Skip to main content
sharethis

ประชาชน นักข่าวและนักวิชาการ ลงนามในข้อเรียกร้องขอให้วันที่ 6 ก.พ. ซึ่งเป็นวันเสียชีวิตของแพทย์ผู้เปิดโปงเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็น "วันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" โดยระบุว่าถ้าหากประชาชนมีเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้นก็อาจจะไม่เกิดการระบาดหนักขนาดนี้

14 ก.พ. 2563 ชาวจีนหลายร้อยคนนำโดยนักวิชาการลงนามในคำร้องเรียนออนไลน์เรียกร้องให้มีกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนท่ามกลางการแสดงความไม่พอใจในเรื่องวิธีการที่ทางการจีนจัดการกับปัญหาการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

สื่อเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์ระบุว่าการล่ารายชื่อเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหวอย่างมากสำหรับจีนสืบเนื่องจากการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีการกำกับควบคุมสังคมอย่างเข้มงวดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

การล่ารายชื่อเกิดขึ้นจากความไม่พอใจต่อการเสียชีวิตของหลี่เหวินเหลียง แพทย์อายุ 34 ปีผู้ถูกกล่าวหาว่า "ปล่อยข่าวลือ" จากการพยายามจะเตือนประชาชนเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เริ่มต้นมาจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา

หลี่เหวินเจียงเสียชีวิตด้วยโรคคล้ายปอดบวมเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งทำให้มีคนเรียกร้องให้ลงโทษคนที่ห้ามหลี่เหวินเจียงเปิดเผยข้อมูลและเรียกร้องให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้นในจีน

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเรื่องการระบาดเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2563 ระบุว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ COVID-19 เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างน้อย 64,447 ราย มีกรณีการเสียชีวิตอย่างน้อย 1,384 ราย ส่วนใหญ่ 1,310 รายเสียชีวิตในมณฑลหูเป่ย ประเทศจีน มีจำนวนผู้ที่หายจากโรคแล้ว 7,050 ราย สำหรับในไทยนั้นมีอยู่ผู้ติดเชื้ออยู่ 33 กรณี มีผู้ที่หายป่วยแล้ว 13 ราย

การลงนามมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อต่อสภาประชาชนแห่งชาติของจีน ได้แก่ หนึ่ง ขอให้มีการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน สอง ให้มีการหารือเรื่องดังกล่าวในการประชุมสภา สาม จัดให้วันที่ 6 ก.พ. ซึ่งเป็นวันที่แพทย์หลี่เสียชีวิตเป็นวันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแห่งชาติ สี่ ขอให้ไม่มีการลงโทษ ข่มขู่คุกคาม ไต่สวน เซนเซอร์ หรือกักขัง ผู้คนที่แสดงความคิดเห็นของตัวเอง ชุมนุม ส่งจดหมาย หรือสื่อสาร ห้า ให้มีการปฏิบัติอย่างเสมอภาคเช่นในเรื่องการให้การรักษาพยาบาลต่อประชาชนในอู่ฮั่นและในมณฑลหูเป่ย เนื่องจากประชาชนจำนวนมากในพื้นที่ๆ เป็นศูนย์กลางการระบาดเปิดเผยว่าถูกกีดกันเลือกปฏิบัติในที่อื่นๆ ของประเทศ ในขณะที่ไวรัสแพร่กระจายไปในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ

การลงนามนี้ได้รับแรงสนับสนุนในโลกออนไลน์ แต่ก็มีนักวิชาการบางส่วนที่ร่วมลงนามถูกทางการสั่งบล็อกโซเชียลมีเดีย WeChat  หนึ่งในนั้นคือฉู่จางรุ่น ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ผู้ที่เคยเขียนจดหมายเปิดผนึกประณามทางการจีนเรื่องการปราบปรามภาคประชาสังคมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจนทำให้การเตือนผู้คนเกี่ยวกับการระบาดของโคโรนาไวรัสเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

กัวยู่หัว นักสังคมวิทยา หนึ่งในผู้ที่ลงนามข้อเรียกร้องในครั้งนี้กล่าวว่า การเรียกร้องอาจไปไม่ได้ไกลเนื่องจากถูกปิดกั้น แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแสดงจุดยืน รัฐบาลจีนจัดลำดับความสำคัญด้วยการเสถียรภาพทางการเมืองของตัวเองมาก่อนการป้องกันการระบาดของโรคโดยวิธีการเซนเซอร์ผู้คน

จางเฉียนฟ่าน ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ผู้ลงนามในข้อเรียกร้องด้วยนั้นบอกว่าถ้าหากมีการเตือนเร็วกว่านี้การระบาดก็อาจจะไม่แย่ขนาดนี้ การลงนามของเขานั้นทำไปเพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพราะถือเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการกับวิกฤตด้านสาธารณสุข

จางบอกอีกว่า การประเมินว่าความไม่พอใจของประชาชนต่อการจัดการการระบาดครั้งนี้จะบ่อนทำลายความชอบธรรมในการปกครองของรัฐบาลจีนหรือไม่ แต่ปัจจัยหลักที่ต้องประเมินคือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจจีน

นอกจากประชาชนและนักวิชาการ นักข่าวผู้มีประสบการณ์จากจีนที่มีฉายาว่าเสี่ยวชูก็ร่วมลงนามในข้อเรียกร้องด้วย โดยบอกว่าเป็นการลงนามที่มาจากจิตสำนึกของเขาเอง เพราะเรื่องนี้จะเป็นจุดหัวเลี้ยงหัวต่อที่อาจจะเปลี่ยนอนาคตของจีนไปได้ เหตุโรคระบาดในครั้งนี้ส่งผลเลวร้ายต่อชีวิตรุนแรงกว่าแผ่นดินไหวที่เสฉวนในปี 2551 เสี่ยงชูบอกอีกว่าถ้าหากใครก็ตามถูกลงโทษเพราะลงนามในครั้งนี้ก็จะแสดงให้เห็นว่าขาดสติกันไปหมดแล้วและจะยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความโกรธแค้นไม่พอใจมากขึ้น

เรียบเรียงจาก

Coronavirus: Li Wenliang’s death prompts academics to challenge Beijing on freedom of speech, South China Morning Post, Feb. 12, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net