Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“การอุ้มหาย” หรือที่ภาษาวิชาการเรียกว่า “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” (Enforced Disappearance) เป็นหนึ่งในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ถูกปฏิบัติต่อมนุษย์ผ่านการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐหรือผู้ใช้อำนาจแห่งรัฐ โดยอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2553 (2010 International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - ICPPED) ข้อ 2 ได้กำหนดนิยามของ “การอุ้มหาย” เอาไว้ว่า หมายถึง การจับกุม คุมขัง ลักพาตัว หรือการลิดรอนเสรีภาพในรูปแบบอื่น โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งกระทำการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุนหรือการยอมรับโดยปริยายของรัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือด้วยการปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวบุคคลที่หายสาบสูญ ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย[1]

กล่าวโดยสรุป การอุ้มหายเป็น “การละเมิดสิทธิมนุษยชน” โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์การทางการเมือง หรือผู้ที่ได้รับการว่าจ้าง หรือสนับสนุนจากรัฐ หรือองค์การทางการเมืองที่เกี่ยวพันกับรัฐ ในลักษณะของการใช้อำนาจ เพื่อทำให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคน “หายสาบสูญไป” ซึ่งรัฐหรือผู้ใช้อำนาจรัฐ มักใช้การอุ้มหาย “เพื่อการกำจัดศัตรูทางการเมืองและผู้เห็นต่าง” และเพื่อการ “ข่มขู่” มิให้มีใครคิดที่จะแข็งข้อหรือต่อต้านรัฐหรือผู้ใช้อำนาจรัฐ

แม้ในปัจจุบัน การอุ้มหายจะถูกพิจารณาเป็น “การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง” ซึ่งถือเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งได้มีการออกกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองบุคคลจากการถูกอุ้มหายโดยเฉพาะ อันได้แก่ “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2553” ซึ่งอนุสัญญานี้มีสาระสำคัญว่าด้วยการกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในบางพฤติการณ์ ตามนิยามภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รวมไปถึงการกำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่จะไม่ถูกบังคับให้หายสาบสูญ และสิทธิของเหยื่อผู้ถูกทำให้สูญหายและบรรดาครอบครัวและญาติพี่น้องของเหยื่อที่จะได้รับความยุติธรรม ได้รับการชดเชยค่าเสียหาย รวมไปถึงสิทธิของบรรดาผู้เสียหายซึ่งมิใช่เหยื่อทุกคนที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของการบังคับให้หายสาบสูญ และชะตากรรมของบุคคลที่หายสาบสูญ หากแต่การอุ้มหายก็ยังคงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกเพื่อการกำจัดผู้มีความคิดเห็นต่าง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องทางการเมือง) ซึ่งสุดท้ายคนทำผิดก็มักลอยนวล และไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

สำหรับกรณีของประเทศไทย การอุ้มหายก็ได้ถูกนำมาเพื่อใช้ในการกำจัดผู้มีความคิดเห็นต่างจากผู้มีอำนาจรัฐเช่นกัน จากข้อมูลของคณะกรรมการว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือโดยความไม่สมัครใจแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced and Involuntary Disappearances) พบว่า “ประเทศไทยมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้บุคคลสูญหายอย่างน้อย 82 คดีที่ยังไม่คลี่คลาย”[2] ยกตัวอย่างเช่น กรณีนายทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ที่สูญหายไปเมื่อปี พ.ศ. 2534 ภายหลังเหตุการณ์ รสช. กรณีนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความนักสิทธิมนุษยชนที่สูญหายไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2547 หลังจากได้ทำการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงกรณีการหายตัวไปของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สุรชัย แซ่ด่าน” นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ลี้ภัยออกจากประเทศไทยไปยังประเทศลาว และได้หายตัวไปจากที่พักในช่วงกลางคืน ของวันที่ 12 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้น ซึ่งแต่ละคดีล้วนแต่เป็น “การใช้อำนาจรัฐเพื่อให้เกิดการอุ้มหาย” และเหยื่อผู้ถูกอุ้มหาย รวมไปถึงบรรดาของครอบครัวและญาติพี่น้องของเหยื่อ ล้วนแต่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเรียกร้องซึ่งสิทธิเสรีภาพอันถูกพรากไป 

ประเทศไทยยังคง “ไม่มีหลักประกันทางกฎหมายที่ชัดเจน” ในการคุ้มครองผู้คนให้พ้นจากการอุ้มหาย จะเห็นได้จากการที่รัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมิได้มีการแสดงเจตนาให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2553 เพื่อให้เกิดผลบังคับในทางกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใด รวมถึง “การถอนร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ...” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในร่างกฎหมายเฉพาะที่จะเป็น “ก้าวแรก” แห่งการสร้างกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการอุ้มหายอย่างจริงจัง ออกไปจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 และร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ไม่กลับเข้าไปในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมถึงยังคงไม่ถูกเสนอเข้าเป็นวาระในการพิจารณากฎหมายของรัฐสภายุคปัจจุบันอีกเลย

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐไทยยังคงแสดงออกให้เห็นถึง “การเพิกเฉยในการอำนวยความยุติธรรม” แก่บุคคลผู้ถูกอุ้มหายและบรรดาครอบครัวและญาติพี่น้องของเหยื่อผู้ถูกอุ้มหาย หลายครั้งที่หาศพของเหยื่อไม่พบ หลายครั้งที่ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาลงโทษได้ ซึ่งรัฐไทยเองก็มักที่จะเพิกเฉยต่ออาชญากรรมที่เกิดกับบุคคลเหล่านี้ เพราะรัฐไทยเชื่อ (แบบผิด ๆ) ว่า กลุ่มคนเหล่านี้ “เป็นศัตรูหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ” ทั้ง ๆ ที่บุคคลเหล่านี้ หลายคนเพียง “คิดต่าง” จากรัฐ  หลายคนเพียง “เรียกร้อง” ให้ได้มาซึ่ง “สิทธิเสรีภาพ” ตามที่ประชาชนพึงมีตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น

ประเทศไทยควรมีแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่อง “อุ้มหาย” อย่างจริงจังได้แล้ว หน่วยงานรัฐไทยควรเริ่มดำเนินการสอบสวน รวมไปถึงการรื้อคดี (หากจำเป็น) สำหรับกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นการอุ้มหายซึ่งเกิดในประเทศไทย อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระ เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษตามกฎหมาย ตลอดจนให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการอุ้มหายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงควรมีการเสนอให้นำเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย”[3] กลับมาเป็น “เรื่องสำคัญ” สำหรับวาระการพิจารณากฎหมายภายในรัฐสภา และการเพิ่มเติมบทบัญญัติที่จำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น เรื่องการคุ้มครองบุคคลมิให้ถูกบังคับให้สูญหายในสถานการณ์พิเศษ (เช่น สภาวะสงคราม) เรื่องการห้ามผลักดันบุคคลกลับไปเผชิญอันตรายจากการถูกบังคับให้สูญหาย เป็นต้น และเสนอให้รัฐบาลไทยดำเนินการให้สัตยาบัน “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ๒๕๕๓” ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามอย่างไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการกระทำให้บุคคลสูญหาย[4]

คนทุกคน “มีหนึ่งชีวิตเท่ากัน” “มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน” อย่าให้ใครต้องถูกกระทำ “เหมือนไม่ใช่คน” เพียงเพราะเรื่อง “การเมือง” หรือ “ความเห็นต่าง” เลยครับ…

           

อ้างอิง

[1] International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance Article 2

"enforced disappearance" is considered to be the arrest, detention, abduction or any other form of deprivation of liberty by agents of the State or by persons or groups of persons acting with the authorization, support or acquiescence of the State, followed by a refusal to acknowledge the deprivation of liberty or by concealment of the fate or whereabouts of the disappeared person, which place such a person outside the protection of the law.

[2] Wajana Wanlayangkoon, “‘อุ้มหาย’ ไม่ใช่อาชญากรรม ‘ซ้อมทรมาน’ ไม่มีคนผิด”, เข้าถึงได้จาก https://www.the101.world/suppression-of-torture-and-enforced-disappearances-act/, สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562

[3] “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....”, เข้าถึงได้จาก http://www.lawamendment.go.th/index.php/component/k2/item/1274-2018-07-20-10-08-55, สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562

[4] สรุปความเห็นที่น่าสนใจจาก สิทธิกานต์ ธีระวัฒนชัย, “มาตรการป้องกันและปราบปราม“การบังคับบุคคลให้สูญหาย”:พันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม”, กฤษฎีกาสาร ปีที่ 14 ฉบับที่ 6 สิงหาคม - กันยายน 2562, หน้า 16-20, http://web.krisdika.go.th/data/news/news13627.pdf, สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562

 

ประชาไท: บุคคลแห่งปี 2562: กลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมือง ‘สู้-ตาย’
ประชาไท:ครบรอบ 1 ปีสุรชัยถูกอุ้มหาย ศพหาไม่พบ ความเป็นธรรมหาไม่เจอ
ประชาไท: 'แอนดรูว์' เผยมีนายทหารลี้ภัย หลังถูกต้องสงสัยเอี่ยวเพจหมิ่นสถาบัน หายตัวไปเกือบ 2 ปีแล้ว
ประชาไท: ผู้ลี้ภัยหายในต่างแดนทำอย่างไร : คุยกับนักสิทธิฯ ปม ‘โกตี๋-ดีเจซุนโฮ’ หายตัว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net