น 31-45 ปี และรุ่น 46-60 ปี เนื่องจากตลาดโครงสร้างแรงงานที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ เราจึงต้องการสะท้อนว่ามีความเปลี่ยนแปลงในระหว่างรุ่นแรงงานอย่างไร

ความไม่สอดคล้องทางการศึกษาในแนวราบ เราอ้างอิงหลักเกณฑ์สาขาการศึกษาที่จำเป็นในการประกอบอาชีพของโครงการจัดหางานของกระทรวงแรงงานและคู่มือตัวอย่างอาชีพตามมาตรฐานการจัดอาชีพของ ISCO 2008 ทำให้สามารถดูได้ว่าถ้าจบสาขานี้แล้วควรจะทำงานในอาชีพอะไรบ้าง ถ้าไม่ตรงหรือไม่ได้ใช้ความถนัดนั้นๆ ก็ถือว่าไม่สอดคล้อง ซึ่งเราจะดูกลุ่มแรงงานที่จบ ปวช. และระดับมหาวิทยาลัยขึ้นไปเพราะเป็นกลุ่มที่สามารถระบุได้ว่าจบสาขาอะไร

สถานการณ์ความไม่สอดคล้องทางการศึกษาของแรงงานไทย ในมุมมองแรก เราเทียบระหว่างกลุ่มอายุและระดับการศึกษา เราสามารถสรุปได้ว่าถ้ามีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น อัตราการทำงานไม่ตรงสาขาก็จะน้อยลง แต่ที่น่าสนใจก็คือแรงงานที่อายุน้อยลงหรือแรงงานรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับการทำงานไม่ตรงสาขาเพิ่มขึ้น ถ้าดูตามรหัสกลุ่มอาชีพซึ่งจะสะท้อนทักษะแรงงานพบว่าแรงงานที่ใช้ทักษะสูงจะมีอัตราการทำงานที่ไม่ตรงสาขาไม่มากนัก แต่แรงงานที่ใช้ทักษะปานกลางหรือทักษะน้อยจะทำงานไม่ตรงสาขาค่อนข้างเยอะ แต่ที่น่าสนใจอีกอันหนึ่งคือในกลุ่มแรงงานที่ใช้ทักษะสูงในรุ่นเด็กจะเผชิญการทำงานที่ไม่ตรงสาขาเพิ่มขึ้นมาก

ถ้าดูสาขาแทนที่จะดูกลุ่มอาชีพว่าสาขาไหนมีคนทำงานไม่ตรงกับที่จบมามากที่สุด เราจะพบว่าสาขามนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์เมื่อเทียบในสาขาตัวเองมีสัดส่วนแรงงานที่จบมาแล้วทำงานไม่ตรงสาขามากที่สุด ส่วนสาขาที่น้อยที่สุดคือด้านสุขภาพและการศึกษา ซึ่งพอเข้าใจได้เพราะต้องเรียนมาโดยตรงถ้าจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับพยาบาล แพทย์ หรือการศึกษา ที่น่าสนใจที่เราต้องยกขึ้นมาก็คือว่าถ้ามองว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 มันมีภาพว่าเราขาดแคลนแรงงานสายวิทยาศาสตร์และมีคนจบสายนี้ไม่เยอะ แต่คนที่จบมาถ้าเทียบกับกลุ่มคนที่จบสาขาวิทยาศาสตร์ด้วยกันเองกลายเป็นว่า มีคนที่ทำงานไม่ตรงสาขาสูงถึงเกือบร้อยละ 70 ซึ่งต้องดูต่อไปว่าจบมาแล้วแรงงานทักษะไม่พอจึงไม่สามารถทำงานในสาขาวิทยาศาสตร์ได้หรือโครงสร้างตำแหน่งงานยังไม่สอดคล้องกันอย่างไร

เมื่อดูการทำงานไม่ตรงสาขาเทียบกับกลุ่มค่าจ้างจะเห็นว่า กลุ่มค่าจ้างน้อยจะมีอัตราการทำงานไม่ตรงสาขาหรือไม่สอดคล้องกับสาขาที่ตนเองจบมามากที่สุดและลดลงเรื่อยๆ ในกลุ่มที่เป็นกลุ่มคนรวยจะมีอัตราการทำงานไม่ตรงสาขาน้อยที่สุด

การไม่สอดคล้องในแนวราบมีผลต่อค่าจ้างแรงงานอย่างไรบ้าง ในภาพรวมจะเห็นว่าการกระจายของค่าจ้าง ถ้าในกรณีทำงานไม่ตรงสาขาจะมีค่าจ้างโดยเฉลี่ยน้อยกว่าคนที่จบมาแล้วทำงานตรงสาขา ที่น่าสนใจก็คือผู้ชายจะได้รับผลกระทบทางลบจากการทำงานไม่ตรงสาขามากกว่าผู้หญิงในทุกอาชีพ ขณะที่จะเห็นชัดค่อนข้างมากในกลุ่มที่เป็นอาชีพที่ใช้ทักษะสูงคือถ้าคุณมีทักษะสูง แต่ทำงานไม่ตรงสาขา มีแนวโน้มที่จะได้ค่าจ้างน้อยกว่าคนที่ทำงานตรงสาขาค่อนข้างมาก

เราไปดูในรายละเอียดว่าการที่เราเห็นคนในกลุ่มแรงงานทักษะสูงแล้วทำไมค่าจ้างต่างกันเยอะมาก มันน่าจะมาจากอะไรได้บ้าง เราจึงแบ่งออกมาเป็น 2 กลุ่มก็คือคนที่จบอาชีวศึกษาทั้ง ปวช. และ ปวส. และในกลุ่มระดับมหาวิทยาลัยคือระดับปริญญาตรีและระดับหลังปริญญาตรี พบว่าอาชีพที่ใช้ทักษะสูงที่จบระดับอาชีวศึกษาระหว่างคนทำงานตรงสาขากับไม่ตรงสาขาจะมีการกระจายของค่าจ้างต่างกันค่อนข้างมาก พูดง่ายๆ ก็คือแรงงานที่จบระดับอาชีวศึกษาที่ทำงานที่ใช้ทักษะสูงแล้วไม่ตรงสาขาค่อนข้างจะได้รับผลกระทบทางลบมาก ขณะที่ถ้าดูในระดับมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะปริญญาตรียังพอเห็นภาพอยู่ว่า ถ้าทำงานไม่ตรงกับสาขาก็จะมีค่าจ้างโดยเฉลี่ยที่น้อยกว่า แต่ถ้าเป็นกลุ่มปริญญาโทจะไม่ค่อยเห็นความแตกต่างมากนัก แล้วถ้าเป็นอาชีพที่ไม่ใช้ทักษะสูงก็แทบจะไม่แตกต่างกันเลย

ถ้าวิเคราะห์อย่างเป็นระบบมากขึ้นจะย้ำให้เห็นอีกทีหนึ่งว่า เวลาพูดถึงผลกระทบทางลบของค่าจ้างจากการทำงานไม่ตรงสาขาในภาพรวมของทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณร้อยละ 9.8 ก็คือถ้าทำงานไม่ตรงสาขาจะทำให้ค่าจ้างลดลงประมาณ 9.8 เปอร์เซ็นต์ และเราก็พบว่าผู้ชายได้รับผลกระทบมากกว่าผู้หญิง

ถ้าดูตามภูมิภาค ผลกระทบของการทำงานไม่ตรงสาขาจะเห็นว่า กรุงเทพฯ มีผลกระทบเพียงเล็กน้อยแค่ประมาณร้อยละ 3 คือคนทำงานไม่ตรงสาขาจะมีรายได้น้อยกว่าประมาณร้อยละ 3 ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมากกว่าถึงประมาณร้อยละ 13.5 รองลงมาเป็นภาคเหนือ

ถ้าดูให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้นไปอีกด้วยการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มค่าจ้างแรงงานระดับต่างๆ กันจะเห็นว่ากลุ่มคนจนโดยเฉลี่ยจะได้รับผลกระทบทางลบจากการทำงานไม่ตรงสาขาของตนเองสูงกว่ากลุ่มคนรวย อีกอันหนึ่งที่น่าสนใจก็คือในระดับปริญญาตรี โท และเอกรวมกัน ซึ่งก่อนหน้านี้เราพบว่าแรงงานชายจะได้รับผลกระทบจากการทำงานไม่ตรงสาขาโดยรวมมากกว่าผู้หญิง แต่พอแบ่งกลุ่มตามช่วงอายุคนที่จบในระดับมหาวิทยาลัย แรงงานผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 31 ถึง 45 ปีกลับเป็นกลุ่มเดียวที่ได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย ซึ่งอาจจะอยู่ในช่วงวัยที่กำลังเป็นแม่ ก็อาจมีประเด็นได้เหมือนกันว่าการที่ผู้หญิงจบระดับปริญญาตรีขึ้นไปอาจมีต้นทุนค่าเสียโอกาสสูงมากในการมีลูกและเลี้ยงดูบุตร และอาจมีกรณีที่ว่าเมื่อออกจากการทำงานแล้วกลับเข้าไปใหม่จะไม่ได้ทำงานตรงสาขาที่ตนเองจบมาก็ได้

ถ้าเปรียบเทียบระหว่างคนที่จบมหาวิทยาลัยกับคนที่จบระดับอาชีวศึกษา เราก็พบเหมือนกันว่าแรงงานที่จบอาชีวศึกษาจะได้รับผลกระทบทางลบจากการทำงานไม่ตรงสาขามากกว่าแรงงานที่จบมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะแรงงานรุ่นผู้ใหญ่ซึ่งตรงนี้อาจนึกถึงการพัฒนาทักษะจากการที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปแล้วการปรับตัวไม่ทันจึงอาจส่งผลกระทบได้

เราเห็นแล้วว่ากรุงเทพฯ กับภาคอื่นๆ มีผลกระทบจากความไม่สอดคล้องทางการศึกษาแตกต่างกัน เราจึงลองดูในระดับจังหวัดว่าเห็นอะไร จะเห็นภาพว่ามีภาคกลางส่วนหนึ่ง ภาคเหนือบางส่วน ภาคตะวันออกที่สะท้อนสัดส่วนความไม่สอดคล้องค่อนข้างมาก และเห็นว่ากรุงเทพฯ ก็มีความไม่สอดคล้องอยู่บ้างแต่ว่าไม่มากนัก ที่น่าสนใจคือเมื่อเราคำนวณส่วนแบ่งแรงงานว่ามีการกระจุกตัวของอาชีพอย่างไร ซึ่งถ้ามีการกระจุกตัวมากก็หมายความว่ามีความหลากหลายทางอาชีพน้อยหรือถ้ามีการกระจุกตัวน้อยก็คือมีความหลากหลายทางอาชีพสูง

เราพบค่อนข้างชัดเจนว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑล เขต EEC ภูเก็ต และรอบอ่าวตัว ก มีความหลากหลายทางอาชีพค่อนข้างสูง และมันค่อนข้างเป็นภาพที่สอดคล้องกับค่าสัมประสิทธิ์จีนีโดยวัดความเหลื่อมล้ำในส่วนของค่าจ้างแรงงาน จะเห็นว่าในพื้นที่ที่มีเศรษฐกิจค่อนข้างซับซ้อนพอสมควรจะมีความเหลื่อมล้ำไม่สูงมากนัก ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคเหนือ มีความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างแรงงานค่อนข้างมาก ซึ่งความหลากหลายทางอาชีพค่อนข้างมีความสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างด้วย

สรุปภาพรวมของความเหลื่อมล้ำในระดับจังหวัดจะเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างแรงงานมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากสัดส่วนการทำงานไม่ตรงสาขาที่มากขึ้น ถ้าค่าจ้างขั้นต่ำลดลงก็จะทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น แต่ถ้าค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นความเหลื่อมล้ำก็จะลดลง รวมถึงรายได้รายจังหวัดต่อหัวและรายได้ภาคเกษตร ถ้ามีน้อยลงความเหลื่อมล้ำก็จะมากขึ้น รายได้จากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่สูงขึ้นจะทำให้ความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน จังหวัดที่เป็นเมืองรองก็ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านค่าจ้างค่อนข้างสูง

สรุปเป็น 2 ส่วนคือสถานการณ์ความไม่สอดคล้องและผลกระทบในส่วนของสถานการณ์พอเห็นภาพว่า มีความไม่สอดคล้องทางการศึกษาในเรื่องการทำงานไม่ตรงสาขาค่อนข้างสูงประมาณร้อยละ 44  สำหรับความไม่สอดคล้องในแนวดิ่งก็มีงานศึกษาที่พูดถึงหลายงาน ซึ่งในบ้านเราไม่ว่าจะแนวดิ่งหรือแนวราบ เราก็เผชิญความไม่สอดคล้องทางการศึกษาทั้งสองรูปแบบ แต่ในส่วนความไม่สอดคล้องในแนวราบน่าสนใจตรงที่ต้องคิดต่อว่า แรงงานรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบมีแนวโน้มที่จะทำงานไม่ตรงสาขามากขึ้นและจะอยู่ในกลุ่มอาชีพที่มีทักษะไม่สูงมากนัก สัดส่วนจะน้อยลงในกลุ่มอาชีพที่ใช้ทักษะสูงขึ้น ตรงนี้คิดว่าถ้าเรามีการพัฒนาทักษะให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโดยเฉพาะในกลุ่มอาชีวศึกษาเพื่อปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งการผลิตแรงงานให้สอดคล้องกับอาชีพเข้าใจว่ามีการพูดคุยกันมานานแล้ว แต่ก็ยังเห็นภาพการทำงานไม่ตรงสาขากันอยู่พอสมควร

ในด้านผลกระทบมีแน่นอนและคนที่ได้รับผลกระทบมากจะเป็นกลุ่มแรงงานที่ทำงานไม่ตรงสาขาและเป็นงานที่ใช้ทักษะสูงก็มีแนวโน้มได้รับผลกระทบค่อนข้างมากโดยเฉพาะในกลุ่มอาชีวศึกษา ดังนั้น นอกจากการพัฒนาทักษะแล้วอาจต้องมีเรื่องความสามารถในการปรับตัวด้านอาชีพด้วย และอย่างที่เห็นว่าคนจนได้รับผลกระทบจากการทำงานไม่ตรงสาขาต่อค่าจ้างมากกว่าคนรวย และหนึ่งความไม่สอดคล้องทางการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นไปอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net